คอสเม อัลเวส เนตโต โซ่ข้อที่สองของปฏิบัติการสานฝันหอภาพยนตร์ไทย

เขียนโดย โดม สุขวงศ์ 



 เมื่อปี 2523 ผมตั้งใจทำงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทย เป็นงานส่วนตัว โดยไม่ได้ทำงานประจำอะไร นอกจากได้เป็นผู้บรรยายพิเศษด้านภาพยนตร์ที่แผนกวิชาช่างภาพและภาพยนตร์ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ทุ่งมหาเมฆ อาทิตย์ละครั้ง ทุกวันจึงหมกมุ่นอยู่กับการไปค้นคว้าเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทยที่หอสมุดและหอจดหมายเหตุ และออกสัมภาษณ์บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์บ้าง จนเริ่มคิดถึงการออกค้นหาฟิล์มภาพยนตร์สำคัญในอดีต และเห็นว่าบ้านเมืองเราควรจะมีหน่วยงานทำหน้าที่เก็บรักษาภาพยนตร์ เหมือนกับที่เราเริ่มรับรู้ว่ามีหน่วยงานเหล่านี้ในต่างประเทศ เรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น หอจดหมายเหตุภาพยนตร์ สถาบันภาพยนตร์ ภาพยนตร์สถาน พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ และเมื่อผมได้ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ที่เรียกว่า กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2524 จึงตระหนักว่าเราจำเป็นต้องมีหน่วยงานเช่นว่านี้จริง ๆ และได้เริ่มรณรงค์ให้มีการจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย 


วิธีการรณรงค์สำหรับคนธรรมดาเล็ก ๆ ซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีทุนทรัพย์ ก็คือการพูด เขียน และกระทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป่าวร้องให้สังคมไทยรับรู้และเห็นด้วยกับความคิดนี้ ผมได้เสนอขอความสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานนี้ไปตามบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยแทบทุกหน่วยงานทุกองค์กร เท่าที่คิดว่าเขาน่าจะสนับสนุนได้ ซึ่งก็มักได้รับแต่คำพูดสนับสนุนหรือให้กำลังใจ 


นอกจากหมกมุ่นกับการค้นคว้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในประเทศไทย และรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ภาพยนตร์แล้ว เวลานั้น ผมเป็นขาประจำติดตามดูหนังฟรีที่จัดฉายโดยหน่วยงานวัฒนธรรมของต่างชาติในไทย ได้แก่ เอยูเอ, สมาคมฝรั่งเศส, สถาบันเกอเธ่, บริติช เคานซิล ได้รู้จักมักคุ้นกับนักดูหนังขาประจำคนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระนิกายเยซูอิตแห่งบ้านเซเวียร์ สำนักของท่านตั้งอยู่ที่ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผมเรียกท่านว่า พ่ออมล (Antony Amalanathan) ท่านเป็นชาวอินเดีย มักคุ้นกันขนาดที่ท่านให้ผมไปจัดกิจกรรมฉายหนังให้เด็ก ๆ ที่บ้านเซเวียร์ดูกันบ้าง วันหนึ่งในปี 2524 ท่านแนะนำให้ผมรู้จักกับเพื่อนชาวสวิสของท่าน ซึ่งเป็นพระนิกายโดมินิกัน คือ พ่อแอมบรอส ไอเคนเบอร์เกอร์ (Ambros Eichenberger) ซึ่งเวลานั้นเป็นประธานองค์การคาทอลิกนานาชาติเพื่อภาพยนตร์ (International Catholic Organization for Cinema: OCIC) ท่านมาเมืองไทยเพื่อหาบุคคลในวงการหนังไทยและภาพยนตร์ไทยไปร่วมงานประชุมสัมมนาและร่วมเทศกาลหนังที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของท่าน ผมมีโอกาสได้แนะนำบุคคลและหนังไทยที่เห็นว่าเหมาะกับความประสงค์ของท่าน ซึ่งดูเหมือนเป็นที่พอใจของท่าน ในปี 2525 ท่านมาเมืองไทยอีก และขอให้ผมแนะนำบุคคลในวงการอีก รวมทั้งอยากให้ผมไปร่วมงานเทศกาลในคราวนั้นด้วย ซึ่งผมปฏิเสธว่าผมไม่ใช่คนทำหนัง จึงไม่ใช่คนที่เหมาะสม แต่ผมบอกท่านว่าผมอยากทำให้เกิดหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ขึ้นในประเทศไทย ท่านก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นขอให้ผมเขียนสิ่งที่จะทำมาสักสามหน้ากระดาษ ท่านจะไปหาความสนับสนุนให้ ต่อมาผมก็เขียนเป็นภาษาไทยและพ่ออมลกรุณาช่วยแปลและพิมพ์ดีดเป็นภาษาอังกฤษให้ พ่ออมลได้ช่วยส่งกระดาษสามแผ่นนั้นทางไปรษณีย์ไปให้พ่อแอมบรอสที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจริงจังอะไร เวลาผ่านไปสามสี่เดือน ซึ่งลืมเลือนไปแล้ว แต่วันหนึ่งในเดือนเมษายน 2526 ผมก็ได้รับโทรเลขส่งมาจากประเทศสวีเดน ลงนามโดยใครที่ผมไม่รู้จัก ชื่อ แอนนา เลนา วิบุม (Anna Lena Wibom) ขอเชิญผมไปร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างประเทศ (International Federation of Filmarchives: FIAF) ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนั้น โดยมีหอภาพยนตร์ของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ



ภาพ: พ่ออมล กับ โดม สุขวงศ์ ที่หน้าโรงหนังอลังการ หอภาพยนตร์ ถ.เจ้าฟ้า ปี 2533


เมื่อผมเดินทางไปสวีเดน จึงรู้เบื้องหลังจาก แอนนา เลนา ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ของสวีเดนว่า พ่อแอมบรอสได้ส่งกระดาษสามแผ่นนั้นไปให้ คอสเม อัลเวส เนตโต (Cosme Alves Netto) เพื่อนของท่านซึ่งเป็นผู้อำนวยการภาพยนตร์สถานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล แล้วคอสเมจึงรีบส่งสามแผ่นไปให้แอนนา เลนา ที่สวีเดน โดยบอกทำนองว่ามีคนบ้าบอคนหนึ่งในประเทศไทยอยากทำหอภาพยนตร์ ยังทันไหม เพราะคอสเมซึ่งเป็นกรรมการบริหารคนหนึ่งของสมาพันธ์ทราบดีว่าการประชุมใหญ่ของสมาพันธ์ในปีนี้มีโครงการพิเศษที่ยูเนสโกเข้ามาร่วมสนับสนุนให้ทุนเชิญหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์จากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอาจมิได้เป็นสมาชิกของสมาพันธ์ ส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการประชุมและรับการอบรมพื้นฐานการอนุรักษ์ภาพยนตร์ แอนนา เลนา บอกว่า เขาจัดสรรแบ่งทุนเชิญหน่วยงานจากประเทศกำลังพัฒนาไปหมดแล้วสิบกว่าประเทศ แต่เห็นว่ารายนี้มาแปลก ไม่มีหน่วยงานสังกัดด้วยซ้ำ จึงจัดสรรใหม่ให้เชิญผมเพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นรายสุดท้าย 


การได้ไปเปิดหูเปิดตาที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกและได้เห็นได้สัมผัสหอภาพยนตร์จริง ๆ ที่มิใช่ในความฝัน มีผลทำให้การรณรงค์จัดตั้งหอภาพยนตร์ในประเทศไทยสำเร็จเป็นจริงในปี 2527 


เมื่อตั้งหอภาพยนตร์สำเร็จแล้ว มีชื่อใหญ่โตว่า หอภาพยนตร์แห่งชาติ อยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ เวลานั้นพ่ออมลย้ายไปปฏิบัติงานด้านศาสนกิจของท่านที่ไต้หวันแล้ว ได้ติดต่อกันบ้างทางจดหมาย ส่วนพ่อแอมบรอส ผมได้เขียนจดหมายรายงานท่านเรื่องไปสวีเดนและความก้าวหน้าของการจัดตั้งหอภาพยนตร์เป็นระยะ ครั้งปี 2529 ท่านมาประชุมในกรุงเทพฯ จึงได้เชิญมาเยี่ยมชมหอภาพยนตร์ด้วยความยินดี และหลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก ส่วนพ่ออมลท่านได้มาธุระในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2533 ผมได้เชิญท่านมาดูหอภาพยนตร์ด้วยความยินดีเช่นกัน เพราะทั้งสองท่านเป็นพระที่มาโปรดสัตว์ผู้ทุกข์ร้อนเช่นผมให้พ้นทุกข์  จากนั้นผมไม่ได้ติดต่อกับพระทั้งสองท่านอีก ทราบข่าวว่าพ่อแอมบรอสเสียชีวิตไปเมื่อปี 2549 ส่วนพ่ออมลไม่ทราบข่าวคราวของท่านอีกเลย



ภาพ: พ่อแอมบรอส กับ โดม สุขวงศ์ และ เพ็ญพรรณ เจริญพร  ในห้องเก็บฟิล์ม หอภาพยนตร์ ถ. เจ้าฟ้า ปี 2529


สำหรับ คอสเม อัลเวส เนตโต ผมมารู้สึกในเวลานี้ว่าเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสรู้จักกันอย่างจริงจัง ได้พบกันครั้งแรกที่สวีเดนในปี 2526 เขามาทักทายผมแบบเอ็นดูในฐานะที่เขาเป็นคนกลาง รับและส่งไม้ต่อให้ผมเข้ามาสู่โลกของหอภาพยนตร์ และจากนั้นได้พบอีกสองครั้งอย่างผิวเผินเมื่อผมไปร่วมประชุมใหญ่ของสมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างประเทศประจำปี 2530 ที่นิวยอร์ก และปี 2531 ที่ปารีส ผมไปงานประชุมใหญ่ของสมาพันธ์ฯ อีกครั้งที่ลอสแอนเจลิส ในปี 2538 ปีครบรอบร้อยปีการกำเนิดภาพยนตร์โลก แต่จำไม่ได้ว่าเนตโตไปร่วมด้วยหรือไม่ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในปีถัดมา 



ภาพ: คอสเม อัลเวส เนตโต (ยืนริมกำแพง) ในงานประชุมใหญ่ของ FIAF ที่นิวยอร์ก ปี 2530 ถ่ายโดย โดม สุขวงศ์


ผมมารู้จักเขาหลังจากนั้น โดยการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และพบว่าเนตโตคือสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์และการเผยแพร่หนังของบราซิลและอเมริกาใต้ เนตโตเกิดเมื่อปี 2480 ที่เมืองมาเนาส์ เมืองหลวงของรัฐอามาโซนัส ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบราซิล เมื่ออายุสิบแปดปีก็เดินทางไปอยู่เมืองรีโอเดจาเนโรเพื่อเรียนหนังสือสาขาการสื่อสารและปรัชญาในมหาวิทยาลัย พร้อมกับการเป็นนักกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมของกลุ่มภาพยนตร์ศึกษาของสหภาพนักศึกษา เขาเป็นคนจัดกิจกรรมภาพยนตร์สโมสร ฉายหนังที่หาดูไม่ได้ตามโรงหนังปกติ และที่สุด ปี 2506 เขาได้เข้าทำงานเป็นผู้อำนวยการแผนกภาพยนตร์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งรีโอเดจาเนโร ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี  2492 ในฐานะสถาบันศิลปวัฒนธรรมของเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร แผนกภาพยนตร์นี้เรียกชื่อว่าซีเนมาเทเก็ต หรือ ภาพยนตร์สถาน เป็นที่จัดฉายภาพยนตร์ที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรม และสะสมผลงานภาพยนตร์เหล่านั้น ทั้งของบราซิลและต่างชาติ และปี 2507 บราซิลก็ถูกปกครองโดยเผด็จการทหารซึ่งจะสืบทอดอำนาจยาวนานถึงสองทศวรรษ ในขณะที่เนตโตเป็นผู้เชื่อในสิทธิเสรีภาพ ภาพยนตร์สถานของพิพิธภัณฑ์จึงกลายเป็นศูนย์กลางของการกล้าท้าทายอำนาจเผด็จการ เขาจัดฉายหนังที่ต้องห้ามและไม่ยอมผ่านการเซนเซอร์ ซึ่งเป็นผลให้เนตโตถูกจับติดคุกถึงสองครั้ง และต้องปกป้องฟิล์มหนังหลายเรื่องให้รอดพ้นจากการถูกเผาจากทางการ 


เนตโตทำงานเป็นผู้อำนวยการภาพยนตร์สถานอย่างต่อเนื่องถึง 33 ปี จนถึงวันที่เสียชีวิตในวัยที่กำลังจะครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 วันเดียวกันกับที่ จีน เคลลี ดาราจากหนัง Singin' in the Rain ที่เนตโตชื่นชอบที่สุดเรื่องหนึ่งเสียชีวิตเช่นกัน


ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 77 ประจำเดือนกันยายน - ตุลาคม 2566

-----------------------------


เนื่องในวันสถาปนาหอภาพยนตร์ วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ ขอเชิญชมภาพยนตร์สารคดีบราซิลปี 2558 กำกับโดย ออเรลิโอ มิชิลีส (Aurélio Michiles) เรื่อง Tudo Por Amor ao Cinema (All For the Love of the Movies) ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ด้วยความรักในภาพยนตร์ของ คอสเม อัลเวส เนตโต ผู้เป็นโซ่ข้อที่สองในการส่งต่อกระดาษสามแผ่น อันเป็นใบเบิกทางให้ โดม สุขวงศ์ ได้สานฝันและก่อร่างหอภาพยนตร์ในเมืองไทยให้เกิดขึ้นจริง สำรองที่นั่งได้ที่ <<คลิก>>