เขาชื่อ สรพงศ์ ชาตรี

โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

ที่มา: จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 69 ประจำเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน 2565


เขามีชื่อเดิมว่า พิทยา เทียมเศวต และมีชื่อสุดท้ายว่า กรีพงศ์ แต่ชื่อที่สร้างให้เขาเป็นตำนาน และเป็นชื่อที่ครั้งหนึ่ง เมื่อเอ่ยถึงแล้วแทบไม่มีใครในประเทศไม่รู้จัก คือ สรพงศ์ ชาตรี ชื่อการแสดงของบุรุษผู้ที่ยึดงานศิลปะแขนงนี้เป็นอาชีพมาตลอดทั้งชีวิต


“สมัยเราอยู่บ้านนอกดูหนังกลางแปลง พระเอกแต่ละคนเท่มากเลยนะ ใส่เสื้อแดง สะพายเป้ หวีผม ดู ทักษิณ แจ่มผล ดูใครต่อใคร นี่เท่มากเลย แต่บังเอิญว่าสรพงศ์ไม่ค่อยได้เล่นหนังสไตล์นั้น อยู่กับท่านมุ้ย ท่านมุ้ยให้เล่นเป็นคน ไม่ได้ให้เป็นพระเอก มันมากับความมืดเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาชื่อกานต์เป็นหมอ เทพธิดาโรงแรมเป็นแมงดา ความรักครั้งสุดท้ายดีดกีตาร์เป็นวัยรุ่น เทวดาเดินดินเป็นโจร เดี๋ยวเป็นพระ เดี๋ยวเป็นหมอ เดี๋ยวเป็นตำรวจ ท่านมุ้ยไม่ได้ให้สรพงศ์เป็นพระเอก ท่านมุ้ยบอก กูให้มึงเป็นนักแสดง”


จากสามเณรสู่ดาราตุ๊กตาทอง 



ภาพ: ภาพยนตร์ มันมากับความมืด


สรพงศ์ ชาตรี เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจบ ป. 4 ด้วยความที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ มารดาจึงส่งไปบวชเณร ขณะอายุได้ 11 ปี  ก่อนจะเดินทางเข้ามาศึกษาธรรมะเพิ่มเติมที่วัดดาวดึงษาราม กรุงเทพมหานคร ในอีก 2 ปีต่อมา


เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น แม้ผ้าเหลืองจะยังคงห่มเขาไว้ในโลกพระธรรมจนสอบได้นักธรรมเอก แต่บรรยากาศของเมืองหลวงกลับดึงดูดให้เขาว่อกแว่กไปกับรูปภาพดารา หนังกลางแปลง และกองถ่ายหนังที่ชอบไปมุงดู ที่สุดแล้วจึงตัดสินใจให้เณรรุ่นพี่ที่รู้จักกับคนในวงการภาพยนตร์พาไปฝากตัวเพื่อทำงานในวงการ และตัดสินใจหยุดชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ในวัย 19 ปี


ราวปี พ.ศ. 2511 ก้าวแรกบนถนนภาพยนตร์ของสามเณรสึกใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น โดยนับหนึ่งจากงานเบื้องหลังของเบื้องหลังอีกที นั่นคือการกางร่มให้กล้องถ่ายภาพยนตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ฟิล์มร้อนเกินไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นคนยกรีเฟล็กซ์ เสิร์ฟน้ำ และเข้าฉากเป็นตัวประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ เวลาที่ขาดนักแสดง 


ปี 2512 ในยุคที่ภาพยนตร์ 16 มม. กำลังเฟื่องฟู เขาได้ร่วมแสดงเป็นตัวประกอบอยู่หลายเรื่อง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อได้รู้จักกับ สุรพงศ์ โปร่งมณี แมวมองจากบริษัทละโว้ภาพยนตร์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ต่อมา สุรพงศ์ได้นัดหมายพาเขาไปแนะนำตัวกับพระโอรสของพระองค์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล  หรือ “ท่านมุ้ย”  ที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ และกำลังถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง หญิงก็มีหัวใจ


เมื่อถึงวันนัด เด็กหนุ่มจากอยุธยาผู้ยังคงกินนอนอยู่ที่วัด ลงทุนซื้อเสื้อใหม่ และผูกเนกไทเพื่อให้ตัวเองดูดีที่สุด ทว่า เมื่อแนะนำตัวเสร็จสรรพ ท่านมุ้ยกลับรับสั่งให้เขาเข้าฉากกระโดดน้ำไปช่วยเด็กหญิงวัย 3 ขวบ แสดงโดย ตุ๊กตา จินดานุช ชุดใหม่เอี่ยมนั้นจึงเปียกชุ่มไปทั้งตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็แลกมาด้วยการแสดงเพียง 1 คัตที่ได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล


จากตัวประกอบ ท่านมุ้ยเริ่มมอบบทเด่นขึ้นให้เขาในหนังโทรทัศน์เรื่องอื่น ๆ  เช่น บทผู้ร้ายใน ห้องสีชมพู บทผู้ช่วยใน หมอผี จนกระทั่งปี 2514 เมื่อทรงเตรียมกำกับภาพยนตร์ 35 มม. ขนาดยาวเรื่องแรก ชื่อ มันมากับความมืด จึงได้มอบหมายให้เขาเป็นพระรอง ประกบกับ ไชยา สุริยัน พระเอกระดับสามรางวัลตุ๊กตาทอง และนางเอกหน้าใหม่ นัยนา ชีวานันท์



ภาพ: ภาพยนตร์ มันมากับความมืด


แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ระหว่างถ่ายทำได้เกิดปัญหาจนทำให้ท่านมุ้ยตัดสินใจเลื่อนเขาขึ้นมาเป็นพระเอกแทนไชยา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย รวมไปถึงตัวผู้รับบทเอง ที่ทั้งมองว่าตนยังไม่พร้อมแสดง และรูปร่างหน้าตาไม่ตรงกับขนบของพระเอกหนังไทย แต่ท่านมุ้ยยังคงยืนยันพร้อมประกาศว่า จะทำให้เขาได้ตุ๊กตาทองมากกว่า ไชยา สุริยัน ให้ได้


นอกจากจะกลายเป็นพระเอกอย่างไม่ทันตั้งตัว นี่ยังเป็นช่วงที่เขาได้รับชื่อใหม่ว่า “สรพงศ์ ชาตรี” เพื่อใช้เป็นชื่อในการแสดง โดยเกิดจากการนำคำว่า สร จากพระนามของพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ รวมกับ พงศ์ ของ สุรพงศ์ โปร่งมณี และนามสกุล ชาตรี จากพระนามของท่านมุ้ย 


ปี 2514 เป็นปีแรกที่วงการภาพยนตร์ไทยไม่มี มิตร ชัยบัญชา พระเอกหมายเลขหนึ่งผู้เสียชีวิตในปีก่อนหน้า จึงเกิดการปั้นพระเอกหน้าใหม่ขึ้นมาพร้อมกันอย่างมากมายในปีเดียวกัน เช่น กรุง ศรีวิไล, นาท ภูวนัย, ไพโรจน์  ใจสิงห์, ยอดชาย เมฆสุวรรณ ฯลฯ แต่เมื่อ มันมากับความมืด ออกฉายและไม่ประสบความสำเร็จ ซ้ำปีถัดมาเขามีผลงานแค่เพียงเรื่องเดียว คือ ไอ้แกละเพื่อนรัก ของละโว้ภาพยนตร์ ชื่อของ สรพงศ์ ชาตรี จึงดูเหมือนว่าจะไม่อาจแจ้งเกิดได้เหมือนเพื่อนพระเอกร่วมรุ่น


อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พัดผ่านเข้าสู่วงการหนังไทย หนังฟิล์ม 16 มม. หมดลมหายใจไปพร้อมกับเนื้อหาที่ซ้ำซากจำเจ เปลี่ยนผ่านสู่ระบบฟิล์ม 35 มม. และผู้ชมที่เริ่มเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น  ปี 2516 สรพงศ์ได้รับบทนำใน เขาชื่อกานต์ ผลงานเรื่องที่สองของท่านมุ้ย แต่เป็นหนังไทยเรื่องแรก ๆ ที่กล่าวถึงปัญหาสังคม ภาพยนตร์กลับประสบความสำเร็จในหลายด้าน ทั้งสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจหนังไทย และขับให้ สรพงศ์ ในบทหมอหนุ่มผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์ได้เป็นที่รู้จักอย่างเต็มตัว  


จากความสำเร็จใน เขาชื่อกานต์  สรพงศ์ได้รับบทเด่นหลากหลายทั้งดีและร้ายในภาพยนตร์ของท่านมุ้ยอย่างต่อเนื่อง เช่น เทพธิดาโรงแรม (2517) ความรักครั้งสุดท้าย (2518) เทวดาเดินดิน (2519) ฯลฯ ในขณะเดียวกัน เขายังได้แสดงให้ผู้กำกับคนอื่น เรื่องที่โดดเด่นที่สุดคือหนังชีวิตหนัก ๆ อย่าง สัตว์มนุษย์ (2519) ของ วินิจ ภักดีวิจิตร และ ชีวิตบัดซบ (2520) ของ เพิ่มพล เชยอรุณ ซึ่งได้พิสูจน์ว่าคำประกาศของท่านมุ้ยใกล้เป็นจริง เพราะทำให้ สรพงศ์ ชาตรี จากตัวประกอบนิรนาม ได้กลายเป็นผู้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ถึงสองปีติดต่อกัน 


จากพระเอกอันดับหนึ่งถึงดาวค้างฟ้า


แม้จะเริ่มมีชื่อเสียง แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 2510 นั้น สรพงศ์ยังคงมีงานแสดงน้อยมากหากเทียบกับพระเอกคนอื่น จนกระทั่งเขาได้รับบทนำ ใน แผลเก่า ภาพยนตร์ปี 2520 ที่ เชิด ทรงศรี สร้างจากนิยายดังของ ไม้ เมืองเดิม 


หาก เขาชื่อกานต์ เป็นเรื่องแจ้งเกิด แผลเก่า ก็ถือเป็นผลงานที่ส่งให้เขาได้กลายเป็นพระเอกอันดับหนึ่งของวงการอย่างแท้จริง 



ภาพ: สรพงศ์ กับบทบาท ไอ้ขวัญ ในภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า


สรพงศ์มักกล่าวเสมอว่าบท “ไอ้ขวัญ” ใน แผลเก่า เป็นหนังที่เขาประทับใจที่สุด เพราะใกล้เคียงกับตัวตนที่แท้จริงซึ่งโตขึ้นมาท่ามกลางทุ่งนาและชีวิตเรียบง่าย ขี่ควายว่ายน้ำจนคล่องแคล่ว ทำให้เขาเป็นพระเอกหนังไทยคนแรกและคนเดียวที่ถอดเสื้อแสดงเป็นลูกชาวนาได้สมจริงจนกลายเป็นสัญลักษณ์ และเมื่อ แผลเก่า ประสบความสำเร็จเป็นประวัติการณ์ จากพระเอกขวัญใจนักศึกษา สรพงศ์ ชาตรี ก็ได้กลายพระเอกขวัญใจชาวบ้านทั่วประเทศ 


จากปีละหลักหน่วย หลักสิบ เมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษ 2520 ผลงานการแสดงของ สรพงศ์ ก็เพิ่มขึ้นเป็นปีละหลายสิบเรื่อง ในช่วงที่เฟื่องฟูที่สุด เขาต้องทำงานวันละ 20 ชั่วโมง ที่เหลือคือเวลาเดินทางจากจังหวัดสู่จังหวัด จากกองถ่ายหนึ่งสู่อีกกองถ่าย ตลอดทั้งทศวรรษนั้น สรพงศ์ ชาตรี ได้ร่วมงานกับผู้กำกับคนสำคัญมากมาย และประกบคู่กับนางเอกแทบทุกคน ราวกับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่วงการไม่อาจขาดได้ และกลายเป็นใบหน้าแห่งหนังไทยในการรับรู้ของผู้ชม


แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากพระเอกยอดนิยมยุคก่อนหน้า คือสรพงศ์รู้ตัวอยู่เสมอว่าผู้คนรักเขาที่ฝีมือไม่ใช่รูปร่างหน้าตาเพียงอย่างเดียว เหนือไปกว่าคำว่าพระเอก เขาจึงเป็นนักแสดงที่สามารถสวมบทบาทเป็นมนุษย์ได้ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ มากมายนับไม่ถ้วนได้อย่างแนบสนิท ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเรียนการแสดงมาก่อน หากแต่ใช้วิธีครูพักลักจำจากการทำงาน ศึกษาและสังเกตจากผู้คนรอบตัว และทำให้ตัวเองเชื่อในบทที่ได้รับ ทำตัวให้เป็นอย่างที่ตัวละครเป็น เพื่อแสดงออกไปให้คนดูเชื่อตาม นอกจากนี้ยังเรียนรู้จากนักแสดงต่างประเทศหลายคนที่เขาเคยกล่าวว่ายึดเป็นแบบฉบับ เช่น มาร์ลอน แบรนโด, อัล ปาชิโน, แจ็ก นิโคลสัน, โตชิโร มิฟูเน 


ปี 2526 อันเป็นปีที่เขามีภาพยนตร์ออกฉายมากที่สุดเกินกว่า 50 เรื่อง เรื่องหนึ่งซึ่งกลายเป็นตำนาน คือ มือปืน ผลงานการกำกับของท่านมุ้ย ที่ตัวเขาร่วมลงทุนสร้างด้วยในนาม ซี. เอส. พี. โปรดักชั่น บทจ่าสมหมาย มือปืนขาพิการที่เขาแสดงได้ลึกและมีพลัง สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมและนักวิจารณ์ ทั้งยังทำให้เขาได้รับรางวัลตุ๊กตาทองตัวที่ 3 รวมไปถึงรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยม



ภาพ: โปสเตอร์ มือปืน ฉบับภาษาไทยและฉบับจัดฉายที่ต่างประเทศ


แต่ความเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นไปตามวัฏจักร เมื่อล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2530 แม้เขาจะยังมีผลงานสำคัญ ๆ ภายใต้การกำกับของท่านมุ้ย อย่าง คนเลี้ยงช้าง (2533) และภาพยนตร์ที่ทำให้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองเพิ่มขึ้นอีก 2 ตัว คือ มือปืน 2 สาละวิน (2536) และ เสียดาย 2 (2539) แต่ด้วยกระแสความนิยมที่ไปตกอยู่ที่หนังวัยรุ่นหรือหนังตลกเป็นหลัก ผลงานส่วนมากของเขาในทศวรรษนี้จึงเป็นภาพยนตร์บู๊ที่ออกฉายตามต่างจังหวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่เขาหวนกลับไปสู่วงการโทรทัศน์ รวมทั้งเป็นนักร้องออกอัลบั้ม เช่นเดียวกับดาราดังอีกหลายคน 


หากยึดว่าเขาเป็นพระเอก เส้นทางหลังจากนี้อาจนับได้ว่าเป็นขาลง แต่ถ้ามองในฐานะนักแสดง ฝีมือของสรพงศ์ไม่เคยหมดอายุ แม้จำนวนผลงานจะลดน้อย แต่พลังทางการแสดงของเขาไม่เคยลดลง ทั้งเข้าชิงและได้รับรางวัลอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงได้รับเกียรติยศสำคัญคือ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2551 ในขณะเดียวกัน เขายังขยายขอบเขตไปในพื้นที่ใหม่ ๆ ทั้งการแสดงหนังสั้นให้นักศึกษาและผู้กำกับอิสระ หรือพากย์เสียงหนังต่างประเทศ เช่นตัวละครวู้ดดี้ ในชุด Toy Story ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ 



ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง คนเลี้ยงช้าง


การจากไปของ สรพงศ์ ชาตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 จึงเสมือนเป็นการล้มลงของเสาหลักต้นสำคัญแห่งวงการภาพยนตร์ไทย แต่จากผลงานจำนวนมากกว่า 550 เรื่องที่เขาฝากไว้ รวมถึงความตั้งใจ ความสามารถ และการประพฤติตัวอันเป็นแบบอย่างให้แก่คนทุกรุ่น ทำให้เขากลายเป็นดาวค้างฟ้าที่ยังคงเปล่งแสงเสมอ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์ 


“ถ้าผมทำหนังดี ผมแสดงดี ผมตายไปแล้ว ไอ้ความดีนี้มันเชิดชูผม แต่ถ้าผมทำหนังไม่ดี หนังเลว ตายไปแล้วมันก็ประจานความเลวของเรา”   


สรพงศ์กับหอภาพยนตร์ 


สรพงศ์ ชาตรี เคยมาร่วมกิจกรรมกับหอภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งมาประทับรอยมือรอยเท้าที่ลานดารา ร่วมกับ ดวงเดือน จิไธสงค์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 และมาร่วมกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ฉบับบูรณะใหม่ ที่โรงภาพยนตร์สกาลา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 


แต่เหตุการณ์สำคัญคือการที่เขามาร่วมเป็นวิทยากรเสวนาเรื่อง “หอภาพยนตร์ไทยและสังคมไทย” ในรายการศูนย์สังคีตศิลป์สัญจร เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2547 ที่โรงละครแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อหารายได้ ร่วมทอดผ้าป่าหาทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ โดยตอนหนึ่ง เขาได้กล่าวแก่ผู้ชมบนเวทีว่า 


“หลายท่านพอบอกว่า ทำบุญสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างโรงเรียนได้บุญ คงจะแปลกว่าทอดผ้าป่าสร้างพิพิธภัณฑ์แล้วจะได้อะไร จะได้บุญไหม เป็นคำตอบที่พระอาจจะไม่เคยเทศน์นะครับ แต่ผมคิดว่า... เราให้พิพิธภัณฑ์หนังไทย คือให้ความรู้ให้การศึกษา ให้สมอง ให้สติ ให้ปัญญา ผมถือว่าได้บุญนะครับ เป็นการให้ปัญญาที่ยิ่งใหญ่ให้กับลูกหลานไทยที่จะได้ร่วมรับรู้ว่าอดีตของหนังไทยคืออะไร ประเทศชาติของไทยเราเป็นอย่างไร” 


ในวันดังกล่าว สรพงศ์ร่วมบริจาคเข้ากองทุนผ้าป่า 100,000 บาท จากยอดเงินที่ได้ทั้งหมด 241,965 บาท นับเป็นกำลังทรัพย์และกำลังใจสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย และความเป็นพระเอกผู้ใจบุญโดยเนื้อแท้ของ สรพงศ์ ชาตรี



ภาพ: สรพงศ์ ชาตรี มาร่วมกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ฉบับบูรณะใหม่ ที่โรงภาพยนตร์สกาลา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 


ติดตามโปรแกรมฉายผลงาน สรพงศ์ ชาตรี ในระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2565 ที่หอภาพยนตร์ ได้ที่ <<คลิก>>

*หมายเหตุ: คำพูดใน “...” เป็นบทสัมภาษณ์ของ สรพงศ์ ชาตรี ในกิจกรรมลานดาราที่หอภาพยนตร์