ปาเลสไตน์-อิสราเอล ภาพยนตร์ในพื้นที่ความขัดแย้ง

การศึกษาภาพยนตร์ในแต่ละพื้นที่ บางครั้งเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ทางรัฐศาสตร์ สงคราม และรากเหง้าของความขัดแย้ง รวมทั้งโอกาสแห่งสันติภาพ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ของหอภาพยนตร์ มีหนังสือหลายเล่มที่เป็นงานศึกษาภาพยนตร์และวรรณกรรมจากปาเลสไตน์และอิสราเอล สองคู่ขัดแย้งในดินแดนที่ไม่สงบสุขมากว่า 70 ปีในตะวันออกกลาง ในจดหมายข่าวฉบับเดือนมกราคม เราแนะนำหนังสือสามเล่มที่นำเสนอประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จากสองดินแดน บทวิเคราะห์ความซ้อนเหลื่อมระหว่างคนทำหนังสองพื้นที่ และงานศึกษาเรื่องเพศและพื้นที่จากทั้งฝั่งปาเลสไตน์และอิสราเอล แน่นอนว่ายังมีหนังสืออื่น ๆ อีกหลายเล่มที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ทุกท่านสามารถมาค้นคว้าได้ที่หอภาพยนตร์



Palestinian Cinema: Landscape, Trauma, and Memory 

โดย Nurith Gertz และ George Khleifi




หนังสือเล่มนี้ไล่เรียงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในดินแดนปาเลสไตน์ ตั้งแต่หนังข่าวเรื่องแรกที่ถ่ายทำในปี ค.ศ. 1935 ว่าด้วยการเสด็จเยือนปาเลสไตน์ของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย มาถึงหนังในยุคทศวรรษ 2000 คุณูปการที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือการที่ผู้เขียนแบ่งประวัติศาสตร์หนังปาเลสไตน์เป็นสี่ยุค แต่ละยุคมีหมุดหมายอันมาจากปรากฏการณ์การต่อต้านและบาดแผลแห่งการต่อสู้เพื่อปลดแอกในแต่ละช่วงเวลา 


ยุคแรกคือยุคเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1935-1948 เมื่อคนทำหนังสมัครเล่นปาเลสไตน์เริ่มถ่ายภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการจัดตั้ง Studio Palestine และ Arab Film Company เพื่อสร้างหนัง ยุคที่สองคือหลังปี 1948 หรือที่เรียกว่า “ยุคแห่งความเงียบงัน” เมื่อชาวปาเลสไตน์ต้องระเห็จออกจากบ้านเรือนหลังการถือกำเนิดของประเทศอิสราเอล กลายเป็นผู้ลี้ภัยในชาติอาหรับอื่น ๆ จนแทบไม่มีกิจกรรมการถ่ายหนัง ยุคที่สามคือยุค “หนังพลัดถิ่น” ตั้งแต่ปี 1968-1982 เป็นช่วงที่องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ที่มีฐานอยู่ในเลบานอนและจอร์แดน สนับสนุนการทำหนังสารคดีเพื่อเป็นเครื่องมือทางความคิดในการต่อสู้ หนังสือยังเล่าถึงความพยายามในการเก็บรักษากรุหนังที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ในหอภาพยนตร์ชั่วคราวแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และหนังจำนวนนับร้อยเรื่องสูญหายไปจนทุกวันนี้ ส่วนยุคสุดท้ายคือยุคหนังสมัยใหม่ ที่คนทำหนังปาเลสไตน์ทั้งที่อยู่ในอิสราเอล ชาติอาหรับอื่น ๆ หรือที่อพยพไปยังประเทศต่าง ๆ เริ่มทำหนังเพื่อเล่าเรื่องราวของชนชาติตนเองในรูปแบบภาพยนตร์ต่าง ๆ กัน และมีความซับซ้อนในการมองเหตุการณ์และประวัติศาสตร์ เช่น หนังตลกร้ายของ เอเลีย สุไลมาน หรือหนังชีวิตของคนในฉนวนกาซาของ ราชิด มาชาวารี


Israel / Palestine: Border Representations in Literature and Film 

โดย Drew Paul




หนังสือใหม่ล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในปีนี้โดยมหาวิทยาลัยเอดินบะระ มีเนื้อหาที่แตกประเด็นไปจากความคิดตั้งต้นเรื่อง “พรมแดน” หรือ border อันเป็นคำที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางการเมือง ทางประวัติศาสตร์ และทางปรัชญามานับร้อยปีในดินแดนปาเลสไตน์-อิสราเอล ผู้เขียนศึกษาทั้งวรรณกรรมและภาพยนตร์จากทั้งฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ (แต่ยอมรับว่าน้ำหนักเทไปทางปาเลสไตน์ เพราะได้รับผลกระทบจากคำว่า “พรมแดน” และ “พื้นที่” มากกว่า) โดยเน้นทั้งเส้นแบ่งพรมแดนทางกายภาพ เช่น กำแพงความมั่นคงสูงแปดเมตรที่อิสราเอลสร้างขึ้น และที่กลายเป็นแกลเลอรีกลางแจ้งของศิลปินนักเรียกร้อง เช่น แบงก์ซี่ (Banksy) และเส้นพรมแดนทางความคิดและจินตนาการ


ที่สำคัญที่สุด ผู้เขียนใช้ตัวอย่างของนวนิยายและภาพยนตร์หลายเรื่องจากคนทำหนังปาเลสไตน์และอิสราเอล เช่น Mur, 5 Broken Cameras, Omar และ Divine Intervention เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมซ้อนและทับกันของความคิดและประสบการณ์ในชีวิตของศิลปินจากทั้งสองฝั่งกำแพง หนังปาเลสไตน์ไม่มีทางหลีกหนีการเล่าเรื่องอิสราเอล เช่นเดียวกับหนังอิสราเอลที่มักรวมประสบการณ์ของคนปาเลสไตน์เข้าไปด้วย


Reel Gender: Palestinian and Israeli Cinema 

งานบรรณาธิการโดย Sa’ed Atshan และ Katharina Galor




หนังสือวิชาการเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความโดยนักเขียนหลายคน ที่มุ่งใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับ gender หรือเพศ สวมทับไปกับการวิเคราะห์ภาพยนตร์จากคนทำหนังอิสราเอลและปาเลสไตน์ คือการมองหนังสองชั้น ผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองและทางเพศสภาพไปพร้อม ๆ กัน


แนวทางการศึกษาอันซับซ้อนนี้เปิดความคิดเกี่ยวกับหนังปาเลสไตน์และอิสราเอลให้ไปไกลกว่าเรื่องการขัดแย้งของพื้นที่หรือชาตินิยม แต่เลยไปถึงเรื่องครอบครัว บทบาทของผู้ชายและผู้หญิง ความเป็นชาย ความเป็นหญิง ความลื่นไหลของความสัมพันธ์ รวมทั้งอัตลักษณ์ความเป็น “อาหรับ” - “ยิว” - “ปาเลสไตน์” - “อิสราเอล” หรือการผสมผสานอันยุ่งเหยิงระหว่างตัวตนเหล่านั้น หนังสือใช้ตัวอย่างจากทั้งหนังสั้นและยาว จากคนทำหนังชายและหญิง เช่น เอเลีย สุไลมาน, เอบติซัม มารานา-เมนูฮิน และ ยุมนะห์ มันนา เหล่านี้เป็นชื่อที่เราอาจไม่คุ้นเคย แต่กระตุ้นความสนใจให้ค้นคว้าถึงบริบทและการวิวัฒนาการของหนังจากทั้งปาเลสไตน์และอิสราเอลต่อ ๆ ไป



โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 79 ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567