เครื่องฉายภาพยนตร์กับวิถีชีวิตชาวอเมริกัน

ห้องสมุดชวนรู้จักหนังสือน่าอ่านที่นำเสนอบทบาทของเครื่องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็ก แต่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงแบบวงกว้างของวัฒนธรรมอเมริกัน ในหนังสือ Everyday Movies ผลงานการศึกษาของ Haidee Wasson เธอได้ตั้งสมมติฐานว่าช่วงก่อนยุค 50 ในสหรัฐอเมริกาใช้เครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพา (Portable film projector) หรือเครื่องฉายภาพยนตร์ 8 มม. และ 16 มม. ที่มีขนาดกะทัดรัดกันอย่างแพร่หลายและใช้งานในหลากหลายรูปแบบ สิ่งนี้ส่งผลให้ข้อมูลและการรับรู้แบบดั้งเดิมที่ว่าก่อนยุค 50 นั้น โรงภาพยนตร์คือช่องทางเข้าถึงภาพเคลื่อนไหวและได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ อาจจะต้องค้นหาคำตอบกันใหม่อีกครั้ง ดังนั้น Everyday Movies ได้ถกประเด็นของสมมติฐานนี้ โดย Wasson นำเสนอให้ผู้อ่านพิจารณาเทคโนโลยี หลักปฏิบัติ และข้อกำหนดต่าง ๆ ด้วยการใช้มุมมองทางทฤษฎีในแง่ของความพกพาสะดวก ความสามารถในการประมวลผล และการเคลื่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เพื่อศึกษาลักษณะการใช้งานเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพากับบริบทการรับชมภาพยนตร์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ บ้านพักอาศัยส่วนบุคคลภายในครอบครัว การฝึกฝนทางการทหาร และงานแสดงสินค้า เพื่ออธิบายว่าการฉายภาพเคลื่อนไหวแบบส่วนบุคคลกลายมาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในวิถีชีวิตทั่วไปของชาวอเมริกันได้เพราะเหตุใดและอย่างไร


Everyday Movies แบ่งกรณีศึกษาออกเป็น 4 กรณี โดยกรณีศึกษาแรก “ความสะดวกต่อการนำไปใช้ในด้านวิศวกรรม” เนื้อหาเกี่ยวกับพลวัตทางเทคนิคและทางอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การสร้างมาตรฐานของเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพา จนทำให้เครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพายังคงอยู่ได้ทั้ง ๆ ที่ว่ากันว่าในช่วงนั้นการผูกขาดทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมของฮอลลีวูดมีอำนาจต่อการนำเสนอภาพยนตร์ โดย Wasson ได้โต้แย้งว่าเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาเป็นสิ่งที่ปูทางให้ภาพยนตร์มีวิวัฒนาการ เนื่องจากได้ช่วยปลดแอกด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น สตูดิโอและโรงภาพยนตร์ อีกทั้ง Wasson สืบค้นข้อมูลจากคลังข้อมูลหลากหลายประเภท ตั้งแต่งานเขียนที่เป็นผลงานของวิศวกรผู้ที่คิดค้นเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาขึ้นมา เพื่ออธิบายถึงบทบาทของวิศวกรในการหยุดยั้งไม่ให้ฮอลลีวูดควบคุมผูกขาดด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ไปจนถึงข้อมูลภาพเคลื่อนไหวส่งเสริมการขายที่บรรดาบริษัทยานยนต์ใช้เปิดแสดงในงานมหกรรมรถยนต์


หลังจากที่อธิบายเรื่องการพัฒนาทางเทคโนโลยีไปแล้ว ต่อมาในกรณีศึกษาที่สอง คือ “ความสะดวกต่อการนำไปใช้ในงานจัดแสดง” Wasson สนใจเรื่องการใช้เครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้คนในยุค 30 เช่น ศึกษาการใช้เครื่องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กกันอย่างแพร่หลายที่งาน New York World’s Fair ในปี ค.ศ. 1939 เพื่อมาปรับเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าโทรทัศน์เป็นจอภาพเพียงรูปแบบเดียวที่สำคัญต่อชาวอเมริกันในสมัยนั้น ซึ่ง Wasson เองมองว่าการพบเห็นเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาในงาน New York World’s Fair เป็นการประกาศเปิดตัวเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาอย่างเป็นทางการในฐานะของอุปกรณ์สำหรับให้ความบันเทิงระดับอุตสาหกรรม การจัดแสดง และการประชาสัมพันธ์ในงานที่มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การวิเคราะห์ประเด็นนี้ส่งผลมาถึงการตั้งคำถามที่ว่าชาวอเมริกันเข้าถึงและบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหวในสมัยระหว่างสงครามกันอย่างไร



ภาพ: ตัวอย่างภาพประกอบในหนังสือ Everyday Movies เป็นภาพการโฆษณาเครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. รุ่น “Kodascope L” ที่ลงในนิตยสาร MovieMakers เดือนมกราคม ค.ศ. 1935 หน้า 26-27


กรณีศึกษาในบทที่ 3 คือ “ความสะดวกต่อการนำไปใช้เพื่อเตรียมการทำสงคราม” ซึ่ง Wasson ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการนำเสนอภาพยนตร์กับกองทัพของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอนำเสนอประเด็นการวิเคราะห์ว่า ในสมัยนั้นเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาถูกนำไปใช้ในการฝึกฝนและยุทธวิธีทางการทหารอย่างไรบ้าง อีกทั้ง Wasson ต้องอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตและจัดหาเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาให้กับกองทัพ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาเป็นสิ่งสำคัญต่อการวางแผนภารกิจและกำหนดเป้าหมายของกองทัพในสมัยนั้นจริง โดยการใช้งานเครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. 


ในบริบททางทหารเป็นสิ่งอธิบายให้เห็นในเชิงปฏิบัติว่าภาพเคลื่อนไหวนั้นพัฒนาไปสู่หนทางที่ทำให้บรรดาจักรวรรดิล่มสลายได้อย่างไร เธออ้างเหตุผลสนับสนุนอีกว่าช่วงหลังสงครามไม่ได้มีเพียงแค่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้นที่เติบโตขึ้น แต่อุตสาหกรรมทุกแขนงก็ล้วนนำภาพยนตร์มาใช้ประโยชน์และใช้ทดลองบางสิ่งบางอย่างด้วยเช่นกัน 


ส่วนกรณีศึกษาข้อสุดท้ายอยู่ในบทที่ 4 นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. และ 8 มม. จำนวนมากในยุค 50 ซึ่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ช่วยให้เข้าใจถึงสภาวะในช่วงนั้นที่การฉายภาพยนตร์ได้กลายมาเป็นสื่อกลางรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทั้งแพร่หลายและเป็นที่รู้จัก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการศึกษาของภาครัฐและวงการบันเทิงของภาคเอกชนในสหรัฐฯ โดยในบทนี้ยังมีการพูดถึงประเด็นการบริโภคสื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาอย่างไรบ้าง บทนี้เป็นบทที่หยิบยกข้อสนับสนุนและข้อโต้แย้งของ Wasson ออกมาได้อย่างเด่นชัดมากที่สุด การที่มีเครื่องฉายภาพยนตร์แบบพกพาอยู่นับล้านเครื่องและเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอยู่ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศของภาพยนตร์มีความสมบูรณ์ ซึ่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ใน Everyday Movies จะให้คำตอบกับคำถามข้างต้นได้แบบลงรายละเอียดและมากพอว่าเพราะเหตุใดเราจึงควรนำเครื่องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กมาปัดฝุ่นเพื่อประเมินคุณค่าของมันใหม่ให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง


แม้ Everyday Movies กำหนดช่วงเส้นทางระยะเวลาการศึกษาข้อมูลไว้ที่ช่วง ค.ศ. 1916-1958 แต่โดยรวมแล้ว เนื้อหาต่าง ๆ ของหนังสือเล่มนี้ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของเครื่องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กให้มีความสำคัญขึ้นมากับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ในฐานะอุปกรณ์ฉายภาพและสิ่งของเครื่องใช้ตามสถานประกอบการ รวมถึงหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอข้อพิสูจน์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มพูน ช่วยพลิกผันให้พวกเรามีมุมมองที่เปิดกว้างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการนำเสนอภาพเคลื่อนไหวในช่วงศตวรรษที่ 20 เช่น ปัจจุบันนี้บรรดาจอภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พวกเราพกพาและสามารถใส่ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง เป้สะพาย กระเป๋าเอกสารของเราได้แล้ว เป็นผลสืบทอดมาจากเทคโนโลยีภาพยนตร์ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยกำหนดบทบาทของภาพเคลื่อนไหวให้มีขนาดกะทัดรัดและเข้าถึงได้ง่ายในชีวิตประจำวันของพวกเรา    


เขียนโดย วิมลิน มีศิริ

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 76 ประจำเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2566

-----------------

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถมาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ห้องสมุดที่รวมรวบหนังสือเฉพาะด้านภาพยนตร์ รวมทั้งบริการการรับชมวีดิทัศน์ ภาพยนตร์ ผ่านระบบ VOD เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 9.30 น. – 17.30 น. ไม่เสียค่าใช้บริการ ค้นหาหนังสือและภาพยนตร์ที่ให้บริการได้ที่ https://fapot.or.th/main/library