หนังบ้าน เดอะซีรีส์ 2: หนังบ้านพิบูลสงคราม

หอภาพยนตร์ได้รับกรุหนังบ้านพิบูลสงคราม จาก เรืองยศ พิบูลสงคราม ภริยาของ พล.ร.ท. ประสงค์ พิบูลสงคราม บุตรชายคนรองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และเป็นมารดาของ ประดาป พิบูลสงคราม โดยภาพยนตร์ในกรุนี้มีทั้งสิ้น 57 ม้วน มีทั้งส่วนที่เป็นภาพยนตร์ครอบครัวของ พล.ร.ท. ประสงค์-เรืองยศ และส่วนที่เป็นภาพยนตร์ครอบครัวของประดาป นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ต่าง ๆ เกี่ยวกับจอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียดรวมอยู่ด้วยเกินกว่าครึ่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์สำคัญเกือบทั้งสิ้น เพราะนอกจากอดีตนายกรัฐมนตรีและภริยาที่เราได้เห็นในภาพยนตร์แล้ว ยังมีบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกหลายท่าน เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์, พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, นายทหารและนักการเมืองอื่น ๆ ไปจนถึงภาพหาชมยากของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) อยู่ในภาพยนตร์กรุนี้ด้วย


เนื่องจากเป็นกรุที่มีจำนวนม้วนภาพยนตร์มากถึง 57 ม้วน มีความหลากหลายของที่มาและเนื้อหา ไปจนถึงช่วงเวลาที่ถ่ายบันทึก จึงขอจัดกลุ่มเพื่ออธิบายให้เห็นภาพรวมของภาพยนตร์ในกรุนี้ได้ชัดเจนขึ้น เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

  

กลุ่มภาพยนตร์ข่าว สารคดี เกี่ยวกับจอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ถ่ายโดย นักข่าวหรือตากล้องมืออาชีพ (ก่อนปี พ.ศ. 2500) 


ภาพยนตร์ในกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นภาพยนตร์ข่าวรวบรวมภารกิจของจอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ในช่วงยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 (ปี 2491-2500) บางม้วนมีเสียงผู้บรรยายด้วย ส่วนใหญ่จะเห็นหลักฐานจากคำบรรยายช่วงต้นม้วนว่าผลิตโดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น “กรมประชาสัมพันธ์” หรือ “ภาพยนตร์บริการข่าวสารไทย” ซึ่งจะมีรายละเอียดอื่น ๆ ประกอบว่าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ใด เมื่อใด เช่น ภาพยนตร์บริการข่าวสารไทย เป็นภาพยนตร์ข่าวของบริษัท “บริการข่าวสารไทย” มีเสียงบรรยาย รวมข่าวสำคัญ ๆ ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2497 ไว้หลายข่าว ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานจากวังไกลกังวล อ.หัวหิน ไปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระปรางค์วัดมหาธาตุ จ. เพชรบุรี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497, ทหารไทยที่ไปร่วมรบในสงครามเกาหลีเดินทางกลับโดยทางเรือ ขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ประชาชนไปต้อนรับอย่างเอิกเกริก, วิลเลียม โฮลเดน ดาราตุ๊กตาทอง ฮอลลีวูด เดินทางมาประเทศไทย มีนักข่าวไปรอทำข่าวที่สนามบินจำนวนมาก 



ภาพ: อมพลป. ขณะเข้าร่วมงานประลองยุทธที่บางแสน พฤศจิกายน 2497


ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์วันกองทัพเรือ 2497 ที่มีการจัดสวนสนามในเรือรบหลวง และการแสดงแสนยานุภาพ การซ้อมรบโดยหน่วยทหารนาวิกโยธิน, ภาพยนตร์บันทึกการสวนสนามกองทัพบก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2495 ม้วนนี้มีเสียงผู้บรรยาย, ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ นายกฯ พบประชาชน บริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม (รัฐสภาขณะนั้น), ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ จอมพล ป. ไปเยือนต่างประเทศ และตรวจราชการตามจังหวัดต่าง ๆ และได้พบปะข้าราชการและประชาชนที่ต่างจังหวัด รวมไปถึงภาพยนตร์ที่บันทึกวาระพิเศษส่วนตัวของจอมพล ป. และท่านผู้หญิงไว้ด้วย เช่น งานวันเกิดและการทำบุญของท่านผู้หญิงละเอียด พ.ศ. 2494, งานวันเกิดจอมพล ป. พ.ศ. 2496 และภาพการไปร่วมพิธีศพคุณพ่อของท่านผู้หญิงที่จังหวัดพิษณุโลก


ภาพยนตร์กลุ่มนี้ทำให้เห็นภารกิจของจอมพล ป. โดยเฉพาะในด้านการทหารและการสร้างความสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศ และภารกิจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนารากฐานประเทศไทยและความเป็นอยู่ของราษฎร ในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองโลกและประเทศไทย 



ภาพ: จอมพล ป. รับฟังและสนทนากับประชาชนที่รวมตัวมาเข้าพบร่วมกับคณะรัฐมนตรี (2497-2500)


กลุ่มภาพยนตร์ครอบครัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ถ่ายระหว่าง พ.ศ. 2500-2507 ที่ญี่ปุ่น อเมริกา อินเดีย


ในกลุ่มนี้จะรวบรวมภาพยนตร์ที่บันทึกภาพชีวิตความเป็นอยู่ กิจกรรม และการเดินทางท่องเที่ยวของจอมพล ป. กับท่านผู้หญิงละเอียดและครอบครัวในยามที่พ้นจากอำนาจกลายเป็นบุคคลธรรมดา หลังจากลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2500 ซึ่งทำให้ได้เห็นบุคลิกภาพอีกด้านหนึ่งของจอมพล ป. และท่านผู้หญิง ทั้งการแต่งกาย การวางตัว การใช้ชีวิตที่ดูเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา เรียบง่าย ต่างจากภาพที่เราเห็นท่านทั้งสองในภาพยนตร์กลุ่มแรกอย่างชัดเจน 


ประดาปสันนิษฐานว่าภาพยนตร์บางม้วนผู้ถ่ายอาจเป็นทัศนัย (ไม่ทราบนามสกุล) คนไทยที่คอยดูแลไปมาหาสู่กับครอบครัวจอมพล ป. ระหว่างพำนักอยู่ที่ชานกรุงโตเกียว และบางม้วนอาจเป็น พล.ร.ท. ประสงค์ พิบูลสงคราม เป็นผู้ถ่ายให้ 



ภาพ: อุปสมบท ณ วัดไทยพุทธคยา 3 สิงหาคม 2503

ภาพยนตร์ในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์บันทึกภาพชีวิตจอมพล ป. ที่พำนักอยู่ที่ญี่ปุ่น ทั้งบรรยากาศบ้าน เดินทางไปเที่ยวตามเมืองโตเกียวและนารา การเดินทางไปเยี่ยมพัชรบูลกับนิตย์ พิบูลสงคราม ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นบรรยากาศบ้านเมืองของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์บันทึกจอมพล ป. กับรถยนต์ฟอร์ด รุ่นธันเดอร์เบิร์ด สีเขียว (จอมพล ป.  ใช้แต่รถยนต์สีเขียว รวมถึงของใช้อื่น ๆ จนกลายเป็นสีประจำตัวเพราะเกิดวันพุธ) ซึ่งเป็นรถที่ใช้เมื่ออยู่ที่โตเกียว และเมืองซากามิฮาระ โยโกฮามา ญี่ปุ่น (ปัจจุบันรถคันนี้ยกมาไว้ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล (ค่ายพหลโยธินเดิม)) และภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เมื่อจอมพล ป. บวชที่ประเทศอินเดีย ซึ่งจะเห็นท่านถือไม้เท้าเดินดูสังเวชนียสถานแต่ละแห่งมีครอบครัวและผู้ติดตามไปด้วย ถ่ายรูปกับสถานที่ต่าง ๆ เห็นสภาพบ้านเมืองอินเดียนิดหน่อย ไปจนถึงขั้นตอนปลงผม เข้าไปทำพิธีอุปสมบทในโบสถ์ที่วัดไทยพุทธคยา ซึ่งจอมพล ป. เป็นผู้ริเริ่มให้สร้างขึ้น ได้ฉายาทางพระว่า “พิปุลสังคาโม”


กลุ่มภาพยนตร์ครอบครัว ถ่ายโดย พล.ร.ท. ประสงค์ และเรืองยศ พิบูลสงคราม 


เป็นกลุ่มภาพยนตร์ครอบครัวของ พล.ร.ท. ประสงค์ และเรืองยศ พิบูลสงคราม โดยตรง ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ พล.ร.ท. ประสงค์เป็นผู้ถ่าย และเรื่องราวส่วนใหญ่ที่ถ่ายก็เป็นเรื่องลูก ๆ และครอบครัว มีส่วนที่ถ่ายที่หน่วยนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี บ้าง และอีกม้วนหนึ่งถ่ายขณะไปดูงานด้านการทหารที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยภาพยนตร์ม้วนที่เก่าที่สุดในกลุ่มนี้ถูกถ่ายที่เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ขณะที่ พล.ร.ท. ประสงค์ย้ายไปรับราชการเป็นเลขาทูต ในช่วง พ.ศ. 2492-2496 ประดาปจึงเกิดและเติบโตใช้ชีวิตช่วงแรกของวัยที่นั่น และมีภาพยนตร์ 2 ม้วนที่บันทึกชื่อเป็นชื่อเล่น “ปุ๊ก ปุย แป๋ม” นั่นคือชื่อลูก ๆ ของ พล.ร.ท. ประสงค์ คือ เรืองวลี (ปุ๊ก) บุตรีคนโต, ประดาป (ปุย) และทศพร (แป๋ม) คะเนดูจากอายุของพี่น้องและตัวเองในภาพยนตร์ ประดาปสันนิษฐานว่าน่าถ่ายประมาณปี 2495-2496 ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายกลับมาเมืองไทย 


นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ที่ถ่ายหลังจาก พล.ร.ท. ประสงค์และครอบครัวย้ายจากวอชิงตัน ดี.ซี. กลับมารับราชการที่เมืองไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะถ่ายในปี 2497-2498 เพราะเห็นบวรฤทธิ์ (เกิด พ.ศ. 2497) น้องชายคนเล็กของประดาป และเป็นลูกชายคนสุดท้องของเรืองยศ ในช่วงวัยทารก และพี่ ๆ เริ่มโต ไปโรงเรียน รวมทั้งภาพยนตร์ที่บันทึกภาพครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัด เที่ยวน้ำตก(อาจจะ)แก่งกระจาน ทะเลที่หัวหินและภาพยนตร์ม้วนสุดท้ายซึ่งสำคัญมากของกลุ่มนี้ คือภาพยนตร์บันทึกงานบวชอุทิศส่วนกุศลให้แก่จอมพล ป. โดยนาคทั้งสี่ที่บวชพร้อมกันในโบสถ์วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน คือ นิตย์ พิบูลสงคราม ลูกชายคนสุดท้อง บวชพระ ประดาปและศักดิบูล พิบูลสงคราม หลานปู่ของจอมพล ป. บวชเณร และทัศนัย คนไทยที่อยู่กับจอมพล ป. ในช่วงที่อยู่ญี่ปุ่น บวชพระ ทุกคนที่มาร่วมงานบวชยังแต่งกายไว้ทุกข์ให้จอมพล ป. โดยมีจอมพล ถนอม กิตติขจร มาร่วมงานด้วย 



ภาพนิตย์-ประดาป-ศักดิบูล-ทัศนัย บวชให้จอมพล ป. วัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อปี 2507


ครอบครัวพิบูลสงครามผูกพันกับวัดพระศรีมหาธาตุมาก เนื่องจากเป็นวัดที่จอมพล ป. ดำริให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 ให้เป็นวัดที่พระสงฆ์มหานิกายและธรรมยุตินิกายอยู่ร่วมกัน อัฐิของจอมพล ป. และสมาชิกในครอบครัวพิบูลสงครามก็บรรจุในเจดีย์ที่วัดนี้ เมื่อลูกและหลานชายจะบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้จอมพล ป. จึงบวชที่วัดพระศรีมหาธาตุ และภาพยนตร์ม้วนนี้ก็น่าจะเป็นบทสรุปที่แท้จริงของชีวิตจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วย ว่าในที่สุดแล้วท่านก็ได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิด มาพำนักอย่างถาวรที่วัดซึ่งท่านเป็นผู้ดำริสร้างขึ้นนั่นเอง


กลุ่มภาพยนตร์ครอบครัว ถ่ายโดย ประดาป พิบูลสงคราม


ประดาปได้บันทึกช่วงเวลาส่วนตัวของครอบครัวทำให้เห็น “ครอบครัวพิบูลสงคราม” ที่ไม่ใช่ในฐานะของครอบครัวผู้นำประเทศ แต่เป็นครอบครัวขยายแบบคนไทยทั่วไป แวดล้อมและอบอุ่นไปด้วยสมาชิกในครอบครัวหลายรุ่น ภาพที่น่าสนใจคือ บันทึกภาพงานวันเกิดครบรอบอายุ 56 ปีของ พล.ร.ท. ประสงค์ ณ บ้านชิดลม ที่เห็นพี่ ๆ น้อง ๆ หลาน ๆ นั่งคุยเล่นและกินข้าวกันในบ้านอย่างเรียบง่ายร่วมกับท่านผู้หญิงละเอียด ผู้เป็นมารดา และภาพบรรยากาศงานเลี้ยงวันเกิดของท่านผู้หญิงละเอียด (ไม่ทราบปีแต่น่าจะอยู่ในช่วง 2520-2524) ณ บ้านชิดลม ซึ่งแวดล้อมไปด้วยครอบครัวลูกหลานและมิตรสหายทั้งรุ่นราวคราวเดียวกันและรุ่นหลังหลายคน มีการแสดง รำอวยพร มีพิธีแจกทุนนักศึกษาและนักเรียนนายร้อยด้วย ซึ่งถึงแม้จะเป็นงานเลี้ยงที่มีรายการพิธีต่าง ๆ หลายอย่าง และมีคนมาร่วมงานมากพอสมควร แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย ผิดจากภาพยนตร์ที่บันทึกงานวันเกิดท่านผู้หญิงละเอียดในปี 2494 และวันเกิดจอมพล ป. เมื่อปี 2496 ในสถานที่เดียวกัน คือบ้านชิดลม แต่ภาพงานวันเกิดของจอมพล ป. และท่านผู้หญิงในครั้งยังเรืองอำนาจ เป็นการเปิดบ้านต้อนรับข้าราชการและคนในรัฐบาลที่มาอวยพรวันเกิดอย่างเป็นทางการ มีการจัดเลี้ยงรับรองแขกเหรื่ออย่างเต็มที่ มีการแสดงระบำรำฟ้อนให้ดูอย่างเต็มอิ่ม สมศักดิ์ศรีและฐานะของผู้นำประเทศ



ภาพ: งานวันเกิดท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม 25 ตุลาคม 2494


อีกส่วนที่น่าสนใจในภาพยนตร์ม้วนนี้ คือภาพท่านผู้หญิงละเอียดในวัยชรา นั่งร้องเพลงอยู่หน้าบ้านในซอยเกตุนุติ ซึ่งเนื้อเพลงที่ร้องเป็นโคลงกลอนที่ท่านแต่งขึ้นเอง โดยใช้ทำนองเพลงจากละครร้องของพรานบูรพ์ นับเป็นความสามารถพิเศษที่น่าทึ่งของท่านผู้หญิงละเอียด ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบว่าเพลงรำวงมาตรฐานหลาย ๆ เพลง ได้แก่ ดวงจันทร์วันเพ็ญ ดอกไม้ของชาติ หญิงไทยใจงาม ดวงจันทร์ขวัญฟ้า ยอดชายใจหาญ และบูชานักรบ ผู้แต่งเนื้อร้องทั้ง 6 เพลงนี้ คือท่านผู้หญิงละเอียดนั่นเอง


ถัดจากภาพบันทึกเรื่องราวของคุณพ่อและคุณย่า เนื้อหานับจากนี้ประดาปถ่ายครอบครัวเล็ก ๆ ของตัวเอง ตั้งแต่ ปิ่นยศ พิบูลสงคราม ลูกชายคนโตยังเป็นทารก เห็นพัฒนาการเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่แม่ (มาริษา พิบูลสงคราม) ป้อนข้าวตุ๋นให้ลองกิน เริ่มหัดคลาน นั่งเล่นในบ้าน จนมามีน้องชาย ทศพล พิบูลสงคราม ที่นอนอยู่ในเปลโยก จัดงานวันเกิด พี่น้องเล่นกัน และเล่นกับเพื่อนอยู่ที่สนามหน้าบ้าน มีภาพท่านผู้หญิงละเอียดล้อเล่นกับเหลน มาริษาอุ้มลูกรับแดดที่ระเบียงห้องพักในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ (ขณะไปเป็นทูตอยู่ที่นั่น) ครอบครัวไปเที่ยวชายทะเล ฯลฯ 



ภาพ: ท่านผู้หญิงละเอียดหยอกล้อกับหลานชาย ปิ่นยศ พิบูลสงคราม


เมื่อได้ดูภาพยนตร์ที่มีภาพอดีตภรรยาผู้จากไปกับลูก ๆ ในวัยเตาะแตะที่ตัวเองเป็นคนถ่ายอีกครั้ง ประดาปก็เหมือนพ่อทุกคนที่ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปกับความน่ารัก น่าเอ็นดู ความไร้เดียงสาของลูก ๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน เล่าเหตุการณ์ที่ไม่ได้เห็นในภาพยนตร์ประกอบไปอย่างมีความสุข และในที่สุดก็พูดออกมาเบา ๆ เหมือนเพียงต้องการให้แค่ตัวเองได้ยินว่า “ผ่านมา 40 กว่าปีแล้วนะ ผ่านอะไรมาเยอะมาก ทั้งทุกข์และสุข”


กลุ่มภาพยนตร์ครอบครัวของมาริษา พิบูลสงคราม


ภาพยนตร์กลุ่มนี้เป็นของครอบครัวมาริษา ภรรยาของประดาป ภาพยนตร์เหล่านี้ประดาปไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัดเรื่องบุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ในภาพยนตร์ เนื่องจากมาริษาถึงแก่กรรมไปนานแล้ว จึงไม่สามารถให้ข้อมูลแทนได้ และภาพยนตร์ส่วนใหญ่น่าจะถ่ายที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นบ้านเดิมของครอบครัวมาริษาที่เป็นชาวจีนมาเลย์ 



ภาพ: หนังบ้านของ มาริษา พิบูลสงคราม บันทึกภาพการเล่นไพ่บริดจ์และล่องเรือ


ประดาป ให้ข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวครอบครัว นาย Huang และนาง Gladys คุณพ่อคุณแม่ของมาริษา ว่าเป็นนักธุรกิจมีฐานะชาวมาเลเซีย นับถือศาสนาคริสต์ มีลูกสาว 3 คน คือ Olivia, Susan (มาริษา) และ Frances นาง Gladys เป็นคนสำคัญในวงการไพ่บริดจ์ระดับนานาชาติ ภายหลังย้ายมาอยู่ในประเทศไทย ส่วนนาย Huang มีความสนใจกอล์ฟและการล่องเรือ ภาพยนตร์หลายม้วนในกลุ่มนี้จึงมีภาพการเล่นไพ่บริดจ์ ตีกอล์ฟ และการล่องเรือให้เห็นอยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากภาพการท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ของเมืองไทย ชีวิตในบ้านพักที่มาเลเซีย และภาพกิจกรรมของเด็ก ๆ ในโรงเรียนและในโบสถ์ ภาพยนตร์เหล่านี้มีบันทึกวันเวลาถ่ายทำไว้บางม้วน ทำให้ทราบว่าภาพยนตร์อยู่ในช่วง พ.ศ. 2500-2509 


กรุหนังบ้านพิบูลสงครามนี้ นอกจากจะมีความสำคัญเนื่องจากมีภาพบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยอดีตอยู่มากมาย แต่ในฐานะของความเป็นภาพยนตร์ครอบครัว กรุนี้มีความหมายยิ่งกว่านั้น คือเราได้เห็นความรักจากพ่อสู่ลูก รุ่นต่อรุ่น ต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ จากฟิล์มภาพยนตร์ที่ พล.ร.ท. ประสงค์ถ่ายประดาปและพี่น้องตอนเล็ก ๆ มาจนถึงวันที่ประดาปกลายเป็นพ่อ และถ่ายภาพยนตร์ลูกชายทั้งสองของตัวเอง หรือเมื่อย้อนกลับขึ้นไปก็ได้เห็นภาพจอมพล ป. ในอีกด้านหนึ่งที่ไม่ใช่ภาพจำในฐานะผู้นำประเทศซึ่งคนไทยคุ้นเคย แต่เป็นฐานะของพ่อ ซึ่งใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างเรียบง่ายกับภริยาและลูก ๆ ที่อยู่เคียงข้างในวันไม่มีบทบาททางการเมืองใด ๆ ได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า “สูงสุดสู่สามัญ” ของชีวิตคนในครอบครัวพิบูลสงคราม และภาพยนตร์กรุนี้ได้ทำหน้าที่ร้อยเรียงเพื่อเล่าเรื่องการเดินทางในหลาย ๆ ช่วงของหลายชีวิตในครอบครัวนี้ ซึ่งสะท้อนสัจธรรมทั้งสุขและทุกข์ได้อย่างชัดเจน


* บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหามาจากงานชำระข้อมูลหนังบ้านโดย สรรวรส ชัยชวลิต ซึ่งได้สัมภาษณ์ข้อมูลบางส่วนมาจาก ประดาป พิบูลสงคราม


------------ 

อ่านย้อนหลัง

หนังบ้าน เดอะซีรีส์ 1 : หนังบ้าน พงษ์ศักดิ์ – ลิเลียน อัสสกุล



โดย กองบรรณาธิการจดหมายข่าวหอภาพยนตร์

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 78 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566