นางเอก – บทรำพึงอันเจ็บแสบถึงยุคหนังไทย (ที่ไม่อยาก) น้ำเน่า

“หนังไทยมันขาดแคลนทุกอย่าง ขาดแคลนดารา ขาดแคลนทุน ขาดแคลนตลาด ขาดแคลนโรงฉาย ไม่ขาดอยู่อย่างเดียว ดอกเบี้ย”

“สคริปต์เรื่องนี้อ่านแล้วจะบ้าตาย โคตรน้ำเน่าเลย” 

“ดาราบางคนชอบทำตัวเป็นผู้กำกับ หนังไทยเราจะเจริญได้ยังไง ทำไมนะ นายทุนที่เข้าใจในศิลปะไม่มาลงทุนทำหนังกันบ้าง มีแต่เจ้าของหนังปัญญาอ่อนทั้งนั้น”

ฯลฯ


คำพูดข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากเรื่อง นางเอก ภาพยนตร์ไทยที่วิพากษ์วิจารณ์วงการตัวเองอย่างไม่ไว้หน้า และบันทึกปัญหาสารพัดเอาไว้จนแทบจะคัดเอาประโยคชวนให้สะดุ้งออกมาเป็นโควตเด็ด ๆ ได้ทุก 10 นาที 




นางเอก ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ ทมยันตี เล่าเรื่องราวของ ครูดอกแก้ว ครูสาวต่างจังหวัด ที่ถูกทาบทามให้มาเป็นนางเอกหนังไทย จาก พรพรหม แมวมองและฝ่ายจัดหาทุนประจำบริษัทสร้างหนังของเสี่ยอุทัย ที่บังเอิญมาถ่ายทำภาพยนตร์ในบริเวณนั้น ดอกแก้วตอบตกลงเพราะต้องการนำเงินมาช่วยเหลือโรงเรียน แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในวงการหนังไทยจริงๆ จนกลายเป็นดาราที่ชื่อว่า “สุรัสวดี” เธอกลับพบแต่เรื่องฟอนเฟะในวงการ กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อทราบว่ากำลังจะถูกนำตัวไปพลีกายให้แก่นักการเมืองนายทหารผู้ยิ่งใหญ่ เธอจึงตัดสินใจวางแผนหลบหนี โดยได้รับการช่วยเหลือจาก พรพรหม ผู้กลายมาเป็นคนรักของเธอ


ทมยันตี หรือ วิมล เจียมเจริญ เป็นนักเขียนที่คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ไทย จากการที่บทประพันธ์ของเธอมักได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ มาตั้งแต่ราวช่วงต้นทศวรรษ 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่หนังไทย 16 มม. กำลังเฟื่องฟู ในยุคดังกล่าว ผู้สร้างหนังไทยส่วนมากมักจะถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยฟิล์มสมัครเล่นขนาด 16 มม. ไม่ใช่ขนาด 35 มม. อย่างมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก เนื่องจากมีราคาถูกกว่า ถ่ายทำสะดวกและรวดเร็วกว่า ซ้ำยังไม่บันทึกเสียงลงในฟิล์ม แต่ใช้วิธีการพากย์สดขณะฉายในโรงหนัง นั่นทำให้ปริมาณหนังไทยแต่ละปีมีจำนวนมาก สวนทางกับคุณภาพที่ตกต่ำและเนื้อหาที่ซ้ำซากจนถูกเรียกว่า “น้ำเน่า” ส่วนหนึ่งเพราะต้องตามใจนายทุน ผู้มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายแนวทางของหนัง และกำหนดตัวดารา เพื่อให้ได้องค์ประกอบแบบที่พวกเขาเชื่อว่าจะได้กำไรจากคนดู 



ภาพ: นวนิยายเรื่อง นางเอก สองเล่มจบ โดย ทมยันตี มีให้บริการที่ห้องสมุดฯ หอภาพยนตร์



หนัง 16 มม. หมดจากวงการภาพยนตร์ไทยไปในปี 2515 และบรรดาผู้สร้างหนังไทยต้องตั้งหลักกันใหม่กับการถ่ายด้วยระบบฟิล์ม 35 มม. พร้อมกับแนวทางของเนื้อหาที่เปลี่ยนไป ซึ่งนวนิยายเรื่อง นางเอก ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2516 กับฉบับภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 2518 นั้น อยู่ในช่วงรอยต่อดังกล่าว และได้ทำหน้าที่บันทึกถึงความเปลี่ยนผ่านเหล่านั้นเอาไว้ 


แม้กองถ่ายภาพยนตร์ไทยที่ปรากฏในเรื่องจะถ่ายทำด้วยระบบฟิล์ม 35 มม. แล้ว แต่บรรยากาศและประเด็นปัญหาที่กล่าวถึงใน นางเอก นั้นคือสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคหนัง 16 มม. เช่น ความมักง่ายของผู้อำนวยการสร้างที่สร้างหนังอย่างฉาบฉวย แค่เพื่อหวังรวยหรือมีชื่อเสียง ความเอาแต่ใจและไร้ระเบียบวินัยของดาราดัง อิทธิพลของสื่อมวลชนที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตนักแสดงหรือแม้แต่ตัวภาพยนตร์ได้ รวมถึงตีแผ่การขายตัวดารา ทั้งที่สมัครใจและที่ถูกหมายจากผู้ใหญ่ ระดับนายธนาคาร ไปจนถึงระดับนักการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงไปกับข่าวซุบซิบนินทาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในยุคนั้น


ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ปริญญา ลีละศร ที่ขณะนั้นคลุกคลีอยู่ในวงการมาเกือบ 30 ปี เขาเริ่มกำกับภาพยนตร์มาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ผ่านทั้งช่วงเวลารุ่งเรืองและตกต่ำ นับเป็นคนทำหนังไทยที่โชกโชนและเจนประสบการณ์มากที่สุดคนหนึ่ง โดยในปี 2518 นั้น เขามีผลงานภาพยนตร์เข้าฉายมากถึง 6 เรื่อง 



ภาพ: ภัทราวดี มีชูธน กับ ปริญญา ลีละศร จากนิตยสารโลกดารา ฉบับที่ 138 วันที่ 15 มกราคม 2519


เมื่อพิจารณาถึงตัวละครผู้กำกับในเรื่อง นางเอก ที่ทุกคนเรียกว่า “ครู” ซึ่งพร่ำบ่นถึงการที่ต้องเสียเวลาคอยคิวดารา และออกตัวถึงปัญหาของหนังไทยว่าขาดแคลนทุกอย่างยกเว้นดอกเบี้ย รวมถึงกับสบถว่าเมื่อไรจะมีนายทุนที่เข้าใจศิลปะมาให้ทุนทำหนังไทย ทั้งยังตั้งปณิธานว่าจะทำหนังที่เนื้อหาไม่ซ้ำซาก สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นบทบาทตามบทประพันธ์ หากยังใกล้เคียงกับบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาหนังไทยที่ปริญญาเคยกล่าวเอาไว้ ราวกับว่า เขากำหนดให้ตัวละครนี้เป็นปากเสียงแทนตัวเอง เพื่อระบายความรู้สึกคับข้องใจต่อวงการหนังไทยผ่านภาพยนตร์ที่ตนกำกับอีกที


ในขณะที่ ภัทราวดี มีชูธน ผู้รับบท ครูดอกแก้ว เป็นดาราที่เพิ่งเข้ามาในยุคเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบฟิล์ม 35 มม. เธอแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ ในปี 2516 จากการชักชวนของ ปริญญา ลีละศร และกลายเป็นนางเอกคู่บุญของเขามาโดยตลอด โดยพื้นหลังของนางเอกหนังไทยก่อนหน้านี้ มักจะมาจากการเป็นคนงามต่างจังหวัดที่เตะตาแมวมอง หรือชนะการประกวดนางงาม แต่ภัทราวดีนั้นแตกต่างออกไป เพราะเธอมีดีกรีระดับจบด้านการแสดงจากต่างประเทศ แม้จะไม่ตรงกับในภาพยนตร์ที่ต้องเล่นเป็นคุณครูแม่พระของนักเรียนในชนบท หากแต่บทสุรัสวดียังมีความพ้องพานกับบุคลิกจริงของเธอคือ เป็นนางเอกที่ปากกล้า มั่นใจในตนเองสูง และไม่ยอมเดินตามรอยขนบเก่า ๆ ของการเป็นนางเอกหนังไทย




นอกจากนั้น แม้เสียงพูดของเธอในเรื่องนี้ จะเป็นเสียงของนักพากย์อันเป็นรูปแบบของหนังไทยในตอนนั้นที่ใช้การพากย์อัดเสียงในภายหลัง หากแต่ผู้ชมยังมีโอกาสได้ยินเสียงของเธอจริง ๆ จากการขับร้องเพลง “แผ่นดินทองของไทย” ที่ครูดอกแก้วร้องกล่อมนักเรียนในจากเปิดและฉากจบของเรื่อง ซึ่งดัดแปลงมาจากเนื้อเพลงที่ ทมยันตี เขียนไว้ในฉบับนิยาย


หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง นางเอก มาอนุรักษ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นเพียงฉบับเดียวที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน และความสำคัญทั้งในฐานะอุทาหรณ์ รวมถึงเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือรากเหง้าของหนังไทยยุคพัฒนา ที่พยายามหลุดพ้นจากเรื่องอันน่าสมเพชเวทนาและความล้าหลัง อย่างที่ภรรยาผู้สร้างหนังบอกกับนางเอกในวันแรกที่เธอย่างเข้าสู่วงการว่า “หนังเรื่องใหม่นี้ไม่ใช่เรื่องน้ำเน่า แต่เป็นน้ำโพลาริส”


วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม เวลา 13.00 น. เชิญมาชม นางเอก ฉบับสแกนภาพใหม่จากฟิล์มฉบับเดียวที่หลงเหลืออยู่ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ สำรองที่นั่งได้ที่  https://fapot.or.th/main/cinema/view/2162


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู