สำรวจ เปโดร อัลโมโดวาร์ ผ่านผลงานใน Spanish Film Festival 2021

โดย สัณห์ชัย  โชติรสเศรณี

ปรับปรุงจากฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 63 พฤษภาคม-มิถุนายน 2564 


ในวาระที่สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทยนำผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) ผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมสมัยจากสเปนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในโลก มาจัดฉายในเทศกาล Spanish Film Festival 2021 ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม และที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในวันที่ 3, 4 และ 11 ธันวาคม 2564  หอภาพยนตร์จึงขอแนะนำให้รู้จักกับอัลโมโดวาร์ และผลงานทั้ง 7 เรื่องของเขาที่ฉายในงานนี้ 


เปโดร อัลโมโดวาร์ เริ่มต้นทำภาพยนตร์ในช่วงปี พ.ศ. 2517 ด้วยการใช้กล้อง Super 8 ถ่ายภาพยนตร์สั้น ไม่มีเสียง แล้วนำไปจัดฉายตามผับบาร์ในกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนา เป็นการฝึกปรือฝีมือก่อนจะเริ่มทำภาพยนตร์เรื่องยาว ถึงแม้ผลงานในช่วงแรก ๆ จะถูกวิจารณ์อย่างหนักในแง่ความสมบูรณ์ของเทคนิคภาพยนตร์ ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดทั้งงบประมาณและประสบการณ์ แต่ด้วยความหวือหวาทั้งด้านภาพและเนื้อหา รวมทั้งอารมณ์ขันในสไตล์ของอัลโมโดวาร์ ได้ทำให้ภาพยนตร์ของเขากลายเป็นเหมือนลัทธิ (Cult) ที่นิยมในคนดูบางกลุ่มอย่างมาก What Have I Done to Deserve This?! (2527) ภาพยนตร์เรื่องยาวลำดับที่ 4  (ฉายเปิดเทศกาลที่สมาคมฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา) เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ดี เมื่อผลงานที่นำเสนอความโชคร้ายของแม่บ้านสเปนผู้ต้องทำงานหนักและครอบครัวที่ชำรุดของเธอเรื่องนี้ มีผู้เข้าชมเต็มโรงเมื่อครั้งออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 


 

ภาพ: Women on the Verge of a Nervous Breakdown (2531)


ในขณะที่ Women on the Verge of a Nervous Breakdown (ฉายที่สมาคมฝรั่งเศส วันที่ 23 พฤศจิกายนและที่หอภาพยนตร์วันที่ 3 ธันวาคม) เป็นเสมือนใบเบิกทางที่ทำให้อัลโมโดวาร์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น เพราะภาพยนตร์ที่นำเสนอภาพผู้หญิงในสังคมสมัยใหม่ของสเปนแตกต่างไปจากที่หลายคนคุ้นเคยเรื่องนี้ ถือเป็นผลงานเรื่องแรกที่เขาประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ รวมไปถึงได้รับรางวัล Goya (รางวัลออสการ์ของสเปน) สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์ 


ใน High Heels ภาพยนตร์ปี 2534 (ฉายที่สมาคมฝรั่งเศสวันที่ 25 พฤศจิกายน และที่หอภาพยนตร์วันที่ 4 ธันวาคม)  อัลโมโดวาร์นำเนื้อหาว่าด้วยความสัมพันธ์อันระหองระแหงระหว่างแม่ผู้เสียสละกับลูกสาวมาตีความใหม่ ซึ่งการให้ความหมายใหม่ต่อตระกูลภาพยนตร์แบบดั้งเดิม หรือพล็อตเรื่องยอดนิยม ได้กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของอัลโมโดวาร์ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อ ๆ มา 


 

ภาพ: High Heels (2534)


โปรแกรมนี้ยังมีผลงานปี 2538 เรื่อง The Flower of my Secret (ฉายที่สมาคมฝรั่งเศสวันที่ 30 พฤศจิกายน และที่หอภาพยนตร์วันที่ 4 ธันวาคม)  ที่แม้จะไม่ได้รับการพูดถึงมากนักหากเทียบกับภาพยนตร์เรื่องอื่น แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านแนวทางการทำภาพยนตร์ของเขา จากเดิมที่เน้นความหวือหวา กลายมาเป็นรูปแบบที่ใช้ความประณีตและความคิดที่ตรึกตรองมากขึ้น โดยเนื้อเรื่องบางส่วนของภาพยนตร์ได้ขยายกลายเป็น All about my Mother (2542) ผลงานเรื่องสำคัญที่สุดของอัลโมโดวาร์ 


All about my Mother (ฉายที่สมาคมฝรั่งเศสวันที่ 2 ธันวาคม และที่หอภาพยนตร์วันที่ 11 ธันวาคม)  เป็นภาพยนตร์ที่อัลโมโดวาร์ได้นำภาพยนตร์แนวเมโลดรามามาตีความ และผสมผสานกับองค์ประกอบภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่องในอดีต จนกลายเป็นความลงตัวในทุก ๆ ทาง และเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพของเขา ทั้งในแง่รายได้ทั่วโลกและคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ รวมทั้งได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย 

  

 

ภาพ: All about my Mother (2542)


ความสำเร็จของอัลโมโดวาร์ได้รับการตอกย้ำในผลงานปี 2545 Talk to Her (ฉายที่สมาคมฝรั่งเศสวันที่ 7 ธันวสาคม และที่หอภาพยนตร์วันที่ 11 ธันวาคม) โดยครั้งนี้เขาได้มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนที่ต้องดูแลหญิงคนรักที่กำลังป่วยขั้นวิกฤติ ผสมผสานกับขนบภาพยนตร์เงียบ ภาพยนตร์เมโลดรามา และการตีความใหม่ของนาฏกรรมร่วมสมัย  Talk to Her ทำรายได้ดีเยี่ยมทั่วโลก และได้รับรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ส่วนอัลโมโดวาร์เองก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงผู้กำกับยอดเยี่ยม



ภาพ: Talk to Her (2545)


ปิดท้ายด้วยผลงานปี 2562  Pain and Glory (ฉายที่สมาคมฝรั่งเศสวันที่ 9 ธันวาคม) ที่ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์หลายสำนักว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขา ด้วยเรื่องราวที่เป็นเสมือนงานกึ่งอัตชีวประวัติ และนำภาพยนตร์เก่า ๆ ของเขามาตีความ ผ่านความคิดที่ตกผลึกในวัยที่มากด้วยประสบการณ์ จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทั้งลึกซึ้งและจริงใจ  รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม 



----------------

ติดตามรายละเอียดการจัดฉายและจองรอบเข้าชมผลงานโดดเด่นของผู้กำกับระดับโลกชาวสเปนคนนี้ได้ที่

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) https://fapot.or.th/main/cinema/program/50

สมาคมฝรั่งเศส https://afthailande.org/en/cinema-agenda