อ่านหนังสืออิตาลี

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี 

 ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 69 ประจำเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน 2565


ภาพยนตร์อิตาลีเป็นหนึ่งในเสาหลักของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยแนวทาง ปรัชญา และมุมมองต่อการเมืองและโลกอันเป็นเอกลักษณ์ ผ่านสายตาผู้กำกับคนสำคัญมากมาย ในโอกาสที่หอภาพยนตร์จัดแสดงนิทรรศการ Dolce Vita: Italian Cinema and Culture จึงขอใช้พื้นที่นี้แนะนำหนังสือในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี 3 เล่ม ที่ว่าด้วยภาพยนตร์อิตาลีในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวิชาการเข้มข้น และที่พูดถึงเสน่ห์เย้ายวนของภาพยนตร์ และดาราจากดินแดนอันน่าหลงใหลแห่งนี้ หวังว่าหนังสือที่แนะนำในคอลัมน์นี้จะทำให้การดูหนังอิตาลี ไม่ว่าจะที่หอภาพยนตร์หรือที่อื่น มีความสนุกสนานและประเทืองปัญญามากขึ้น


The Italian Cinema Book





หากต้องการศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ของภาพยนตร์อิตาลีจากอดีตยุคหนังเงียบถึงปัจจุบัน แนะนำเล่มนี้เล่มเดียวได้ครบทุกอย่าง The Italian Cinema Book ที่มี ปีเตอร์ บอนดาเนลลา เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์โดย British Film Institute เป็นหนังสือรวบรวมบทความจากนักเขียนและนักวิชาการหลายคนที่ร่วมเจาะลึกถึงหนังอิตาลีในทุกมิติ ทั้งภาพกว้างและภาพละเอียด เขียนในสไตล์ที่จริงจัง เต็มไปด้วยข้อมูลและความเห็น แต่ไม่เป็นงานวิชาการที่เทอะทะจนเข้าไม่ถึง และถึงเราจะไม่เคยดูหนังหลายเรื่องที่บทความในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะหนังสือเล่มนี้ให้บริบทและเชื่อมโยงวงการภาพยนตร์เข้ากับแง่มุมทางสังคมและศิลปะอื่น ๆ ของประเทศอิตาลี จนสามารถอ่านได้ราวกับเป็นหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองด้วยซ้ำ



หนังสือเรียงลำดับตามยุคและวิวัฒนาการของหนัง เริ่มต้นจากบทความ Silent Italian Cinema และ The Beginnings of Film Stardom and the Print Media of Divisimo จากนั้นเขยิบมาถึงยุคก่อนสงครามโลก เมื่อการเมืองอันระส่ำระสายของยุโรปส่งผลถึงวงการหนัง ด้วยบทความอย่าง Fascism and Italian Cinema เล่าถึงภาพยนตร์ในช่วง 20 ปีที่ เบนิโต มุสโซลินี ครองอำนาจเป็นเผด็จการทหาร ก่อนจะถูกโค่นไปในปี 1943 และความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างศิลปิน คนทำหนัง กับอุดมการณ์ฝ่ายขวาและลัทธิอำนาจนิยม รวมทั้งการที่รัฐเข้ามา “สนับสนุน” การสร้างภาพยนตร์ เช่นการที่มุสโซลินีริเริ่มเทศกาลภาพยนตร์เวนิส อันเป็นเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งแรกในโลก จากนั้นหนังสือขยับต่อมาพูดถึงหนังอิตาลีช่วงหลังสงครามโลก Post-War Cinematic Culture: Realism and Beyond ที่มุ่งศึกษางานประเภทนีโอเรียลลิสม์อันโด่งดังของอิตาลี ต่อเนื่องมาถึงองค์ที่พูดถึง The Golden Age of Italian Cinema จากทศวรรษที่ 1950-1970 ผ่านบทความหลากหลายที่พูดถึง ผู้หญิงในหนังอิตาลี เด็กในหนังอิตาลี ภาพความเป็นชายในหนังอิตาลี สารคดีอิตาลี นอกจากนี้ยังมีบทความเกี่ยวกับคนทำหนังผู้หญิง มาเฟียในหนังอิตาลี และวงการหนังอิตาลีในยุคใหม่ 


ทั้งหมดนี้ให้ภาพอันครบถ้วน เห็นภาพการเดินทางของภาพยนตร์อิตาลี และช่วยให้เราเห็นว่าหนังเป็นทั้งส่วนประกอบสร้างและเป็นภาพสะท้อนช่วงเวลาที่ผันผ่านในสังคมอิตาลีอย่างไร


Pier Paolo Pasolini: My Cinema




ปีนี้เป็นปีครบรอบ 100 ปีชาติกาลของกวี นักเขียน และผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญของอิตาลี ปิแอร์ เปาโล พาโซลินี ศิลปินผู้เปี่ยมด้วยความคิดและความมุ่งมั่น และกล้าท้าทายความนิ่งงันของสุนทรียศาสตร์อิตาเลียนแบบคลาสสิก คนส่วนมากมักจำพาโซลินีได้จากหนังสุดอื้อฉาวของเขา Salo, or the 120 Days of Sodom (1973) หนังที่รุนแรงในการนำเสนอเรื่องเซ็กซ์ อำนาจ และการควบคุม แต่ในความจริงแล้ว พาโซลินีทำหนังหลายเรื่องและในหลากหลายสไตล์ ตั้งแต่ปี 1961-1975 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าจากการถูกฆาตกรรม


หนังสือ Pier Paolo Pasolini: My Cinema เป็นหนังสือที่ผู้ที่สนใจงานของพาโซลินี พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะเป็นการรวบรวมข้อเขียนของตัวพาโซลินีเองเกี่ยวกับหนังทุกเรื่องของเขา แยกเป็นเรื่อง ๆ ตั้งแต่ Accattone (1961) งานกำกับเรื่องแรก ไล่ไปจนถึงเรื่องสุดท้าย คือ Salo ในปี 1975 อีกทั้งยังมีภาพประกอบมากมายทั้งสีและขาวดำ ทั้งภาพเบื้องหลัง ภาพจากหนัง และภาพโปสเตอร์จากหนังเรื่องดังของเขา เช่น The Gospel According to St. Matthew (1964), Medea (1969) และ The Canterbury Tales (1972) 




ข้อเขียนในเล่มนี้พิเศษตรงที่เป็นสิ่งที่พาโซลินีเขียนถึงหนังของเขาเองอย่างละเอียด ทั้งเล่าเบื้องหลัง กระบวนความคิด บางครั้งใช้รูปแบบการสัมภาษณ์ตัวเอง ตอบคำถามที่คนมักสงสัยเกี่ยวกับงาน หรือใช้รูปแบบจดหมายถึงเพื่อน หรือบางบทก็เป็นงานเขียนที่ส่งเสนอนายทุน ด้วยความที่พาโซลินีเป็นที่รู้จักในฐานะกวีก่อนมาเป็นคนทำหนัง การบรรยายถึงเนื้อเรื่องหรืออารมณ์ของหนังจึงละเอียดอ่อน สวยงาม แต่จะแจ้งในความคิด ไม่อ้อมค้อมในการแสดงความเห็น (พาโซลินีได้ชื่อว่าเป็นศิลปินฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านแนวคิดอนุรักษนิยม และตั้งคำถามต่ออำนาจของการเมืองและศาสนา รวมทั้งยังมีความสนใจประเทศโลกที่สาม ทั้งแอฟริกา อินเดีย และปาเลสไตน์)


พาโซลินีอาจจะไม่ใช่ผู้กำกับอิตาลีที่เป็นที่รู้จักมากเท่า เฟเดริโก เฟลลินี หรือ วิตเตอริโอ เดอ ซิกา และจริงที่ว่าหนังของพาโซลินีหาดูยากกว่า และมักจะ “แรง” กว่าในเนื้อหาและวิธีการ แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า พาโซลินี คือผู้กำกับคนสำคัญของอิตาลีและของโลก หนังสือเล่มนี้อย่างน้อยจะช่วยให้ผู้สนใจภาพยนตร์โลกเข้าใจงานของเขาผ่านถ้อยคำของเขาเอง


Stardom Italian Style




ชื่อและหน้าปกดูน่าสนุก และเอาเข้าจริงเนื้อหาในหนังสือ Stardom Italian Style โดย มาร์เซีย แลนดี ก็น่าติดตามไม่น้อย ทั้งที่นี่คือหนังสือที่หนักแน่นด้วยเนื้อหาและทฤษฎีในเชิง Star Studies หรืองานวิชาการภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นไปที่การประกอบสร้างภาพลักษณ์ของดารา และอิทธิพลของ “สตาร์” ต่อผู้ชมและอภิปรัชญาของภาพยนตร์ ในที่นี้ แน่นอนว่าเป็นการศึกษาที่เจาะจงไปที่ดาราอิตาเลียน ตั้งแต่อดีตถึงประมาณกลางทศวรรษที่ 2000


หนังสือเล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคหนังเงียบและการที่ภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อใหม่ในขณะนั้น ใช้ประโยชน์จากการแสดงภาพหน้าตาและท่วงท่าของนักแสดง ขยายขอบเขตไปจากละครเวที สิ่งที่น่าสนใจคือ หนังสือพยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาพของนักแสดงหรือดาราหนังเงียบอิตาลีเข้ากับการแผ่อำนาจของระบอบฟาสซิสต์ในทศวรรษที่ 1920 การที่หนังมีคุณสมบัติ “สร้างภาพ” ให้บุคคลดูยิ่งใหญ่เกินชีวิตจริง สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้โดยง่าย





แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ มีส่วนที่ครอบคลุมผลงานและการแสดงของดาราดังของอิตาลีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ มาร์เชลโล มาสโตรญานนี, โมนิกา วิตตี (ซึ่งอยู่บนปกหนังสือด้วย) โซเฟีย ลอเรน และ ซิลวานา มันญาโน สิ่งที่ผู้เขียนพยายามวิเคราะห์ผ่านดาราเหล่านี้ มีตั้งแต่อุดมคติภาพลักษณ์ของความเป็นชายหรือความเป็นหญิง การแสดงภาพชนชั้น การที่ดารากลายเป็นตัวแทนของการข้ามผ่านภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ไปสู่ความเจริญทางวัตถุ รวมทั้งการสร้างภาพจำหรือการล้อเล่นกับภาพจำของ “คนอิตาลี” (เช่น มาสโตรญานนี กับภาพหนุ่มนักรักหน้าเข้ม) หรือการใช้อารมณ์ขันเพื่อขับเน้นหรือลดทอนความยั่วยวนของรูปร่างในกรณีของ โซเฟีย ลอเรน การศึกษาชีวประวัติของดาราเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กับศึกษาบทบาทการแสดงยังเป็นวิธีการสำคัญของ Star Studies ด้วยเช่นกัน ไม่ต่างกับแฟน ๆ หนังที่รู้ประวัติของดาราที่ตนชื่นชอบ และประกอบสร้างตำนานหรือเรื่องเล่าของดาราผ่านปูมหลังเหล่านั้น (เช่น การมาจากครอบครัวที่ยากจนของ โซเฟีย ลอเรน)


Stardom Italian Style อาจจะมีตัวหนังสือเยอะและรูปน้อยไปสักนิด แต่หากมีเวลา นี่เป็นงานศึกษาที่สำคัญและช่วยเติมเต็มความเข้าใจในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อิตาลีอย่างมาก