บทสนทนาถึง “คุณาวุฒิ”

"กรณีที่เราจะพูดถึงคุณวิจิตร คุณาวุฒิ หรือที่ผมเรียกว่าคุณอาวิจิตร คือท่านเป็นนักเขียนคนหนึ่ง และเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งมีความละเอียดละออมาก เป็นคนที่มีความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งธรรมชาติด้วย

“ผมได้รับความรู้จากท่านมากมายหลายอย่าง สุดคณานับ ตั้งแต่การแสดง ตั้งแต่การใช้ไฟ การวัดระยะ การบอกบท แม้กระทั่งการจัดฉาก สิ่งที่ท่านให้ผมนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัว ทำให้ผมสามารถที่จะไปแสดงหนังกับใครก็ได้ กับพระเอกคนไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น หรือเรื่องรักก็ดี 

“ผมถือว่าคุณวิจิตร คุณาวุฒิ นั้นเป็นอาจารย์คนหนึ่ง เป็นบุคคลที่ผมเคารพนับถือจนกระทั่งบัดนี้ แล้ววันนี้ก็ได้มีโอกาสมางานเปิดนิทรรศการของท่านร่วมกับทุกท่าน ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง”


ข้อความข้างต้นเป็นคำพูดของ นาท ภูวนัย อดีตพระเอกภาพยนตร์ไทยผู้แจ้งเกิดจากผลงานกำกับของ วิจิตร คุณาวุฒิ ทั้ง แม่ศรีไพร (2514) หัวใจป่า (2515) และ น้ำเซาะทราย (2516) ที่ได้กล่าวแก่ผู้ชมก่อนการฉายภาพยนตร์สารคดี คุณาวุฒิ: วันหนึ่ง เราจะหัวเราะให้แก่วันนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 วันเปิดนิทรรศการ “คุณาวุฒิ ๑๐๑” นิทรรศการที่หอภาพยนตร์จัดขึ้นเนื่องในวาระ 101 ปี ชาตกาล ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนสำคัญ ผู้ใช้นามในวงการว่า “คุณาวุฒิ” 

นอกจาก นาท ภูวนัย ในวันดังกล่าวยังมีบุคคลที่ใกล้ชิดกับคุณาวุฒิมาร่วมงานอีกจำนวนมาก ซึ่งแต่ละท่านได้มีส่วนร่วมให้สัมภาษณ์ในสารคดีเรื่องนี้ ได้แก่ คณิต คุณาวุฒิ ลูกชายและตัวแทนครอบครัว, ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมสังกัดไฟว์สตาร์, สนานจิตต์ บางสพาน นักวิจารณ์ภาพยนตร์ วงเดือน อินทราวุธ นักแสดงเรื่อง เมียหลวง (2521), มนตรี เจนอักษร นักแสดงเรื่อง คนภูเขา (2522), ธงชัย ประสงค์สันติ นักแสดงเรื่อง ลูกอีสาน (2525) และ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด (2528) 

ภาพยนตร์สารคดี คุณาวุฒิ: วันหนึ่ง เราจะหัวเราะให้แก่วันนี้ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและแนวคิดการทำงานของคุณาวุฒิ ตั้งแต่ภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างเองเรื่องแรกคือ มือโจร (2504) ไปจนถึงผลงานเรื่องสำคัญ ลูกอีสาน (2525) เมื่อภาพยนตร์จบลง หอภาพยนตร์ได้เชิญตัวแทนผู้ให้สัมภาษณ์ทั้ง 6 ท่าน มาร่วมกันแบ่งปันความทรงจำเกี่ยวกับคุณาวุฒิให้ผู้ชมได้รับฟัง นอกเหนือเนื้อหาที่เพิ่งรับชมในสารคดี

คณิต คุณาวุฒิ เป็นผู้เปิดวงสนทนาด้วยการกล่าวถึงผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่คุณาวุฒิกำกับคือ เรือนแพ (2532) ว่าจริง ๆ แล้วเขาคิดว่า คุณพ่อไม่ได้ตั้งใจว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องสุดท้าย แต่ต้องหยุดเพราะอายุมากและมีปัญหาสุขภาพ โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่เรื่องก่อนหน้าคือ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ที่ป่วยระหว่างถ่ายทำ นอกจากนั้นที่มาที่ไปของ เรือนแพ คือเกิดจากเจตนาสุภาพบุรุษของคุณาวุฒิ ที่ต้องการใช้หนี้ให้แก่บริษัท ไฟว์สตาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทำหนัง ลูกอีสาน และ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด แล้วบริษัทขาดทุน แต่สุดท้ายแล้ว เรือนแพ ก็ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้เช่นเดียวกัน

“หลักของคุณพ่อไม่ใช่เงิน แต่หลักของคุณพ่อคือการทำงาน แล้วก็ได้คู่ชีวิตที่เป็นคุณแม่ผม ที่ทดแทนทุกอย่างที่คุณพ่อไม่เป็น เรื่องการจัดการ เรื่องเงิน... เรือนแพ มาเหมือนเจตนาที่จะเป็นสุภาพบุรุษใช้หนี้ แต่มันกลับเพิ่มหนี้ ผมเสียดายที่มันมาในเวลาที่พ่อผมอายุมากแล้ว”

ภาพ: คณิต คุณาวุฒิ ลูกชายของวิจิตร คุณาวุฒิ

คณิตยังกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของคุณาวุฒิที่ก้าวจากวงการนักเขียนนักหนังสือพิมพ์เข้าสู่วงการภาพยนตร์ ด้วยการไปหัดเขียนบทที่โรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ของ รัตน์ เปสตันยี เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 2490 ซึ่งเป็นยามที่ครอบครัวกำลังขัดสนว่า 

“คุณพ่อเป็นสุภาพบุรุษให้แก่ครอบครัว หลายคนอาจจะแปลกใจว่าที่คุณพ่อแต่งงานกับคุณแม่ โดยไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงครอบครัว ตอนนั้นท่านไปช่วยงานที่หนุมานภาพยนตร์เพื่อหาเงิน คำจากปากคุณแม่คือ พ่อผมมีเสื้อเชิ้ตสีขาวตัวเดียวที่จะใส่ไปทำงาน กลับมาตอนค่ำแม่ต้องรีบซักตากที่นอกชาน เช้าถ้าไม่แห้งก็รีดทับให้แห้ง เพื่อให้คุณพ่อใส่ไปทำงาน แต่ว่านั่นเป็นที่มาที่คุณพ่อได้มาเป็นผู้กำกับหนัง อย่างน้อยเป็นความภูมิใจของคุณแม่ พี่สาวผม และผม” 

ถัดจากคณิตเป็น ยุทธนา มุกดาสนิท อดีตผู้กำกับร่วมค่ายไฟว์สตาร์ ซึ่งติดตามชมผลงานภาพยนตร์ของคุณาวุฒิด้วยความประทับใจมาตั้งแต่เด็ก เมื่อได้เข้ามาอยู่ร่วมสังกัดเดียวกัน ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ที่ยุทธนาเพิ่งเริ่มเส้นทางผู้กำกับ ยุทธนามักเข้าไปหาคุณาวุฒิที่บ้าน เพื่อนำร่างบทภาพยนตร์ไปให้อ่านและขอคำแนะนำ 

“ในชีวิตผมเคยปรึกษารุ่นพี่ผู้กำกับอยู่ 2 คน คือคุณาวุฒิและเปี๊ยกโปสเตอร์ คุณเปี๊ยกโปสเตอร์จะวิจารณ์แบบให้ใส่หรือแก้ฉากนั้นไหม ฉากนี้ไหม แต่ครูคุณาวุฒิเป็นคนไม่คอมเมนต์อย่างนั้น ครูคอมเมนต์ภาพรวม แล้วก็ชี้มาที่ตัวผมว่าจริง ๆ แล้วผมต้องการอะไรจากการทำหนังเรื่องนี้ ต้องการจะเล่าอะไร ซึ่งอันนี้จุดประเด็นได้มากเลย 

“ผมว่ามันต้องใช้ความเมตตาจริง ๆ ที่ต้องไปอ่านบทคนอื่นเขาทั้ง ๆ ที่เราไม่เกี่ยว เพื่อที่จะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความรักและหวังดีให้เขาแก้ไขและปรับปรุงงานของเขา”

ภาพ: ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์

ในภาพยนตร์สารคดี ยุทธนาได้ยกย่องคุณาวุฒิ ว่าเป็น อากิระ คุโรซาว่า เมืองไทย เขาได้กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้ว่า เกิดจากการที่เขาได้มีโอกาสไปฟังบรรยายจากคุโรซาว่า ขณะไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งระหว่างนั่งฟังวิธีคิดและวิธีทำงานของคนทำหนังระดับโลกของญี่ปุ่นผู้นี้ เขากลับหวนคิดถึงคุณาวุฒิอยู่ตลอดเวลา

“แล้วพอคุโรซาว่าลุกขึ้นยืน ผมรู้สึกเหมือนคุณาวุฒิ เหมือนทั้งรูปร่าง หน้าตา และจิตใจ ทั้งทักษะในการทำหนัง มนุษยธรรมมาเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็น domestic drama เรื่องผัว ๆ เมีย ๆ เรื่องจากนิยาย หรือทั้งเรื่องคิดเองอะไรต่าง ๆ มันจะมีความเป็นคน ความเป็นมนุษย์มาแฉให้เห็น แต่ไม่ได้เห็นในทางโหดร้าย แฉความจริงให้เห็น แต่ซ่อนไปด้วยประเด็นความมีมนุษยธรรม อันนี้เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจมาก”

สนานจิตต์ บางสพาน นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ได้ไปฟังบรรยายร่วมกับยุทธนาในวันนั้น ก็กล่าวยืนยันเช่นเดียวกัน และเสริมว่า หมวกที่คุณาวุฒิใส่ในกองถ่าย ยังเป็นหมวกแบบเดียวกับหมวกคุโรซาว่า อย่างไรก็ตาม ในสารคดี สนานจิตต์กล่าวเทียบคุณาวุฒิกับผู้กำกับชั้นครูอีกคนหนึ่งของอินเดีย คือ สัตยาจิต เรย์ ซึ่งมีชื่อด้านทำหนังแนวสัจนิยม โดยอธิบายเหตุผลว่า 

“ผมไปพูดถึง สัตยาจิต เรย์ เพราะไปเห็นช็อตหนึ่งในหนังมือโจร ที่แกแบกเปลหาม แล้วเอาตากล้องขึ้นไปถ่ายแฮนด์เฮล ผมดูแล้ว เฮ้ย คนทำหนังไทยไม่ได้กระจอก มุมแบบนี้ แบกจริง เดินจริง นั่นหมายความว่าครีเอทีฟของคนทำหนังไทย กับฝีมือของเราไม่ได้น้อยหน้าใคร คือจริง ๆ แล้ว ระดับครูวิจิตร ถ้ารัฐบาลดันดี ๆ ครูจะมีโอกาสได้ไปทำหนังในทุนที่ใหญ่ ที่มันเป็น worldwide มากกว่า เพราะว่าฝีมือแกครบเครื่อง ความที่แกเป็นนักหนังสือพิมพ์ รายละเอียดแกเป๊ะมาก”

นอกจากนี้ สนานจิตต์ยังได้ย้อนเล่าถึงเมื่อครั้งที่เขาได้รับการชักชวนให้เขียนสัมภาษณ์คุณาวุฒิและเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ ลงนิตยสาร Cinemaya ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักกับคุณาวุฒิเป็นครั้งแรก และตามดูหนังของคุณาวุฒิทุกเรื่อง 

ภาพ: (จากซ้ายไปขวา) วงเดือน อินทราวุธ, ธงชัย ประสงค์สันติ, สนานจิตต์ บางสพาน, มนตรี เจนอักษร, ยุทธนา มุกดาสนิท, คณิต คุณาวุฒิ 

“ผมว่าผมเป็นคนแรกที่เรียก ครูวิจิตร คุณาวุฒิ ว่า “The Master Thai Film Director” สำหรับบทสัมภาษณ์ที่เป็นภาษาอังกฤษ นั่นคือความผูกพันอันแรก ทีนี้ช่วงที่ไปหาแก พอจะกลับ ก็บอกครูว่า ผมอยากเรียนวิชาเขียนบท ครูบอกผม พวกมึงน่ะดีแต่พูด พูดแบบนี้สิบคนแล้วหายหมด ไปทำมาหากินอย่างอื่นหมด แล้วแกก็หัวเราะ 

“ผมดีใจที่ผมเอาชื่อครูไปให้ international รู้จัก... อีกอันก็คือ ผม dedicated หนังเรื่องแรกในชีวิตที่ผมกำกับให้ครูวิจิตร”

เมื่อกล่าวถึงชื่อเสียงในระดับนานาชาติ คณิต คุณาวุฒิ ได้เล่าเสริมถึงเหตุการณ์ที่ภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน ได้ไปจัดฉายที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2526 และ นางิสะ โอชิม่า ผู้กำกับระดับตำนานอีกคนญี่ปุ่นได้มีโอกาสชม พร้อมเขียนถึงผลงานของคุณาวุฒิเรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์ว่า 

“โอชิม่าบอกว่า ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วประทับใจ ไม่เคยคิดว่าหนังไทยจะเป็นแบบนี้ แล้วจบด้วยว่า มันเหมือนได้นั่งเรือลอยไปในแม่น้ำ ได้เห็นความงามและสิ่งต่าง ๆ สองข้างทาง... พอผมแปลให้พ่อฟัง เขาพูดคำเดียวว่า “เป็นเกียรติ” ผมอยากให้พ่อได้รู้ว่ามันมีคนต่างชาติที่ดูหนังของคุณพ่อและให้ความชื่นชม”

ในด้านการกำกับการแสดง นักแสดงสามท่านที่ร่วมวงสนทนา ต่างก็เริ่มต้นเส้นทางในวงการภาพยนตร์ครั้งแรกจากการกำกับของคุณาวุฒิ โดยเฉพาะ มนตรี เจนอักษร ที่นอกจากแสดงนำใน คนภูเขา ยังได้รับโอกาสให้พากย์เสียง จนกลายเป็นนักพากย์คนสำคัญของไทยในปัจจุบัน



“คุณลุงบอกว่าพากย์เอง นักพากย์พากย์ไม่ได้หรอก พากย์เองได้ไหม ผมบอกได้สิครับ แล้วตอนต้นเรื่องมันมีสารคดีบรรยาย ว่าคนภูเขาเผ่าต่าง ๆ มีความเป็นมายังไงบ้าง คุณลุงก็บอกบรรยายเองเลย ผมก็บรรยายเอง แล้วพอมันเป็นโฆษณาออกมา ผมก็อัดเสียงโฆษณาด้วย ผมก็เอ๊ะ คุณลุงเอาให้เราหมดทุกอย่างเลยในชีวิต

“พอคนอื่น ๆ ได้ยินว่าเป็นเสียงใหม่ ซึ่งไม่มีใครได้ยินมาก่อน ก็เลยได้ไปพากย์สปอตเรื่องอื่น ๆ สารคดีก็ทำต่อมาเรื่อย ๆ ทำแสง สี เสียง ทำ slide multivision ต่าง ๆ นานา จนถึงปัจจุบันนี้ มันมาจากภาพยนตร์เรื่อง คนภูเขา เรื่องเดียว" 

นอกจากนี้ มนตรียังกล่าวถึงคำสัมภาษณ์ของคุณาวุฒิในภาพยนตร์สารคดีที่บอกว่า ลูกอีสาน เป็นผลงานที่ชอบมากที่สุดว่า “ผมจับใจความได้อันหนึ่งเลยว่า คุณลุงทำงานทุก ๆ อย่างด้วยความไม่เห็นแก่เงินจริง ๆ หนังเรื่อง คนภูเขา ทำรายได้สูงกว่า ลูกอีสาน แต่คุณลุงบอกว่า ยังชอบ ลูกอีสาน มากกว่า คนภูเขา ถือว่าทำเงินนะครับ ในสมัยนั้น 6 ล้านบาท ถือว่าทำเงินได้สูงพอสมควร แต่คุณลุงยังไม่พอใจ แต่พอใจ ลูกอีสาน ซึ่งรายได้ไม่ได้อย่างที่ต้องการ ผมเลยสรุปได้ว่า คุณลุงเป็นศิลปินจริง ๆ เป็นศิลปินมาก ๆ ที่ทำงานแล้วเห็นแต่ผลงานว่างานออกมาแล้วจะมีคุณค่าทางศิลปะอย่างไร ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก”

ในขณะที่ ธงชัย ประสงค์สันติ นักแสดง ลูกอีสาน ได้กล่าวถึงภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้และ วิจิตร คุณาวุฒิ ว่า 
“ก่อนอื่น ขอบคุณหอภาพยนตร์อย่างมากที่ทำสารคดีนี้ขึ้นมา เรื่องราวต่าง ๆ วิ่งเข้ามาในหัวผมเยอะแยะมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดที่สุดคือจิตวิญญาณ เด่นชัดที่สุดคือคำว่าศิลปินที่จะมอบให้แก่คุณครู ผมเสียดายที่ท่านไม่ได้เห็นว่า ปัจจุบันนี้เด็กที่อยู่ในกอง เด็กยกรีเฟลกซ์ เด็กชงกาแฟ เด็กที่ร้องไห้ในกองถ่าย มาถึงทุกวันนี้มันตื้นตันมาก
 
“มันเป็นความลำบากในการถ่ายทำ แต่พอเวลาผ่านไปมันล้วนแล้วแต่เป็นความสุข ล้วนแล้วแต่เป็นวิชาความรู้ ซึ่งมันหาไม่ได้ในห้องเรียน มันเป็นประสบการณ์จริงสำหรับผม เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่มีคุณค่ามาก 


“นี่คือศิลปิน นี่คือครู นี่คือผู้ที่สร้างปรากฏการณ์จริง ๆ ถ้ามาดูตอนนี้ ยิ่งเห็นเลยว่า โอ้โห เหมือนผู้รู้ก่อนกาลว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันไม่ได้ตอบโจทย์นายทุนซะทีเดียว แต่มันเป็นศิลปะที่ไปด้วยกันได้กับเงื่อนไขของการลงทุน” 

จากนักแสดงชายถึงนักแสดงหญิง วงเดือน อินทราวุธ นางเอกจาก เมียหลวง ก็ได้กล่าวรำลึกและชื่นชมถึงคุณาวุฒิผู้มอบบทบาท ดร. วิกันดา ให้เธอแสดงและกลายเป็นที่จดจำของแฟนหนังไทย 

“หนังคุณลุงจะ always classic อย่างไรก็จะไม่มีวันล้าสมัย เพราะฉะนั้นคุณลุงภูมิใจได้ ท่านเป็นไอดอล และท่านก็จะเป็นตลอดไปสำหรับเราทุกคน ท่านเป็นแบบอย่าง สิ่งที่ท่านทำมหาศาล 

“ท่านพูดกับตาลว่า เล่นไปเถอะ แล้วท่านก็บอกว่า หน้าที่ของนักแสดง หนูก็เล่นอย่างที่หนูรู้สึก หนูไม่มีหน้าที่ไปยุ่งกับนักข่าวด้วย แสดงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นน้ำตาลค่อนข้างปลอดภัย ไม่ต้องไปยุ่งกับใครเลย ชีวิตสบายมาก 

“หนังเมียหลวงสุขสบายมาก มีแต่ความทรงจำที่ดี จริง ๆ คุณป้าทองปอนด์ท่านก็สุดยอด ท่านจะไม่พูดมาก แต่เวลาท่านระบุอะไร ท่านพูดสัก 2 คำแค่นั้น ถึงกึ๋นเลย เวลาท่านต้องการอะไร เพราะฉะนั้นน้ำตาลเรียนรู้อะไรจากท่านมาก รู้สึกเป็นเกียรติมาก 

“ไฟว์สตาร์ก็คงมึนกับคุณลุงเหมือนกัน ถามว่าคุณลุงแน่ใจเหรอว่าจะเอาคนนี้ หน้าแบบนี้ แล้วปุ๊ มนตรี ก็มาเป็นคนที่สอง แสดงว่าน้ำตาลทำแบบอย่างไว้ดีนะ ปุ๊ถึงผ่านมาได้ (หัวเราะ)”




ปิดท้ายด้วย วิยะดา อุมารินทร์ นักแสดงนำอีกหนึ่งคนของ เมียหลวง ที่ได้มาปรากฏตัวเซอร์ไพรส์ผู้ชมและแขกรับเชิญ ในช่วงท้ายของการสนทนา รวมทั้งย้อนความทรงจำถึงการกำกับของคุณาวุฒิ

“มีความสุขที่ให้ท่านกำกับ ท่านเป็นปรมาจารย์ ให้ความรู้ เวลาเราเล่นน้อยไป ท่านจะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาอีก ขึ้นมาอีก ให้เรามีความมั่นใจในตัวเอง ปล่อยให้เราเล่นให้เราแสดงไปก่อน แล้วตรงไหนที่เราเล่นไม่ดีท่านก็จะบอก ท่านเป็นสุภาพบุรุษจริง ๆ” 

บทสนทนาในวันดังกล่าวจบลงด้วยความประทับใจของบุคคลสำคัญแต่ละท่านที่ได้มารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึง วิจิตร คุณาวุฒิ สำหรับท่านที่สนใจชมภาพยนตร์สารคดี “คุณาวุฒิ: วันหนึ่ง เราจะหัวเราะให้แก่วันนี้” นั้น สามารถมาชมได้ในนิทรรศการ “คุณาวุฒิ ๑๐๑” ที่จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 

โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ภาพ: ภาพยนตรสารคดี “คุณาวุฒิ: วันหนึ่ง เราจะหัวเราะให้แก่วันนี้” ที่จัดฉายในนิทรรศการคุณาวุฒิ ๑๐๑