ความฝัน ความทะเยอทะยาน และการเปลี่ยนผ่านของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ


ภายหลังต้องเลื่อนกิจกรรมออกไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในท้ายที่สุด เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้มีโอกาสจัดกิจกรรม “ชั้นครู 16: วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” กิจกรรมที่ชวน วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง หนึ่งในผู้กำกับที่มีบทบาทสำคัญและอิทธิพลต่อคนดูและคนทำหนังในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา มาถ่ายทอดประสบการณ์ และเรื่องราวบางอย่างที่ไม่เคยถูกเปิดเผยในตลอดเส้นทางการทำงานที่เต็มไปด้วยขวากหนามของเขา โดยก่อนเริ่มกิจกรรมมีการฉาย ฟ้าทะลายโจร ผลงานการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ในรูปแบบฟิล์ม 35 มิลลิเมตร และนี่คือบทสนทนาส่วนหนึ่งของกิจกรรมในวันนั้น



ภาพจากอัลบั้มภาพของ อดิเรก วัฏลีลา (ผู้อำนวยการสร้าง ฟ้าทะลายโจร) ที่มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์


คารวะและพลิกแพลงขนบของหนังไทยยุคเก่าใน ฟ้าทะลายโจร


“จุดเริ่มต้นต้องขอขอบคุณหอภาพยนตร์และมูลนิธิหนังไทย เพราะ 20 ปีก่อน มีการจัดงาน ‘ทึ่ง! หนังไทย’ ซึ่งฉายหนังไทยเก่า ๆ ที่เฉลิมกรุง เช่น หนังของคุณรัตน์ เปสตันยี และผมมีโอกาสได้ไปดูเกือบทุกเรื่อง ด้วยความเป็นแฟนหนังไทยอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าหนังจะสวยงามขนาดนี้ รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก อาจเพราะได้ก๊อบปี้ค่อนข้างดีกลับมาจากเมืองนอก มันสวยจนเราคิดไม่ถึงว่า หนังไทยมันมีคุณค่าทางศิลปะในแง่งานภาพขนาดนี้ แล้วเนื้อเรื่องมันก็สนุก ยุคนั้นหนังไทยมันเริ่มพัฒนาไปสู่สิ่งที่เป็นสากลหรือฮอลลีวูดขึ้น เราก็โหยหาสิ่งที่มันเก่า ซึ่งไม่รู้ว่าคนอื่นจะโหยหาแบบเราหรือเปล่า มันเป็นความรู้สึกส่วนตัว และเริ่มคิดว่าสิ่งนี้มันขาดหายไป” วิศิษฏ์กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้าง ฟ้าทะลายโจร โดยอ้างอิงจากหนังไทยยุคเก่า  


“ก่อนทำ ฟ้าทะลายโจร ตอนที่ยังทำโฆษณาอยู่ มีโครงการจะทำโฆษณาเนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักมวยโบราณให้กางเกงยีนส์ยี่ห้อหนึ่ง จึงได้มีโอกาสมาขอความช่วยเหลือจากคุณโดม สุขวงศ์ เพื่อขอดูหนังเกี่ยวกับการแข่งขันชกมวยของ โผน กิ่งเพชร ซึ่งโฆษณาชิ้นนั้นเป็นตัวทดลองแรกของ ฟ้าทะลายโจร ได้ เก่ง-ชาติชาย งามสรรพ์ มาเล่นเป็นนักมวย เรารู้สึกว่าหน้าเขาโบราณดี และวางเขาไว้ให้มาเล่นเป็นพระเอกต่อใน ฟ้าทะลายโจร ซึ่งคุณูปการทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ เกิดจากการที่หอภาพยนตร์มีการเก็บหนังเก่า จนสร้างแรงบันดาลใจให้เรา และคิดว่า ฟ้าทะลายโจร น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับบางคนบ้างเช่นกัน” 



ภาพจากอัลบั้มภาพของ อดิเรก วัฏลีลา (ผู้อำนวยการสร้าง ฟ้าทะลายโจร) ที่มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์


ภาพยนตร์โฆษณา สนามฝึกปรือฝีมือชั้นเยี่ยมของคนทำหนังไทย


ก่อนจะมาเป็นนักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัว วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เติบโตมาจากการเป็นคนทำโฆษณาเช่นเดียวกับนนทรีย์ นิมิบุตร และ เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมรุ่นที่สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญแก่วงการหนังไทย ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงทศวรรษปี พ.ศ. 2540  โดยวิศิษฏ์ กล่าวถึง การกำกับโฆษณา ซึ่งถือเป็นแหล่งฝึกปรือฝีมือสำคัญของตนเองว่า 


“งานโฆษณา ถือเป็นสนามฝึกซ้อมที่ดี ลำดับแรกคือมันเร็ว สั้น และทดลองได้หลาย ๆ แบบ ที่สำคัญคือหนังโฆษณามันมีเงินเยอะ จึงทำให้ได้ทดลองและฝึกมือ ก่อนที่จะได้ลงสนามไปทำภาพยนตร์ แต่จริง ๆ โฆษณา อาจไม่ได้มีผลต่อการทำหนังใหญ่เท่าไร เพราะบางทีมันอาจเป็นอะไรบางอย่างที่เอาไว้ขายสินค้า ฉะนั้นมันอาจเป็นอะไรที่ไม่ใช่ภาษาหนังจริง ๆ เช่น ความต่อเนื่องจะไม่ค่อยมี เพราะมันสั้น แต่ความเป็นภาพยนตร์สำหรับคนทำหนังโฆษณา มันแล้วแต่มุมมองของผู้กำกับแต่ละคน อย่างพี่ต้อม-เป็นเอก เขาจะทำหนังแบบสมจริง แต่ของผมจะไม่ค่อยสมจริง การตัดต่อจะดูประดักประเดิดมาก นึกจะใส่อะไรก็ใส่ ไม่ค่อยมีศาสตร์ทางภาพยนตร์มาก บางครั้งก็เหมือนเราทดลองไปด้วย ผลลัพธ์ก็ไม่ได้ดีมาก เพราะตอนนั้นเรายังใหม่อยู่ ตอนดูก็ติดใจอยากจะแก้ แม้โฆษณาอาจไม่ได้ช่วยในแง่การทำภาพยนตร์สักเท่าไร แต่สำหรับคนที่อยากทำหนังใหญ่ โฆษณาถือเป็นสนามทดลองและโรงเรียนฝึกซ้อมที่ดี”


 

ภาพจากอัลบั้มภาพของ อดิเรก วัฏลีลา (ผู้อำนวยการสร้าง ฟ้าทะลายโจร) ที่มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์


สมบัติ เมทะนี และ รัตน์ เปสตันยี แหล่งอ้างอิงสำคัญของ ฟ้าทะลายโจร


วิศิษฏ์ต้องเตรียมแหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับหนังไทยเก่า ๆ เพื่อให้ทีมนักแสดงหน้าใหม่ ณ ขณะนั้นอย่าง ชาติชาย งามสรรพ์, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, สเตลล่า มาลูกี้ และพศิน เรืองวุฒิ ถ่ายทอดตัวละครออกมาให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด รวมทั้งยังได้ สมบัติ เมทะนี ตำนานนักแสดงหนังไทย ผู้เป็นทั้งสัญลักษณ์และแหล่งอ้างอิงคนสำคัญมาร่วมแสดงใน ฟ้าทะลายโจร อีกด้วย โดยวิศิษฏ์อธิบายว่า “สำหรับนักแสดงรุ่นใหม่อย่างพระเอกและนางเอก ต้องมีอะไรอ้างอิงให้เขาดู เพราะเขาเกิดไม่ทัน แต่นักแสดงรุ่นใหญ่อย่างอาแอ๊ด-สมบัติ ไม่ต้องเอาอะไรให้แกดูแล้ว เพราะแกคือบุคคลอ้างอิงของจริง ที่เลือกแกมาแสดง เพราะแกคือสัญลักษณ์ของหนังไทยยุคหนึ่ง พูดง่าย ๆ คือเชิญแกมาแสดง เพื่อให้เป็นสมบัติ เมทะนี คนดูอยากไปดู เพราะเขาคือสมบัติ แต่ของนักแสดงรุ่นใหม่ จะให้ดูหนังในยุค ‘ทึ่ง! หนังไทย’ เช่น แพรดำ และ โรงแรมนรก ของคุณรัตน์ เปสตันยี เรื่องนี้ตอนเครดิตจบเลยขึ้นคารวะถึงคุณรัตน์ เพราะได้อะไรจากท่านมาเยอะมาก”


 


วิศิษฏ์ กล่าวต่อถึง สเตลล่า มาลูกี้ นางเอกของเรื่องที่เขาตั้งใจคัดเลือกนักแสดงให้มีหน้าตาละม้ายคล้ายกับ พรรณี เปสตันยี นางเอกเรื่อง แพรดำ ผู้เป็นบุตรสาวของ รัตน์ เปสตันยี ว่า “ผมประทับใจคุณพรรณีจาก แพรดำ เธอดูสวยคลาสสิกมาก ส่วนสเตลล่า นี่ภรรยาผมไปเห็นเธอจากมิวสิกวิดีโอชิ้นหนึ่ง แล้วบอกว่าคนนี้หน้าเหมือนคุณพรรณีมาก ซึ่งเธอไม่ใช่คนไทยแท้ ๆ ด้วย เป็นลูกครึ่งอิตาลีและโคลอมเบีย จริง ๆ หนังไทยเมื่อก่อน ก็จะนิยมนางเอกที่หน้าไม่ไทยมาก เช่น คุณอมรา อัศวนนท์”


 

ภาพจากอัลบั้มภาพของ อดิเรก วัฏลีลา (ผู้อำนวยการสร้าง ฟ้าทะลายโจร) ที่มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์


“วิธีกำกับการแสดงใน ฟ้าทะลายโจร ก็จะให้นักแสดงไม่ต้องมีอินเนอร์มาก ให้ลอกการแสดงแบบสมัยก่อนไปเลย เพราะเราเชื่อว่า หนังไทยสมัยนั้น เขาใช้เทคนิคภาพยนตร์ทุกอย่างมาช่วยการแสดง เช่น เวลาซึ้ง จะมีไฟมาส่องตาจนเป็นประกาย หรือตั้งใจใช้ดนตรีเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ เป็นการใช้ศาสตร์ทางภาพยนตร์มากกว่าเน้นการแสดง พอมาดูยุคสมัยนี้ จะรู้สึกว่าเล่นแข็ง แต่ในสมัยหนึ่งเราก็ดูมันได้ด้วยความบันเทิงภายใต้การแสดงแบบนี้ แต่พอวันหนึ่งโลกมันเปลี่ยนไป การแสดงแบบนี้อาจพ้นสมัย แต่เราต้องการรื้อฟื้นความรู้สึกในวัยเด็กของเราที่รู้สึกประทับใจหนังประเภทนี้ เลยอยากทำให้มันเหมือนทุกประการ”


 

ภาพจากอัลบั้มภาพของ อดิเรก วัฏลีลา (ผู้อำนวยการสร้าง ฟ้าทะลายโจร) ที่มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์


เบื้องหลังสีที่ฉูดฉาดและจัดจ้าน


หนึ่งในเอกลักษณ์โดดเด่นจนเป็นที่จดจำของผู้ชมใน ฟ้าทะลายโจร คือ สีสันแสนฉูดฉาด ทั้งจากฉากที่ใช้ประกอบในเรื่องหรือเสื้อผ้าของตัวละคร โดยวิศิษฏ์กล่าวถึงเบื้องหลังการทำงานอย่างหนักร่วมกับ ออกไซด์ แปง นักแก้สีและนักลำดับภาพยนตร์ที่ภายหลังผันตัวมาเป็นผู้กำกับว่า 


“กว่าจะออกมาเป็นที่พอใจ นี่ไม่ง่ายเลย เรามีแหล่งอ้างอิงให้ออกไซด์ดู แต่เราตั้งใจทำให้มันโอเวอร์ไปอีกขั้นหนึ่ง จริง ๆ สีของหนังไทยเก่า ๆ มันจะไม่ขนาดนี้ สีที่ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงส่วนใหญ่ทั้งหมดจะมาจากหนังของคุณรัตน์ เช่น ชั่วฟ้าดินสลาย สมัยนู้นผมเชื่อว่า เขาคงไม่ได้ตั้งใจให้สีออกมาเป็นแบบนี้ น่าจะเกิดจากความเพี้ยนสีของฟิล์มหรือสิ่งพิมพ์ในยุคนั้น เป็นความเพี้ยนที่เรารู้สึกว่าสวยดี เป็นสไตล์ที่เราจงใจให้เป็นแบบนั้น 


“การทำงานแก้สีตอนนั้นเป็นวิธีการที่ยังไม่มีใครทำ คือถ่ายฟิล์มเสร็จ แล้ว นำไปแปลงเป็นดิจิทัลเพื่อแก้สี พอแก้สีเสร็จก็เอามาทำเป็นฟิล์มอีกครั้งเพื่อฉาย เพราะในแล็บฟิล์ม มันแก้สีด้วยวิธีการแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งผมกับออกไซด์ทำด้วยกันอยู่ประมาณ 7 วัน 7 คืน ผลลัพธ์โดยรวมคิดว่า สีสวยสำหรับผม แต่ด้วยปัจจุบันที่เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปเยอะ มาดูตอนนี้อาจไม่คมชัดเท่าไร เพราะเมื่อก่อนดิจิทัลมันยังไม่ถึง 2K ด้วยซ้ำ จริง ๆ อยากเอากลับมาทำใหม่เป็น 2K เหมือนกัน แต่ติดเรื่องค่าใช้จ่ายและวิธีการที่ต้องนำฟิล์มเนกาทีฟมาประกอบร่างใหม่ทั้งหมด”   

 

ภาพจากอัลบั้มภาพของ อดิเรก วัฏลีลา (ผู้อำนวยการสร้าง ฟ้าทะลายโจร) ที่มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์


ความทะเยอทะยานที่สวนทางกับรายได้ 


ในช่วงเวลาที่ ฟ้าทะลายโจร ออกฉายอย่างเป็นทางการในบ้านเรา ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับวงการหนังไทย เมื่อผู้กำกับหน้าใหม่ต่างผลิตผลงานที่มีเนื้อหาหลากหลาย รวมทั้งทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอุตสาหกรรมนี้ ทั้ง นางนาก ของ นนทรีย์ นิมิบุตร หรือแม้กระทั่ง สตรีเหล็ก ของ ยงยุทธ ทองกองทุน แต่ปรากฏการณ์นี้กลับไม่เกิดขึ้นกับ ฟ้าทะลายโจร ที่ถึงแม้ว่าวิศิษฏ์ จะสรรค์สร้างผลงานเรื่องนี้ ด้วยความทะเยอทะยานอย่างเต็มที่ แต่ผลตอบรับจากผู้ชมกลับไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง วิศิษฏ์ กล่าวถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเองในช่วงเวลานั้นว่า “แม้จะชอบอำตัวเองเรื่องหนังเจ๊งแบบตลก ๆ แต่จริง ๆ ตอนนั้นเศร้ามาก หนังทำรายได้ ถ้านับเฉพาะกรุงเทพฯ ไปทั้งหมด 9 ล้านบาท แบ่งกับโรงก็เหลือ 4 ล้านกว่า ๆ  พูดง่าย ๆ คือนายทุนเจ๊ง ถ้าเทียบกับ นางนาก คือได้น้อยกว่าเขา 10 เท่า คือไม่มีใครเก็ตมันเลย ถือว่าช้ำพอสมควร หนังไม่ได้ตังค์นี่ไม่เกี่ยวกับเรา เพราะเจ้าของหนังเขาขาดทุน แต่คนดูน้อย นี่ทำให้เรารู้สึกเสียใจ เพราะคนทำหนัง ก็อยากให้มีคนดูเยอะ ๆ ทั้งนั้น พอมาเจอนักวิจารณ์กระทืบซ้ำอีกก็เจ็บตัวกันไป บางคนบอกมันเป็นหนังที่ทะเยอทะยานเกินไป แต่การที่เราทะเยอทะยาน นี่เราผิดด้วยเหรอ บางทีเห็นเรียกหาสิ่งใหม่ ๆ กัน จริง ๆ” 


“อยากบอกนักวิจารณ์ว่า กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ คือเรายังทำไม่สำเร็จหรอก เพราะการพยายามทำสิ่งใหม่ ๆ มันไม่ได้สำเร็จในชั่วข้ามคืน เราไม่ได้ต้องการคำชม เราต้องการแค่กำลังใจ เออ พอได้นะ ไปต่ออีกหน่อย หรือพยายามอีกนิดก็ยังดี คือหนังมันก็เจ๊งอยู่แล้ว ไม่ต้องมากระทืบซ้ำก็ได้ (หัวเราะ)”

 

ภาพจากอัลบั้มภาพของ อดิเรก วัฏลีลา (ผู้อำนวยการสร้าง ฟ้าทะลายโจร) ที่มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์


กระแสตอบรับในต่างประเทศและตำนานที่ไม่อยากจำ 


แม้วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง จะตั้งใจทำ ฟ้าทะลายโจร เพื่อบูชาหนังไทยเก่า ๆ ที่เคยประทับใจตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ภายหลังจากที่หนังได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายการประกวด Un Certain Regard หรือสายการประกวดรองของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ประจำปี ค.ศ. 2001 ซึ่งถือเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่เดินทางไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญลำดับต้น ๆ ของโลก สื่อและนักวิจารณ์จากต่างประเทศต่างกล่าวถึงตัวหนังว่า ได้รับอิทธิพลจากหนังฮอลลีวูดเก่า ๆ ทั้งของดักลาส เซิร์ก (Douglas Sirk) และ เดวิด เซลซ์นิก (David Selznick) หรือแม้กระทั่งหนังคาวบอยสปาเกตตีเวสเทิร์นของ เซอร์จิโอ ลีโอเน (Sergio Leone) โดยวิศิษฏ์ กล่าวถึงข้อสังเกตของสื่อต่างชาติในประเด็นนี้ว่า 


“จริง ๆ ผมก็รู้จักหนังพวกนี้ แต่ไม่ได้ตั้งใจจะไปทางนั้น เพราะตั้งใจคารวะหนังไทย แต่อย่าลืมว่าหนังไทยยุคนั้น ก็ได้รับอิทธิพลจากหนังฝรั่งเหล่านั้นมาอยู่แล้ว อย่างหนังไทยยุคหนึ่ง จะทำแต่หนังคาวบอย แล้วเราก็ได้รับอิทธิพลจากผู้กำกับหนังไทยยุคนั้นมาอีกที เพราะฉะนั้นอิทธิพล มันก็วนเวียนแบบนี้ พอไปเมืองนอก เขาก็เก็ตทันทีว่า มันเป็นหนังฮอลลีวูดยุคเก่า สีในหนังแบบนี้ เมโลดรามาแบบนี้ มันดักลาส เซิร์กหรือเปล่า หนังฮอลลีวูดยุคปี ค.ศ. 1950-1960 มันแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก การแต่งกายหรือวิธีการถ่ายทำมันเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตาม”

 

ภาพจากอัลบั้มภาพของ อดิเรก วัฏลีลา (ผู้อำนวยการสร้าง ฟ้าทะลายโจร) ที่มอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์


ภายหลังเดินสายฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก ทั้งเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์และคานส์ ได้มีผู้จัดจำหน่ายรายยักษ์ของอเมริกาอย่าง Miramax ให้ความสนใจและติดต่อขอซื้อ ฟ้าทะลายโจร ไปฉายที่อเมริกา แต่บริษัทดังกล่าวได้สร้างตำนานบทหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นที่น่าจดจำสำหรับวิศิษฏ์เท่าที่ควร “ด้วยความตอนฉายที่คานส์ หนังเรื่องนี้มันถูกพูดถึงตามสื่อเยอะว่าเป็นหนังที่แปลก รวมถึงเอเยนต์ของเราอย่าง Fortissimo Films อาจจะไปปั่น Miramax ด้วยว่า ถ้าคุณไม่ซื้อ เดี๋ยวมีคนซื้อตัดหน้านะ เพราะหนังเรื่องนี้กำลังฮอตเลย หลังจากนั้น Miramax ก็ประกาศที่คานส์เลยว่าจะซื้อไปฉายที่อเมริกา ซึ่งผมไม่รู้ว่าเขาไปโน้มน้าวใจเทศกาลหนังซันแดนซ์ด้วยหรือเปล่า แต่ฉบับที่ฉายที่ซันแดนซ์เป็นฉบับที่ถูกตัด คือ Miramax ซื้อหนังไปโดยที่ไม่ได้ดูหนัง 


“ต่อมาหลังจากนั้นมีกรณีวินาศกรรม 9/11 เขาอ้างว่าที่ตัดไป เพราะตอนจบหนังมันเศร้า หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 คงไม่มีใครอยากดูหนังเศร้าหรอก ผมก็คิดว่า มันเกี่ยวอะไรกัน (หัวเราะ) หลังจากนั้นเขาก็ส่งมือตัดต่อมาที่ไทย เพื่อมาตัดเรื่องนี้ ผมก็นั่งตัดกับเขา พยายามโน้มน้าวใจไม่ให้ตัด แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายฉบับที่ซันแดนซ์ เป็นฉบับที่ตัดต่อใหม่ ตอนนั้นผมก็ไปเทศกาลด้วย ดูไปก็รู้สึกอายไป ยังดีที่ค่ายไม่ตัดสินใจฉายวงกว้าง ปล่อยทิ้งไว้ 7 ปี กระทั่ง Miramax เปลี่ยนบริษัทใหม่ หลังจากนั้นมีบริษัท Magnolia มาซื้อสิทธิ์ไปฉายที่อเมริกา โดยตัดสินใจฉายฉบับดั้งเดิม ผมก็ โอ้ ขอบคุณพระเจ้าทันที”

 

©FIVE STAR PRODUCTION CO., LTD. All rights reserved


หมานคร การลงทุนครั้งใหม่ที่ทะเยอทะยานกว่าเดิม


แม้จะไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้จากผลงานเปิดตัว แต่ 4 ปี ต่อมา วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ยังคงได้รับความไว้วางใจจากบริษัท ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์รายยักษ์ของประเทศ ซึ่งให้โอกาสเขาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ “เป็นนิสัยของคนทำหนัง พอไม่ประสบความสำเร็จ ก็อยากแก้ตัว หรือกรณีคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ก็อยากต่อยอดความสำเร็จนั้น ต้องยอมรับว่า ไฟว์สตาร์ฯ เป็นบริษัทที่น่านับถือมาก และถือเป็นเสาหลักของหนังไทยในยุคนั้น คนอื่นเขาเลิกทำแล้ว แต่ที่นี่ยังทำอยู่ และยังรับผู้กำกับใหม่ ๆ เช่น ผมหรือพี่ต้อม-เป็นเอก เรื่องแรกเราทำเจ๊ง พอเรื่องที่สอง เขาก็ยังโทรตามอีกว่า เมื่อไรจะกลับมาทำหนังอีก เราเลยทำก็ได้ 


“พอดีภรรยา (ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ หรือนามปากกา คอยนุช – ผู้เรียบเรียง) เขียนหนังสือชื่อ ‘หมานคร’ เราอ่านปุ๊บ ก็อยากเห็นภาพเป็นหนัง ซึ่งไม่ควรจะเห็นเลย เพราะมันเป็นหนังที่เชื่อว่าคนก็รับไม่ได้เหมือนเดิม คือมันประหลาดเกินไปตั้งแต่หนังสือแล้ว แต่เรายังดันทุรังจะทำ คุณเชน-เจริญ เอี่ยมพึ่งพร เจ้าของไฟว์สตาร์ฯ ก็ไม่เข้าใจ ซึ่งท่านก็ไม่อ่านบทอยู่แล้ว เป็นหน้าที่เลขาฯ ของท่านเป็นผู้อ่าน เลขาฯ ก็บอก สนุกดีค่ะ คุณวิศิษฏ์ จะทำเป็นหนังการ์ตูนใช่ไหมคะ (หัวเราะ) แต่คุณเชนก็ให้ทำ รู้สึกประหลาดมาก”


©FIVE STAR PRODUCTION CO., LTD. All rights reserved


การเนรมิตโลกแฟนตาซีใน หมานคร


วิศิษฏ์ เล่าถึงวิธีการกำกับการแสดง รวมทั้งงานสร้างโลกเหนือจริงของ หมานคร ซึ่งต่อมาโดดเด่นจนเป็นสิ่งที่ผู้ชมจดจำได้เป็นอย่างแรกว่า “ตอนนั้นเราได้รับอิทธิพลมาจากหนังหลายเรื่องของยุโรป อย่างหนังฝรั่งเศสเรื่อง Amélie หนังหลายเรื่องของฌาคส์ ตาติ (Jacques Tati) แม้กระทั่งหนังฟินแลนด์ของอากิ เคาริสมากิ (Aki Kaurismaki) ที่เราเอาการแสดงแบบหน้านิ่ง ๆ หน้าตาย ๆ มาใช้  คือเรื่องนี้มันเป็นหนังที่ใช้เสียงบรรยายค่อนข้างเยอะ ได้พี่ต้อม-เป็นเอก มาช่วยให้เสียงบรรยาย การแสดงจึงไม่ต้องเยอะ เน้นนิ่ง ๆ นิ่งมากกว่าเรื่องที่แล้วอีก ชนิดบอกนักแสดงเลยว่า มองกล้องยืนไป 5 วินาที 10 วินาที โอเค คัต แบบนี้เลย อย่าเล่นเยอะ เล่นน้อย ๆ ไว้ก่อน เพราะเดี๋ยวจะมีบทบรรยายมาช่วยเล่าเรื่อง 


“สำหรับผมแล้ว ภาพยนตร์ มันคือเรื่องของภาพนี่แหละที่สำคัญที่สุด คำพูดจริง ๆ ไม่ต้องพูดก็ได้ เรายังดูหนังเงียบให้สนุกได้เลย คือตอนนั้นคิดไม่เหมือนชาวบ้าน ไม่แปลกใจที่หนังมันจะเจ๊ง (หัวเราะ) และอิทธิพลอีกอย่างที่ได้มาจากหนังไทยเก่า ๆ คือพวกศิลปะภาพวาดและสื่อสิ่งพิมพ์ที่มันจะดูเรโทร ๆ หน่อย รวมถึงสีสด ๆ แบบที่คนสมัยก่อนชอบใช้อย่างสีเทอร์ควอยซ์ หรือหลาย ๆ ฉาก อย่างฉากเปิดเรื่องที่เป็นทุ่งนา ได้มาจากภาพวาดที่ชอบเขียนอยู่ตรงข้างรถบรรทุก ก็เป็นการผสมผสานสิ่งที่เราชอบเข้าด้วยกัน”

 

©FIVE STAR PRODUCTION CO., LTD. All rights reserved


“ในเรื่องของการถ่ายเรื่องนี้ จะทดลองกว่า ฟ้าทะลายโจร ไปอีก ตอนนั้นกล้อง HD เพิ่งเข้ามา ซึ่งยังไม่ดีเท่าไร ยังเป็นแค่ 2K ด้วยซ้ำ ถ้าดูจอใหญ่จะเห็นว่ามันยังไม่คมมาก จะดูซอฟต์ แต่ดูจากแผ่นดีวีดีจะสวย คือตอนนั้นขี้เกียจถ่ายฟิล์ม แล้วแปลงไปเป็นดิจิทัลเพื่อแก้สีแล้ว จึงตัดสินใจถ่ายและทำโพสต์แบบดิจิทัลตั้งแต่แรกไปเลย แล้วค่อยแปลงไปเป็นฟิล์มตอนจะฉาย 


“คนแก้สีก็ยังไม่ใช่คนไทยเช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร เป็นคนอินเดียมาช่วยทำ สีในหนังเลยจะดูอินเดีย ๆ เล็กน้อย แถมทดลองเรื่องการใช้เลนส์กล้องไปอีก คือตัดสินใจถ่ายเลนส์ตัวเดียวทั้งเรื่อง คือเป็นเลนส์ที่กว้างเกือบสุด แต่ยังไม่ใช่ Fisheye Lens กว้างประมาณ 9.8 มิลลิเมตร ไม่ว่าภาพแคบหรือกว้าง ก็ถ่ายด้วยเลนส์ตัวเดียว ซึ่งความยากคือกล้องดิจิทัล มันไม่ได้รองรับเลนส์ของฟิล์ม ต้องใช้ตัวแปลงมารองรับอีกที แล้วเลนส์ตัวนี้มันจะยาว ๆ เวลาถ่ายฉากในรถแท็กซี่ กล้องแทบจะอยู่จ่อหน้านักแสดง เป็นอะไรที่หาเรื่องทุลักทุเลจริง ๆ (หัวเราะ)”


©FIVE STAR PRODUCTION CO., LTD. All rights reserved


“การทำเทคนิคพิเศษในเรื่อง อย่างฉากกองภูเขาขวดพลาสติก ยุคนั้นมันยังไม่ใช่การทำ CG ล้วน ๆ แต่เรียกว่าการทำ Compositing คือถ่ายขวดพลาสติกที่กองยำ ๆ รวมกัน แล้วเอาภาพมาแมตช์เข้าไป แต่จะมีถ่ายจริง ๆ ที่ดาดฟ้าบนตึกแกรมมี่ ก็ให้ทีมงานขนขวดพลาสติกเป็นตัน ๆ ขึ้นไป ซึ่งทุลักทุเลพอสมควร ถ้าเป็นสมัยนี้คือคงถ่ายซีนนี้ในสตูดิโอและคงทำ CG เอา แต่จริง ๆ ตอนนั้นก็ทำได้ แต่มันต้องใช้งบที่ค่อนข้างเยอะ”

 

©FIVE STAR PRODUCTION CO., LTD. All rights reserved


การเปลี่ยนแนวทางครั้งสำคัญใน เปนชู้กับผี


หลังจากเปิดตัวด้วยงานสร้างที่เต็มไปด้วยเทคนิคจัดจ้านจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ผลงานลำดับถัดมาอย่าง เปนชู้กับผี เสมือนการเปลี่ยนแนวทางการกำกับครั้งสำคัญของเขา โดยหันมาทำภาพยนตร์แนวสยองขวัญทุนต่ำที่ขับเน้นบรรยากาศภายใต้สถานที่ลึกลับและน่ากลัวแบบกอธิค 


“เริ่มจากคุณเชน ขอให้เราทำหนังผีสักเรื่อง คงเห็นว่าช่วยทำหนังทำเงินให้กูสักเรื่องเถอะ ทำมา 2 เรื่องแล้ว ไม่ได้ตังค์เลย ซึ่งตอนนั้นแกขอด่วน ๆ เพราะหนังในค่ายมันขาด เลยตัดสินใจหาสถานที่ที่มันมีอยู่แล้วและเราสามารถเข้าไปถ่ายได้เลย จึงนึกถึงอุ๋ย-นนทรีย์ที่ตอนนั้นทำ จันดารา ซึ่งเขามีการสร้างบ้านขึ้นมาถาวร เพื่อใช้ถ่ายทำโดยเฉพาะที่ปากช่อง และมันถูกทิ้งร้างไว้หลายปี ผมเลยโทรไปถาม เอก เอี่ยมชื่น นักออกแบบงานสร้างของเรื่องนั้นว่า บ้านมันยังอยู่หรือเปล่า เอกตอบกลับมาว่า มันเก่ามากเลยนะ ถ้าจะถ่ายหนังผีก็คือได้เลย 


“ทุกอย่างเลยเริ่มจากตรงนี้ เดินทางไปดูสถานที่และเก็บบรรยากาศ จากนั้นจึงเริ่มคิดเรื่องขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่ที่คนเขาชม ๆ กัน คือเรื่องของบรรยากาศที่เป็นบ้านอยู่ในป่าและมีต้นไม้ใหญ่ ๆ น่ากลัว ๆ พอทำอะไรที่มันประหลาด ๆ เกินไปในสองเรื่องแรกไปแล้ว เรื่องนี้เลยคิดว่าขอแบบธรรมดา ๆ บ้าง เราก็มานึก ๆ ดูว่าสมัยก่อนเขาทำหนังผีกันยังไง แบบที่ยังไม่ต้องพึ่ง CG และเรื่องนี้ก็กลับมาถ่ายฟิล์มด้วย เราใช้วิธีทำฉากผีหลอกแบบมายากล คือการพรางตา ทุกอย่างคือถ่ายสด ๆ หมด ไม่มี CG เลย ใช้เทคนิคบ้าน ๆ อย่างใช้กระจกทำภาพซ้อนขึ้นมา เป็นเทคนิคที่ฝรั่งยังต้องตะลึง” 

 

©FIVE STAR PRODUCTION CO., LTD. All rights reserved


“สำหรับอิทธิพลในเรื่องที่ชัด ๆ เลย คือเราได้จากหนังสือของครูเหม เวชกร ที่เคยอ่านตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ซึ่งเขาทำภาพประกอบที่ทั้งสวยและน่ากลัวมาก และเราไม่เคยเห็นมันเป็นภาพเคลื่อนไหว จึงนำมาเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับงานกำกับภาพในเรื่อง การจัดแสง เฟรมภาพ รวมทั้งสีของหนังที่เกือบจะเป็นโมโนโทน ทำเหมือนมากจนโดนฟ้องเลยว่าเอาของท่านมาหากิน อาจเพราะเราขึ้นข้อความอุทิศถึงท่านด้วยในช่วงท้าย ซึ่งเราได้อะไรมาเยอะจากท่าน แต่ทำไปในทางเชิดชู เพื่อยกย่องให้เห็นคุณงามความดีของท่าน ไม่ได้ทำเพื่อลอกเลียนอะไร เราก็ขึ้นศาลไปชี้แจงเป็นข้อ ๆ และท้ายที่สุดก็ชนะคดีความ”

 

©FIVE STAR PRODUCTION CO., LTD. All rights reserved


อินทรีแดง จากฮีโร่ในดวงใจสู่ผลงานที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุด


หลังจากสร้างรายได้จนเป็นที่น่าพอใจใน เปนชู้กับผี จากนั้นสี่ปีถัดมา วิศิษฏ์กลับมาอีกครั้งด้วยผลงานฟอร์มยักษ์ทุนสูง ซึ่งนำเรื่องราวของฮีโร่ในดวงใจตอนเด็กอย่าง อินทรีแดง มาตีความผ่านมุมมองของตัวเอง โดยเขาเล่าถึงโครงการสร้างหนังเรื่องนี้ว่า “อินทรีแดง มาจากความชอบส่วนตัวเหมือนเดิม ตอนเด็ก ๆ เราก็ชอบฮีโร่ของเรา ถ้าเด็กยุคนี้ก็คงจะเป็นแบตแมน สมัยนั้น อินทรีแดง เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จมาก สร้างกันมาหลายภาค มีพระเอกหลาย ๆ คนมาสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเล่นเหมือนเจมส์ บอนด์ เรารู้สึกเสียดายที่บ้านเรามีฮีโร่ แต่ไม่มีใครทำมันต่อเหมือนอย่างแบตแมน ที่พัฒนากันมาหลายฉบับ แต่เราดันลืมคิดไปว่า คนรุ่นนี้เขาไม่ทัน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมี 


“ทันทีที่เราปล่อยภาพแรกออกมา ก็โดนวิจารณ์ทันทีว่า ลอก The Dark Knight คือเขาไม่รู้จักถึงสิ่งที่เราเคยคลั่งไคล้ตอนเด็ก ๆ เลย มันดูธรรมดาสำหรับพวกเขา อาจเคยได้ยินเรื่องคุณมิตร ชัยบัญชา ตกเฮลิคอปเตอร์บ้าง แต่ไม่ได้อินอะไร มันดูไกลมากสำหรับพวกเขา แต่สำหรับเรานี่คือคุณต้องดูนะ นี่ฮีโร่ของไทยเลย แต่คนดูตอนนั้นคงคิดว่าดูหนังที่มันสุดยอดอย่าง The Dark Knight ไปแล้ว จะมาดูของไทยซ้ำไปอีกทำไม คือมันผิดตั้งแต่เราตั้งโจทย์แล้วว่าจะทำ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า ถ้าทำดี ๆ ก็มีคนดู 


“ตอนนั้นก็ยอมทำหนังให้ดูมันฮอลลีวูดยุคใหม่ไปเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าทำหนังที่มันโบราณตลอด พอมาดูอีกทีตอนนี้คนดูก็คงรู้สึกว่ามันยังเป็นหนังไทยอยู่ดี เช่น เรื่องผู้ร้ายต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ยังแก้ไม่หายสักที ต่อให้ถ่ายแบบฝรั่งยังไงก็ตาม รวม ๆ เราเลยมองว่า เราอาจจะทำไม่สำเร็จ แต่วันหนึ่งข้างหน้าหวังว่าจะมีคนทำสำเร็จ ซึ่งมันก็จบแค่นั้น เพราะหนังไม่ประสบความสำเร็จ ตอนแรกจะทำออกมา 2 ภาค แต่คุณเชนบอกว่า เอาภาคเดียวให้รอดก่อน ทุกวันนี้ก็ยังโดนคนทวงถามอยู่ว่าภาคสอง เมื่อไรจะมา”

 

©FIVE STAR PRODUCTION CO., LTD. All rights reserved


“ด้วยการที่เป็นหนังแอ็คชั่น วิธีการกำกับเรื่องนี้ เราก็ทำให้มันทันสมัย เพื่อให้คนเสพได้ง่ายมากขึ้น แต่พอมาดูตอนนี้ รู้สึกว่าช้าจังเลย เพราะสมัยนี้หนังแอ็คชั่น มันเร็วและแรงขึ้นเกือบ 10 เท่า ซึ่งคนที่ได้ดูตอนนั้นบอกว่าชอบเรื่อง CG แต่อาจจะไม่อินเนื้อเรื่องมาก เพราะบทสรุปมันยังไม่จบ เรื่องทุนสร้างที่ค่ายโปรโมตเรื่องทุนร้อยล้านนี่ไม่ใช่ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการโปรโมตเฉย ๆ คือหนังสมัยก่อนชอบโปรโมตเวอร์ ๆ แต่จริง ๆ ได้มาแค่ 30 ล้าน ซึ่งก็ถือว่าสูงสำหรับหนังยุคนั้น แต่ส่วนตัวก็แอบมีควักเพิ่มลงไปด้วย เนื่องจากมันไม่พอ เพราะมีเรื่องของการทำ CG อะไรด้วย เช่น ฉากต่อสู้ในลิฟต์ที่เป็น CG และถ่ายแบบ Green Screen ทั้งหมดเลย”


 ©M THIRTY NINE CO., LTD. All rights reserved.


ก้าวสู่บทใหม่ของการทำงานใน รุ่นพี่ และ สิงสู่ 


หลังผิดหวังจาก อินทรีแดง วิศิษฏ์ได้ประกาศวางมือจากการกำกับภาพยนตร์ และหันมาเป็นนักเขียน โดยออกหนังสือนิยายแนวสืบสวนเรื่อง ‘รุ่นพี่’ ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นภาพยนตร์โดยค่าย M39 และหลังจากนั้นอีกหลายปีได้ผันตัวมาเป็น Content Creator ให้กับผู้สร้างภาพยนตร์หน้าใหม่อย่างค่าย Transformation Films พร้อมกับออกผลงานแนวสยองขวัญทุนต่ำเรื่อง สิงสู่ วิศิษฏ์เล่าถึงการหวนกลับมาจับงานด้านภาพยนตร์อีกครั้งว่า “สำหรับ รุ่นพี่ จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนเป็นนิยายแบบซีรีส์ เผื่อเราไม่ทำหนังแล้ว จะเอาเก็บไว้หากินตอนแก่ หากซีรีส์มันใช้ได้ เป็นความเพ้อเจ้อส่วนตัว คิดสูตรแบบหนังคู่หูนักสืบเป็นผีกับคน จริง ๆ ตอนนั้นประกาศจะเลิกทำหนังแล้ว เพราะรู้สึกเหนื่อยและท้อ แต่พอได้คุยกับค่าย M39 เขาบอกว่าทำเป็นหนังใหญ่เลยไหม เราก็ลอง ๆ ดูก็ได้ 


“พอได้ทำคิดว่าเรื่องนี้จะทำแบบวัยรุ่นเลย แต่รู้สึกมันไม่ใช่เราเลย เราไม่ถนัดหนังวัยรุ่น วัยรุ่นดูก็จะรู้ว่า นี่คนแก่ทำแน่ ๆ ภาษาแบบนี้ใครเขาพูดกัน เรื่องหนังก็จบตรงนั้น แต่ก็มีภาคต่อออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อ ‘รุ่นน้อง’ แทน เขาให้ทำต่อเพราะเห็นว่าหนังสือภาคแรกมันยังพอไปได้ แต่พอทำหนังสือจริง ๆ คิดว่ายาก เพราะมันต้องอยู่คนเดียว ทำหนังมันยังพอมีคนมาช่วยเหลือ ความฝันที่ว่าจะเขียนหนังสือตอนแก่ ๆ ก็เป็นอันจบไป 


“แต่ รุ่นพี่ ก็เป็นหนังที่ทำเงินมากที่สุดของผม ได้ไปที่ 23 ล้าน มีการใช้เทคนิค CG ที่หวือหวา พยายามทำให้ดูเด็ก ๆ แบบการ์ตูนโคนัน แต่ก็ยังแอบเอาดาราเก่า ๆ ที่เราชอบมาเล่น เช่น คุณสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ หรือคุณพรพรรณ เกษมมัสสุ มีกลิ่นแบบหนังเราอยู่ พวกเด็ก ๆ วัยรุ่นดูก็รู้ว่า นี่มันหนังคนแก่ทำ (หัวเราะ)” 

 

© 2014 TRANSFORMATION FILMS CO., LTD. All rights reserved.


“ส่วน สิงสู่ เป็นโปรเจกต์ที่เริ่มต้นจากตอนที่ผมเข้าไปทำ Content Creator ให้กับ Transformation Films แล้วมีหนังเรื่องหนึ่งวางแผนว่าจะฉายปีนั้น แต่ยังไม่เสร็จคือ แสงกระสือ พอมันไม่เสร็จตามแผน เราก็ต้องรับผิดชอบ ด้วยการทำหนังด่วน ๆ สักเรื่องเพื่อเข้าฉายให้ค่าย ซึ่งต้องยอมรับว่า เราไม่ได้มีความพร้อมมากและใช้งบน้อยเพราะต้องทำคั่นโปรแกรม โดยถ่ายทำแค่ 7 วันเสร็จ ซึ่งไม่มีการใช้เทคนิคอะไรเลย เพราะเราไม่มีเวลา กลับมาใช้วิธีการแบบ เปนชู้กับผี เทคนิคทำมือแบบง่าย ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่า งบเท่านี้มันไม่พอ ถ้าทำด้วยความสนุก มันก็คงโอเค แต่อันนี้คือไม่ได้อะไรเลย ไม่รู้จะทำทำไม หาเรื่องให้กับตัวจริง ๆ (หัวเราะ) 


“งบ 5 ล้าน ต้องทำให้จบในหนึ่งสัปดาห์ ได้นักแสดงละครเวทีอย่างคุณคาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล มาเป็นผู้กำกับการแสดง ส่วนผมเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ก็คุยกันว่า เราอยากได้บล็อกกิ้งที่เหมือนดูการแสดงละครเวทีแบบสด ๆ ไม่ต้องใช้ภาษาทางภาพยนตร์อะไรมาก บางคนที่ได้ดู ก็ด่าว่ามันเหมือนละครเวที ซึ่งไม่ผิด เพราะเราตั้งใจให้มันเป็นแบบนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนวิธีการทำงานอีกแบบของเราเหมือนกัน ด้วยงบที่มันต่ำ บางคนบอกว่าเราสุกเอาเผากินไปหน่อย แต่เทคนิคโบราณ ๆ ที่เราใช้ แบบเอาคนหักตัวได้จริง ๆ มาเล่น จริง ๆ ก็ตั้งใจคารวะหนังผีฝรั่งเก่า ๆ แบบ The Exorcist ที่เราเคยดูแล้วกลัวมาก ๆ ตอนเด็ก ๆ ด้วยเช่นกัน”   

 

© 2014 TRANSFORMATION FILMS CO., LTD. All rights reserved.


จากหนังใหญ่สู่แพลตฟอร์มออนไลน์


The Whole Truth ปริศนารูหลอน คือผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ร่วมงานกับ Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลก โดยเขาเล่าถึงประสบการณ์โดดมาจับงานผลิตคอนเทนต์เพื่อฉายในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรกว่า “คนทำหนังรุ่นผมเป็นยุคที่เปลี่ยนผ่านพอสมควร ตั้งแต่การถ่ายหนังจากกล้องฟิล์มไปสู่ดิจิทัล หรือมีการใช้เทคนิคต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์เข้าช่วย และยุคนี้มันก็มีเรื่องเปลี่ยนผ่านให้ผู้กำกับต้องปรับตัวอีกครั้ง เพราะมีสตรีมมิ่งเข้ามา 


“ผู้กำกับต่างชาติบางคน ต่อต้านไม่อยากทำหนังลงสตรีมมิ่ง เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นทีวี แต่เราคิดว่ามันเป็นอีกเวทีหนึ่ง ซึ่งเราเป็นนักมวยที่ไม่เกี่ยงเวที เวทีเล็กหรือใหญ่ก็ต่อยได้ ซึ่งสตรีมมิ่งมันช่วยให้ผลงานของเราได้กระจายไปทั่วโลกง่ายขึ้น คือหนังไทยมันก็มีการเดินทางทั่วโลกโดยตลอดอยู่แล้ว แต่มันเดินทางผ่านการขาย ซึ่งมันช้าหน่อย อาจได้ฉายบ้าง ไม่ได้ฉายบ้าง หรือบางทีซื้อไป เขาก็เอาไปลงทีวีอยู่ดี จำนวนคนดูก็อาจจะน้อย พูดตรง ๆ คนทำหนัง อยากให้มีคนดู ไม่ได้เกี่ยวกับเงินหรืออะไร เพราะหนังมันเป็นงานศิลปะที่อยากให้คนได้ดูพร้อมกันเยอะ ๆ มันเกิดมาเพื่ออย่างนั้น ฉะนั้นเราก็อยากให้คนในประเทศอื่นได้เห็นมันบ้าง เลยรู้สึกว่าสตรีมมิ่งน่าจะเป็นทางที่เร็วและปลอดภัยสำหรับคนทำ เพราะมันไม่มีคำว่าเจ๊งหรือไม่เจ๊ง มีแค่คนดูมากหรือน้อยแค่ไหน 


The Whole Truth ปริศนารูหลอน ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ยอดคนดูที่มันขึ้น Top Ten ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่ง Netflix เขาก็แฮปปี้ที่คอนเทนต์ไทยได้ขึ้นอันดับในชาร์ตทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบอเมริกาใต้ ที่อาจชื่นชอบหนังผีของไทย ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาส แต่หลาย ๆ คนไม่เชื่ออย่างนั้น ก็ไม่เป็นไร เราคิดว่าต่อไปการฉายในโรงหนังมันคงยากขึ้นด้วยสถานการณ์อะไรหลาย ๆ อย่าง อีกทั้งสตรีมมิ่งมันมีคอนเทนต์ที่หลากหลายกว่า ไอเดียบางเรื่องก็คงไม่มีใครซื้อมาฉายโรง ทางออกของคนทำหนังส่วนหนึ่งจึงน่าจะเป็นสตรีมมิ่ง”



 

โรงภาพยนตร์ Vs. สตรีมมิ่ง


ในช่วงท้ายของการบรรยาย วิศิษฏ์ได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมถามคำถามเกี่ยวกับผลงานของเขา โดยหนึ่งในคำถามที่น่าสนใจจากผู้ชม เป็นคำถามที่อยากให้วิศิษฏ์แสดงความคิดเห็นว่า โรงภาพยนตร์จะเป็นอย่างไรต่อไป หลังการกำเนิดแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกกันอย่างกว้างขวางในแวดวงของคนทำหนังตลอดหลายปีมานี้ โดยวิศิษฏ์ ผู้ซึ่งเฝ้ามองการต่อสู้ของโรงภาพยนตร์มาโดยตลอด ได้ทิ้งท้ายความคิดเห็นต่อประเด็นนี้เอาไว้ว่า 


“ปัจจุบันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านอีกครั้งหนึ่งของโรงหนัง เมื่อก่อนพอทีวีเข้ามา โรงหนังก็กลัวว่าจะมีคู่แข่ง เขาก็พยายามต่อสู้ แล้วก็ชนะมาโดยตลอด ตอนนี้สตรีมมิ่งถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ถึงแม้จะไม่มีสถานการณ์ของโควิด แต่พฤติกรรมของคนดูมันเปลี่ยนไป เพราะเดี๋ยวนี้มันเน้นความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อยากซื้อของเราก็ไม่ต้องไปห้างแล้ว ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ มันแก้ยากมาก 


“สมัยก่อนคอนเทนต์ของทีวีกับหนังใหญ่ในโรงจะไม่เหมือนกัน แต่ตอนนี้หนังใหญ่ที่ฉายในโรง มันอยู่ในสตรีมมิ่งเกือบหมดแล้ว พวกหนังดี ๆ ฟอร์มยักษ์อย่าง Eternals ก็สามารถดูได้แล้ว คนดูบางส่วนเลยรู้สึกว่า ทำไมต้องไปดูที่โรง กว่าจะเดินทางไปถึง บางครั้งก็เปลี่ยนรอบหนังตามใจ ซึ่งโรงหนังมันเอาแต่ใจเกินไป จนคนดูเริ่มเบื่อหน่ายและรู้สึกว่า ไม่ดูที่โรงก็ได้ เพราะมีสตรีมมิ่งแล้ว จะนอนดูบนเตียงก็ได้ ในห้องน้ำก็ได้ มีแต่หนังดี ๆ และหลากหลาย ราคาสมาชิกต่อเดือนก็ไม่แพง คือเราไม่ได้ตื่นเต้นกับสตรีมมิ่งอะไร แต่มันเป็นพลวัตของมัน จริง ๆ ก็อยากให้ผลงานตัวเองได้ฉายโรง เหมือนกับที่ยังอยากถ่ายหนังด้วยฟิล์มเพราะคุณภาพมันดีกว่า แต่ทุกวันนี้มันเป็นดิจิทัลหมดแล้ว รูปแบบการดูหนังทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ต้องขวนขวายอะไร มัน On Demand ตามเราเลย อยากดูตอนไหน หยุดตอนไหนก็ได้ 


“ส่วนตัวคิดว่า สตรีมมิ่งจะทำให้หนังอาร์ตแย่ เพราะพฤติกรรมแบบนี้แหละ ถ้าเราจ่ายตังค์ดูในโรง เหมือนเป็นการบังคับดู อาจรู้สึกเบื่อช่วงต้น ๆ แต่อาจเจอสิ่งที่ชอบในช่วงท้าย เพราะโรงมันอาจทำให้เรารู้สึกได้ถึงอะไรบางอย่าง แต่ถ้าดูผ่านสตรีมมิ่งจะอีกแบบ ล่าสุดผมดู Nomadlands แต่ดูไม่จบ ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะดูจนจบ แต่นี่คือนิสัยแย่ของคนดูสตรีมมิ่ง คือดูได้ 15 นาที แล้วหยุดไว้ก่อน หรือบางทีไขว้ไปดูเรื่องอื่น มันเป็นนิสัยที่ไม่ดี แต่มันเป็นไปแล้ว แล้วพฤติกรรมแบบนี้ มันก็กลับไปสู่แบบเดิมค่อนข้างยาก ถ้าโรงภาพยนตร์ชนะศึกมาได้ทุกครั้ง คิดว่าศึกครั้งนี้ถือว่าน่ากลัวมาก แม้กระทั่งทีวีก็อาจจะตาย ซึ่งเราจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องปรับตัว และสิ่งเดียวที่เราทำได้ก็คือ ทำคอนเทนต์ของเราให้มีคุณภาพที่ดี”


-----------------------------

ชมวิดีโอบันทึกภาพกิจกรรม “ชั้นครู 16: วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ได้ที่ https://fb.watch/aO13z0sccW/