เรื่องเล่าเทคโนโลยีภาพยนตร์จากคลังอนุรักษ์นานาชาติ

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพครั้งแรกสำหรับการจัดประชุมสมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ หรือ FIAF Congress 2024 ระหว่างวันที่ 21-26 เมษายน 2567 นี้ และพวกเราจะได้ต้อนรับเพื่อน ๆ ในสายงานอนุรักษ์ภาพยนตร์จากนานาประเทศ ดังนั้นจดหมายข่าวฉบับนี้ห้องสมุดฯ ชวนอ่าน Tales from the Vaults: Film Technology over the Years and across Continents ผลงานที่จัดทำโดย FIAF ร่วมกับ TECHNÈS เรียบเรียงโดย Louis Pelletier & Rachael Stoeltje 


หนังสือเล่มนี้นำเสนอเทคโนโลยีภาพยนตร์ 100 รายการ ซึ่งผ่านการเลือกสรรจากผลงานที่บรรดาหอภาพยนตร์ ภาพยนตร์สถาน และสถาบันมรดกต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกได้ยื่นเสนอกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยทีมผู้จัดทำหนังสือใช้วิธีคัดเลือกคือ มุ่งเน้นความหลากหลายของสื่อโสตทัศน์รูปแบบต่าง ๆ การรวบรวมอุปกรณ์ในช่วงก่อนการกำเนิดภาพยนตร์ อุปกรณ์ทำภาพยนตร์ อุปกรณ์ทำภาพเคลื่อนไหว และอุปกรณ์ดิจิทัลนานาชนิดจากทุกยุคสมัยและทุกภูมิภาคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของหนังสือเล่มนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีภาพยนตร์ได้อย่างละเอียดครบถ้วน งานเขียนเหล่านี้ยังไม่ได้จัดกลุ่มแยกตามประเภท แหล่งที่มา หรือยุคสมัยแต่อย่างใด ดังนั้นทางทีมผู้จัดทำจึงตัดสินใจนำเสนอด้วยการเรียงตามตัวอักษร สำหรับลักษณะเฉพาะอีกอย่างหนึ่งของโครงงานจัดทำหนังสือเล่มนี้คือ การมีทีมงานที่มีทักษะสองภาษาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งผลงาน 100 เรื่อง มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส โดยห้องสมุดฯ เลือกเทคโนโลยีภาพยนตร์สองรายการเป็นตัวอย่างแนะนำให้เพื่อนนักอ่านได้รู้จักเบื้องต้น


หน่วยภาพยนตร์เคลื่อนที่ Autokinema จากหอภาพยนตร์แห่งชาติแอลเบเนีย เมืองติรานา ประเทศแอลเบเนีย เรื่องราวที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับบริบททางสังคมและการเมือง นำเสนอโดย Iris Elezi และ Thomas Logoreci พวกเขาเล่าว่า ก่อนที่แอลเบเนียจะตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์นั้น แอลเบเนียไม่เคยมีบริษัทผลิตภาพยนตร์มาก่อน และมีโรงภาพยนตร์เพียง 2-3 แห่งเท่านั้น กระทั่งในปี 1952 ชาวโซเวียตได้สร้างสตูดิโอภาพยนตร์ในแอลเบเนียชื่อว่า Kinostudio โดยตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 นั้น Kinostudio ผลิตภาพยนตร์บันเทิงคดี สารคดี และแอนิเมชันได้หลายร้อยเรื่อง ซึ่งผลงานส่วนใหญ่นำเสนอแนวคิดสังคมนิยมและชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ ช่วงยุคสมัยดังกล่าวนี้ ผลงานภาพยนตร์ของ Kinostudio ในบ้านเกิดของแอลเบเนียเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายระยะสั้น ๆ จากชีวิตอันจืดชืดและจำเจภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ รวมถึงผู้คนอาจพบว่าตนเองตกอยู่ในอันตรายถ้าหากพูดถึงสิ่งที่ตนเองต้องการอย่างเปิดเผย และหลายครั้งที่หน่วยภาพยนตร์เคลื่อนที่ Autokinema ทำให้พวกเขาสามารถแสดงออกอะไรได้บ้าง 




Autokinema เข้ามาสู่แอลเบเนียครั้งแรกในช่วงปีที่พวกเขาเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต โดยทั้ง 26 เขตของแอลเบเนีย แต่ละเขตจะมีรถตู้ภาพยนตร์เคลื่อนที่ (the mobile cinema van) 1 คัน รถตู้เหล่านี้ใช้เครื่องฉายภาพยนตร์ที่มีความทนทาน เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ KN-11 ขนาด 35 มิลลิเมตร ของโซเวียต เครื่องฉายภาพยนตร์ Eiki ขนาด 16 มิลลิเมตร ของญี่ปุ่น เป็นต้น โดยจะอยู่ด้านหลังรถตู้แต่ละคัน ลำแสงกะพริบของเครื่องฉายพวกนี้จะส่องผ่านหน้าต่างหลังรถและฉายไปบนกำแพงสีขาวด้านนอกให้ประชาชนได้รับชม ภูมิประเทศของแอลเบเนียเป็นประเทศหนึ่งที่มีภูเขาเยอะมากที่สุดในโลก ซึ่งภูเขาคิดเป็น 70% ของประเทศ เหล่ารถตู้ภาพยนตร์เคลื่อนที่จึงพบกับความยากลำบากอยู่บ่อยครั้งกับการนำภาพยนตร์ข่าว ภาพยนตร์ตลก ไปให้ชาวแอลเบเนียที่อาศัยอยู่ในแถบพื้นที่ห่างไกลที่สุดของประเทศได้รับชม หลายคนไม่เคยเห็นภาพเคลื่อนไหวมาก่อนด้วยซ้ำ จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องการไปโรงภาพยนตร์เลย นอกเหนือจากวิทยุแล้ว Autokinema เป็นความบันเทิงรูปแบบเดียวของคนชนบทชาวแอลเบเนียในช่วงชีวิตอันแสนยากลำบาก


ส่วนเรื่องเล่าจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ประเทศไทยของเรา นำเสนอโดย โดม สุขวงศ์ ก็ได้รับคัดเลือกเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตร BYMPS II ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่แสนจะเรียบง่าย แต่สื่อถึงความไม่ย่อท้อของเหล่าผู้ดูแลกรุภาพยนตร์ต่าง ๆ แม้ในการปฏิบัติหน้าที่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องเงินและประสบการณ์ แต่โดมแสดงความรู้สึกว่าเครื่องพิมพ์ฟิล์มเครื่องนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของพวกเราเสมอมา เพราะ BYMPS II สร้างขึ้นมาโดยมีผู้ชี้นำแนวทางระดับชั้นครูที่พวกเราทุกคนเคารพนับถืออย่าง ฮาโรลด์ บราวน์ (1919-2008) หรือ คุณลุงบราวน์ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ภาพยนตร์รุ่นบุกเบิกจากหอภาพยนตร์แห่งชาติของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ 


การเริ่มต้นของ BYMPS II โดมเล่าว่า เมื่อ พ.ศ. 2530 มีชายคนหนึ่งเข้ามาที่หอภาพยนตร์ และสอบถามว่าสามารถทำสำเนาม้วนฟิล์มขนาด 16 มิลลิเมตร ในสภาพย่ำแย่มากได้ไหม ช่วงนั้นคุณลุงบราวน์ ซึ่งเกษียณอายุแล้วได้มาเยี่ยมเยือนที่หอภาพยนตร์เพื่อฝึกงานให้กับพนักงานพอดี และอธิบายว่า เมื่อหลายปีก่อน เขาพยายามทำสำเนาฟิล์มภาพยนตร์ที่มีอาการหดตัวให้ได้ จึงคิดค้นประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ฟิล์มของตัวเองขึ้นมาและแนะนำให้พวกเราลองทำ




คุณลุงบราวน์และเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ในช่วงเวลานั้นได้พยายามประกอบเครื่องพิมพ์ฟิล์ม 16 มิลลิเมตร โดยตัวเครื่องที่ประกอบขึ้นมาใหม่มีชื่อว่า BYMPS มาจากตัวย่อชื่อของบุคคลที่มีส่วนร่วมในโครงงานนี้ ได้แก่  Brown (B), ญาณะ (Y), มณี (M), เพ็ญพรรณ (P) และสมชาติ (S) (แต่ไม่ได้รวมถึงโดม เนื่องจากช่วงนั้นโดมไม่ได้อยู่ช่วยพวกเขาตลอดเวลา เพราะติดภารกิจอื่นอยู่ที่เชียงใหม่) แต่การทำสำเนาฟิล์มด้วยเครื่องพิมพ์ฟิล์มที่ประกอบขึ้นครั้งแรกนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเครื่องไม่ทำงาน


ดังนั้นความพยายามลองประกอบเครื่องใหม่จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยใช้เครื่องฉายภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตร ยี่ห้อ Ampro Stylist ซึ่งอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์จากกรุของ เนย วรรณงาม และใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตร ยี่ห้อ Cine-Kodak รุ่น K-100 ซื้อมาจากตลาดนัดมือสองแถวเยาวราช ความพยายามครั้งที่สองนี้ก็สำเร็จจนได้ และตั้งชื่อเครื่องพิมพ์ฟิล์มเครื่องนี้ว่า BYMPS II (เครื่องตัวแรกที่ไม่สำเร็จชื่อ BYMPS I) 




สำหรับการอ่านตอนท้าย ๆ ของเรื่อง BYMPS II อาจทำให้รู้สึกหัวเราะร่าน้ำตาริน เพราะทีมผู้ปฏิบัติงานได้ทดลองใช้งานเครื่องพิมพ์ฟิล์ม BYMPS II โดยการหมุนม้วนฟิล์มด้วยมือแบบเฟรมต่อเฟรม และบันทึกภาพแต่ละเฟรมด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ ด้วยการทำงานของเครื่องที่ช้าขั้นสุด กว่าจะทำสำเนาม้วนฟิล์มยาว 100 ฟุตได้ใช้เวลานานถึงหนึ่งเดือน แต่พอทีมผู้ปฏิบัติงานจัดการกับฟิล์มที่ได้รับมาในตอนแรกได้สำเร็จแล้ว ชายคนนั้นที่มาขอให้ทำสำเนาฟิล์มก็กลับมา และบอกว่าเขาเจอสำเนาม้วนฟิล์มอีกม้วนหนึ่งที่อยู่ในสภาพดีแล้ว


อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีภาพยนตร์ทั้ง 100 รายการยังมีเรื่องราวสนุก ๆ อีกมากมาย เช่น การศึกษาประวัติศาสตร์ทางวัตถุเพื่อไขข้อสงสัยเรื่องบริษัทผู้ผลิต ความเป็นวัตถุลอกเลียนแบบหรือของแท้ดั้งเดิมในช่วงแรกเริ่มที่มีภาพยนตร์ การบูรณะอุปกรณ์เหล่านั้น เป็นต้น ทุกคนที่ได้มาเที่ยวหอภาพยนตร์ก็แวะมาอ่านหนังสือเล่มนี้กันได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี  


โดย วิมลิน มีศิริ

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 80 ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2567