จรี อมาตยกุล ศิลปินผู้มองการณ์ไกล นักสร้างหนังไทยเงินล้านเรื่องแรก

“ในโลกศิลปินของไทยเรา...เขาเป็น "ศิลปินร่วมสมัย" กับเราคนหนึ่ง...มีส่วนสำคัญในการพัฒนาการด้านการบันเทิงของเมืองไทยเราไม่น้อย…

เขาเป็นนักคิด - นักสร้างสรรค์ตัวฉกาจ...และมีอารมณ์ฝันเช่นศิลปินนักแสดงอย่างพวกเราทุกคน...

ไม่มีศิลปินนักแสดงคนใดในยุคนี้ที่จะไม่รู้จักเขา...ใครๆ ก็เรียกเขาว่า "พี่รี" เขาเป็นเพื่อนที่เราโกรธเขาไม่ลง...เพราะเขาไม่เคยโกรธเรา

เพราะเมื่อใดเราเป็นทุกข์ เขาจะมาอยู่ข้างเรา... ช่วยใช้หัวของเขาช่วยเราปลดทุกข์…” 


นี่เป็นข้อความที่ ส. อาสนจินดา เขียนในหนังสืองานศพของ “จรี อมาตยกุล” อดีตผู้สร้างหนังไทยผู้ที่เขายกย่องว่าเป็น “ผู้มองเห็นการณ์ไกล” ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการหนังไทยในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 2500 


จรี อมาตยกุล เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2466 เป็นบุตรของพันตรีหลวงโกศลสุรพรรค (กระบี่ อมาตยกุล) ในวัยเด็ก เขาใช้ชีวิตและรับการศึกษาอยู่ในวังสวนสุนันทา เนื่องจากบิดามารดาได้ถวายตัวแป็นมหาดเล็กและข้าหลวงในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระองค์ได้ทรงรับอุปการะเลี้ยงดูจรี คู่กับ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และส่งเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จนกระทั่งพระองค์สิ่นพระชนม์ในปี 2478 จรีจึงกลับมาอาศัยอยู่กับครอบครัว 



ภาพ: จรี อมาตยกุล กับ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล 

ที่มา: หนังสืออนุสรณ์งานศพ จรี อมาตยกุล 


จากวชิราวุธวิทยาลัย จรีเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตามลำดับ จนจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2486  ช่วงนั้นเป็นช่วงที่วงการละครเวทีไทยกำลังเริ่มเฟื่องฟู จรีได้ร่วมกับเพื่อน ๆ ทำละครเวทีเพื่อหารายได้สร้างหอประชุมใหญ่ให้แก่มหาวิทยาลัย แสดงที่ศาลาเฉลิมไทย โดยคณะศิวารมณ์ ของครูเนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ) ผู้กำกับละครเวทีคนสำคัญ 


จากนั้น จรีได้ประกอบอาชีพทนายความควบคู่ไปกับงานเขียนและทำหนังสือ ทำให้รู้จักผู้คนและมีเพื่อนฝูงมากมาย อย่างไรก็ตาม ความรักในงานแสดงยังคงฝังใจ เขาจึงยังคงแวะเวียนเข้าไปคลุกคลีกับวงการละครเวทีอยู่เสมอ นอกจากคณะศิวารมณ์ของครูเนรมิตที่คุ้นเคยกันแล้ว จรียังได้เข้าไปเรียนรู้และช่วยงานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล แห่งคณะอัศวินการละคร ซึ่งทรงรู้จักจรีตั้งแต่สมัยอยู่วังสวนสุนันทา 


ช่วงต้นทศวรรษ 2490 วงการภาพยนตร์ไทยที่เคยสลบซบเซาไปตั้งแต่ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้ค่อย ๆ ฟื้นตื่นอีกครั้ง โดยผู้สร้างหนังไทยได้เริ่มนิยมสร้างด้วยฟิล์มสมัครเล่น 16 มม. และพากย์สดในโรง จรีมองเห็นเส้นทางหนังไทยว่ากำลังมีอนาคต สวนกับอายุขัยของละครเวทีที่มีแต่จะสั้นลง เขาจึงยุให้ทีมงานนักแสดงของศิวารมณ์ เช่น ส. อาสนจินดา, สมควร กระจ่างศาสตร์, ทักษิณ แจ้มผล, ทัต เอกทัต, จุรี โอศิริ ฯลฯ หันมาร่วมกันจับงานสร้างภาพยนตร์ โดยมีครูเนรมิตผู้เคยมีประสบการณ์ทำหนังมาก่อนสงครามโลก เป็นผู้ช่วยนำทาง และขอใช้ชื่อครูเป็นชื่อบริษัทว่า เนรมิตภาพยนตร์ 


ผลงานเรื่องแรกของเนรมิตภาพยนตร์ โดยการอำนวยการสร้างของ จรี อมาตยกุล คือ สุภาพบุรุษจากอเวจี นำโดย ส.อาสนจินดา และ จุรี โอศิริ ซึ่งต่างเพิ่งแสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก โดยสร้างเป็นภาพยนตร์ขาวดำออกฉายเมื่อปี 2494 เรื่องต่อมาจึงสร้างเป็นภาพยนตร์สีคือ ทะเลทม ออกฉายในปี 2496 ทำรายได้หลักแสน ก่อนจะมาประสบความสำเร็จเพิ่มเป็นสิบเท่าในเรื่องที่สาม คือ โบตั๋น ซึ่ง ส. อาสนจินดา รับหน้าที่กำกับ สร้างจากเรื่องของ เสน่ห์ โกมารชุน นำแสดงโดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช ที่เรียกน้ำตาประชาชนได้ท่วมท้นจนเป็นที่เลื่องลือ และสามารถทำรายได้เกินหนึ่งล้านบาทเป็นเรื่องแรกในประวัติศาสตร์หนังไทย เมื่อครั้งออกฉายในต้นปี 2498 




นับแต่นั้น เนรมิตภาพยนตร์โดยการนำของ จรี อมาตยกุล ก็ได้สร้างปรากฏการณ์หน้าสำคัญของวงการหนังไทยอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการกล้าลงทุนออกไปถ่ายทำนอกประเทศไทยและใช้นักแสดงต่างชาติ เรื่องแรกคือ ราตรีในโตเกียว ซึ่งถ่ายทำในญี่ปุ่นโดยตลอด และมีดาราญี่ปุ่นร่วมแสดง ออกฉายกลางปี 2498 เป็นหมุดหมายที่ทำให้จรีได้ชื่อว่าเป็นคนไทยคนแรกที่บุกเบิกการถ่ายทำภาพยนตร์ในต่างประเทศ


จากญี่ปุ่น ปลายปี 2498 จรีได้ยกทีมงานไปถ่ายทำหนังในฮ่องกงต่อทันที ชื่อเรื่องว่า หงษ์หยก โดยทาบทาม เก้อหล่าน นางเอกดังของฮ่องกงในณะนั้น ที่เขาเคยประทับใจจากการชมภาพยนตร์ที่เธอแสดง รวมถึงเมื่อมาโชว์ตัวร้องเพลงที่โรงหนังเทียนกัวเทียน ย่านเยาวราช ให้มารับบทนำคู่กับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้เกิดเพลง “ไม่เคยรักใครเท่าเธอ” ที่เก้อหล่านขับร้องเป็นภาษาไทยและโด่งดังเป็นตำนาน แต่งโดย ชาลี อินทรวิจิตร หนึ่งในนักแสดงของเรื่อง



ภาพ: จรี อมาตยกุล (ยืนซ้ายสุด) กับครูเนรมิต (ยืนที่สามจากซ้าย) และ เก้อหล่าน (นั่งซ้ายสุด) ขณะไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฮ่องกง

ที่มา: หนังสืออนุสรณ์งานศพ อำนวย กลัสนิมิ (ครูเนรมิต) 


หงษ์หยก ออกฉายต้นปี 2499 และสามารถทำรายได้หลักล้านให้แก่จรีได้อีกเรื่อง  จากนั้น เขาจึงก้าวไปไกลยิ่งขึ้น ด้วยการออกไปถ่ายทำถึงฝรั่งเศส เรื่อง สามรักในปารีส ออกฉายปลายปี 2499 แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ เรื่องถัดมา พวกเขาจึงกลับไปสร้างหนังในฮ่องกง และนำแสดงโดยเก้อหล่านอีกครั้ง ชื่อเรื่อง มังกรทอง ออกฉายเดือนมกราคม 2500 


ในปีเดียวกันนั้นเอง เนรมิตภาพยนตร์ โดย จรี อมาตยกุล ได้แถลงข่าวเตรียมสร้างภาพยนตร์เรื่องถัดไปชื่อ กตัญญูปกาสิต  เริ่มต้นนั้นจะถ่ายทำด้วยกล้อง 16 มม. สองกล้องควบคู่กันไปเหมือนที่เคย อันเป็นวิธีการถ่ายทำหนังไทยที่เนรมิตภาพยนตร์เป็นผู้ริเริ่ม เพื่อให้ได้ฟิล์มสองฉบับ สำหรับจัดฉายมากกว่า 1 โรง (ในสมัยนั้น การทำสำเนาฟิล์มเพิ่มยังเป็นเรื่องยากลำบากและมีต้นทุนสูง) แต่ต่อมา จรีได้ร่วมทุนกับ วิลเลียม ฮู บริษัท China United Film Company ของฮ่องกง และเปลี่ยนระบบการสร้างเรื่องนี้เป็นฟิล์ม 35 มม. เสียงในฟิล์ม เพื่อให้สามารถนำออกไปจัดฉายที่ฮ่องกงและประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย โดยมีดาราต่างชาติร่วมแสดงคือ ไดอาน่า จางจ้งหวั่น นางเอกดังจากไต้หวัน และ จินฟง จากฮ่องกง ร่วมกับดารานำฝ่ายไทยคือ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, พร้อมสิน สีบุญเรือง (พันคำ), ทัต เอกทัต และ วิไลวรรณ วัฒนพานิช 


ระหว่างนั้น จรีได้นำเนรมิตภาพยนตร์ไปถ่ายหนัง 16 มม. ที่ฮ่องกงและมาเก๊า อีกเรื่องคือ เทวรูปหยก และออกฉายในเดือนกุมภาพันธ์ 2501 ก่อนที่ กตัญญูปกาสิต จะเข้าโรงในเดือนมีนาคม แม้การฉายในเมืองไทยนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จต่างจากฮ่องกงซึ่งทำรายได้เป็นสถิติของที่นั่น แต่ กตัญญูปกาสิต ก็ถือเป็นความพยายามในการที่จะยกระดับการสร้างหนังไทยของจรีให้เป็นมาตรฐานสากล 


กตัญญปกาสิต  เขียนบทโดย ส. อาสนจินดา จากนิยายที่เขาเขียนลงเป็นตอน ในนิตยสารอาชญากรรม นิตยสารรายเดือนของโรงเรียนสืบสวน กรมตำรวจ ตั้งแต่ราวปี 2497-2500 โดยนำเค้าโครงเรื่องมาจากบันทึกการสอบสวนของ พล.ต.อ. เยื้อน ประภาวัตร ในคดีฆาตกรรม เหียกวงเอี่ยม นักธุรกิจชาวจีนผู้มีบทบาทสำคัญในเมืองไทย เมื่อปี 2482 ทั้งตัวภาพยนตร์ยังได้รับทุนสนับสนุนจากศูนญ์ปราบปรามและป้องกันอาชญากรรม กรมตำรวจ จุดนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงสองบทบาทสำคัญของ จรี อมาตยกุล ที่ผนวกเข้าด้วยกัน นั่นคืองานภาพยนตร์ กับงานของกรมตำรวจ ที่เขาต่างมีส่วนร่วมควบคู่กันไปในช่วงเวลานั้น 


 

ภาพ: พล.ต.อ. เยื้อน ประภาวัตร (ซ้าย) และ จรี อมาตยกุล (ขวา) ขณะดูงานตำรวจที่ต่างประเทศ

ที่มา: หนังสืออนุสรณ์งานศพ พล.ต.อ. เยื้อน ประภาวัตร


จรีเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานด้านตำรวจ จากการชักชวนของ พล.ต.อ. เยื้อน ประภาวัตร โดยเขาได้เข้ามาช่วยทำหนังสือและเป็นครูสอนกฎหมายให้แก่โรงเรียนสืบสวนของกรมตำรวจ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2495 และรับบรรจุเข้าเป็นข้าราชการตำรวจแบบไม่มียศ นอกจากนี้จรียังช่วยงานอื่น ๆ เช่น ออกแบบตราเครื่องหมายโรงเรียนสืบสวนและกองบัญชาการการศึกษา รวมทั้งเป็นผู้จัดงานสัปดาห์ป้องกันอาชญากรรมของกรมตำรวจเป็นครั้งแรก  เขานับเป็นคนสนิทคู่กายที่มักได้ติดตาม พล.ต.อ. เยื้อน ไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลกอยู่เสมอ  รวมถึงยังเคยได้ไปเยี่ยมชมการถ่ายทำภาพยนตร์ทีฮอลลีวู้ด ระหว่างที่ไปดูงานสืบสวนของตำรวจที่สหรัฐอเมริกา 


ในขณะเดียวกัน จรียังได้ใช้ความรู้ด้านภาพยนตร์ ช่วยกรมตำรวจสร้างภาพยนตร์เรื่องเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ภารกิจของหน่วยงานออกฉายในโรงภาพยนตร์ เช่น เหยื่ออาชญากรรม (2497) ของโรงเรียนสืบสวน กรมตำรวจ สามพราน (2503) ของกองแพทย์ กรมตำรวจ 



ปี 2504 จรี อมาตยกุล มีผลงานสร้างภาพยนตร์เรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องซึ่งกลายเป็นตำนานหนังไทย คือ เรือนแพ ซึ่งเขาร่วมสร้างกับอัศวินภาพยนตร์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และ China United Film Company ของฮ่องกง โดยถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 มม. เสียงในฟิล์ม มีดารานำไทยคือ ไชยา สุริยัน, ส. อาสนจินดา ร่วมกับดาราราฮ่องกง มาเรีย จาง และ จินฟง ก่อนที่ในปีถัดมา แผลเรื้อรังที่เข่าจากอุบัติเหตุที่เขาประสบมาแต่เด็ก จะอักเสบกำเริบขึ้น ทำให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดเอากระดูกที่ผุทิ้ง ช่วงเวลาดังกล่าว เขาได้ห่างหายจากงานสร้างภาพยนตร์ และลาออกจากราชการตำรวจ



ภาพ:จรี อมาตยกุล และ ครูเนรมิต ขณะนั่งรถไฟไปถ่ายเรื่อง สมบัติแม่น้ำแคว (2511) ของเอวันฟิล์ม

ที่มา: หนังสืออนุสรณ์งานศพ อำนวย กลัสนิมิ (ครูเนรมิต)


ปี 2507 จรีเข้ารับการผ่าตัดที่เข่าอีกครั้ง และพักรักษาตัวอยู่ประมาณ 3 เดือน เมื่อออกจากโรงพยาบาล เขาได้หันกลับมาจับงานภาพยนตร์ โดยเข้าทำที่บริษัท เอวันฟิล์ม ของ ฉลอง เคียงศิริ ในฐานะผู้จัดการ ต่อมา เมื่อเอวันฟิล์มเลิกกิจการ จรียังคลุกคลีอยู่กับงานภาพยนตร์ ทั้งทำธุรกิจซื้อหนังต่างประเทศเข้ามาฉาย และช่วยงานสร้างภาพยนตร์ให้แก่ผู้สร้างรายอื่น


ปี 2520 อาการที่หัวเข่าของจรีกำเริบขึ้นอีกครั้ง จนต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งใหญ่ของชีวิต และพักรักษาตัวนานนับปี เมื่ออาการดีขึ้น จรียังกลับมาทำงานภาพยนตร์ที่ตนรักอย่างไม่ลดละ ทั้งเตรียมงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง พรานช้าง โดยมีการเจรจากับต่างประเทศ รวมทั้งเปิดกล้องถ่ายทำเรื่อง เจ้าสาวเงินล้าน 


อย่างไรก็ตาม ปี 2525 เขาต้องผจญกับปัญหาด้านสุขภาพรุมเร้าไม่สิ้นสุด จนมีส่วนให้ต้องจากไปด้วยอายุเพียง 59 ปี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2526 ไม่ทันได้เห็น เจ้าสาวเงินล้าน ออกฉายในเดือนพฤษภาคม อันเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของชีวิต แต่ถึงกระนั้น ผลงานจากความคิดอ่านและการสร้างสรรค์ของ จรี อมาตยกุล ที่เคยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการหนังไทยในอดีต ก็นับว่ามีคุณูปการอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย 

 


ภาพ:จรี อมาตยกุล (ที่สองจากซ้าย) ขณะเปิดกล้องภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชีวิต เจ้าสาวเงินล้าน

ที่มา: หนังสืออนุสรณ์งานศพ จรี อมาตยกุล 


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู


ข้อมูลประกอบการเขียน:

- อนุสรณ์งานศพ จรี อมาตยกุล พ.ศ. 2526

- อนุสรณ์งานศพ อำนวย กลัสนิมิ พ.ศ. 2548

- อนุสรณ์งานศพ พลตำรวจเอกเยื้อน ประภาวัต พ.ศ. 2517

- ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1  พ.ศ. 2557

- ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 2  พ.ศ. 2561

- นิตยสารดาราไทย ฉบับวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2500

- นิตยสารดาราไทย ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2500