ภาพยนตร์บันทึกการบูรณะโบราณสถาน

ภาพยนตร์เกี่ยวกับการบูรณะโบราณสถานในคอลเลกชันของหอภาพยนตร์มีจำนวนกว่า 30 เรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมศิลปากรที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะโบราณสถานโดยตรง อีกส่วนหนึ่งจะเป็น ภาพยนตร์ในชุด “มรดกของไทย” ผลิตโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์ข่าวที่เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ รายงานการบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ ในลักษณะของการรายงานข่าว คอลัมน์คลังอนุรักษ์ฉบับนี้ได้คัดเลือกส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เหล่านั้นมานำเสนอ


โลหะปราสาท (2507)




ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง โลหะปราสาท ในชุด “มรดกของไทย” ผลิตขึ้นโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นภาพยนตร์ 16 มม. ขาวดำ เงียบ ความยาว 20.33 นาที นำเสนอวัดสำคัญในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 3 วัดซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ประกอบด้วยวัดราชนัดดา วัดโสมนัส และวัดมกุฏกษัตริยาราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บันทึกโลหะปราสาทขณะที่มีการบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2506 




ภาพแรกของภาพยนตร์เป็นภาพของโลหะปราสาทปรากฏพร้อมชื่อเรื่อง จากนั้นจึงเป็นวัดราชนัดดาที่มีโครงไม้ก่อสร้างจากมุมมองภายนอก บริเวณกำแพงวัดมีป้ายรับบริจาควัสดุก่อสร้างจากประชาชน ต่อจากนั้นจึงเป็นบริเวณของพระอุโบสถของวัดราชนัดดา ท่านเจ้าคุณพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) เจ้าอาวาสวัดราชนัดดา เดินนำขึ้นบันไดส่วนก่อสร้างเข้าสู่บริเวณของโลหะปราสาทที่เป็นโครงสร้างก่ออิฐรกร้างทรุดโทรมเนื่องจากก่อสร้างไม่เสร็จ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะและก่อสร้างเพิ่มเติม โดยช่องทางเดินข้างในที่มีถึง 6 ชั้นนี้สามารถตรงไปยังใจกลางของโลหะปราสาทซึ่งเป็นทรงกลม โดยมีท่อนซุงสำหรับค้ำยันตั้งแต่พื้นล่างไปจนถึงยอดของโลหะปราสาท ผู้ชมจะได้เห็นช่างกำลังก่อสร้างส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่งานโครงสร้าง จนถึงงานตกแต่งภายใน ลวดลาย ตลอดจนงานปูนปั้นลายหัวเสาภายในโลหะปราสาทได้ถูกจำลองขึ้นใหม่ด้วยความระมัดระวังและพยายามให้เหมือนของเดิมที่สุด ในส่วนนี้เนื้อหาจะจบลงที่รูปจำลองของโลหะปราสาทเมื่อบูรณะเสร็จสิ้นที่จำลองขึ้นโดยกรมศิลปากร โดยแสดงลักษณะสำคัญของการบูรณะครั้งนี้คือ สีของยอดปราสาทที่มีรวมทั้งสิ้น 37 ยอดนั้นเป็นสีขาว โดยโลหะปราสาทนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี เช่นเดียวกับการก่อสร้างวัดราชนัดดา 




ส่วนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนำเสนอวัดโสมนัส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ในฐานะพระมเหสีองค์แรกของพระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์หลังได้รับการสถาปนาเป็นมเหสีเพียงปีเดียว และวัดมกุฏกษัตริยารามซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเพื่อให้คู่กับวัดโสมนัส และเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์เอง แม้วัดทั้งสามมิได้ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินใด ๆ เว้นแต่วัดราชนัดดา ซึ่งอยู่ใกล้เกือบติดถนนราชดำเนินกลาง โดยมีอาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยอันใหญ่โตบดบังไว้ และที่สำคัญบดบังโลหะปราสาท ซึ่งแต่เดิมยังสร้างไม่เสร็จ แต่เมื่อได้รับการบูรณะตามที่เห็นในภาพยนตร์นี้ และได้รับการบูรณะอีกครั้งในปี 2532 จนสวยงามขึ้น จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลขณะนั้นมีมติให้รื้อเฉลิมไทยลง




ปราสาทหินพิมาย (2509)




ปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทศิลปะรูปแบบขอมที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยแนวคิดของพุทธศาสนานิกายมหายาน อายุประมาณ 900 กว่าปี ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาประมาณ 60 กิโลเมตร ราวปี 2506 ได้มีการบูรณะปราสาทหินพิมายเป็นการใหญ่ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส ผ่านทางองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization) การบูรณะดังกล่าวนี้ใช้วิธีที่เรียกว่า “อนัสติโลซีส” (ANASTYLOSIS) คือการนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวปราสาทประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการและนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม ส่วนซากของโบราณสถานนั้นก็รื้อใหม่และใช้เหล็กและปูนซีเมนต์เข้าช่วย เพื่อให้มีความมั่นคงมากขึ้น แบบเดียวกับการบูรณะโบราณสถานในประเทศกัมพูชา การใช้วิธีบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซีสที่ปราสาทหินพิมายนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จุดใหญ่ของการบูรณะอยู่ที่ปราสาทหลังกลาง ปราสาทหลังกลางนี้ก่อสร้างด้วยหินทรายสีขาวซึ่งมีความคงทนมากกว่าปราสาทหลังอื่น ๆ ที่ก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพู ปราสาทหลังกลางนี้เป็นประหนึ่งศูนย์กลางของปราสาทพิมาย แม้จะมีสภาพสมบูรณ์กว่าปราสาทหลังอื่น แต่ก็ยุบพังลงมาเกือบครึ่งของตัวปราสาท การบูรณะส่วนใหญ่ก็เป็นการบูรณะปราสาทหลังกลางนี่เอง




ภาพยนตร์ที่ได้บันทึกการบูรณะปราสาทหินพิมายเรื่องนี้อยู่ในชุด “มรดกของไทย” โดยบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นภาพยนตร์ 16 มม. ขาวดำ เงียบ ความยาว 25.37 นาที ทีมงานได้ถ่ายทำขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ในช่วงปลายของการบูรณะ รอบนอกของปราสาทหลังกลางเป็นระเบียงคดซึ่งมีสภาพทรุดโทรมมาก  ตัวนาคบนบันไดนาคก็ปรักหักพังเหลือแต่เสาเป็นระยะ ๆ บุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะปราสาท นอกจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยศิลปากรพิมายแล้ว ยังปรากฏ แบร์นาร์ ฟีลิป โกรลีเย นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการค้นคว้าและดูแลรักษาปราสาทนครวัด, หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ในศิลปะแขนงต่าง ๆ และได้รับหน้าที่ในการบูรณะปราสาทขอมหลายแห่ง เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง รวมทั้งเป็นผู้ดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีด้วย บุคคลทั้งหลายเหล่านี้ร่วมกันทำงานบูรณะแข่งกับเวลา นายโกรลีเยและหม่อมเจ้ายาใจช่วยกันวัดสัดส่วนของหน้าบัน ซุ้มประตูมณฑป เพื่อที่จะหาลวดลายที่ปรักหักพังหลุดหายไป ซึ่งเมื่อหาได้ก็จะนำขึ้นไปปะติดปะต่อไว้ตามเดิม หากชิ้นส่วนหินก้อนไหนมีขนาดใหญ่ก็จะต้องเรียกให้คนมาช่วยกันยก แต่นอกจากใช้แรงงานคนแล้ว ก็ยังมีรถยกช่วยยกก้อนหินลวดลายต่าง ๆ ไปประกอบกันเพื่อประดับไว้ในจุดที่ถูกต้อง หินก้อนที่ตกลงมากองอยู่ที่พื้นก็จะเข้าไปตรวจสอบว่าควรเป็นส่วนประกอบของลวดลายตอนใด และเมื่อสำรวจแล้วก็จะเขียนหมายเลขกำกับไว้ ส่วนหินที่ต้องนำขึ้นไปที่ยอดปราสาทนั้น การจะนำกลับขึ้นไปประดิษฐานไว้ตามเดิม จะใช้วิธีเจาะหินให้เป็นรูเสียก่อน เมื่อเจาะรูแล้วจึงใช้เหล็กเสียบที่รูดังกล่าว และใช้ไม้สลักตอกลงไปอีกทีหนึ่ง ลวดเหล็กที่ใช้ไม้สลักตอกลงไปนี้ เมื่อใช้เครื่องกว้านกว้านขึ้นไปก็สามารถยกหินหนักนับร้อย ๆ กิโลกรัมขึ้นไปได้ นับเป็นความอุตสาหะพยายามของผู้มีส่วนร่วมในการบูรณะปราสาทหินพิมาย ภายใต้การดำเนินงานในขณะนั้นของหน่วยศิลปากรที่ 6 กรมศิลปากร (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา)




ช่วงท้ายของภาพยนตร์เป็นภาพของสถานที่และชุมชนใกล้บริเวณของปราสาท ทั้งอาคารที่ตั้งของหน่วยศิลปากรที่ 6 ซึ่งจัดวางก้อนศิลาสลักจากสถานที่ต่าง ๆ เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง, สะพานข้ามแม่น้ำมูล, ย่านการค้าของอำเภอ, เขื่อนพิมาย และสถานที่หย่อนใจในสมัยนั้นคือ ไทรงาม (ปัจจุบันเรียก อุทยานไทรงาม) ซึ่งเป็นบริเวณริมน้ำที่ต้นไทรย้อยแผ่กิ่งก้านและรากอากาศเป็นร่มขนาดใหญ่ ชาวพิมายใช้สถานที่นี้เพื่อการพักผ่อนและลงอาบน้ำ ที่ไทรงามนี้เองปรากฏภาพ หม่อมชั้น พวงวัน นักแสดงตลกหญิงชื่อดังในยุคหนัง 16 มม. เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่กำลังเดินไปอาบน้ำที่ท่าด้วย


สถานที่สำคัญกรุงเทพฯ [บูรณะพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม]




ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดทำโดยกรมศิลปากร เป็นภาพยนตร์ 16 มม. ขาวดำ เงียบ ความยาว 14 นาที บันทึกช่วงหนึ่งของการบูรณะวัดอรุณราชวรารามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ระหว่างปี 2511-2515 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพระปรางค์ หนังสือประวัติวัดอรุณราชวราราม (2521) ระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2509 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) ได้มีจดหมายถึง จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทางราชการอุปถัมภ์ช่วยเหลือการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่อันหาค่ามิได้ของชาติ ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก กรมศิลปากรจึงได้จัดทำโครงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ โดยงบประมาณราว 15 ล้านบาท และแบ่งงานออกเป็น 4 งวด ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ปี จากนั้นจึงเสนอคณะรัฐมนตรีขอแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนการบูรณะในเดือนพฤษภาคม 2510 และได้ประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2510




เดิมที พระปรางค์ วัดอรุณฯ สร้างขึ้นพร้อมโบสถ์และวิหารน้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชศรัทธาเสริมสร้างให้สูงใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร แต่ยังค้างอยู่ เพราะสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถได้โปรดฯ ให้จัดสร้างจนสำเร็จ ประกอบด้วย พระปรางค์ใหญ่ และปรางค์ทิศซึ่งเป็นองค์ปรางค์เล็ก ๆ อยู่บนมุมทักษิณชั้นล่างของพระปรางค์ใหญ่ ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์ นอกจากนี้ยังมีมณฑปทิศอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ 2 ระหว่างปรางค์ทิศ การออกแบบพระปรางค์ วัดอรุณฯ มีแนวคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาลในพุทธศาสนา โดยพระปรางค์บริวารประดิษฐานเป็นองค์ประกอบในตำแหน่งที่ส่งเสริมให้แนวคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาลมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งถือได้ว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นวิวัฒนาการที่สูงสุดของคติศูนย์กลางจักรวาลที่เป็นรูปธรรมครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ (อ้างอิงจาก การศึกษารูปแบบพระปรางค์และสถาปัตยกรรมที่มียอดปรางค์ ในรัชกาลที่ 4-6 โดย พัสตราภรณ์ แก่นพรม, 2556)




ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์เริ่มต้นจากภาพมุมสูงจากนั่งร้านรอบพระปรางค์มองข้ามแม่น้ำไปเห็นตลาดท่าเตียนและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) จากนั้นจึงเป็นภาพของฝั่งแม่น้ำเดียวกัน ประกอบด้วย อาคารเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก ซุ้มประตูยอดทรงมงกุฎทางเข้าไปสู่พระอุโบสถ ยักษ์ 2 ตนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เขามอ (ภูเขาและสวนจำลองตามความเชื่อของพราหมณ์ฮินดู) จากนั้นจึงเป็นภาพกว้างของพระปรางค์ที่ถูกล้อมนั่งร้านขึ้นไปจนเกือบถึงยอดของปรางค์ประธาน ภาพฐานพระปรางค์ย่อมุมประดับยักษ์แบก (ใส่เกราะ) ของปรางค์หลัก ภาพมุมใกล้ของเทวดาแบก (ไม่ใส่เกราะ) ของปรางค์บริวาร ต่อมาเป็นภาพของช่างที่กำลังเตรียมการฉีดปูนเกราท์ (ปูนสำเร็จรูปผสมพิเศษซึ่งสามารถแทรกตัวเข้าไปในรอยแยกได้ดีและให้กำลังอัดสูง) เข้าไปในช่องที่เจาะไว้เพื่อเสริมความแข็งแรงของฐาน ภาพของช่างกำลังวาดแบบลงบนชามกระเบื้อง จากนั้นจึงตัดด้วยเครื่องเจียรที่ประยุกต์การใช้งานโดยยึดไว้กับฐาน ก่อนนำชิ้นกระเบื้องที่ตัดได้ไปติดแทนชิ้นเดิมที่ชฎาของพระนารายณ์ทรงสุบรรณที่ประดับอยู่บริเวณชั้นรัดประคดของพระปรางค์ ต่อมาเป็นภาพของช่างขัดทำความสะอาดองค์พระปรางค์ ส่วนต่าง ๆ ขององค์พระปรางค์ซึ่งหักพังสูญหาย รวมถึงหางหงส์ และงวงของช้างจากรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ช่างใช้วิธีปั้นทดแทนและติดกระเบื้องประดับให้ใกล้เคียงของเดิม ช่วงท้ายของภาพยนตร์ได้ถ่ายทำให้เห็นการขึ้นลงจากพื้นดินสู่โครงไม้นั่งร้านรอบพระปรางค์ที่สูงหลายสิบเมตรโดยใช้รอกดึงขึ้นไปทั้งคนและวัสดุอุปกรณ์ในการทำงาน




ภาพยนตร์บันทึกการบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ ที่นำเสนอในบทความนี้ และภาพยนตร์บันทึกการบูรณะเรื่องอื่น ๆ ในคอลเลกชันของหอภาพยนตร์ ผู้สนใจสามารถเข้ามาสืบค้นและรับชมได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30-17.30 น. (หยุดวันจันทร์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชม   


เขียนโดย ธิติพงษ์ ก่อสกุล

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 76 ประจำเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2566

-----------------