[InArchive] อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย – บทความว่าด้วยปัญหาหนังไทย โดย รัตน์ เปสตันยี

รัตน์ เปสตันยี เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างสูงในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ทั้งในฐานะคนทำหนังไทยคนแรกที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และผู้ที่พยายามต่อสู้เพื่อยกระดับมาตรฐานภาพยนตร์ไทยมายาวนาน โดยเฉพาะการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังไทยอย่างจริงจัง ก่อนที่เขาจะล้มลงเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ขณะลุกขึ้นพูดด้วยความอัดอั้นตันใจ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2513 ณ โรงแรมมณเฑียร ท่ามกลางความตกตะลึงของบุคลากรในวงการภาพยนตร์จำนวนมาก ที่มาร่วมประชุมกันในวาระที่ตัวแทนรัฐบาลไทยมาปราศรัยชี้แจงรายละเอียดของการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คณะที่ถือกำเนิดจากการต่อสู้อันแสนสาหัสของตัวเขาเอง 


เนื่องในวาระครบรอบการเสียชีวิต หอภาพยนตร์ขอนำเสนอบทความเรื่อง “อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” ที่ รัตน์ เปสตันยี เขียนขึ้น ในปี 2505 ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารความรู้คือประทีป (ก่อนจะได้รับการเผยแพร่อีกครั้งในสูจิบัตรงานประกวดภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 ปี 2543)  เพื่อให้ผู้อ่านในปัจจุบันได้เข้าใจถึงสภาพปัญหาของการสร้างภาพยนตร์ไทยในขณะนั้น และได้รับรู้ถึงความคิดและสปิริตในการที่จะยกระดับหนังไทยให้ก้าวหน้าของ รัตน์ เปสตันยี


*****************************


อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

รัตน์ เปสตันยี

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ความรู้คือประทีป (ชุดเก่า ประทีปรับขวัญ ESSO) เมษายน 2505



ภาพ: จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซ้ายที่โต๊ะ) เข้าฉากการถ่ายทำภาพยนตร์โดย รัตน์ เปสตันยี (ขวาที่โต๊ะ) ให้คำแนะนำภายในโรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ ถนนวิทยุ ประมาณปี 2498 



เราไม่สามารถเรียกการสร้างภาพยนตร์ ในเมืองไทยว่าเป็น อุตสาหกรรมได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก ตราบใดที่ผู้สร้างภาพยนตร์ ยังผลิตภาพยนตร์ขนาด 16 มม. อยู่ แทนที่จะเป็นขนาด 35 มม. แบบมาตรฐานเสียงในฟิล์มอันเป็นสากลนิยม แต่เป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ขนาด 35 มม. อยู่มาก เพราะเมืองไทยมีภาพยนตร์แคบจนไม่สามารถที่จะลงทุนมากมายได้


ภาพยนตร์ 16 มม. ที่ถ่ายทำในเมืองไทยนั้นค่อนข้างจะล้าสมัยและทำกันอย่างสมัครเล่นเสียมากกว่าสำหรับการพากย์ โดยใช้คนพากย์อย่างสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ใกล้กับห้องฉายภาพยนตร์ได้ยังความแปลกใจระคนความขบขันให้แก่ผู้แทนหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ เมื่อได้กล่าวขวัญถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย


ในส่วนตรงกันข้าม ภาพยนตร์ 16 มม. ก็ได้นำความสำเร็จอันงดงามให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ผู้ลงทุนแต่น้อยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างมาก แต่ผู้สร้างก็ต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ ในเมื่อผลงานของเขาเสื่อมทรามลงเช่นเดียวกัน การผลิตภาพยนตร์ ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่ามีภาพยนตร์ที่ดีไม่ถึงขนาดผลิตออกมามากกว่าภาพยนตร์ชั้นดีจริง ๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้สร้างภาพยนตร์ชั้นดีจริงๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้สร้างภาพยนตร์บางรายไม่ใช่ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อาชีพ หากแต่เป็นพ่อค้าที่หารายได้พิเศษจากภาพยนตร์ชั่วครั้งชั่วคราว


อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปัจจุบันจึงประสบวิกฤตการณ์อันน่าสะพรึงกลัวจากเหตุผลหลายอย่างหลายประการด้วยกัน แต่ประการสำคัญขึ้นอยู่กับการที่ไม่มีการควบคุมปริมาณการนำภาพยนตร์เข้ามาจากต่างประเทศ แทบทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีโควตาสำหรับการนำภาพยนตร์เข้าประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ภายในประเทศได้พัฒนา และเป็นการป้องกันเงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศไปในตัวด้วย


ภาพ: รัตน์ เปสตันยี (ขวาสุด) ในงานประชุมสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย วันที่ 17 สิงหาคม 2513


สำหรับประเทศไทยในปีหนึ่ง ๆ มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉายประมาณ 1670 เรื่อง และเมื่อจะนำมาเทียบกับจำนวนภาพยนตร์ไทย ที่ได้ทำขึ้นโดยฝีมือของคนไทยเองแล้ว ก็เป็นการแน่เหลือเกินว่า โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ก็ฉายแต่ภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นเกณฑ์ จากจำนวนโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง 16 โรงที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ มีเพียงโรงเดียวหรือสองโรงเท่านั้นที่รับฉายภาพยนตร์ไทยเป็นประจำตลอดปีส่วนที่เหลือต่างก็ทำสัญญากับบริษัทต่างประเทศตลอดระยะเวลา 365 วันเลยทีเดียว นี่เท่ากับเป็นการตัดอาชีพของคนไทยโดยสิ้นเชิง


อนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจึงมืดมน และความหวังที่จะไปได้ตลอดรอดฝั่งจึงมีอยู่น้อยเหลือเกินจนกว่าจะมีวิธีใดวิธีหนึ่งที่สามารถหยุดยั้งภาพยนตร์ต่างประเทศที่ท่วมท้นเข้ามาในประเทศไทยลดน้อยลงไป


การผลิตภาพยนตร์ 16 มม. นั้นใช้งบประมาณน้อย เพราะเป็นภาพยนตร์ไม่มีเสียงซึ่งใช้อุปกรณ์แต่เพียงกล้องถ่าย ไฟ จำนวนไม่กี่ดวง และจะใช้บ้านใดบ้านหนึ่งเป็นโรงถ่ายก็ได้ภาพยนตร์ 16 มม. ดังกล่าวนี้แล้ว ฉายได้แต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ตลาดภาพยนตร์ 16 มม. จึงแคบเหลือประมาณ และในเมื่อภาพยนตร์ขนาดนี้ต้องประสบกับการเสียเปรียบนานัปการดังกล่าวมาแล้ว ความหวังที่จะได้เห็นพวกเราพากันหันเหมาสร้างภาพยนตร์ขนาดมาตรฐานก็พอเห็นช่องทางอยู่บ้าง



ภาพ: รัตน์ เปสตันยี กับกล้องมิทเชลล์ และรางวัล Golden Havest Award จากภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา


ในประเทศเรายังพอจะคุยได้ว่ามีผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ 35 มม. อยู่เหมือนกัน แม้ว่าการสร้างภาพยนตร์ขนาด 35 มม. นั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 5 เท่าของการสร้างภาพยนตร์ขนาด 16 มม. ก็ตาม แต่ในปัจจุบันก็มีผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ขนาด 35 มม. จำนวนหยิบมือเดียวที่กล้าเสี่ยงที่จะผลิตภาพยนตร์ 35 มม. ออกมา ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนสูง แต่ก็ได้เปรียบอย่างมากถ้าได้นำออกฉายต่างประเทศได้ แต่ก็คงจะประสบกับปัญหาจำกัดโควตาภาพยนตร์ต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ ถึงกระนั้นก็ยังมีทางแทรกเข้าไปได้ถ้าเราใช้วิธีการดำเนินงานร่วมกัน หมายถึงผลิตภาพยนตร์ร่วมกันกับต่างประเทศ


เมื่อกล่าวถึงผู้แสดงหญิงและชาย เขาจะรุ่งโรจน์เป็นดาราได้นานสักเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของผู้อำนวยการสร้างที่ตนสังกัดอยู่ ผู้แสดงฝ่ายชายส่วนมาก ไม่มีพันธะผูกพันแน่นอน คือจะแสดงให้กับบริษัทใดก็ได้ ส่วนผู้แสดงฝ่ายหญิงที่ผู้อำนวยการสร้างได้กะเกณฑ์ไว้ก็ประมาณ 50,000 บาท ฝ่ายชายประมาณ 30,000 บาท


ท่านคงระลึกได้ว่า เคยมีดาราหญิงหลายคนไปแสดงภาพยนตร์ให้กับบริษัทอเมริกัน แม้ว่าค่าแสดงของดารานั้นจะไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ก็แน่เหลือเกินว่า ค่าแสดงของเธอที่ได้รับสูงกว่าที่เคยรับตามปกติ


สำหรับภาพยนตร์สี 16 มม. จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000 บาท ถึง 400,000 บาท ต่อเรื่อง ส่วนภาพยนตร์ขาว – ดำ นั้นไม่เป็นที่นิยมจึงไม่มีผู้ใดคิดสร้าง


แต่ภาพยนตร์ 35 มม. สีและเสียงนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,200,000 บาท หรือมากกว่าและ เมื่อได้นำออกฉายในประเทศไทยแล้วต่างก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกทุนคืน ฉะนั้นผู้อำนวยการสร้างต่างก็พยายามที่จะต้องหาตลาดจำหน่ายในต่างประเทศ


สถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยต่างก็ใช้ภาพยนตร์ 16 มม. ของต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และส่วนมากเป็นภาพยนตร์ที่เก่าซึ่งทางสถานีได้รับซื้อมาในราคา กล้วยน้ำว้า ฉะนั้นจึงย่อมจะมีภาพยนตร์ดีและเลวปะปนระคนกันอยู่ หากสถานีโทรทัศน์สามารถที่จะจำกัดขอบเขตหรือวางกฎเกณฑ์ในการสั่งซื้อจากต่างประเทศได้ ก็เชื่อว่า จะมีผู้ผลิตภาพยนตร์สั้น ๆ ให้กับสถานีโทรทัศน์อันจะส่งผลสะท้อนให้คนไทยมีงานทำกันมากขึ้น



ภาพ: รัตน์ เปสตันยี (ซ้าย) และโรเบิร์ต จี นอร์ธ (ขวา)


อุตสาหกรรมภาพยนตร์มิใช่จะใช้คนเป็นจำนวนร้อย หากนับเป็นเรือนพันทั้งหญิงและชายแต่ละคนทำงานในหน้าที่นานาชนิด ประเทศอินเดียและญี่ปุ่นซึ่งนำหน้าในอุตสาหกรรมประเภทนี้ ต่างก็มีช่างเทคนิคทั้งหญิงและชายและผู้เชี่ยวชาญนับเป็นพัน ๆ คน ประชาชนในฮอลลีวู้ดส่วนมากมีอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับการแสดงภาพยนตร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


เพื่อเป็นสื่อสัมพันธ์ทางการโฆษณาและการศึกษา ไม่มีสื่อใดจะดีเท่ากับภาพยนตร์ ประชาชนชาวยุโรป อเมริกา และแอฟริกา หรือทั่วโลกจะสามารถใช้ตาดูหูฟังสภาพชีวิตของคนไทยได้ดีก็ด้วยภาพยนตร์เป็นสื่อเท่านั้น เมื่อเขาเหล่านั้นไม่สามารถจะมาเยือนประเทศไทยด้วยตนเองได้ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของเราชาวไทยที่จะนำความเป็นอยู่หรือชีวิตของเราไปอวดเขาจนถึงที่


เมื่อสรุปถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันแล้ว ดู ๆ ก็คล้ายกับทารกซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพที่ปราศจากการเลี้ยงดูและเหลียวแลจากผู้ปกครอง ทารกเหล่านี้ซูบซีดผอมโซลงทุกที และนับวันแต่จะตายไปในไม่ช้า


บัดนี้ ก็สามารถแก่ควรแล้วที่ท่านผู้ปกครองจะลงมือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ทารกนี้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไป !