ชิน ซูวอน กับ "หนังผู้หญิงทำหนัง"

ชิน ซูวอน เป็นหนึ่งในผู้กำกับเกาหลีใต้ที่มีผลงานต่อเนื่องมากว่า 10 ปี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วยผลงานที่ได้รับเลือกจากเทศกาลใหญ่ของโลกอย่างคานส์ เบอร์ลิน และโทรอนโต เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชิน ซูวอน เดินทางมาเป็นแขกของเทศกาล Pattaya Film Festival 2023 ที่หอภาพยนตร์ร่วมจัด เพื่อฉายหนังสองเรื่อง Passerby #3 กับ Hommage และให้เกียรติบรรยายในงาน Masterclass: Shin Su-won เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา เกี่ยวกับแนวคิดในการทำงานและเส้นทางชีวิตอันผกผันเมื่อเธอตัดสินใจข้ามสายอาชีพจากการเป็นครูมาเป็นคนทำหนัง  


ในเดือนสิงหาคมนี้ หอภาพยนตร์จะจัดฉายผลงานทั้งสองเรื่องของ ชิน ซูวอน อีกครั้ง ทั้ง Passerby #3 ภาพยนตร์ปี ค.ศ. 2010 งานกำกับเรื่องแรกที่เธอลงทุนทำเองแทบจะทั้งหมด ด้วยเรื่องราวที่หยิบยืมมาจากชีวิตจริงของเธอเอง ว่าด้วยครูโรงเรียนมัธยมที่อยากเป็นผู้กำกับหนังและต้องขวนขวายหาเงินเพื่อทำฝันให้เป็นจริง ในขณะที่ Hommage หนังยาวเรื่องล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2021 เป็นงานที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เกาหลีว่าด้วยเรื่องของผู้กำกับหญิงในยุคปัจจุบันที่ได้รับการว่าจ้างโดยหอภาพยนตร์เกาหลีให้ช่วยบูรณะหนังเก่าจากช่วงทศวรรษที่ 1960 ชื่อ A Woman Judge ซึ่งกำกับโดยคนทำหนังผู้หญิงที่คนส่วนใหญ่หลงลืม (A Woman Judge เป็นหนังจริง ๆ จากปี ค.ศ. 1962 กำกับโดย ฮง อึนวอน ผู้กำกับหญิงคนที่สองในประวัติศาสตร์หนังเกาหลี) ทั้งสองเรื่องจึงเป็นหนังที่เกี่ยวกับ “คนทำหนังผู้หญิง” 



ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง Hommage


ในการบรรยาย Masterclass ชิน ซูวอน เล่าว่าในวัยเด็ก เธอไม่เคยมีความหลงใหลในภาพยนตร์ หรืออยากเป็นคนทำหนังมาก่อน แต่มีใจรักในศิลปะ ชอบอ่านการ์ตูน และอยากเป็นศิลปิน ทว่าเมื่อโตขึ้น พ่อแม่ได้แนะนำให้ไปศึกษาด้านอื่นแทนการเรียนด้านศิลปะที่ต้องใช้เงินซื้ออุปกรณ์เยอะ เธอจึงต้องทิ้งความฝันนี้ไป เหลือแต่เพียงการหัดวาดด้วยตนเองเพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจ


หลังจากจบการศึกษาในมหาวิทยาลัย ชิน ซูวอน ทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียน และเขียนนิยายควบคู่ไปด้วย เวลาผ่านไป 7 ปี เธอรู้สึกอยากพักงานครูเพื่อมาเขียนนิยายอย่างจริงจัง แต่ระหว่างที่หยุดพักได้บังเอิญไปเห็นโฆษณาคอร์สสอนทำหนังที่ราคาไม่แพง เธอจึงลองสมัครเข้าร่วมและได้ลองทำหนังสั้น ท่ามกลางเพื่อนร่วมคลาสที่อายุน้อยกว่าเธอเป็น 10 ปี เปิดประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้เธอรู้สึกชอบและอยากไต่เต้าไปทำหนังยาว นั่นทำให้เธอเปลี่ยนใจจากที่แค่คิดว่าจะหยุดพัก กลายเป็นตัดสินใจหันหลังให้ชีวิตอันมั่นคงในสายอาชีพครูอย่างถาวร


“ตอนนั้นตัดสินใจที่จะลาออกจากการเป็นครูเลย เป็นการตัดสินใจที่ยากมาก เพราะอายุก็ 33 ปีแล้ว อยู่ในสถานะสมรสแล้ว แล้วก็มีครอบครัว มีลูกชายด้วย แต่คิดแค่ว่าขอทำหนังสักเรื่องหนึ่งก่อนที่จะสายไปมากกว่านี้แล้วค่ะ เหมือนในหนังเรื่อง Passerby #3 น่ะค่ะ ฉากที่กำลังเขียนจดหมายลาออก แล้วมือสั่นจนคนข้าง ๆ ถามว่า ถ้าตื่นเต้นขนาดนั้น เดี๋ยวเขียนให้แทนไหม บทหนังนี่เอามาจากเรื่องจริงในชีวิตเลยค่ะ” 


หลังจากลาออก ชิน ซูวอน ใช้เวลาอีก 5 ปี ในการเป็นทั้งแม่บ้านและเพียรเขียนบทเพื่อเตรียมสร้างหนัง แต่บทของเธอไม่สามารถหานายทุนได้เลย จนสุดท้าย เธอตัดสินใจใช้เงินบำเหน็จสะสมที่ได้จากการลาออกจากอาชีพครู รวมกับขอยืมเงินเพื่อน ๆ มาทำ เป็นทั้งคนเขียนบท กำกับ และโปรดิวเซอร์เอง 


“ระหว่างที่กำกับหนัง ทีมงานก็จะมากระซิบบอกว่าเงินจะหมดแล้ว ฉันเลยต้องไปเบิกเงินตัวเองออกมาอีก คือเป็นทั้งผู้กำกับทั้งโปรดิวเซอร์มันเหนื่อยมากค่ะ แล้วพอถอนเงินออกไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มหมด ระหว่างที่ทำหนังไปก็คิดตลอดเลยว่า ถ้าทำไปแล้วล้มเหลวจะเป็นยังไง ก็ไปที่โบสถ์แล้วก็ภาวนาอธิษฐานทุกครั้งให้ผ่านไปได้ด้วยดี” 



ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง Passerby #3


สุดท้าย ชิน ซูวอน ทำ Passerby #3 (หรือชื่อฉบับเกาหลีคือ Rainbow) จนสำเร็จ เป็นหนังอิสระทุนต่ำที่ได้รับรางวัลจากทั้งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติจอนจูในเกาหลี และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว เป็นการเริ่มต้นอาชีพคนทำหนังอย่างเต็มตัว


หนังยาวเรื่องต่อมาของเธอคือ Pluto (ค.ศ. 2013) เป็นหนังระทึกขวัญที่เล่าเรื่องของระบบการสอบแข่งขันอันโหดร้ายของโรงเรียนมัธยมชื่อดัง 2 ปีต่อมา เธอทำ Madonna (ค.ศ. 2015) หนังดรามา-ลึกลับ ว่าด้วยพยาบาลกับคนไข้ป่วยหนักที่ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งได้รับเลือกให้ฉายในสาย Un Certain Regard ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์


ใน Hommage หนังยาวเรื่องล่าสุดของเธอ ชิน ซูวอน ผสมผสานเรื่องในชีวิตจริงของเธอเข้ากับเรื่องแต่งและประวัติศาสตร์หนังเกาหลีที่หลายคนอาจมองข้าม และเป็นหนังที่มีโครงสร้างความคิดสะท้อนกลับไปยังผลงานเรื่องแรกของตนเองได้อย่างดี โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปี หลังทำ Passerby #3 ชิน ซูวอน เคยทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับ “สามทหารเสือ” หรือคนทำหนังผู้หญิงคนสำคัญของเกาหลีในทศวรรษ 1960 ได้แก่ พัค นัมวู (ผู้กำกับหญิงคนแรกของเกาหลี) ฮง อึนวอน (ผู้กำกับ A Woman Judge) และมือตัดต่อ คิม อ๊กเล  มาถึงปี ค.ศ. 2019 ช่วงที่ซูวอนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทำหนังและอยู่ในวงการไปได้อีกนานเท่าไร เธอตัดสินใจปัดฝุ่นเอาเรื่องราวในสารคดีมาสร้างใหม่เป็นหนังเรื่อง Hommage เล่าเรื่องผู้กำกับหญิงสมัยใหม่ (ที่อาจแทนตัวเธอเอง) ที่ต้องค้นคว้าและบูรณะหนังคลาสสิกของ ฮง อึนวอน 


“หนังเรื่อง Hommage นี้ทำขึ้นเพื่อผู้หญิงที่อยู่ในสารคดีของฉัน แล้วก็คิดเสมอว่าขนาดตอนนี้ฉันยังเหนื่อยขนาดนี้ แต่ย้อนไปในปี 1960 เนี่ย ผู้กำกับหญิงอย่าง พัค นัมวู และ ฮง อึนวอน จะมีความยากลำบากมากกว่าขนาดไหน”


จุดเชื่อมโยงของ Passerby #3 และ Hommage คือตัวละครหลักซึ่งเป็นผู้กำกับหญิงที่มีชื่อเดียวกันคือ “จีวาน” ซึ่งแปลว่า “ผู้ที่เอาชนะตัวเองได้”


“ผ่านไป 10 กว่าปี ฉันกลับไปใช้ชื่อตัวละครนี้อีกครั้ง” ซูวอนเล่า “อันนี้ก็อาจฟังดูเกินจริง แต่ว่าคำว่า จีวาน และตัวละครจีวาน สำหรับฉัน เหมือนเป็นบ้านอีกหลังเลย ก็คือบ้านที่ทำให้เกิด Passerby #3 กับ Hommage ระหว่างที่อยู่ในบ้านหลังนี้ก็ให้ทั้งความสุข แล้วก็เป็นทั้งที่ประคับประคองจิตใจด้วย ทุกครั้งที่รู้สึกเหนื่อยก็จะนึกถึงหนังสองเรื่องนี้ เพราะเป็นเหมือนสมบัติอันล้ำค่าสำหรับผู้กำกับ”


เชิญมาชมเรื่องราวของ “จีวาน” และผลงานของ ชิน ซูวอน Passserby #3 และ Hommage ที่จะจัดฉายในโปรแกรม “Metacinema: หนังถ่ายหนัง” วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2566 นี้ รอบ 13.00 น. และ 15.30 น. ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 


รับฟังการบรรยาย Masterclass: Shin Su-won ฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/h8Oz_xiHapA    


โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 76 ประจำเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2566