ภาพรวมและบทสรุปจากการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ไทยสมบัติของชาติ

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศ 12 รายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2565 ในการคัดเลือกนั้น หอภาพยนตร์ได้เชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพจำนวน 35 ท่าน มาร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาตัดสินภาพยนตร์ในครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือ มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ซึ่งได้เขียนบทความถึงภาพรวมของภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปีนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นถึงมิติและบริบทของมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปีนี้ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการประดับรางวัลให้แก่ภาพยนตร์ 

-----------------------------------------------


มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์


เคยมีสป็อตที่ทางหอภาพยนตร์ผลิตเอง (รู้สึกใช้กับหน่วยกู้หนัง) ซึ่งทุกวันนี้เขาเลิกฉายไปนานแล้ว ในนั้นเขาเริ่มต้นด้วยที่ภาพกระป๋องฟิล์มกองกันระเกะระกะ แล้วถามว่า"คุณ-เห็น-อะไร"


ต่อให้ยังอยู่ในช่วงที่กำลังเผยแพร่ ทว่ายังจำกัดเฉพาะแค่ปะหัวกิจกรรมฉายหนังตามปกติ ขณะที่สังคมข้างนอกยังมิอาจสลัดอคติที่ว่าหนังเป็นแค่เรื่องความบันเทิง ครั้นเวลาผ่านไปสักพัก ก็มักตามมาด้วยสำนวน 'เกิดไม่ทัน' อยู่ร่ำไป


การได้ดูได้ชม สิ่งที่ได้รับ หาใช่เป็นเรื่องของความสนุกสนานหรือความบันเทิงจากเรื่องราว หากแต่เป็นการได้เห็นอดีตที่ถูกหลงลืมไปแล้ว จนแทบไม่นึกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เคยมีอยู่จริง ไม่ว่าจะรูปโฉมของเหล่าดาราที่มักกล่าวที่ล้วนแต่เคยครอบครองวันเวลาของความเปล่งปลั่งแฉล้มแช่มช้อยตามประสาวัยหนุ่มสาว 


เราอาจถึงแก่กาลตกตะลึงเมื่อได้เห็นคุณสุเชาว์ พงษ์วิไล (สมัยเล่น เทพธิดา บาร์ 21 , 2521) ว่าทำไมถึงช่างมีใบหน้าละม้ายฮิวจ์ แจ็คแมนของสมัยนี้, ครั้นพอได้ดู ดรรชนีนาง (2496) ดาราซึ่งถูกกาลเวลาทำหายอย่างนักแสดงบทพ่อ (วิโรจน์ สายะวัฒนะ) ก็นึกในใจว่าทำไมถึงมีส่วนคล้ายไพโรจน์ สังวริบุตร ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองต่างก็มีชีวิตห่างกันคนละช่วงเวลา จนน่าที่จะสลับบทบาทตัวละครกับ ส.อาสนจินดา ผู้ซึ่งรับบทเป็นตัวเอกในรุ่นลูก ด้วยความที่เรา (รุ่นนี้) มักคุ้นเคยกับตัวละคร 'ป๋าส.' ก็เฉพาะคนรุ่นพ่อ หรือไม่ก็ในวัยชรา นอกเหนือจากความงดงามที่เหนือกาลเวลาของคุณสุทิน บัณฑิตกุล


ภาพ: วิโรจน์ สายะวัฒนะ และ สุทิน บัณฑิตกุล ในภาพยนตร์เรื่อง ดรรชนีนาง (2496)


คนในสังคมมักมองภาพยนตร์ในแง่ของการเป็นเรื่องราวที่ถูกสร้าง ทว่าอีกด้านหนึ่งยังมีเรื่องของการเปิดเผยความจริงต่อสังคม ซึ่งจะเป็นประเภทที่ไม่เคยเข้าฉายตามโรง หรือผ่านกระบวนการผลิตภายใต้กลไกทางตลาด ทว่าทำหน้าที่เป็นเสมือนธนาคารความทรงจำ อย่างในกลุ่มงานสารคดีอย่าง กิจการในกระทรวงพาณิชย์ แล คมนาคม [2470 - 2472], [งานอภิเษกพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต] (2496)  และที่เด่นมากคือ [การประกวดการจัดบ้านและบริเวณ] (2497) ที่เจ้าของบ้านเปิดรับการมาเยือนจากคณะกรรมการที่แวะเวียนเข้าทำการประเมิน ซึ่งชวนให้เข้าใจได้ว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างแนบเนียนและซ่อนรูป โดยเฉพาะการขานรับนโยบายภาครัฐ ภายใต้บรรยากาศแห่งความหวาดระแวงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เพราะแท้จริงแล้ว การตระเวนตรวจ (และให้คะแนน) ที่เข้าร่วมประกวดอาจซ้อนทับเข้าไว้ด้วยกันกับการขอเข้าตรวจค้นการซุกซ่อนวัตถุต้องสงสัย, สิ่งพิมพ์ต้องห้าม หรือแม้กระทั่งวัสดุตกแต่งบ้านที่ทุกครัวเรือนพึงมี



ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง [การประกวดการจัดบ้านและบริเวณ] (2497) 


ส่วนที่มีค่าที่สุดในภาพยนตร์ แหวนทองเหลือง (2516, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ) ได้แก่ช่วงที่นางเอก-นัยนากลับมาพบกับพระเอก-ไชยาที่ข้างถนน แต่ว่าถ่ายติดบรรดาชาวบ้านซึ่งมาร่วมชมการถ่ายทำซึ่งทั้งจริงและสด จนน่าจะมีส่วนสร้างความภูมิใจให้กับบุคคลจริงซึ่งคาดว่าน่าจะนำไปสู่การถามไถ่หรือสืบหาตัวตนว่าทุกวันนี้คือใคร หรือแม้แต่ไซต์การก่อสร้างซึ่งแลเห็นชื่อบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ลิบ ๆ อยู่ฝั่งตรงข้าม อันเป็นที่เข้าใจว่าน่าจะถ่ายทำบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่และไซต์ก่อสร้างดังปรากฎในเรื่องเห็นจะเป็นที่อื่นมิได้ นอกจากสถานบันเทิงครบวงจรบริเวณสี่แยกประสานมิตร


การคัดเลือกและขึ้นทะเบียนคือข้อพิสูจน์ว่าหนังมีอายุเกินกว่าหนึ่งชีวิตและการขึ้นทะเบียนเองก็มิใช่การมอบรางวัลอย่างที่ให้กับหนังที่ออกฉายแต่ละปี หากแต่เป็นการย้ำเตือนถึงบทบาทและคุณค่าที่มีต่อสังคม, สร้างโดยสังคม และเป็นของคนทุกคนโดยไม่เลือกหรือถูกจำกัดไว้ด้วยชนชั้นวรรณะ