ครบรอบ 60 ปี การกำเนิดสารคดีชุด สองข้างทางรถไฟ

กรมรถไฟแผ่นดิน สมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ ได้ทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวขึ้นในปี 2465 ทำหน้าที่ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์ โดยมีขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิตเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์เป็นคนแรก นับเป็นหน่วยงานรัฐหน่วยงานแรก ๆ ในโลกที่มีภารกิจผลิตภาพยนตร์ประเภทข่าวสาร สารคดี โฆษณา เพื่อเผยแพร่กิจการต่าง ๆ ของรัฐ และของกรมรถไฟเอง นอกจากนี้ยังดำเนินการในลักษณะธุรกิจรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้แก่หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งรัฐและเอกชน ด้วยความพร้อมด้านบุคลากรและอุปกรณ์การผลิตภาพยนตร์ที่ทันสมัย กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวได้สร้างภาพยนตร์ข่าว สารคดีเป็นจำนวนมากจนเริ่มลดบทบาทลงไปหลังปี 2475 และสิ้นสุดบทบาทอย่างสิ้นเชิงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์ที่สร้างในช่วงเวลานี้ส่วนหนึ่งค้นพบเมื่อปี 2524 ที่อาคารโรงพิมพ์การรถไฟ และได้รับการอนุรักษ์โดยหอภาพยนตร์ ยกตัวอย่าง การก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ปี 2474, ชมสยาม ปี 2473 และ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 2469 


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง กรมรถไฟหลวงเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และเรียกชื่อใหม่ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ในช่วงนี้เองเกิดสถานีโทรทัศน์ช่องแรกขึ้นในประเทศไทย คือสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อปี 2498 และปี 2502 ก็เกิดอีกสถานี คือสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 สนามเป้า ในระยะนี้เองได้มีผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีออกอากาศเผยแพร่ทางโทรทัศน์และเป็นที่นิยม การรถไฟได้ริเริ่มผลิตภาพยนตร์ขนาด 16 มม. เพื่อบันทึกและเผยแพร่กิจการรถไฟโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ และนำไปจัดฉายกลางแปลงตามสถานีรถไฟ และออกอากาศโทรทัศน์ตามโอกาสต่าง ๆ 


สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498 โดยผังรายการช่วงเริ่มต้นของไทยทีวี ช่อง 4 นั้น จะประกอบด้วย รายการข่าวประจำวัน รายการแสดงดนตรี ภาพยนตร์ชุดและรายการสารคดีทั้งไทยและต่างประเทศ 



ภาพ: บริเวณสถานีรถไฟลพบุรี เห็นพระศรีรัตนมหาธาตุอยู่ด้านหลังใน จุลกฐินที่บ้านหมี่ 


รายการสารคดีไทยทางโทรทัศน์ที่ผู้ชมรู้จักดีในช่วงเวลานั้นคือ รายการสารคดีชุด มรดกของไทย โดย สมบูรณ์ วิรยศิริ สนับสนุนโดยบริษัทเอสโซ่ ซึ่งเริ่มออกอากาศในปี 2505 ทางช่อง 4 และรายการสารคดีชุด เที่ยวเมืองไทยไปกับโอวัลติน สร้างโดย รัชฟิล์ม โดยมีบริษัทดีทแฮล์มสนับสนุน ออกอากาศทางช่อง 7 ซึ่งเป็นสารคดีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณีทั้งสองชุด


ด้วยความนิยมในการรับชมสารคดีเชิงท่องเที่ยวทางโทรทัศน์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการรถไฟเห็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์การเดินทางด้วยรถไฟท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟสายต่าง ๆ จึงดำเนินการสร้างสารคดีชุด สองข้างทางรถไฟ ขึ้น โดยเริ่มออกอากาศช่วงกลางปี 2506 ทางช่อง 4 ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดีเช่นกัน จนถึงราวปี 2519 จึงได้ยุติรายการลง 


เมื่อหอภาพยนตร์เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2527 ได้มีความคิดว่า จะพยายามติดตามหาและรวบรวมภาพยนตร์สารคดีที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์อย่างยาวนานร่วมยี่สิบปีเหล่านี้ เพราะเห็นว่ามีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์การผลิตภาพยนตร์สารคดีไทยและมีบทบาทต่อสังคมไทยในยุคสมัยนั้น ตลอดจนเป็นเอกสารบันทึกเหตุการณ์และความเป็นไปของสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง ที่สุดหอภาพยนตร์สามารถติดตามและรวบรวมฟิล์มภาพยนตร์ชุด มรดกของไทย ได้ค่อนข้างสมบูรณ์จากบริษัทเอสโซ่ ผู้ผลิต และชุด สองข้างทางรถไฟ ได้จำนวนหนึ่งจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และอีกจำนวนหนึ่งจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์ชุดนี้ ส่วนภาพยนตร์สารคดีชุด เที่ยวเมืองไทยไปกับโอวัลติน ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกมาก่อน ยังไม่สามารถค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เลย


ในโอกาสที่ปี 2566 นี้ นับว่าภาพยนตร์สารคดีชุด สองข้างทางรถไฟ มีอายุครบ 60 ปี นับจากการเริ่มเผยแพร่ทางโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 2506 จึงขอเฉลิมฉลองและรื้อฟื้นความทรงจำของผู้ที่เกิดทันได้ดูภาพยนตร์ชุดนี้ ด้วยการแนะนำภาพยนตร์ชุด สองข้างทางรถไฟ ที่ได้รับการอนุรักษ์โดยหอภาพยนตร์


สารคดีชุด สองข้างทางรถไฟ เป็นรายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคมร่วมสมัย ออกอากาศเดือนละ 1 ตอน ตอนละประมาณ 30 นาที บรรยายสดโดย พูลลาภ อนะมาน ผู้อ่านข่าวซึ่งผู้ชมคุ้นเคยเสียงกันเป็นอย่างดี ภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำ 16 มม. ไม่มีการบันทึกเสียงในฟิล์ม แต่จะใช้วิธีให้ผู้บรรยายพากย์สดที่สถานี รวมถึงเปิดเพลงและเสียงประกอบต่าง ๆ ในขณะออกอากาศ โดยสามารถรวบรวมข้อมูลทีมงานสร้างจากเครดิตท้ายภาพยนตร์บางส่วนได้ดังนี้



จัดสร้าง: การรถไฟแห่งประเทศไทย

อำนวยการถ่ายทำ: ประดิษฐ์ เทศประสิทธิ์ (บรรณาธิการข่าวของไทยทีวี)

สร้างบท: ชัช วงศ์สงวน (โฆษกของผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย), อุทัย อนันตสมบูรณ์, สมบูรณ์ วิรยศิริ

ถ่ายภาพ: นพดล คล้ายเขียว, นิตินัย พรหมศิริ, ณรงค์ นะหุตานนท์, เฉลียว ผาสุข, สมบัติ รูปประดิษฐ์

ประกอบเสียง: ภิญโญ แก้วประสิทธิ์

ลำดับภาพ: ประดิษฐ์ เทศประสิทธิ์, อาภรณ์ แช่มช้อย

บรรยาย: พูลลาภ อนะมาน


ภาพยนตร์ชุด สองข้างทางรถไฟ เฉพาะที่ค้นพบนี้ ส่วนใหญ่ของฟิล์มภาพยนตร์ที่รวบรวมได้จะเป็นฉบับสำเนาของฟิล์ม 16 มม. ซึ่งนำเสียงที่ได้บันทึกขณะออกอากาศสดมาบันทึกลงในสำเนาฟิล์มภาพยนตร์เป็นก๊อบปี้พิเศษ ปัจจุบันสามารถให้บริการรับชมสำหรับผู้สนใจได้เป็นจำนวน 42 เรื่อง สามารถแบ่งลักษณะเนื้อหาออกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้


กลุ่มเนื้อหาเดินทางรายจังหวัด เป็นการนำเที่ยวสถานที่น่าสนใจตามจังหวัดต่าง ๆ ด้วยการโดยสารรถไฟ มักขึ้นต้นและปิดท้ายเนื้อหาด้วยภาพการเดินทางรถไฟ เช่น ขุนตาล นำเสนอเรื่องการเดินทางด้วยรถไฟสายเหนือ ผ่านสถานีนครลำปาง ทางรถไฟเลียบเทือกเขาขุนตาล สอดแทรกด้วยภาพการทำงานด้วยแรงงานคนในการขนส่งฟืน การกองเรียงฟืนในตู้รถไฟเพื่อขนส่งไปยังสถานที่เก็บสำรองฟืนสำหรับรถไฟ, เขาใหญ่ เป็นการเดินทางบนเส้นทางรถไฟสายแรก คือเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยลงรถที่สถานีปากช่อง และย้อนกลับไปตามถนนมิตรภาพไปที่ทางแยกขึ้นเขาใหญ่, ยะลา บันทึกการเดินทางบนเส้นทางรถไฟสายใต้ที่มีความสวยงาม เส้นทางตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรมและเขารูปร่างแปลกตา ชุมทางหาดใหญ่มีความคึกคัก จากนั้นเดินทางต่อไปยังอำเภอเบตง ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีบ้านเรือนประชาชนตั้งอยู่อย่างหนาแน่น และทีมงานได้บันทึกภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ซาไก เพิงพักตั้งอยู่ในป่ามุงหลังคาด้วยใบตอง มีการล่าสัตว์ด้วยการใช้ลูกดอก 


ข้อสังเกตคือ นอกจากจังหวัดหรือสถานีที่นำเสนอที่เป็นจุดหมายยอดนิยมของการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีอีกหลายจังหวัด/สถานีซึ่งอาจถูกมองโดยนักเดินทางว่าเป็นทางผ่าน แต่เป็นที่ตั้งของชุมทางหรือสถานีสำคัญบนเส้นทางรถไฟสายต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก็ถูกเลือกมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจด้วย เช่น สุพรรณบุรี ปลายทางของทางรถไฟสายสุพรรณบุรีถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายตะวันตก หรือ จุลกฐินที่บ้านหมี่ เดิมบ้านหมี่เป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ ใน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี แต่เมื่อมีเส้นทางรถไฟสายเหนือผ่าน ก็กลับกลายเป็นชุมชนที่มีความคึกคักทางการค้า มีการสานหมวกไม้ไผ่ ทอผ้า เป็นงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียง


กลุ่มเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น เที่ยวเมืองประวัติศาสตร์ นำเสนอสถานที่น่าสนใจและมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับสงครามยุทธหัตถี ประกอบด้วย พระราชวังจันทรเกษมหรือวังหน้า วัดสุวรรณดาราราม วัดใหญ่ชัยมงคล พระนคร-ศรีอยุธยา จากนั้นเดินทางต่อไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ก่อนจะจบการเดินทางที่ วัดป่าเลไลยก์, ปราสาทหินเมืองต่ำ นำเสนอการเดินทางสู่จังหวัดบุรีรัมย์ด้วยรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ และการเดินทางต่อด้วยรถยนต์มายังที่ตั้งของหน่วยศิลปากรที่ 6 ณ ปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอนางรอง โดย ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นำคณะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาศึกษา, มนุษย์ยุคสัมฤทธิ์ ลพบุรี นำเสนอบริเวณที่นักโบราณคดีพบหลักฐานของมนุษย์สมัยโบราณในจังหวัดลพบุรี โครงกระดูกที่ขุดพบนี้เป็นโครงกระดูกของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุนับพันปี สำหรับโบราณวัตถุที่ขุดพบนั้นมีตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 20 เช่น เครื่องถ้วยจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ลงไปจนถึงโบราณวัตถุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสัมฤทธิ์



ภาพ: สะพานรถไฟข้ามคลองสองพี่น้องยังก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยใน เที่ยวเมืองประวัติศาสตร์


กลุ่มเนื้อหาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณี เช่น กฐินกลุ่มชาวนา บันทึกการเดินทางโดยสารรถไฟไปทอดกฐินของกลุ่มชาวนาจากทั่วประเทศ จากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นปลายทางของเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน, เต้นกำรำเคียว ทีมงานเดินทางไปถ่ายทอดศิลปะการละเล่นเพลงเต้นกำรำเคียวที่ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรก็ได้บันทึกภาพและเสียงการแสดงไว้โดยละเอียดเพื่อถ่ายทอดการเต้นกำรำเคียวจากย่านมัทรีมารักษาไว้มิให้สูญหายไป


กลุ่มเนื้อหาประชาสัมพันธ์กิจการรถไฟ เช่น น้ำท่วมกรุงเทพ นำเสนอเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปี 2518 ซึ่งแสดงให้เห็นสภาพถนนถูกน้ำท่วม การเดินทางที่ยากลำบาก ธุรกิจและการค้าได้รับความเสียหาย การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนจำนวน 100 ครอบครัวเดินทางหนีน้ำออกจากที่พักอาศัยโดยขบวนรถไฟที่จัดขึ้นและเดินรถดีเซลรางชานเมือง บางซื่อ บางเขน ลาดพร้าว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนให้สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น, บนเส้นทางรถไฟสายเหนือ (2519) บันทึกเหตุการณ์คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมกับตัวแทนการรถไฟฯ ตรวจงานรถไฟสายเหนือ โดยได้เดินทางถึงสถานีศิลาอาสน์ไปยังเชียงใหม่ เพื่อตรวจงานด้านการพาณิชย์และการเดินรถ คณะตรวจงานซึ่งรวมถึง ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้พบประชาชนบนตู้โดยสารรถไฟ และได้สอบถามข้อมูลเพื่อปรับปรุงบริการจากผู้โดยสาร



ภาพ: โรงแรมรถไฟ เชียงใหม่ ใน บทเส้นทางรถไฟายเหนือ 2519


กลุ่มเนื้อหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ประมงน้ำลึก โดยความอนุเคราะห์และร่วมมือกับกรมประมงและองค์การสะพานปลา นำเสนอการทำประมงฝั่งอ่าวไทย ที่แต่เดิมนิยมจับปลาผิวน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่เพียง 10% ของอ่าวไทยเท่านั้น ส่วนการทำประมงน้ำลึก ที่เรียกว่าจับปลาหน้าดินนั้นเพิ่งจะเริ่มได้ไม่ถึง 10 ปี ในระยะแรก ปลาที่อยู่น้ำลึกเหล่านี้จะมีรูปร่างลักษณะแปลก ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนจึงไม่เป็นที่นิยมของผู้รับซื้อ ชาวประมงที่จับปลาหน้าดินเหล่านี้บางส่วนจึงต้องเลิกการจับไป แต่ก็ยังมีชาวประมงบางส่วนที่ยังคงจับต่อไปจนคนทั่วไปรู้จักปลาเหล่านี้มากขึ้น จึงเริ่มเป็นที่นิยมซื้อหากัน, ไม้สัก เริ่มด้วยภาพสถานีเด่นชัย เห็นช้างจำนวนหนึ่งกำลังทำงานยกขนท่อนซุงขึ้นบนรถบรรทุกของรถไฟ หลังจากนั้นจึงแสดงให้เห็นวิธีการและกระบวนการตัดโค่นไม้ ไปจนถึงการเตรียมช้างเพื่อทำงานในป่า การขนส่งออกจากป่า และปลายทางคือร้านงานฝีมือไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นบทบันทึกการทำป่าไม้ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต


ภาพยนตร์ชุด สองข้างทางรถไฟ ในคอลเลกชันของหอภาพยนตร์ ผู้สนใจสามารถเข้ามาสืบค้นและรับชมได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.30 น. (หยุดวันจันทร์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม     


รายชื่อภาพยนตร์ชุดที่ให้บริการรับชมแก่ผู้สนใจ

กฐินกลุ่มชาวนา 2510, กฐินเหนือ, ขุนตาล, เขาใหญ่, คลองผดุงกรุงเกษม 2513, จุลกฐินที่บ้านหมี่ 2506, เชียงราย, เชียงใหม่ (ไม่เต็มเรื่อง), เที่ยวเมืองประวัติศาสตร์, นครสวรรค์ [2519], น้ำท่วมกรุงเทพ [2518], บนเส้นทางรถไฟสายกาญจนบุรี 2509, บนเส้นทางรถไฟสายเหนือ [2513], บนเส้นทางรถไฟสายเหนือ [2519], บางกอกน้อย, บ้านเชียง อุดรธานี [2515], บุรีรัมย์, ประมงน้ำลึก, ปราจีนบุรี, ปราสาทหินเมืองต่ำ, พระพุทธรูปเชียงแสน [2509], พะเยา [2516], พิษณุโลก, มนุษย์ยุคสัมฤทธิ์ ลพบุรี [2507], เมืองแพร่, ไม้สัก, ยะลา, ล่องแก่ง, ลำปาง, ศิลปวัตถุสมัยทวารวดี, สตูล [2517], สารคดี WATER FESTIVAL AT CHIANGMAI, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, ห้วยแถลง, หัวหิน, เหมืองปิล๊อก, แหลมตะลุมพุก [2507], อีสานยุคพัฒนา, อุตตรดิตถ์*, อุบลราชธานี [2515], เต้นกำรำเคียว [2505]

* สะกดตามชื่อเรื่องภาพยนตร์


โดย ธิติพงษ์ ก่อสกุล

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 76 ประจำเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2566