เบื้องหลังหนังดวง

โดย ธิติพงษ์ ก่อสกุล

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 70 ประจำเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม 2565

ภาพปก: การถ่ายทำบนห้องอาหารชั้นบนของโรงแรมดุสิตธานี


คลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นั้น ไม่เพียงแต่เก็บรักษาภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวตามมาตรฐานและสิ่งเกี่ยวเนื่องเท่านั้น ยังมี ภาพยนตร์ข่าว ภาพยนตร์สารคดี ฟุตเทจ และสื่อภาพเคลื่อนไหวอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ภาพยนตร์บันทึกเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์, outtake หรือส่วนของฟิล์มที่ตัดออกในกระบวนการตัดต่อ 


กรณีเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง ดวง นี้ หอภาพยนตร์ได้รับมอบมาจากคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ) มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหน่วยงานในปี 2527 ซึ่งคุณทินกร ทายาทของคุณอาทร ติวะสุระเดช ผู้อำนวยการสร้าง ได้เข้ามาสืบค้นและรับชมที่ห้องสมุดหอภาพยนตร์ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 คุณทินกรให้ข้อมูลว่า ตนเองพยายามตามหาตัวหนังฉบับเต็มที่ได้สูญหายไป แม้จะยังไม่พบ แต่ก็รู้สึกยินดีที่ได้พบว่ามีภาพยนตร์บันทึกเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ดวง นี้ที่หอภาพยนตร์



ภาพ: ทินกร ติวะสุระเดช


หลังจากความสำเร็จอย่างไม่คาดคิดของ โทน (2513) จากการกำกับของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ศิลปินนักวาดใบปิดหนังที่ตกกระไดพลอยโจนจากแรงยุของเพื่อนให้มากำกับหนังบ้าง เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้มีผลงานต่อเนื่องในปีต่อไปทันทีโดยมี อาทร ติวะสุระเดช เข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเป็นเรื่องแรก ดวง ได้ออกฉายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย 


ราว 50 ปีต่อมา ทินกร ติวะสุระเดช หนึ่งในทายาทของ อาทร ติวะสุระเดช นักธุรกิจหลากหลายวงการ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของผู้กำกับชื่อดัง เปี๊ยก โปสเตอร์ พยายามตามหาม้วนฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง ดวง ผลงานอำนวยการสร้างหนังเพียงเรื่องเดียวของบิดา นอกจากนั้นก็ยังเป็นผลงานกำกับเรื่องเดียวของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ที่ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องในฐานะผู้กำกับฝีมือดี ที่ยังไม่ถูกค้นพบทั้งต้นฉบับและก๊อบปี้ใด ๆ เลย



ภาพ: อาทร ติวะสุระเดช ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ดวง


แม้จะยังไม่พบฟิล์มภาพยนตร์ แต่คุณทินกรได้ให้โอกาสทีมงานหอภาพยนตร์สัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากความทรงจำในวัยเด็ก โดยมีภาพยนตร์เบื้องหลังการถ่ายทำเป็นเครื่องมือช่วยรำลึก 


“คุณพ่อเป็นเพื่อนสนิทกับคุณชวน ห้องภาพสุวรรณ (ชวนไชย เตชศรีสุธี) ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องโทนน่ะครับ แล้วหลังจากที่ โทน ประสบความสำเร็จ คุณชวนก็เลยมาชักชวนคุณพ่อเข้ามาสร้างเรื่อง ดวง น่ะครับ” 


ภาพยนตร์เรื่อง ดวง เล่าเรื่องชีวิตของชายหนุ่มสองคน ดวงและคำ ดวง (ไพโรจน์ ใจสิงห์) เป็นคนที่เข้ากรุงเทพฯ มาก่อน และด้วยอุบัติเหตุเล็กน้อยจึงได้ไปเป็นภารโรงอยู่บริษัทแผ่นเสียง ฟาร์อีสท์ เรคอร์ด ต่อมาดวงได้มีความรักและได้เสียกับ สายใจ (วนิดา อมาตยกุล) หลานสาวของหัวหน้าบริษัท แต่ต่อมาดวงก็ได้ไปหลงใหล ฤดี (นงลักษณ์ โรจนพรรณ) เป็นช่วงเดียวกับ คำ (จีระศักดิ์ ปิ่นสุวรรณ) ที่เริ่มเป็นนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงขึ้นมา เมื่อคำพบดวงที่บริษัทแผ่นเสียงและดวงยังไม่ได้เป็นนักร้อง คำจึงพูดจาดูถูกดวง ดวงช้ำใจจึงร้องเพลงระบายความในใจเป็นเสียงเพลง บังเอิญที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบันทึกเสียงได้บันทึกเสียงดวงไว้ จึงได้ลองอัดแผ่นเสียงจากการร้องของดวงขาย ได้รับความสำเร็จดีมาก ดวงจึงโด่งดังขึ้นมาในฐานะนักร้อง แม้จะเลิกกับฤดีแล้ว แต่กลับต้องเริ่มห่างเหินกับสายใจ เพราะต้องปิดบังแฟนผลงานว่ามีครอบครัว ส่วนคำเริ่มตกอับด้านอาชีพการงาน และได้เสริมเข้ามาช่วยเหลือ ต่อมาฤดีได้ฆ่าเสริมตายด้วยความเข้าใจผิด ส่วนดวงเสียใจที่สายใจหนีไปขับรถเมามายจนประสบอุบัติเหตุกลายเป็นคนพิการ คำหมดที่พึ่งจนสุดท้ายหมดหนทางจึงต้องยึดอาชีพแมงดาเลี้ยงตัว ส่วนดวงไปหางานทำที่ไร่ทางเหนือ และได้พบสายใจและลูกสาวด้วยความบังเอิญ ดวงทั้งอับอายและสำนึกในความผิดคิดจะหนีไป แต่สายใจให้อภัยดวงและปรับความเข้าใจกันได้ในที่สุด


แม้จะได้นักแสดงนำเป็นหน้าใหม่ทั้งคู่คือ ไพโรจน์ ใจสิงห์ ซึ่งมีอาชีพหลักเป็นครู และเล่นดนตรีกลางคืนเป็นอาชีพเสริม และ วนิดา อมาตยกุล สมทบด้วย จีรศักดิ์ ปิ่นสุวรรณ, นงลักษณ์ โรจนพรรณ และวงดนตรีดิอิมพอสซิเบิ้ล อีกทั้งแนวเรื่องเป็นแนวชีวิตซึ่งไม่ใช่แนวเรื่องที่ผู้ชมนิยมมากนัก แต่ภาพยนตร์เรื่อง ดวง ก็ประสบความสำเร็จและสร้างความประทับใจให้ผู้ชมสมัยนั้นพอสมควร



ภาพ: ไพโรจน์ ใจสิงห์ และนงลักษณ์ โรจนพรรณ


“พระเอกนี่ อาเปี๊ยกหามา ส่วนนางเอกดูเหมือนจะเป็นคุณนงลักษณ์ชักจูงเข้ามา คือนางเอกสมัยนั้นเป็นแอร์โฮสเตสการบินไทยอยู่นะครับ ที่ผมทราบมาจากพี่ชาย คือนางเอกอยากเล่นเรื่องนี้ อยากลองแค่เรื่องเดียว และตอนจบเนี่ยการบินไทยเรียกตัวกลับไป เพราะอย่างนั้นเขาบอกว่าตอนจบเนี่ย ถ้าสังเกตดี ๆ หนังเรื่องนี้จะไม่มีนางเอก คือนางเอกไม่ได้กลับเข้าฉากแล้ว ไม่มีคิว ต้องกลับไปทำงานเป็นแอร์ฯ ต่อครับ”


ด้วยความที่กองถ่ายภาพยนตร์ของคุณเปี๊ยกมักทำงานในเวลากลางคืน อาทรในฐานะผู้อำนวยการสร้างจึงไม่มีโอกาสแวะไปที่กองถ่ายมากนัก แต่จะมามีบทบาทในช่วงที่หนังเข้าฉาย คือส่งทีมงานและญาติพี่น้องไปเช็กยอดขายตั๋วหนังที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ และยังมีเทคนิคสร้างกระแสความสนใจอีก เช่น “หนังเข้าฉายกรุงเทพฯ ที่ศาลาเฉลิมไทย ถ้าเป็นในปัจจุบันก็ใช้สื่อออนไลน์ช่วยกันต่าง ๆ นานา แต่เทคนิคของคุณพ่อคือ เอาลูกน้องไปยืนอยู่หน้าโรงหนังริมถนนที่มีราวเหล็กกั้นเป็นแนว ให้คนขับรถผ่านไปมารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้คนล้นโรง แล้วคุณพ่อทำถ่านไม้ ลูกน้องแกเยอะไง คือคนสมัยก่อน มองไปโรงหนัง เห็นหนังเรื่องไหนคนล้นออกมาก็คิดว่าหนังเรื่องนี้ต้องมาดู แล้วสุดท้ายหนังก็ทำรายได้ดีนะครับ เป็นหลักล้าน แต่ผมไม่ทราบแน่ชัดว่ากี่ล้าน”



ภาพ: เปี๊ยก โปสเตอร์ในเรือกับ โสภณ เจนพานิช ตากล้อง


นอกจากเทคนิคการโปรโมตหนังที่คุณอาทรคิดเองทำเองตามประสาคนทำธุรกิจมาตั้งแต่อายุน้อยแล้ว สมาชิกในครอบครัวก็ได้เข้ามามีส่วนร่วม รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง ด้วยความกว้างขวางของคุณอาทรเองที่มีมิตรสหายในวงการต่าง ๆ มากมาย


“จะมีอยู่ฉากหนึ่ง ฉากงานปีใหม่ เท่าที่ผมจำได้ คุณพ่อก็เอาไปหมด ทั้งผม คุณแม่ พี่น้องก็เดินเข้าไปในฉากกันหมด โดยบ้านที่ถ่ายฉากนั้นเป็นบ้านของคุณอายุส พัฒน์พงศ์พานิช ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคุณพ่อ ก็เลยใช้บ้านของท่านถ่ายฉากงานปีใหม่



ภาพ: ฉากงานเลี้ยงปีใหม่


“ในโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องดวงนะครับ จะเห็นรถสีขาวอยู่คันหนึ่ง รถในคลิปเบื้องหลังเนี่ยจะเป็นสีแดง แต่คันนี้สีขาว ถ้าผมจำไม่ผิด สมัยก่อนเขาจะเรียกรถ Vauxhall Viva คันนั้นรู้สึกจะเป็นรถคุณพ่อที่เอาไปเข้าฉาก น่าจะเป็นคันที่ในหนังคุณไพโรจน์ขับไปชนสิบล้อแล้วก็พิการ ก็มีหลายจุดที่คุณพ่อเสริมเข้าไปเท่าที่จะช่วยได้ เพราะในฐานะของคนจีนค้าขายเนี่ย อะไรที่ประหยัดต้นทุนได้ แกพยายามให้ประหยัด พึ่งพาพรรคพวกบ้าง”


เปี๊ยก โปสเตอร์ เองก็เคยเล่าถึงความกว้างขวาง รู้จักคนมากของ อาทร ติวะสุระเดช ที่ได้ช่วยแก้ปัญหานักแสดงขาดระหว่างการถ่ายทำกลางดึกไว้ในหนังสือ ไม่ใช่แค่สั่งแอ็กชั่น ที่หอภาพยนตร์จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2559 ดังยกข้อความบางส่วนมาดังนี้


“ตอนที่ผมถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “ดวง”…ฉากนางเอกป่วย พระเอกไปรับหมอมาดูอาการและเยียวยา ถ่ายทำกันในโรงถ่ายอัศวินภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ที่หนองแขม ในช่วงเวลานั้นบริเวณที่กล่าวถึงนี้เป็นทุ่งนาเวิ้งว้าง หาอาคารบ้านคนแทบไม่เจอ เราถ่ายทำฉากอื่น ๆ กันมาก่อนตั้งแต่ตอนกลางวัน จนถึงประมาณตีหนึ่งก็เริ่มเตรียมการจะถ่ายฉากนี้ ปรากฏว่าตัวประกอบที่จะแสดงเป็นหมอไม่มา ยุ่งละสิ ผอ. ผู้ออกทุนสร้างเรื่องนี้แกอยู่ในเหตุการณ์ด้วย แกเป็นคนที่มีสังคมกว้างขวางมาก พอแกทราบปัญหาก็ยกโทรศัพท์ไปโรงพยาบาลมาตรฐานรัฐแห่งหนึ่ง “หมอต้องมาเดี๋ยวนี้เลย กองถ่ายคอยอยู่”…“ไปหาหมอคนอื่นมาผ่าแทนก่อน หมอรีบมาเข้าฉากเดี๋ยวนี้เลย” ผมคิดว่าถึงเสี่ยจะไม่ได้เป็นเจ้าของโรงพยาบาลนั้นก็ต้องเป็นคนใกล้ชิดผู้อำนวยการแน่ ๆ”



ภาพ: เบื้องหลังกองถ่ายจากกล้องภาพนิ่ง


ในขณะนั้นคุณอาทรทำธุรกิจส่วนตัวค้าขายถ่านไม้ ในช่วงที่เริ่มเข้ามาสร้างหนังก็ได้เริ่มขยับขยายไปสู่กิจการปั๊มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม การสร้างหนังเพื่อเข้าฉายตามโรงก็เป็นเรื่องที่คุณอาทรไม่คาดคิดมาก่อน และแม้จะถือว่าประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสได้ทำเพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น


“ผมคิดว่าที่พ่อผมเข้าไปทำหนังเรื่อง ดวง ส่วนหนึ่งเพราะพ่อผมอาจจะต้องการเรียนรู้ประสบการณ์วงการนี้ ซึ่งมันฉีกไปจากวงการที่ทำอยู่ แกก็อาจจะอยากรู้ว่าวงการบันเทิงมันน่าสนใจระดับไหน ประการที่สอง คือเพื่อนที่สนิทกันประสบความสำเร็จแล้วมาชวนให้ทำบ้าง เท่าที่ผมทราบ หนังก็ทำกำไรนะ แต่แกอาจหักลบกันแล้ว คุณพ่ออาจจะมองเรื่องความเหนื่อย แล้วก็อยู่ในช่วงกำลังจะเริ่มทำปั๊มน้ำมันด้วย...แล้วก็เหมือนกับว่าอาเปี๊ยกจะมาชวนคุณพ่อทำเรื่องที่ 3 แต่คุณพ่อก็ปฏิเสธไป คืออาจจะในแง่การค้า แกมองว่าเป็นธุรกิจที่ใช้เวลา เหนื่อย แล้วเวลาที่ใช้ก็แตกต่างกัน จึงไม่อาจไปร่วมดูแลได้เต็มที่ ถ้าตอนนั้นคุณพ่อยังรู้สึกมันไม่เลิก คงได้ทำเรื่อง ชู้ แล้วเรื่อง ชู้ เนี่ยได้รางวัล (หัวเราะ)”


โดยปกติแล้วภาพยนตร์เบื้องหลังการถ่ายทำนั้น จะบันทึกการทำงานของหลายชีวิตที่เกิดขึ้นหลังกล้องถ่ายทำภาพยนตร์ และในบางครั้งก็มีความสำคัญเพิ่มขึ้นมา นอกจากในแง่ได้เห็นภาพในแบบที่หน้ากล้องไม่มีให้เห็นแล้ว ในกรณีที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นยังไม่ถูกค้นพบหรือสูญหายไปตามกาลเวลา อย่างน้อยก็ยังมีภาพเบื้องหลังเป็นอนุสรณ์ถึงการมีอยู่และระลึกถึงภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายคน เช่นเดียวกับกรณีเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ดวง นี้ 


ภาพ: อาทร ติวะสุรเดช ผู้อำนวยการสร้าง (ซ้าย) และเปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ดวง (ขวา)