101 ปี เศรษฐีตุ๊กตาทอง วิจิตร คุณาวุฒิ

ครู “คุณาวุฒิ” เป็นปูชนียบุคคลของวงการภาพยนตร์ไทย และได้แสดงตนเป็นแบบอย่างชัดเจนถึงความเป็นผู้มั่นคงในอุดมคติของการทำงานคุณภาพ 

- เชิด ทรงศรี


ภาพยนตร์ของคุณาวุฒิเป็นตำนาน ทุกเรื่องมีประเด็น และมีศิลปะภาพยนตร์อันงดงาม ตัวละครมีชีวิตชีวา เป็นมนุษย์ทั้งดีและเลว แฝงไว้ด้วยจริยธรรม ผ่านการนำเสนออย่างเข้าใจโลก เข้าใจเพื่อนมนุษย์ของท่าน แต่ลึกซึ้งกินใจเป็นที่สุด 

- ยุทธนา มุกดาสนิท


ตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงหนุ่ม ๆ ผมและเพื่อน ๆ ชอบดูหนังกันมาก และหนังที่พวกผมจะไม่ขาดพลาดเด็ดขาดก็คือ หนังของครูวิจิตร คุณาวุฒิ ถ้าเรื่องไหนคนไหนพลาดไม่ได้ดูก็จะถูกเพื่อนล้อ และฟังเรื่องเล่าเป็นคำพูดของหนังเรื่องนั้น ๆ แบบไม่จบสิ้น 

- อุดม อุดมโรจน์


ข้อความจากผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำที่ผู้คนมากมายเขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ วิจิตร คุณาวุฒิ คนทำหนังระดับบรมครู ผู้มีนามในการกำกับว่า “คุณาวุฒิ”


นอกจากคำสรรเสริญ เขายังเป็น “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” ฉายาที่ได้มาจากการทำสถิติเป็นผู้ได้รางวัลตุ๊กตาทอง สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 4 ปีติดต่อกัน และคว้ารางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ทุกเวทีรวมกันมากถึง 27 รางวัล รวมทั้งได้รับยกย่องจากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ได้รับพระราชทานปริญญานิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นคนแรกของสาขานี้ เมื่อ พ.ศ. 2526 ไปจนถึงเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนแรกที่ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) เมื่อ พ.ศ. 2530


ด้วยเกียรติยศทั้งหมด ย่อมทำให้ชื่อ วิจิตร คุณาวุฒิ ควรเป็นที่จดจำในฐานะหนึ่งในผู้กำกับหนังไทยยอดเยี่ยมตลอดกาล แต่ในความเป็นจริง นับจากที่มีผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2532 และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ชื่อเสียงและคุณูปการของเขากลับค่อย ๆ เลือนหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นหลัง เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยอีกจำนวนมากที่ขาดช่วงในการศึกษาและถูกหลงลืม 


ในวาระ 101 ปี ชาตกาล ที่จะมาถึงในปี 2567 นี้ หอภาพยนตร์จึงขอนำเรื่องราวและผลงานของ วิจิตร คุณาวุฒิ กลับมาให้ได้รับชมและเรียนรู้กันอีกครั้ง เริ่มต้นจากโปรแกรมภาพยนตร์ที่จะจัดฉายตั้งแต่วันครบรอบวันเกิด 23 มกราคม ต่อเนื่องด้วยนิทรรศการบอกเล่าชีวิตและแนวคิดของ “คุณาวุฒิ” ผ่านสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์จำนวนมากที่หอภาพยนตร์ได้รับมา ซึ่งจะเริ่มจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป 


จากกองกระดาษสู่จอเงิน 




“ ‘จอเงิน’ ตามความรู้สึกนึกคิดของผมมีความพิศมัยไม่น้อยไปกว่า ‘กองกระดาษ’ เท่าใดนัก เพียงแต่ว่าเมื่อเราอยู่กับกองกระดาษ เราก็เขียนและเขียน เขียนไปด้วยสายตาที่เราเห็น มือที่เราจับต้อง เท้าที่เราเดินไปมา สมองที่เราคิด จิตสำนึกที่เราไตร่ตรอง และจินตนาการที่เราฝันไป ทั้งเนื้อทั้งตัวของเราดูเหมือนจะปล่อยออกไปทางปลายปากกาอย่างเดียว แต่เมื่อมาอยู่กับจอเงิน ซึ่งอันที่จริง ผมว่ามันก็ไม่ห่างไกลกันนัก เราใช้สิ่งที่เราเคยใช้อยู่เดิมนั่นเอง แต่แทนที่จะให้มันหลั่งออกไปเป็นเพียงตัวหนังสืออย่างเดียว มันกลับเป็นภาพเห็นจริงเห็นจังไปด้วย ภาพนั้นถูกบรรทึกลงในฟิล์มฉายไปบนจอเงิน มันก็เต้นเร่า ๆ ไปตามความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของเรา พร้อมด้วยแสงสี ศิลป และเทคนิคการถ่ายทำ” (จากหนังสือพิมพ์สารเสรี 16 มิ.ย. 2498) 


ก่อนจะมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ วิจิตร คุณาวุฒิ มีบทบาทในฐานะนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ โดยมีแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ของ ม.จ.อากาศดำเกิง เขาเริ่มเขียนเรื่องสั้นส่งไปลงหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และเมื่อเรียนจบก็มุ่งมั่นประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ควบคู่ไปกับการเขียนเรื่องสั้นจำนวนมากในนามปากกาว่า “คุณาวุฒิ” และ “สัตตบุษป์” ที่ฝีมือเด็ดขาด อย่างที่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ยกให้เป็น “มือเรื่องสั้นระดับอาจารย์” 


พ.ศ. 2493 วิจิตร คุณาวุฒิ ได้เล่นละครเวทีเรื่อง สิ้นเวร ที่ศาลาเฉลิมไทย และร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง ฟ้ากำหนด จากนั้นในปี พ.ศ. 2495 เขาได้เริ่มเขียนบทภาพยนตร์เป็นครั้งแรกเรื่อง พรหมบันดาล ซึ่งสร้างมาจากเรื่องสั้นของตัวเอง แต่ยังทำได้เพียงแค่เขียนฉากและบทพูด ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่วงการหนังไทยเริ่มกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังล้มฟุบไปนานเพราะพิษภัยของสงคราม โดยนักประพันธ์หลายคนได้พากันตบเท้าเข้ามาทำงานในโลกมายา วิจิตร คุณาวุฒิ ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนแสวงโชค เพราะเห็นโอกาสในการสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมากกว่างานหนังสือ


ผู้ประสาทวิชาภาพยนตร์ให้แก่เขาคือ ทวี ณ บางช้าง หรือ “ครูมารุต” ซึ่งชักชวนให้มาร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา (2497) ทำให้เขาได้เข้าใจในหลักวิชาการสร้างบทภาพยนตร์อย่างลึกซึ้ง ทั้งเรื่องการกำหนดระยะและทิศทางของกล้องจาก สันติ-วีณา คุณาวุฒิได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์กับครูมารุตอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนจะก้าวขึ้นมารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ครั้งแรกในเรื่อง ผารีซอ (2498) และรับจ้างกำกับอีกหลายเรื่อง จนถึงจุดหนึ่ง จึงตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ด้วยทุนตนเองเป็นเรื่องแรกคือ มือโจร จากบทประพันธ์ของตัวเอง ออกฉายในปี พ.ศ. 2504 โดยสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทองมาได้ถึง 3 รางวัล หนึ่งในนั้นคือ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม



ภาพ: ขณะกำกับหนังเรื่องแรก ผารีซอ (2498)


นับจากนั้น นาม “คุณาวุฒิ” แห่งวงวรรณกรรม จึงได้ข้ามพรมแดนมาสู่โลกภาพยนตร์อย่างเต็มตัว เขาสร้างภาพยนตร์ในนามบริษัท “แหลมทองภาพยนตร์” ร่วมกับ ทองปอนด์ คุณาวุฒิ คู่ชีวิตผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขมายาวนาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง คอยดูแลด้านธุรกิจ ไปจนถึงรายละเอียดจิปาถะ แต่แม้จะร่ำรวยรางวัล ภาพยนตร์บางเรื่องกลับทำให้เขาต้องขาดทุนอย่างหนัก จึงต้องสลับไปรับจ้างกำกับภาพยนตร์ให้ผู้สร้างรายอื่น ๆ อยู่เป็นระยะ


นอกจากสร้างและกำกับ คุณาวุฒิยังรับหน้าที่ลำดับภาพและเขียนบทเองทุกเรื่อง กล่าวเฉพาะบทภาพยนตร์ที่เขาถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดนั้น ด้วยเลือดนักประพันธ์อันเข้มข้นผนวกความรู้ในการสร้างภาพยนตร์ที่แตกฉาน เขาจึงสามารถกลั่นบทประพันธ์ของนักเขียนชื่อดังจำนวนมาก ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ออกมาเป็นภาพยนตร์ของตนเองได้อย่างลงตัว และเลือกใช้บทสนทนาที่เหมาะสมสอดประสานไปกับเนื้อเรื่อง รวมทั้งสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่ผู้ชมได้อย่างมีชั้นเชิง 



ภาพวาด คุณาวุฒิ กอดตุ๊กตาทอง และภรรยาทองปอนด์ โดย พนม สุวรรณบุณย์



คุณาวุฒิเคยให้ทัศนะเกี่ยวกับการเขียนบทของเขาไว้ว่า “หากคนเขียนหนังสือจะพัฒนาตัวเองมาเป็นคนเขียนบทหนังให้ได้ละก็ ต้องสามารถเปลี่ยนความต่อเนื่องในแบบของการเขียนหนังสือมาเป็นในแบบของหนัง มีการวางโครงสร้างของหนังใหม่ เดินเรื่องใหม่ ฟอร์แมตใหม่ ฉากใหม่ มีการรวบหลาย ๆ สิ่งเข้าไปอยู่ในฉากเดียว ความเพ้อเจ้อทั้งหลายต้องตัดทิ้ง ที่สำคัญก็คือต้องเข้าใจกล้อง ว่ามันจะเก็บภาพออกมาได้มากน้อยแค่ไหน หมายความว่าต้องมองออกว่าการใช้เลนส์แต่ละประเภท การเคลื่อนกล้องนี้จะนำเสนอภาพออกมาอย่างไร คนเขียนบทหนังจะต้องเข้าใจให้กระจ่าง” (จากนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 28 ก.ย. 2531) 


คนทำหนังหัวใจมนุษยนิยม



ภาพ: กองถ่ายภาพยนตร์ คนภูเขา (2522)


“ผมต้องการสร้างงานที่ประณีตกว่านี้ มีผลสะท้อนที่ดีงามกว่าที่ตลาดต้องการในขณะนี้ ผมต้องการสร้างหนังสามสิบห้ามิลลิเมตร แล้วก็เป็นขาวดำด้วย เป็นหนังที่สะท้อนถึงชีวิตไทย ๆ หรือจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษก็คือ เวย์ ออฟ ไลฟ์ นั่นแหละ ผมจึงหวังว่าวันหนึ่ง เราจะหัวเราะให้แก่วันนี้ วันที่ผ่านไปแล้วอย่างไม่ได้สนใจ วันที่ต้องทำต้องสร้างตามใจคนอื่นเขา?” (จากสูจิบัตรภาพยนตร์เรื่อง นางสาวโพระดก 2508) 


คุณาวุฒิมีความเป็นนักมนุษยนิยม สนใจชีวิตผู้คนที่มักถูกมองข้ามมาตั้งแต่สมัยยังทำหนังสือพิมพ์และเขียนเรื่องสั้น เช่น เรื่องสั้น “บนทางรถไฟสายพม่า” ผลงานแจ้งเกิดที่นำความโหดร้ายสาหัสของสงครามมาตีแผ่, สารคดีข่าวกรรมกรบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสไตรก์ ที่เขาเขียนจนสามารถไกล่เกลี่ยให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างตกลงผลประโยชน์กันได้ รวมทั้งกรณีธนาคารแห่งหนึ่งบังคับให้พนักงานหญิงที่สมรสต้องลาออกจากงาน เขาแสดงความไม่เห็นด้วยโดยการเขียนเรื่องสั้นชื่อเรื่อง “ทาส” จนภายหลังธนาคารดังกล่าวต้องยกเลิกกฎนี้ไป


เมื่อมากำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ผารีซอ (2498) ที่เกี่ยวกับชาวเขา เขาก็ขึ้นไปอยู่กินกับชาวเขาเพื่อศึกษาขนบธรรมเนียมอยู่เป็นแรมเดือน และเมื่อลงทุนสร้างภาพยนตร์เองเรื่องแรกคือ มือโจร (2504) เนื้อเรื่องนั้นสะท้อนชีวิตและบทพระเอกนางเอกก็ไม่ได้ดำเนินตามขนบหนังไทย และแม้จะต้องทำหนังที่เขาบอกว่าเป็นงานพาณิชย์ศิลป์ตามใจตลาดเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวมาโดยตลอด แต่ภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาก็มักจะแทรกความเห็นอกเห็นใจผู้คน หรือการถ่ายทอดรายละเอียดของชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยอยู่เสมอ 



ภาพ: คุณาวุฒิกับสามรางวัลตุ๊กตาทอง จาก มือโจร (2504) ถ่ายร่วมกับนักแสดงนำ ประจวบ ฤกษ์ยามดี 


อย่างไรก็ตาม ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของเขา คือการสร้างภาพยนตร์ที่ถึงพร้อมด้วยวิจิตรศิลป์และคุณค่าแห่งชีวิตธรรมดาสามัญ อย่างที่ปรากฏในสูจิบัตรภาพยนตร์เรื่อง นางสาวโพระดก (2508) ซึ่งเขาบอกว่าเป็นหนังรักกระจุ๋มกระจิ๋ม แต่ภายในเล่มมีบทความถึง 2 ชิ้น ที่กล่าวเทียบตัวเขากับ สัตยาจิต เรย์ คนทำหนังชั้นครูของอินเดีย ผู้มุ่งเน้นถ่ายทอดสัจธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ โดยเปิดเผยให้เห็นถึงปณิธานของคุณาวุฒิว่าอยากจะทำหนังที่ยิ่งใหญ่ในทางศิลปะ ประณีต และมีความหมาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงความต้องการทางการตลาดแบบนั้นบ้าง


เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2522 ภายหลังเข้าไปอยู่ในสังกัดบริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น คุณาวุฒิได้ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่อง คนภูเขา ซึ่งจับภาพชีวิตของชาวเขาที่ขะมุกขะมอมและใช้ดาราหน้าใหม่เกือบทั้งหมด ด้วยแรงดลใจจากที่เคยทำ ผารีซอ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน และทุ่มเทลงทุนศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง ขึ้นไปคลุกคลีกินอยู่ถ่ายทำภาพยนตร์กับชาวเขา ณ สถานที่จริงนานนับเดือน เมื่อออกฉายปรากฏว่า คนภูเขา สามารถไปได้ดีทั้งด้านรายได้และการประกวดรางวัล โดยนอกจากจะคว้าตุ๊กตาทองมาครองเหมือนเช่นทุกครั้งแล้ว ยังไปคว้ารางวัลสิงโตทองจากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียที่ประเทศสิงคโปร์มาครองได้อีก 1 รางวัล เป็นกำลังใจสำคัญให้เขาสร้างภาพยนตร์แนวเดียวกันอย่าง ลูกอีสาน (2525) ในเวลาต่อมา 



ภาพ: คุณาวุฒิ กับ ทองปอนด์ ถือรางวัลสิงโตทองจาก คนภูเขา (2522) 


ลูกอีสาน เป็นนวนิยายรางวัลซีไรต์ของ คำพูน บุญทวี ซึ่งบริษัท ไฟว์สตาร์ ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาและมอบหมายให้ วิจิตร คุณาวุฒิ กำกับ เขาเริ่มต้นทำงานด้วยการค้นคว้าข้อมูลอย่างเอาจริงเอาจังเช่นเดิม ทั้งยังคัดเลือกนักแสดงและลงมือถ่ายทำอย่างพิถีพิถันในทุก ๆ ฉาก โดยตัดสินใจรักษาความเป็นเรื่องเล่ากึ่งสารคดีอันเป็นหัวใจของนิยายต้นฉบับเอาไว้ รวมทั้งไม่มีเส้นเรื่องแบบที่คุ้นเคย ปล่อยให้ช่วงชีวิตในหนังนั้นไหลผ่านไปตามกาลเวลา ทั้งหมดนี้ทำให้ได้มาซึ่งภาพยนตร์ที่ลุ่มลึกและมีชีวิตชีวาอย่างน่าอัศจรรย์ ความกล้าหาญทะเยอทะยานและความสามารถในการสร้างสรรค์ ลูกอีสาน ของคุณาวุฒิ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งของชาติ  


แม้จะได้ทำหนังในแบบที่ฝันใฝ่มานาน ทั้งยังได้รับเกียรติให้ไปจัดฉายตามมหกรรมภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ปัจจัยด้านธุรกิจทำให้เขาไม่สามารถสร้างภาพยนตร์แนวนี้ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง กระนั้น หลังจากทำเรื่อง ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ออกฉายในปี 2528 เขาก็ได้เตรียมสร้างภาพยนตร์ที่ไปไกลถึงการมุ่งหวังถ่ายทอดชีวิตเผ่าไทยในจีนแผ่นดินใหญ่ เรื่อง บ้านพี่เมืองน้อง สิบสองปันนา โดยลงทุนไปสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์บุคคล และเขียนบทภาพยนตร์จนแล้วเสร็จ แต่สุดท้ายกลับตัดสินใจยุติการสร้าง เพราะบริษัทจีนผู้ร่วมหุ้นขอแก้ไขบทด้วยเหตุผลทางการเมือง ก่อนที่จะต้องกลับมาเอาใจตลาดอีกครั้งด้วยการกำกับ เรือนแพ (2532) ให้แก่ไฟว์สตาร์ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการขาดทุนของ ลูกอีสาน และกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของชีวิต  


ปัจจุบัน ผลงานภาพยนตร์ของ วิจิตร คุณาวุฒิ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติจากหอภาพยนตร์ทั้งหมด 7 เรื่อง ได้แก่ มือโจร (2504) นางสาวโพระดก (2508) เสน่ห์บางกอก (2509) เมียหลวง (2521) คนภูเขา (2522) ลูกอีสาน (2525) และ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด (2528) 


อ่านรายละเอียดโปรแกรม คุณาวุฒิ ๑๐๑: A Retrospective ได้ที่ <<คลิก>>


เขียนโดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 79 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

*เนื้อหาบางส่วนตัดทอนมาจากบทความ แลไปข้างหลัง หนังคุณาวุฒิ ในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 16 กรกฎาคม-สิงหาคม 2556




ผลงานการกำกับภาพยนตร์ของ วิจิตร คุณาวุฒิ

2498

ผารีซอ (16 มม.)

ภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ให้สำนักข่าวสารอเมริกัน (ยูซิส) (35 มม.)

ภาพยนตร์แนะนำประชาธิปไตย ให้กรมประมวลราชการแผ่นดิน (16 มม.)

2499

มรสุมสวาท (16 มม.)

2500

ปรารถนาแห่งหัวใจ (16 มม.)

2501

คู่ชีวิต (16 มม.)

รมดี (16 มม.)

2502

เหนือมนุษย์ (16 มม.)

2504

มือโจร (16 มม.)* ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

2505

กัลปังหา (16 มม.)

สายเลือดสายรัก (16 มม.)* ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขากำกับการแสดงยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม และเรื่องเยี่ยม 

2506

จำเลยรัก (16 มม.)

กัปตันเครียว ฉลามเหล็ก (16 มม.)

2507

ดวงตาสวรรค์ (16 มม.) ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขากำกับการแสดงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

คมแสนคม (16 มม.) ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม

2508

นางสาวโพระดก (16 มม.)* ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกำกับการแสดงยอดเยี่ยม

เดือนร้าว (16 มม.) ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม

2509 

เสน่ห์บางกอก (16 มม.)* ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขากำกับการแสดงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

เพชรตัดเพชร (35 มม.) ร่วมกำกับกับ พันคำ, ประกอบ แก้วประเสริฐ

เกิดเป็นหงส์ (16 มม.)*

2510

ไทรโศก (16 มม.)*

คนเหนือคน (16 มม.)

2512

ดาวรุ่ง (16 มม.)*

น้องรัก (16 มม.)*

2514

แม่ศรีไพร (35 มม.)*

2515

หัวใจป่า (35 มม.)*

2516

น้ำเซาะทราย (35 มม.)* ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

2519

ป่ากามเทพ (35 มม.)* ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม

2521 

เมียหลวง (35 มม.) ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง  สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม

2522 

คนภูเขา (35 มม.) ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขากำกับการแสดงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลสิงโตทอง ในฐานะภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นความตั้งใจในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ จากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติเอเชีย ณ ประเทศสิงคโปร์ 

2525

ลูกอีสาน (35 มม.) ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขากำกับการแสดงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขากำกับการแสดงยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม, รางวัลชนะเลิศขององค์การคาทอลิกนานาชาติ ด้านภาพยนตร์ และโสตทัศนูปการ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์, รางวัลรองชนะเลิศ ในฐานะภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตและการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

2528

ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด (35 มม.)

2532

เรือนแพ (35 มม.)


หมายเหตุ

1. ข้อมูลนี้นับเฉพาะรางวัลที่เป็นส่วนของ วิจิตร คุณาวุฒิ แต่ภาพยนตร์หลายเรื่องยังได้รับรางวัลการประกวดในสาขาอื่น ๆ อีกจำนวนมาก โดยหลังจากภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน วิจิตร คุณาวุฒิ ประกาศไม่ขอรับรางวัลใด ๆ อีกต่อไป 

2. ภาพยนตร์ที่มี * ข้างท้าย คือภาพยนตร์ที่คุณาวุฒิและทองปอนด์ลงทุนสร้างเอง