อ่าน Queer Cinema ในหนังสือ

เดือนมิถุนายน ได้ชื่อว่าเป็นเดือนของการเฉลิมฉลอง LGBT Pride Month หอภาพยนตร์จัดโปรแกรมภาพยนตร์ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศตลอดทั้งเดือน ทั้งหนังไทยและหนังต่างประเทศ คอลัมน์ห้องสมุดในจดหมายข่าวฉบับนี้จึงขอเกาะกระแสพาไปดูหนังสือและตำราที่พูดถึงภาพยนตร์ queer (เควียร์) หรือภาพยนตร์ที่ว่าถึงเพศสภาพอันหลากหลาย ทั้งที่วิเคราะห์ตัวละครผ่านกรอบคิดและทฤษฎีต่าง ๆ และที่ตีความหนังที่คนดูอาจจะไม่ได้มองเห็นบริบททางเพศมาก่อน เป็นการเพิ่มความรุ่มรวยให้กับการดูและเข้าใจหนังให้กว้างขวางขึ้นไปอีก


Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema 


เป็นหนังสือเล่มแรกและเล่มสำคัญที่อยากแนะนำ เขียนโดยอาจารย์ด้านเอเชียศึกษา Arnika Fuhrmann  




ดังที่ชื่อหนังสือว่าไว้ นี่คืองานศึกษาอันละเมียดละไม ลุ่มลึก และเขียนด้วยภาษาอันสละสลวย ว่าด้วยแรงปรารถนาอันหลบซ่อนและประเด็นเควียร์ที่เชื่อมโยงกับศาสนาพุทธในภาพยนตร์ไทยร่วมสมัย หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการอย่างยิ่ง เนื่องจากงานศึกษาภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยมีไม่มากนัก และยิ่งน้อยไปอีกเมื่อเป็นประเด็นเฉพาะทางเช่นนี้ แต่ที่น่าทึ่งกว่าคือการที่อาจารย์อาร์นิกามองเห็นความสัมพันธ์ทางเนื้อหนัง จิตวิญญาณ และแรงขับทางอารมณ์ ที่แทรกซึมไปด้วยมิติของความเชื่อและศาสนา (ซึ่งไม่ใช่เพียงศาสนาพุทธเท่านั้น) 


ภาพยนตร์ที่หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ มีตั้งแต่หนังดังอย่าง นางนาก (2542) โดย นนทรีย์ นิมิบุตร ซึ่งผู้เขียนได้นิยามหนังเรื่องนี้ว่าเป็น Buddhist melancholia หรือความอาดูรแบบพุทธ ตามมาด้วยหนังดังอีกเรื่อง สัตว์ประหลาด! หรือ Tropical Malady (2547) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ผู้เขียนเฝ้ามองชีวิตของตัวละครเกย์ในเรื่องภายใต้บริบทสังคม การเมือง และความเชื่อพุทธ-ผี นอกจากนี้ อาจารย์อาร์นิกายังพูดถึงหนังทดลองและงานศิลปะหลายชิ้นของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ศิลปินร่วมสมัยที่ทำงานเกี่ยวกับความตาย ความรัก และความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งดังกล่าว หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึง หนังอินดี้ This Area is Under Quarantine (2551) งานของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของชายหนุ่มพุทธและมุสลิม 


LGBT Spirit of Queer Cinema 


หลากมิติทางเพศบนแผ่นฟิล์ม หนังสือในชุด Starpics Special เขียนโดย วาริน นิลศิริสุข




เล่มนี้เป็นหนังสือภาษาไทยที่ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์ LGBT ในหลายแง่มุม เป็นหนังสือที่น่าจะให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหนังในตระกูลนี้ รวมทั้งบริบทตั้งต้นและประวัติศาสตร์ LGBT ในวงการศิลปะ เปิดมาด้วยบทนำ Into the Rainbow สรุปเรื่องราวการปฏิวัติทางเพศในช่วงปี 1960 ในอเมริกา ต่อด้วยบทที่พูดถึงศิลปินและนักคิดเควียร์ที่แผ้วถางการแสดงออกของความหลากหลายทางเพศในงานศิลปะ วรรณกรรม และวิชาการ (เช่น ออสการ์ ไวลด์, เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ฯลฯ) บทที่ดีอีกบทคือ ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เควียร์ ย้อนไปเล่าตั้งแต่ยุคหนังเงียบ หนังเยอรมันเอ็กซ์เพรสชันนิสต์ (German Expressionist) ไล่มาถึงหนังฮอลลีวูด ทั้งที่พูดถึงชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง ต่อเนื่องจนมาถึงหนังในศตวรรษปัจจุบัน เป็นการเก็บหมุดหมายสำคัญของหนังในตระกูลนี้ได้อย่างครบถ้วน  


ครึ่งเล่มหลังของหนังสือ LGBT Spirit of Queer Cinema อุทิศให้กับการเล่าถึงหนังเกย์ไทยตั้งแต่ เพลงสุดท้าย (2528) ฉันผู้ชายนะยะ (2530) หนังเควียร์ไทยสองเรื่องอันโด่งดัง เรื่อยมาถึงหนังดังในยุคต่อมาอื่น ๆ เช่น สตรีเหล็ก (2543) และ Beautiful Boxer (2543) โดยมีเนื้อหาวิเคราะห์การนำเสนอภาพลักษณ์บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ประเด็นความเป็นชาย หรืออุดมการณ์ที่หนังเหล่านี้เลือกนำเสนอ รวมทั้งยังกล่าวถึงหนังอื่น ๆ เช่น สยิว (2546) Yes or No (2553) Insects in the Backyard (2553) BKKY (2560) และอื่น ๆ อีกมาก 


Genders and Sexualities in Indonesian Cinema: Constructing gay, lesbi and waria identities on screen 


เป็นหนังสือวิชาการเข้มข้นโดย Ben Murtagh 




กระเถิบไปยังประเทศในภูมิภาค หนังสือ Genders and Sexualities in Indonesian Cinema อัดแน่นด้วยบทวิเคราะห์และการปูพื้นประวัติศาสตร์ทางสังคมเรื่องความหลากหลายทางเพศของประเทศอินโดนีเซีย คำว่า lesbi แปลตรง ๆ ว่าเลสเบี้ยน ส่วน waria เป็นศัพท์ที่หมายถึงผู้ชายที่แต่งตัวเป็นหญิง เทียบกับคำภาษาไทยน่าจะใกล้เคียงกับ “กะเทย” ถึงแม้ว่าหนังที่กล่าวถึงในหนังสือ จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนดูไทย (หรือคนดูชาติอื่น ๆ) แต่การเล่าถึงหนังพร้อมไปกับสภาพสังคม ประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและค่านิยม ทำให้เราจินตนาการตามไปได้ หนังสือพูดถึงหนังเกย์อินโดนีเซียยุคแรก ๆ เรื่อง Youth at the Stop Light (1979) และการที่หนังใช้หลักศาสนาอิสลามสั่งสอน ตักเตือนตัวละครที่มีเพศสภาพหลากหลาย ขณะเดียวกันหนังสือทำให้เห็นว่า ถึงแม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศมุสลิม แต่หนังที่มีเนื้อหาหรือตัวละครเป็นเควียร์ในรูปแบบต่าง ๆ กลับมีจำนวนไม่น้อย และไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกับนักการศาสนาเสมอไป


Masculine Interests: Homoerotics in Hollywood Films 


หนังสือวิเคราะห์ที่ใช้ทฤษฎีเควียร์มองหนังฮอลลีวูดในยุค 1950-1990 โดย Robert Lang 




แฟนหนังยุคเก่าสักหน่อยน่าจะอ่านเล่มนี้สนุก เพราะผู้เขียนมองหนังด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์และแรงผลักดันทางเพศของ “ผู้ชาย” ส่งผลให้เกิดการตีความใหม่ ๆ เช่น ใครจะไปนึกว่าหนังครอบครัวอย่าง The Lion King (1994) เป็นหนังที่มีรากฝังลึกในทฤษฎีปมปิตุฆาต (Oedipus Complex) ของฟรอยด์ เป็นแรงขับให้สิงโตน้อยซิมบากระทำการผจญภัยอย่างที่เราเห็นในหนัง หรือการที่ผู้เขียนมองหนังฟิล์มนัวร์อย่าง Kiss Me Deadly (1955) ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็น “หนังแมน ๆ” ว่าแท้จริงแล้วซุกซ่อนไปด้วยแรงขับดันแบบชายรักชายอยู่เต็มไปหมด และแน่นอนว่าพูดถึง My Own Private Idaho (1991) ในฐานะหนังเกย์เรื่องสำคัญของยุคสมัย นี่เป็นหนังสือที่อ่านจริงจังก็ดี หรือจะอ่านเพื่อเปิดมุมมองใหม่กับหนังที่รู้จักกันดีอยู่แล้วก็ได้เช่นกัน


เขียนโดย ก้อง ฤทธิ์ดี

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 76 ประจำเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2566

-----------------

ท่านสามารถอ่านหนังสือที่กล่าวถึงได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30 น. - 17.30 น. หรือค้นหาหนังสือและภาพยนตร์ที่ให้บริการในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ได้ที่ https://fapot.or.th/main/library