หนังบ้าน เดอะซีรีส์ 4: หนังบ้านเปล่ง เพ็งศรีทอง

รศ.โรจน์ คุณเอนก หลานชายคนโตของ เปล่ง เพ็งศรีทอง เล่าถึงคุณตาผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ทุกม้วนในกรุนี้ว่า เปล่งเป็นลูกคนจีน เรียนจบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ตัวสูงใหญ่เหมือนฝรั่ง และมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษดีมาก เคยเป็นผู้จัดการของบริษัทบอร์เนียว ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่นำเข้าสินค้ามากมาย จึงทำให้เปล่งได้สัมผัสกับสิ่งแปลกใหม่และนวัตกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ ประกอบกับเป็นคนทันสมัย ชอบทดลอง จึงสั่งซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์ โต๊ะและเครื่องตัดต่อ รวมถึงแผ่นตัวหนังสือประดิษฐ์สำหรับทำคำบรรยายประกอบในภาพยนตร์มาใช้ด้วย สันนิษฐานว่าเปล่งเริ่มต้นถ่ายภาพยนตร์ราว พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา หลังจากแต่งงานและย้ายมาอยู่กับ ประยงค์ (สาโยทภิทูร) เพ็งศรีทอง คุณยายของโรจน์ที่บ้านเพ็งศรีทองแล้ว ภาพยนตร์ม้วนท้าย ๆ ที่เปล่งถ่ายอาจเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล 9 เมื่อปี พ.ศ. 2500 ก็เป็นได้ เพราะโรจน์ซึ่งเคยเห็นภาพยนตร์ที่เปล่งถ่ายมาเกือบทั้งหมดยังไม่เห็นภาพยนตร์ม้วนใดที่น่าจะใหม่กว่านั้น



ภาพ: ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ 14 พฤษภาคม 2500

ในวันรวมญาติช่วงปีใหม่ทุก ๆ ปี หลังจากกินข้าวร่วมกันแล้วก็ถึงเวลารื่นรมย์ที่ครอบครัวของเปล่งและญาติพี่น้องลูกหลานทุกคนตื่นเต้นรอคอยเสมอ นั่นคือการฉายสไลด์และฉายภาพยนตร์ที่เปล่งถ่ายเก็บไว้ให้สมาชิกทุกคนได้ดูพร้อม ๆ กัน ปีไหนจะได้ดูภาพยนตร์อะไร คุณตาจะเป็นผู้อนุญาตให้หลานเลือกฟิล์มม้วนใดก็ได้ที่เก็บอยู่ในตู้เหล็กออกมาให้ใส่เครื่องฉายและยิงภาพขึ้นฝาผนังบ้านแทนจอภาพยนตร์ ไม่ว่าจะฉายเรื่องอะไรที่เปล่งเป็นผู้ถ่ายทำ แม้จะเป็นภาพยนตร์เงียบไม่มีเสียงประกอบใด ๆ แต่ลูกหลานก็ดูด้วยความตื่นเต้นและมีความสุขเสมอ ประเพณีฉายหนังหลังกินข้าวนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่โรจน์จำความได้ กระทั่งเปล่งเสียชีวิตไปแล้วก็ยังดำเนินเรื่อยมาอีกหลายปี จนภายหลังเนื้อฟิล์มแต่ละม้วนเริ่มเสื่อมสภาพมาก ยุบตัวและขาดบ่อยจึงเลิกฉาย ต่อมา จันทนา คุณเอนก คุณแม่ของโรจน์ และเป็นลูกสาวคนโตของเปล่งได้ยกฟิล์มภาพยนตร์ทั้งหมดให้แก่หอภาพยนตร์แห่งชาติ (ในขณะนั้น) 


ภาพ: จันทนาและจารุพรรณ ลูกสาวของ เปล่ง เพ็งศรีทอง

เปล่งมีความสนใจในศาสตร์และศิลป์แขนงต่าง ๆ มากมาย และบางอย่างก็ทำเป็นงานอดิเรกด้วยฝีมือคุณภาพระดับมืออาชีพ นอกจากการถ่ายภาพยนตร์ก็ยังผสมน้ำหอมฝรั่งจำหน่าย เลี้ยงไก่พันธุ์สวยงาม เพาะเลี้ยงกุหลาบพันธุ์ต่างประเทศ ไปจนถึงศึกษาวิชาโหราศาสตร์จากโหรหลวงจนสามารถเขียนตำราเลข 7 ตัว อังคะวิชาธาตุ ออกจำหน่าย (หนังสือตำรานี้ยังมีเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน) ความรู้ความสามารถไปไกลจนได้เป็นนายกสมาคมโหรฯ ด้วยในระยะหนึ่ง

แม้ว่าการถ่ายหนังจะเป็นเพียงหนึ่งในงานอดิเรกอันหลากหลายของเปล่ง และวัตถุประสงค์หลักก็เพียงบันทึกเหตุการณ์และความทรงจำต่าง ๆ ในช่วงชีวิต แต่จากภาพรวมการถ่ายทำ การใช้เทคนิคพิเศษต่าง ๆ การซ้อนภาพ การวางตัวหนังสือบรรยายประกอบให้ขยับได้ การลำดับตัดต่อภาพยนตร์ทั้งหมดในกรุ เห็นได้ชัดว่าเปล่งมีฝีมือและมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการบันทึกเหตุการณ์สำคัญและงานพระราชพิธี มีการวางมุมกล้อง การลำดับตัดต่อที่ได้มุมมองภาพสวยงามและมีคุณภาพมาก ทำให้น่าประทับใจ ชวนติดตาม บางภาพบางตอนราวกับเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำโดยมืออาชีพก็ว่าได้



ภาพ: ประชาชนคราคร่ำรอบองค์พระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

ภาพยนตร์ทั้งหมดในกรุของ เปล่ง เพ็งศรีทอง มีทั้งหมด 14 เรื่อง ซึ่งโรจน์ทราบรายละเอียดที่มาเพียงบางส่วนเท่านั้น ข้อมูลประกอบส่วนที่ขาดหายเกี่ยวกับภาพยนตร์จึงต้องใช้การสันนิษฐานจากข้อมูลแวดล้อมอื่น ๆ เท่าที่จะทำได้ โดยส่วนหนึ่งเป็นการบันทึกภาพชีวิตประจำวันภายในบ้าน “เพ็งศรีทอง” ที่พักอาศัย เช่น นายตี๋ บ้านเพ็งศรีทอง [2490-2495] รวมถึงกิจกรรมยามไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เช่น เพชรบุรี เขาวัง เขาหลวง เขื่อนเพชร ชะอำ มฤคทายวัน เขาตะเกียบ หัวหิน (ไม่ทราบปีที่ถ่าย), หัวหิน [2490-2495] อีกส่วนหนึ่งมีลักษณะคล้ายสารคดีนำเที่ยว เน้นถ่ายบันทึกการเดินทางและเก็บรายละเอียดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ตามเส้นทางที่ได้เยี่ยมชม เช่น ไกลกังวล (ไม่ทราบปีที่ถ่าย), นครปฐม พระปฐมเจดีย์ พระราชวังสนามจันทร์ ราชบุรี โพธาราม เพชรบุรี (ไม่ทราบปีที่ถ่าย) ส่วนสุดท้ายคือการบันทึกเหตุการณ์พิเศษ พิธีสำคัญ และพระราชพิธี เช่น เมรุมาศ (2493), รับเสด็จ ร.9 นิวัตพระนคร (2493-2494), ทหารสวนสนาม (2498) และ กฐินชลมารค สวนกุหลาบ (2500) เป็นต้น  


กองบรรณาธิการ
ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 80 ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2567