เมื่อ “ตั้ม-โอ๋” กลับมาย้อน “วัยอลวน”

เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศฺจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้มีโอกาสจัดรายการภาพยนตร์สโมสร “ย้อนวัยอลวนกับไพโรจน์และลลนา” กิจกรรมส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “เปี๊ยกโปสเตอร์ 90+” นิทรรศการฉลองวาระ 90 ปีของ เปี๊ยกโปสเตอร์ โดยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน หนังวัยรุ่นคลาสสิกปี พ.ศ. 2519 ฉบับสแกนภาพใหม่จากฟิล์มในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ ผลงานเรื่องสำคัญของเปี๊ยกโปสเตอร์ ที่ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญของทั้งวงการหนังและสังคมไทย 


หลังจบภาพยนตร์ ไพโรจน์ สังวริบุตร ผู้รับบท “ตั้ม” และ ลลนา สุลาวัลย์ ผู้รับบท “โอ๋” ได้มาย้อนวันวานร่วมกับแฟน ๆ ที่โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวและเกร็ดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานชิ้นนี้ นอกจากนี้ ยังได้อัปเดตข่าวคราวความเคลื่อนไหวของการหวนโคจรมาพบกันครั้งล่าสุดของคู่ขวัญในตำนานใน วัยอลวนฮ่า! ที่กำลังจะเข้าฉายในปลายปีนี้อีกด้วย และนี่คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมช่วงการสนทนาในวันนั้น


จุดเริ่มต้นของตำนาน “ตั้ม-โอ๋”


 

ภาพ: ภาพนิ่งจาก วัยอลวน (2519) ฉบับสแกนภาพใหม่จากฟิล์มในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์


“มีผู้ชมท่านใดในที่นี้ที่ได้ชม วัยอลวน ตั้งแต่ปี 2519 ที่ออกฉายครั้งแรกบ้างครับ” เสียงกล่าวทักทายแรกของผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีผู้ชมมากจำนวนกว่าครึ่งโรงภาพยนตร์ร่วมแสดงตัวว่า ได้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์รับชมผลงานที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญนี้ ตั้งแต่ปีแรกที่ออกฉายอย่างเป็นทางการ โดย ไพโรจน์ สังวริบุตร ได้บรรยายความรู้สึกภายหลังจากชมผลงานที่แจ้งเกิดให้กับเขาร่วมกับผู้ชมในวันดังกล่าวอีกรอบว่า


“จริง ๆ ผมจะผูกพันมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว คือเมื่อสักครู่หลังดูจบอีกรอบ ได้ลองคุยกับหลาย ๆ คน คิดว่ามีความรู้สึกแบบเดียวกัน คือดูแล้วมันรู้สึกอิ่มใจ คำว่าอิ่มใจ นี่มันเกินกว่าคำว่าสนุกและประทับใจ เกินกว่าหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่รู้จะหาคำไหนมาพูด นอกจากคำว่าอิ่มใจ ซึ่งคิดว่าคนดูทุกคนที่นี่ในวันนี้ ก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน หลาย ๆ คนบอกว่า ลืมไปหมดแล้วว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องปรกติ เพราะตามหลักจิตวิทยา คือคนเราจะจำเหตุการณ์ไม่ได้หรอก แต่จะจดจำอารมณ์ของมันได้” 


 


“เมื่อกี้ที่ดู วัยอลวน อีกรอบ มีน้ำตาไหลนิดนึง เพราะคุณพ่อคุณแม่ได้ร่วมเล่นอยู่ในนั้นด้วย คือคนที่เล่นเป็นคุณแม่ของตั้มคือคุณแม่แท้ ๆ ของผม ส่วนคุณพ่อคือคนที่เล่นเป็นอธิการที่มาพูดอะไรสักอย่างกับคุณลลนาในเรื่อง เพราะฉะนั้นผมจึงผูกพันกับหนังเรื่องนี้มาก และด้วยความที่ครอบครัวผมอยู่กับหนังมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่คุณปู่ที่เป็นคนสร้างหนัง ใน วัยอลวน คุณเปี๊ยกได้คุณมาเรีย เกตุเลขา มาช่วยจัดการติดต่อเรื่องของธุรกิจให้แก่หนัง ซึ่งคุณมาเรียจะสนิททั้งกับคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งคุณอาไพรัช สังวริบุตร วันหนึ่ง คุณมาเรียมาบอกกับผมว่า อยากให้ไปเจอคุณเปี๊ยก ไอ้ผมก็ไม่ไป ตามเท่าไรก็ไม่ไป เพราะผมมีความรู้สึกว่าสารรูปอย่างผม ณ พ.ศ. นั้น มันไม่น่าเป็นพระเอกได้ (หัวเราะ)” 


“คือปรกติพระเอกยุคนั้นต้องเป็นแบบสมบัติ เมทะนี กรุง ศรีวิไล หรือยอดชาย เมฆสุวรรณ แล้วความที่ผมอยู่ในวงการหนังมาตั้งแต่เด็ก มันทำให้เราได้เห็นวิธีการคัดเลือกนักแสดง ซึ่งตอนนั้นเขาก็จะเรียกมานั่งดูหน้าดูตา พูดคุยกันแล้วทิ้งที่อยู่ไว้ เดี๋ยวมีอะไรจะโทรกลับหรือส่งจดหมายเรียกกลับมา ซึ่งความที่เรารู้มากไป ผมก็เลยตัดสินใจไม่ไป จนกระทั่งวันหนึ่งถูกคุณพ่อบังคับว่า ผู้ใหญ่เขาสั่งให้ไป แกก็ต้องไป จะมาเสียมารยาทอย่างนี้ไม่ได้ เขาจะเอาหรือไม่เอาก็เรื่องของเขา แกไปตัดผม แต่งเนื้อแต่งตัวให้ดี เตรียมเสื้อผ้าอะไรให้เข้าท่า ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ทำอะไรสักอย่าง ไปแบบเดิมเลย ผมยาว ๆ บังเอิญว่าพอไปถึงดันตรงกับคาแรกเตอร์ที่พี่เปี๊ยกเขาอยากได้พอดี ก็เลยได้มาเล่นเรื่องนี้” 


 

ภาพ: “ตั้ม” รับบทโดยไพโรจน์ สังวริบุตร


“เอาเข้าจริงไม่ได้คิดอยากจะเป็นนักแสดงอะไร เพราะตั้งแต่เด็ก คิดมาตลอดว่า เราคงจะเจริญรอยตามครอบครัว คืออยู่ในเส้นทางอาชีพเบื้องหลังของภาพยนตร์ เพราะการที่เราทำเบื้องหลัง ไม่ว่าจะทั้งกำกับ เขียนบท ตัดต่อ ถ่ายภาพ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราสามารถเลือกตัวเองได้ว่าเราอยากจะเป็นอะไร อยากตัดต่อหรือเขียนบทก็ไปเรียนศาสตร์ด้านนั้น ๆ แต่ถ้าเป็นนักแสดง เราเลือกเป็นตัวเองไม่ได้ ซึ่งอย่างที่บอกว่า ด้วยความที่เราอยู่กับครอบครัวของนักสร้าง ทำให้คิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะโตมาเป็นนักแสดง มันเป็นเรื่องของโชคชะตาพามามากกว่าที่ทำให้เรามายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้”  ไพโรจน์กล่าว


ด้าน ลลนา สุลาวัลย์ ได้อธิบายถึงช่วงเวลาที่ได้พบกับเปี๊ยกโปสเตอร์และไพโรจน์ สังวริบุตร เป็นครั้งแรกว่า “เริ่มต้นจากมีผู้ใหญ่ที่นับถืออยู่คนหนึ่งที่เป็นเจ้านายของพี่สาว ซึ่งเป็นเพื่อนกับอาเปี๊ยกโปสเตอร์ วันนั้นจิ๋มไปหาผู้ใหญ่ท่านนี้ เลยบังเอิญได้เจออาเปี๊ยกพอดี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อาเปี๊ยกอยากได้นักแสดงหน้าใหม่ที่จะมาเล่นเรื่องนี้ แกเห็นจิ๋มแล้วเกิดถูกใจเลยให้ลองไปทดสอบหน้ากล้อง คือแกอยากได้นักแสดงที่ไม่ต้องสวย ขอคนที่น่ารัก ดูอวบ ๆ และเด็ก ๆ หน่อย ตอนนั้นจิ๋มเพิ่งอายุประมาณสิบห้าย่างสิบหก” 


“ไม่คิดฝันเลยว่า จะได้เป็นนักแสดง เพราะเล่นยังไงก็เล่นไม่ได้ ก่อนที่จะเริ่มถ่าย วัยอลวน อาเปี๊ยกจะบอกให้ไปที่ออฟฟิศทุกวัน เป็นเดือน ๆ เลย ให้ไปเจอพี่เอ๋-ไพโรจน์ และทีมงาน จะได้เกิดความคุ้นเคยและจะได้ไม่ตื่นเต้น แต่ยังไงมันก็ยังตื่นเต้นอยู่ดี (หัวเราะ) แต่พอได้ทำงานกับอาเปี๊ยก นี่คือสบายใจที่สุดเลยค่ะ แกเป็นคนที่พูดอะไรเข้าใจง่ายและให้เราเล่นอะไรตามธรรมชาติแบบที่เราเป็นอยู่”


 

ภาพ: “โอ๋” รับบทโดยลลนา สุลาวัลย์


เมื่อถามถึงเทคนิคของเปี๊ยกโปสเตอร์ในการกำกับนักแสดงหน้าใหม่  ไพโรจน์กล่าวว่า “เรื่อง วัยอลวน ต้องยกความดีความชอบให้กับพี่เปี๊ยก เพราะพี่เปี๊ยกเป็นคนที่กำกับหนังแบบที่ให้ความเป็นธรรมชาติแก่นักแสดง อย่างแรกที่สุดคือการเขียนบท การที่เราจะเล่นได้อย่างธรรมชาติ มันต้องเริ่มจากบทภาพยนตร์ก่อน ถ้าบทเขียนมาไม่เป็นธรรมชาติ นักแสดงเล่นให้ตายยังไง มันก็ไม่เป็นธรรมชาติ หรือเป็นมันก็จะเป็นแบบฝืน ๆ อย่างที่สองคือเรื่องของเทคนิคการกำกับ คือพี่เปี๊ยกจะจัดวางวิธีการแสดงก่อน แล้วก็เอากล้องมาเล่าเรื่อง เริ่มจากจัดแจงว่า ให้นักแสดงเล่นซีนนี้ยังไง พอมันออกมาเป็นธรรมชาติปุ๊บ ค่อยเอากล้องมาถ่ายทีหลัง ซึ่งยุคนั้นเป็นวิธีการที่แตกต่างจากคนทำหนังหรือละครทั่วไป มันเป็นสิ่งที่พี่เปี๊ยกสร้างขึ้นและพวกเราได้เรียนรู้กันมา ถ้าสังเกตนักแสดงที่ร่วมงานกับพี่เปี๊ยก ไม่ว่าจะเป็นผม พี่ไพโรจน์ ใจสิงห์ หรือหนุ่ย-อำพล ลำพูน เป็นนักแสดงที่เล่นมาแบบในแนวทางเดียวกัน คือเล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ”


จากหนังที่ผู้ใหญ่ไม่ซื้อ สู่ความสำเร็จด้วยกระแสปากต่อปากของวัยรุ่น


 

ภาพ: โชว์การ์ดจากภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน (2519) ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์


ก่อนที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผลงานภาพยนตร์เรื่องสำคัญของวงการหนังไทย หนึ่งในเกร็ดที่ผู้กำกับ “เปี๊ยกโปสเตอร์” คนทำหนังที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหัวหอกของผู้กำกับคลื่นลูกใหม่แห่งวงการหนังไทย เคยเล่าอย่างสนุกสนานถึงช่วงเวลาของการเข้าฉายครั้งแรกของ วัยอลวน คือช่วงเปิดตัวนักแสดงนำ ไพโรจน์ สังวริบุตรและลลนา สุลาวัลย์ เมื่อเปี๊ยกได้ยินนักข่าวพูดคุยกันว่า หากเป็นดาราคู่นี้ หนังคงจะไม่ประสบความสำเร็จแน่ ๆ ไพโรจน์อธิบายเสริมถึงเรื่องราวดังกล่าวว่า


“ใช่ มีนักข่าวพูดอย่างนี้จริง ๆ หนังพี่เปี๊ยกจะรอดไหมเนี่ย เจ๊งแน่นอน พระเอกอะไรดำก็ดำ ผอมก็ผอม นางเอกพี่ก็ตัวปุ๊กลุ๊กขนาดนี้ (หัวเราะ) ครั้งหนึ่ง คุณปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล เคยเล่าให้ฟังว่า พี่เปี๊ยกเคยไปตามคณะของผู้สร้างให้มาดูรอบทดลอง ซึ่งพวกเขานั่งดูไปประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็หันมาถามพี่เปี๊ยกว่า เมื่อไรพระเอกของพี่จะออก พี่เปี๊ยกก็บอกนั่นไง มันออกตั้งแต่คัตแรกแล้ว (หัวเราะ)” 


“อีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟัง คือพอถ่ายหนังเรื่องนี้จบ ค่ายเอาไปขายสายหนังไม่ได้เลย พยายามขายเท่าไรก็ขายไม่ได้ เขาก็ไปให้บริษัทไฟว์สตาร์ช่วยจัดจำหน่าย ซึ่งตอนนั้นบริษัทนี้ยังไม่ใช่ผู้สร้าง เวลานั้นมันมีหนังบู๊เรื่องหนึ่งที่สายหนังอยากได้ เขาบอกว่าถ้าอยากซื้อเรื่องนี้มีราคาทั้งหมดแปดแสน แต่คุณต้องซื้อเรื่อง วัยอลวน พ่วงด้วยในราคาสองแสน ตอนนั้นมีเรื่องเล่าว่า มีสายหนังที่เป็นคนเชื้อสายแขกคนหนึ่งที่อยากได้หนังบู๊เรื่องนั้นมาก ยอมจ่ายอีกสองแสนให้ วัยอลวน แต่ขอไม่เอาหนังได้ไหม (หัวเราะ) เพราะเข้าใจว่า พอเอาหนังไปก็ต้องเอาฟิล์มไปทำก็อปปี้ ไหนจะต้องจ้างเช็คเกอร์ไปเฝ้าโรงหนัง ซึ่งเข้าใจว่าคงมีค่าใช้จ่ายเยอะ” 


“แต่ตอนนั้นมีฝ่ายโฆษณาคือ บริษัทพีระมิด ซึ่งเป็นเจ้าของโรงหนังสยาม สกาลา ลิโด ฯลฯ เขามองว่าหนังมันดีนะ ทำยังไงถึงจะบอกให้คนรู้ว่าหนังมันดีได้ เขาก็เลยไปพูดกับคุณกัมพลและคุณนันทา ตันสัจจาว่า อย่าเพิ่งเอาหนังเข้าได้ไหม ขอให้เลื่อนไปก่อน จากนั้นก็เอาหนังไปทดลองฉายในห้องฉายที่อยู่ข้างบนอาคารร้านหูฉลามที่อยู่ตรงข้ามโรงหนังสกาลา เป็นห้องที่บรรจุคนดูได้ประมาณ 60-70 ที่นั่ง แล้วก็เชิญคนดูที่เป็นนักเรียนมาวันละโรงเรียน”


 

ภาพ: ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน (2519) ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์


“พอช่วงเวลาเย็น ๆ หน่อย ผมกับจิ๋มก็ต้องไปคอยต้อนรับ พอเด็ก ๆ ดูเขาก็คงชอบกัน แล้วก็ไปบอกปากต่อปากกับเพื่อนที่โรงเรียน จากนั้นมันคงไปถึงหูของพ่อแม่ผู้ปกครอง ถือว่าเป็นการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผลงานเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ประกอบกับมันมีเพลงที่แปลกแหวกแนวและพิสดารกว่าคนอื่นคือเพลง “สุขาอยู่หนใด” ซึ่งตอนนั้นไม่เคยมีใครที่คิดจะทำเพลงแบบนี้ขึ้นมา เลยทำให้เด็ก ๆ วัยรุ่นเขาชอบกัน แล้วถ้าลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์หนังไทยยุคนั้น ตลาดหนังไทยก็จะเน้นหนังสำหรับผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ คือมันไม่มีหนังวัยรุ่นเลย ทำให้วัยรุ่นยุคนั้นเขาไม่ดูทั้งหนังไทยและฟังเพลงไทย เพราะมันไม่มีนักแสดงหรือตัวละครที่สามารถเชื่อมโยงกับเขาได้เลย เพราะฉะนั้นพอมีหนังเรื่อง วัยอลวน ขึ้นมา มันก็เลยทำให้วัยรุ่นเริ่มดูหนังไทย แล้วพอวัยรุ่นเริ่มดูหนังไทย ก็เริ่มมีหนังวัยรุ่นตามมาอีกเรื่อย ๆ คราวนี้หนังผู้ใหญ่ก็เริ่มเลือนหาย” 


“คุณปื๊ด-ธนิตย์ เคยเล่าให้ฟังอีกว่าในช่วงที่หนังดัง ๆ เขาเห็นกับตาว่า ช่องขายตั๋วโรงหนังที่มันเป็นพลาสติกพังเพราะคนรุมแย่งกันซื้อบัตร แล้วจากนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ตั๋วผี รวม ๆ หนังเรื่องนี้ทำเงินเฉพาะในกรุงเทพฯ ไปทั้งหมดเจ็ดล้านบาท คือเมื่อก่อนจะแบ่งกันเลย แม้แต่ชานเมืองหรือพระโขนงก็จะไม่นับ จะนับเฉพาะโซนที่เป็นกรุงเทพฯ อย่างเดียว แล้วราคาตั๋วหนังเมื่อก่อนจะราคาเพียงแค่สิบกว่าบาทเท่านั้น ถ้าหากเอารายได้ทั้งหมดหารเป็นจำนวนคนออกมา ถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจเหมือนกัน”


“อีกหนึ่งความสำคัญของ วัยอลวน คือมันเป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับวัยรุ่นในยุคนั้นเดินตามความฝัน โดยเฉพาะคุณศุ บุญเลี้ยง ที่เคยให้สัมภาษณ์บ่อย ๆ ว่าที่เป็นศุ บุญเลี้ยง ได้ในทุกวันนี้ ก็เพราะหนังเรื่อง วัยอลวน ถ้าวันนั้นเขาไม่ไปดูหนังเรื่องนี้ ก็ยังคงอยู่ที่บ้านเกิดที่เกาะสมุยต่อไป แต่พอเขาดูจบปุ๊บเลยเกิดแรงบันดาลใจเหมือนกับตั้มที่ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ถือเป็นมนต์ขลังอย่างหนึ่งของ วัยอลวน ที่เป็นหนังบันทึกเรื่องราวหนึ่งในสังคม ซึ่งผมได้เอาหัวใจตรงนี้มาเล่าต่อในภาคห้า ภาคล่าสุดที่กำลังจะเข้าฉาย นอกจากนี้ หากไปถามหนังในดวงใจบรรดาคนที่ประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงระดับแถวหน้า ไม่ว่าจะคุณจิระ มะลิกุล คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ หรือคุณประภาส ชลศรานนท์ ทุกคนจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า วัยอลวน คือหนังในดวงใจของพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และผมตั้งใจจะรักษาตำนานความรู้สึกนี้ไว้ให้ วัยอลวน ต่อไป”


กลับสู่จิตวิญญาณของความเป็น “เปี๊ยกโปสเตอร์” ด้วย วัยอลวนฮ่า!


 

ภาพ: “ไพโรจน์ สังวริบุตร” และ “ลลนา สุลาวัลย์” จาก วัยอลวนฮ่า! (2565)

ที่มา: www.facebook.com/MajorGroup


แม้จะลงโรงภาพยนตร์ฉายเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านได้ไม่นาน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงทั่วประเทศในเวลานั้น จึงทำให้ทีมผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายของ วัยอลวนฮ่า! ตัดสินใจที่จะระงับการฉายผลงานภาคต่อของภาพยนตร์วัยรุ่นในตำนานเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน และในเดือนธันวาคมนี้ ด้วยทิศทางที่ดีขึ้นของโควิด-19 ผู้สร้างและผู้จัดจำหน่าย จึงได้วางแผนนำผลงานภาคต่อหนังวัยรุ่นในตำนานลำดับที่ 5 ที่ ไพโรจน์ สังวริบุตร รับบทบาทเป็นทั้งผู้กำกับและแสดงนำ มาจัดฉายให้แฟน ๆ ของ “ตั๋ม-โอ๋” ร่วมต้อนรับคู่ขวัญคู่นี้ในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป (ติดตามรายละเอียดการฉายของ วัยอลวนฮ่า! ได้ที่ www.facebook.com/waionlawon5)


 


ไพโรจน์ อธิบายถึงที่มาที่ไปของการนำตำนาน “ตั้ม-โอ๋” กลับมาสานต่อบนจอเงินอีกครั้งว่า “ผมทำหนังเรื่อง วัยอลวนฮ่า! เพราะอยากให้ผู้ชมกลับไปมีความสุขเหมือนที่นั่งกันอยู่ตรงนี้ อยากให้ไปดูหนังในจังหวะการเล่าเรื่องที่ถูกใจพวกเรา แบบที่ดูจบแล้ว รู้สึกชื่นชมและอิ่มใจกลับมา”


“ผมอยากดึงความรู้สึกและจิตวิญญาณของความเป็น เปี๊ยกโปสเตอร์ เพื่อให้ผู้ชมรู้ว่า เปี๊ยกโปสเตอร์ มีความรู้สึกหรือคิดยังไงต่อหนังเรื่องนี้ อยากให้ความคิดของพี่เปี๊ยกที่เป็นตำนานมันยังคงอยู่ เพราะผมคิดว่าไม่มีใครเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้เท่าผม ภาคนี้ผมจะดึงหัวใจสำคัญทุกอย่างของ วัยอลวน มาถ่ายทอดให้เห็น รวมทั้งบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในสังคมปัจจุบัน เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟังด้วยอารมณ์ขันและส่งเสริมความรู้สึกที่ดีแก่กัน หนังเรื่องนี้จะมีแต่การแก้ปัญหาด้วยความน่ารักและความสดใส ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเป็น วัยอลวน


วัยอลวน ฉบับสแกนภาพใหม่จากฟิล์มในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ จะจัดฉายอีกครั้งในวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 13.00 น. ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม สำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/view/1677


ชมคลิปวิดีโอเต็มช่วงสนทนารายการภาพยนตร์สโมสร “ย้อนวัยอลวนกับไพโรจน์และลลนา” ได้ที่ https://fb.watch/gQiVfvV8bY/


ติดตามรอบฉายภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ในโปรแกรม “เปี๊ยกโปสเตอร์ 90+” ที่จะจัดฉายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/program/78


นิทรรศการ “เปี๊ยกโปสเตอร์ 90+” นิทรรศการเนื่องในวาระครบรอบ 90 ปีของ “เปี๊ยกโปสเตอร์” หรือ “สมบูรณ์สุข นิยมศิริ” นักเขียนใบปิดและผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นครูของวงการภาพยนตร์ไทย จัดแสดงในห้องนิทรรศการ ชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภภิจ ตั้งแต่วันนี้ – 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 (เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร - อาทิตย์ ในเวลา 9.30 น. - 17.30 น.) รายละเอียดเพิ่มเติม https://fapot.or.th/main/travel/view/13