อำแดงเหมือนกับนายริด ฉากสุดท้ายในชีวิต ของ ส. อาสนจินดา

บทบันทึกความทรงจำของ เชิด ทรงศรี ที่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ ส. อาสนจินดา แสดงภาพยนตร์เรื่อง อำแดงเหมือนกับนายริด ซึ่งเป็นผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายก่อนจะสิ้นลมหายใจเพียงไม่กี่วัน ในบทความที่ชื่อว่า “ฉากสุดท้ายในชีวิต ของ ส. อาสนจินดา” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในอนุสรณ์งานศพของ ส. อาสนจินดา นี้ ได้แสดงให้เห็นถึงสปิริตของศิลปินผู้มีฉายาว่า “นักแสดงกระดูกเหล็ก” ที่ทุ่มเททั้งชีวิตและวิญญาณให้แก่ทุกบทบาทที่ได้รับ และมีประโยคประจำใจที่ว่า “The Show Must Go On” ซึ่งไม่เคยมีข้อยกเว้นให้แก่เหตุการณ์ใด แม้แต่เมื่อความตายกำลังย่างกรายเข้ามา 

---------------------------------------




บทภาพยนตร์เรื่อง อําแดงเหมือนกับนายริด มีตัวละครสําคัญอยู่ตัวหนึ่ง เป็นภิกษุชรา ที่เรียกกันว่า “หลวงปู่” รอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ผมขอเชิญคุณ ส. อาสนจินดา แสดงบทนี้ 

“ได้” 

“ต้องโกนผมด้วยนะครับ” 

ตอนนั้น เป็นตอนก่อนที่คุณ ส. อาสนจินดา จะแสดงละครโทรทัศน์เรื่อง “อยู่กับก๋ง” ของคุณ “ศุภักษร” 

ผมเปิดกล้องถ่าย อําแดงเหมือนกับนายริด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2536... ถ่ายทําไปเรื่อย ๆ พอถึง คิวจะเชิญคุณ ส.  เข้าฉาก ก็เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าคุณ ส. ป่วยหนักอยู่โรงพยาบาลรามาฯ 

ก่อนที่จะป่วยครั้งหนักที่สุดนี้ คุณ ส. เคยป่วยถึงต้องเข้าพักในโรงพยาบาลมาครั้งสองครั้ง ผมไปเยี่ยมที่ โรงพยาบาลพญาไท และได้มอบเช็คจํานวน 1 ใน 3 ของค่าตัวคุณ ส. ให้คุณตุ๊ก่อน เพื่อจะมีส่วนช่วยในค่ารักษาพยาบาล 

เรื่องค่าตัว ขออย่าให้ผมต้องเปิดเผยตัวเลขเลย แต่ก็ขอยืนยันว่าเป็นค่าตัวที่สูงที่สุดเท่าที่คุณ ส. จะพึงได้รับ จากงานแสดงภาพยนตร์ 

เมื่อผมไปเยี่ยมคุณ ส. ที่โรงพยาบาลรามา คุณ ส. นอนอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. คุณตุ๊ (คุณสมใจ ภรรยาคุณ ส.) พาผมเข้าไปดู...

“ถ้าคุณเชิดจะเปลี่ยนตัวคุณ ส. ก็เปลี่ยนเถอะ...” 

คุณตุ๊บอกผมเมื่อเรามานั่งคุยกันข้างนอก...ผมเชื่อว่าคุณตุ๊และลูกสาวคงปลงตกแล้ว...ลักษณะและอาการป่วยของคุณ ส. แทบไม่เหลือวี่แววให้หวังได้เลยว่าจะหาย 

“ผมยืนยันนะครับ จะคอยคุณ ส. จนถึงที่สุด” 


การเปลี่ยนตัวคุณ ส. นั้น ไม่มีผลเสียหายใด ๆ กับงานสร้าง อําแดงเหมือนกับนายริด เลย ก็จริงอยู่ แต่...ลองนึกถึงความรู้สึกของศิลปินแท้ ๆ อย่างคุณ ส. ดู...ในวงการบันเทิงนี้ เราตั้งหน้าตั้งตาจะกอบโกยกันแต่ประโยชน์เท่านั้นหรือ กตัญญูกตเวทิตาไม่มีความสําคัญเสียแล้วหรือ ศิลปธรรม มโนธรรม จะไม่นํามาคิดและปฏิบัติกันแล้วหรือ ในขณะที่ ส. อาสนจินดา ผู้เคยเป็นราชสีห์แห่งวงการบันเทิง ถึงวาระ-แก่มากแล้ว และกําลัง เจ็บป่วยอย่างที่คิด ๆ กันอยู่ว่ารอดยาก...เราจะทอดทิ้งให้ตายก่อนแล้วค่อยมาคร่ำครวญหลั่งน้ำตาสดุดี สรรเสริญ เยินยอเกียรติคุณในงานศพของผู้ตายภายหลังกระนั้นหรือ ? 

ผมยืนยันกับคุณตุ๊อีกครั้งว่า อําแดงเหมือนกับนายริด ยังจะคอยคุณ ส. อาสนจินดาต่อไป 

เราถ่ายอะไรอย่างอื่นแบบเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ จนผู้จัดคิวบ่นว่าไม่รู้จะจัดให้ถ่ายอะไรได้อีกแล้ว ที่เหลืออยู่ต้องมี “หลวงปู่” ทั้งนั้น 

ผมไปเยี่ยมอาการคุณ ส. ที่โรงพยาบาลรามาอีก ท่านออกจากห้อง ไอ.ซี.ยู. แล้ว อาการดูจะดีขึ้น ลุกขึ้น พูดคุยได้ แต่ขายังบวมอยู่ 

“ผมอยากเล่นหนังของคุณเชิดเป็นเรื่องสุดท้าย” 

คุณ ส. อาสนจินดา บอกกับผมพร้อมกับเรียกให้เข้าไปนั่งใกล้ ๆ ให้คุณตุ๊ช่วยถ่ายรูป 

ความสัมพันธ์ระหว่างคุณ ส. กับผมนั้น โดยสรุปผมคือลูกศิษย์ที่คุณ ส. ประสิทธิ์ประศาสน์ความรู้ด้านการเขียนบทภาพยนตร์ให้ เป็นที่ปรึกษาวิชาการภาพยนตร์ ตรวจสอบให้ความคิดเห็นในบทภาพยนตร์ของผมทุกเรื่อง 

ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติใกล้โรงพยาบาลรามา ผมรู้จักแพทย์หญิงวรรณเพ็ญ เบ็ญจชัย ค่อนข้างสนิทมาก ผมจึงโทรไปขอความช่วยเหลือ 

“หมอรู้จักหมอประกิต เจ้าของไข้คุณ ส.อาสนจินดา ที่โรงพยาบาลรามามั้ย?” 

“ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวเลย ทําไมล่ะ?” 

“ผมอยากจะรู้ว่าคุณ ส. จะหายพร้อมที่จะเข้าฉากหนังผมได้สักเมื่อไหร่ ผมจะได้วางกําหนดถ่ายทํา หมอ ถามหมอน่าจะดีกว่าผมถาม” 

ไม่นานนัก คุณหมอวรรณเพ็ญก็โทรกลับมาบอกเบอร์โทรศัพท์ของคุณหมอประกิต เจ้าหน้าที่ของผมโทรไป แล้วบอกผมว่า คุณหมอประกิตอยากพบผมบ่ายวันนั้น และให้ผมกําหนดวันถ่ายคุณ ส. ได้เลย 

ผมงง... 




บ่ายวันนั้น ผมไปพบศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่โรงพยาบาลรามา ท่านก็พาผมเข้าไปนั่งคุยกันในห้องคุณ ส. อาสนจินดา คุณหมอประกิตจะให้ผมกําหนดวันถ่ายเลย - อีก 3 วันหรือ 7 วัน ก็ถ่ายได้ แต่ลักษณะที่ผมเห็นคุณ ส...เท้ายังบวมอยู่มาก พุงใหญ่และบวมด้วย...ผมยังไม่กล้ากําหนด 

“คุณเชิดจะให้ป๋าส. ไปถ่ายที่ไหนครับ” 

“วัดคงคาราม ราชบุรีครับ” 

“ป๋าไปได้ แต่อย่าให้โดนแดดก็แล้วกัน และคงไม่มีบทที่ต้องออกแรงมากนะครับ” 

“ไม่มีครับ คุณ ส. เล่นเป็นพระ มีแต่นั่ง ๆ ยืน ๆ และถ่ายอยู่แต่ในร่ม ไฟถ่ายหนังยุคนี้ก็ไม่ร้อนแล้วครับ 

คุณหมอประกิตเปิดโอกาสให้ แต่ผมก็ยังไม่กล้ากําหนดวันถ่ายอยู่ดี 

“ตาเป็นอย่างไรบ้างครับ” 

ผมถามคุณ ส. ได้รับคําตอบในทันที 

“แจ๋วมาก ทั้งหู ทั้งตา เคลียร์” 

“อีกไม่กี่วันป๋าก็กลับบ้านได้แล้ว” 

คุณหมอประกิตให้กําลังใจคุณ ส. ...ผมก็คิดอยู่ในใจว่า ให้คุณ ส. กลับบ้านก่อนดีกว่าแล้วค่อยกําหนดวันถ่ายทํา 

แล้วผมก็ลาคุณหมอประกิต ลาคุณ ส.  กลับ...ผมกลับมาขอความเข้าใจ - เห็นใจจากเพื่อนร่วมงานที่ “ยังไม่มีอะไรถ่ายตอนนี้" 

ผมส่งหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ฉบับสมบูรณ์ของท่าน “พุทธทาส” ไปให้คุณ ส. อาสนจินดา อ่านที่โรงพยาบาล คุณ ส. ถามหาบทภาพยนตร์ ผมก็ยังไม่ส่งให้ ด้วยความคิดเอาว่ายังไม่อยากให้คุณ ส. คิดเรื่องงาน จนกว่าอาการป่วยจะดีขึ้นกว่านี้ 

แต่...ผมคิดผิด ดังที่คุณผู้อ่านจะได้ทราบ เมื่อคุณ ส. ไปเข้าฉาก อําแดงเหมือนกับนายริด ในวันแรก 

การไปเยี่ยมคุณ ส. ที่โรงพยาบาลบ่อยนัก จะกลายเป็นว่าผมไปเร่งคุณ ส. ผมจึงไม่ไปอีก แต่ได้ขอร้องให้ คุณอาษา ติปยานนท์ เพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งของผมไปเยี่ยมแทน คุณอาษารู้จักคุ้นเคยกับคุณ ส. อยู่ก่อนแล้ว การไปเยี่ยมครั้งหลังสุดของคุณอาษาทําให้ผมทราบว่าคุณ ส. จะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ และพอถึงวันที่คุณ ส. กลับบ้าน เราจึงกําหนดวันถ่ายทํากัน 

“ผมจะถ่ายคุณ ส. วันอังคารที่ 31 สิงหานี้ ได้มั้ยครับ” 

ผมโทรถามคุณหมอประกิต ท่านก็ตอบว่าได้ 

“ผมอยากได้รถพยาบาลและพยาบาล” 

“ไม่จําเป็นหรอกครับ รถตู้ติดแอร์ธรรมดา ๆ ก็ใช้ได้แล้ว พยาบาลก็ไม่ต้อง ผมจะไปดูแลป๋าเอง" 

นี่ - เป็นน้ำใจของศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต ท่านเป็นคนพูดจริงและทําจริง 

นัดแรกของคุณ ส. อาสนจินดา 10.00 น. วันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2536 ที่วัดสิงห์ จังหวัดปทุมธานี 

ผู้แสดงที่ร่วมเข้าฉาก มีทั้งคุณจินตหรา สุขพัฒน์ คุณสันติสุข พรหมศิริ คุณป้าบรรเจิดศรี ยมาภัย และผู้แสดงประกอบเป็นพระ-เณรลูกวัดอีก 7 คน, เด็กลูกศิษย์วัด 1 คน ผู้แสดงทั้งหมดนี้ เรานัดไปถึงกองถ่าย 7.00 น. นัดก่อนคุณ ส. อาสนจินดา 3 ชม. เพื่อที่เมื่อคุณ ส. มาถึงจะได้ถ่ายเลยไม่ต้องเสียเวลาคอยใคร 

ผมบอกกับคุณจินตหรา คุณสันติสุข คุณป้าบรรเจิดศรีว่า ในการถ่ายทําฉากที่มีคุณ ส. นี้ ผมขอถือเอาตัว คุณ ส. เป็นหลัก ทุกคนเข้าใจ 

คุณหมอประกิตขับรถมาเอง มาถึงไล่เลี่ยกับรถตู้ที่ไปรับตัวคุณ ส. อาสนจินดา 




คุณ ส. แต่งกายชุดขาว...ผ้านุ่งขาว เสื้อขาว พวกเราช่วยกันพยุงลงจากรถ ประคองมานั่งที่เก้าอี้ในศาลาดิน 

คุณ ส.  ยิ้มเมื่อใครต่อใครยกมือไหว้ ที่สนิทชิดเชื้อก็ล้อเลียนคุณ ส. คุณ ส. ก็ด่าตอบด้วยความรักใคร่ เอ็นดู ไม่ถือสา คําล้อ-คําด่าของคุณ ส. เรียกเสียงหัวเราะเฮฮาจากทีมงาน คุณ ส. ในยามนั้น ผมแน่ใจว่ามีความสุข 

กองถ่ายจัดอาหารให้คุณ ส. รับประทานก่อน แล้วฝ่ายเมคอัพจึงเริ่มกร้อนผม ตัดขนคิ้ว โกนหนวด แปลงสภาพคุณ ส. ให้กลายเป็นพระ “หลวงปู่” 

ณัฏฐวี ทศรฐ ผู้ช่วยผู้กํากับการแสดง ปรี่เข้าไปขอทบทวนบทว่า ตามบทถ่ายทําที่ส่งไปให้ก่อนนั้น คุณ ส. จําได้ถูกต้องหรือไม่ 

“ตามองไม่เห็น”

 คุณ ส. บอก ผมได้ยินก็แปลกใจ เพราะตอนอยู่โรงพยาบาลคุณ ส. เคยบอกผมว่า หูตา “เคลียร์” 

ก็เลยใช้วิธีอ่านบทให้ฟัง อ่านซ้ำ ๆ  4 - 5 หน คุณ ส.  ก็จําได้ ความทรงจํายังดีอยู่มาก 




ฉากที่จะถ่ายทําในวันนั้น เป็นตอนที่หลวงปู่สอนหนังสือพระเณรร่วมกับพระริดที่ศาลาดิน อําแดง (นางสาว) เหมือนมา “ตื๊อ” หลวงปู่ ขอเรียนหนังสือด้วย แต่หลวงปู่ปฏิเสธ 

เราจัดผู้แสดงประกอบเข้าประจําที่ ให้ทีมงานคนหนึ่งไปนั่งในตําแหน่ง “หลวงปู่” แล้วซ้อม การแสดงของตัวประกอบก่อน จัดไฟ ซ้อมกล้องเรียบร้อย จึงช่วยกันประคองคุณ ส. ให้นั่งในตําแหน่ง “หลวงปู่” ผมสั่งถ่ายทํา 

เทป...เทปเดิน 

กล้อง...กล้องเดิน 

แอ็คชั่น...

ทันที่ที่ผมสั่ง “แอ็คชั่น” คุณ ส. เริ่มอิริยาบถ “หลวงปู่”... การแสดงและบทพูดแม่นยํา ความเป็นศิลปิน นักแสดงของคุณ ส.  ปรากฏให้เห็นแม้แต่ในยามเจ็บไข้ 

รุ่งขึ้นวันที่ 1 กันยายน เรานัดถ่ายคุณ ส. ที่เดิมอีก การถ่ายทําผ่านไปด้วยดี 

เราทุกคนในกองถ่ายช่วยกัน “ประคับประคอง” คุณ ส. ด้วยความเคารพรัก ทุกฉากที่จะถ่าย ผมจะถาม คุณหมอประกิตก่อนว่าป๋ายังไหวหรือไม่ ถ้าเหนื่อยมากหรือมีอาการ “ไม่สู้ดี” เราพร้อมจะงดถ่ายทันที 

“คุณเชิดคงไม่รู้ ตอนป๋าอยู่โรงพยาบาล ป๋าดื้อมาก นั่งไม่ยอมลุก นั่งจนอาการบวมกําเริบ ยานั้นรับประทานไม่ได้อยู่แล้ว แต่หมอแนะนําให้ปฏิบัติอย่างไร ป๋าก็ไม่ยอมปฏิบัติ ผมต้องขู่ว่าป๋าต้องรักษาตัว ป๋าถึงจะไปแสดงหนัง ให้คุณเชิดได้ เรื่องต้องไปแสดงหนังให้คุณเชิดนี่แหละ ทําให้ป๋ายอมเชื่อหมอ จนอาการทุเลา” 

ฟังแล้วผมน้ำตาซึม คุณ ส. นั้นแม้จะเจ็บหนักท่านก็ยังเป็นห่วงงานของผม บางประโยคที่คุณ ส. พูดถึงผม กับคุณหมอประกิต ทําให้ผมอยากจะร้องไห้... 

คุณ ส. ปวดท้องฉี่ ผมเอากระโถนเข้าไปรอง 

“เฮ้ย ทําไมปล่อยให้คุณเชิดเขาทํา” 

“ผมเป็นลูกศิษย์ครับ ลูกศิษย์ทําให้ยิ่งกว่านี้ก็ได้” 

ผมรู้สึกตามที่พูดนั้นจริง ๆ... 

คราวนี้ถึงฉากที่กําหนดเอาไว้ว่าจะไปถ่ายที่วัดคงคาราม ราชบุรี ซึ่งคุณหมอประกิตก็ว่าไปได้และท่านจะไปด้วย แต่ผมกลับมีความวิตกว่า การเดินทางไปต่างจังหวัด น่าจะทําให้คุณ ส. เหนื่อย และถ้าเจอภาวะรถติดก็จะแย่หนักเข้าไปอีก 

การไปถ่ายที่วัดคงคาราม จึงมีเพียงคุณสันติสุข พรหมศิริ คุณจินตหรา สุขพัฒน์ คุณดวงดาว จารุจินดา และคุณแมน ธีรพล เมื่อถ่ายกลับมุมมาทางด้าน “หลวงปู่” เราสร้างฉากในโรงถ่ายติดแอร์ของกัญญามาลย์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับบ้านที่คุณ ส. พักอยู่ในปัจจุบัน 




เราสร้างฉากกุฏิหลวงปู่เพื่อถ่ายทําคุณ ส. อาสนจินดาโดยเฉพาะ นัดถ่ายวันจันทร์ที่ 13 กันยายน ให้คุณ ส. คอยอยู่กับบ้านก่อน ฉากเรียบร้อยเมื่อไหร่จะส่งรถไปรับ ประมาณ 10.30 น. จึงส่งรถไปรับคุณ ส. ครู่เดียว คุณ ส. ก็มาพร้อมกับคุณไหม ลูกสาว ซึ่งบอกผมก่อนว่า 

“ป๋ามีน้ำมูกนิดหน่อย ที่บ้าน พี่สาวคนโตกับคุณแม่เป็นหวัด เลยต้องแยกห้องกันนอน” 

วันนี้คุณหมอประกิตไม่ได้มาด้วย ท่านเดินทางไปราชการที่ประเทศรัสเซีย 

นี่เป็นฉากที่จะถ่ายทําคุณ ส. เป็นครั้งสุดท้าย 

เหตุการณ์ในเรื่อง - เหมือนมาหาหลวงปู่ ถวายอาหารเพล แล้วประจบประแจงขอเรียนหนังสือแต่หลวงปู่ไม่ยอม 

สถานที่เดียวกัน - เกตกับนุ่มมาหาหลวงปู่ ขอให้หลวงปู่ห้ามเหมือนเรียนหนังสือ 

ด้านที่เหมือนพูด, เกตพูด เราถ่ายเจาะที่วัดคงคารามไปแล้ว ถ่ายกลับมุมด้านหลวงปู่พูด จึงถ่ายในโรงถ่ายกัญญามาลย์ 

คุณ ส. ความจําดี แสดงได้คล่อง เราจึงใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวก็เสร็จเรียบร้อย 

ทีมงานขอถ่ายรูปร่วมกับคุณ ส. เป็นที่ระลึก ท่านก็เรียกคนโน้นคนนี้ให้มาถ่ายกันพร้อมหน้า 

“กูคงไม่ได้ดูหนังที่มึงถ่ายเรื่องนี้” 

คุณ ส. ปรารภกับ อานุภาพ บัวจันทร์ ตากล้อง...จะเรียกว่าเป็นลางหรือไม่? 

วันที่ 19 กันยายน เราถ่ายฉากอําแดงเหมือนทูลเกล้าฯ ถวายฎีการัชกาลที่ 4 ที่อําเภอบางเลน จังหวัด นครปฐม...ระหว่างเตรียมงานช่วงบ่าย คุณจินตหรา สุขพัฒน์ นอนพักอยู่ในรถของเธอ ฟังวิทยุ...แล้วเธอก็วิ่ง พรวดพราดออกมา หน้าตื่น...

“ป๋า ส. เสียแล้ว...!” 



...................................................


มีคนสองคนในวงการบันเทิง ที่มีความรักและเมตตาต่อผมอย่างสม่ำเสมอ คนหนึ่ง-สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ซึ่งมีความรัก ผูกพัน จนผมต้องเรียก “แม่ต้อย” อีกคนหนึ่ง - ส. อาสนจินดา ผู้เป็น.............. 

ศิลปินแห่งชาติ 

ศิลปินผู้มีศิลปธรรม 

นักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ผู้จองหอง 

ราชาแห่งละครเวทีไทย 

ผู้กํากับการแสดง “กระดูกเหล็ก” 

ดารา - นักแสดงผู้เป็นแบบฉบับของความเป็นนักแสดงชั้นเลิศ 

สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ตาย เท่ากับผม...เสียแม่ มาคราวนี้ ส. อาสนจินดา ตาย ผมถือว่าผมสูญเสีย “พ่อ”.. 


เชิด ทรงศรี 

14 พฤศจิกายน 2536 

*ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสืออนุสรณ์งานศพของ ส. อาสนจินดา