ภาพปก : ข่าวการเสียชีวิตของ รัตน์ เปสตันยี ในหน้าหนังสือพิมพ์
*InArchive เป็นเซกชั่นบทความที่หอภาพยนตร์นำข้อเขียนจากนิตยสารหรือหนังสือเก่า ซึ่งหอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ มาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
วันที่ 17 สิงหาคม 2513 รัตน์ เปสตันยี ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง ได้เสียชีวิตขณะพูดอย่างกะทันหันระหว่างกล่าวเพื่อให้ตัวแทนรัฐบาลรับฟังปัญหาของคนทำหนัง ณ โรงแรมมณเฑียร ท่ามกลางความตกตะลึงของบุคลากรในวงการภาพยนตร์จำนวนมาก ที่มาร่วมประชุมกันในวาระที่ตัวแทนรัฐบาลไทยมาปราศรัยชี้แจงรายละเอียดของการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คณะที่ถือกำเนิดจากการต่อสู้อันแสนสาหัสของตัวเขาเอง ก่อนจะต้องจากไปในขณะปฏิบัติหน้าที่ของเขา ได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ ในขณะที่ความพยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยยังคงมีมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
เนื่องในวาระครบรอบการเสียชีวิต หอภาพยนตร์ขอนำเสนอบทความเรื่อง "คำพูดของคนที่ตายแล้ว" ของ เชิด ทรงศรี ผู้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงความทุ่มเทตลอดทั้งชีวิตในการสร้างภาพยนตร์ของ รัตน์ เปสตันยี
_______________________________________
คำพูดของคนที่ตายแล้ว
โดย เชิด ทรงศรี
ที่มา : หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ รัตน์ เปสตันยี โดย สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย
ข้าพเจ้ากับท่านผู้นั้น มิได้คุ้นเคยอะไรกันมากนัก เพียงแต่รู้จักชื่อซึ่งกันและกัน เมื่อข้าพเจ้าจะริสร้าง “ โนห์รา “ ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรก ข้าพเจ้าจัด “ วันโนห์รา “ ขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณพิศมัย วิไลศักดิ์ รำมโนห์รา-บูชายันต์ ข้าพเจ้าต้องการถ่ายเป็นหนังและต้องใช้ไฟมาก ข้าพเจ้าจึงไปขอเช่าโคมไฟจากหนุมานภาพยนตร์
“คุณจัดรายการเป็นการกุศลไม่ใช่หรือ“
ท่านผู้นั้นถาม ข้าพเจ้าตอบว่า
“รายได้ทั้งหมดเป็นการกุศลครับ แต่ผมถือโอกาสถ่ายหนังด้วย”
“คุณเพิ่งเริ่มใหม่ ทำหนังต้องใช้ทุนแยะ คุณมีทุนเยอะหรือ”
“ไม่หรอกครับ”
“งั้นผมช่วยคุณ........”
แล้วท่านผู้นั้นก็เรียก คุณสันต์ เปสตันยี บุตรชาย มาสั่งความให้เอื้อเฟื้อไฟแก่ข้าพเจ้าฟรี ครั้นมาถึง 2513........ ข้าพเจ้าจะเปิดกล้องหนังเรื่อง “ลำพู” ที่บ้านคุณโสภณ เจนพาณิช ช่างภาพไปหาท่านผู้นั้นอีก ขอเช่าโคมไฟ และเครน
ท่านผู้นั้นก็ให้มาทั้งสองอย่างและไม่เอาเงินอีก
“……..เราช่วยกัน ผมก็ไม่เสียหายอะไร คุณเอาคน เอารถมาขนไปเถอะ บอกคุณเชิดด้วย........ผมให้ฟรี”
ภาพ : สมาชิกร่วมก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ถ่ายรูปร่วมกันที่โรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์
ตอนที่คนของข้าพเจ้าไปขนเครนขึ้นรถนั้น ท่านออกมาแนะนำอำนวยความสะดวก คุณรัตน์ เปสตันยี คือท่านผู้นั้น ในวงการหนังไทยของเรานี้ กล่าวว่า ถ้าใครต้องการศัตรู จงสร้างหนัง น้ำใจไมตรีขึ้นอยู่กับเงิน ข้าพเจ้าก็ประจักษ์ความจริงมาพอควร แต่ต้องขอยกเว้นในกรณี คุณรัตน์ เปสตันยี
ท่านช่วยข้าพเจ้าเพื่อผลตอบแทนอะไรหรือ เปล่าเลย........ช่วยเพื่อให้ข้าพเจ้ามีโอกาสทำหนังดี มีโอกาสแสดงความสามารถโดยมีอุปกรณ์เกื้อหนุน
พูดถึงอุปกรณ์ ยืมใครได้ยากนัก อย่าว่าแต่ยืมโคมไฟ หรือเครนเลย แต่ยืมดอลลี่ก็ไม่มีใครให้ คุณรัตน์ให้ข้าพเจ้ายืมโคมไฟและเครนฟรี ซึ่งถ้าจะให้เช่าก็ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท แต่ข้าพเจ้าเคยยืมดอลลี่จากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เขาคิดค่าเช่าวันละ 78 บาท
เมื่อสมัยที่ข้าพเจ้าทำหนังสือพิมพ์ คุณรัตน์พูดเรื่องรัฐบาลไม่ช่วยหนังไทย....พูดตรงเป้าและรุนแรง จนคนทำหนังไทยด้วยกันเขม่น เห็นว่าเกินไป
คุณรัตน์ก็พูดอยู่เรื่อย ๆ พูดตรง ๆ เสมอ
จนมาถึงสมัยคุณรัตน์เป็นนายกสมาคมผู้อำนวยการสร้าง คุณรัตน์ก็พูด พูด....พูด....
ต่อมา เป็นกรรมการสมาคมผู้อำนวยการสร้าง (เพราะขอตัวไม่เป็นนายกฯอีก) คุณรัตน์กลายเป็นบุคคลที่ถูกเบื่อหน่าย ต่อคำพูดอันจำเจ ท่านจึงไม่อยากพูด และถึงคราวประชุมคราวใดสิ่งที่ท่านพูด ก็คือ
“พวกเรามาพบกัน กิน ๆ กันเสียให้อิ่ม แล้วก็แยกกันกลับ......”
พูดเท่านี้.... จากหัวใจคนที่มีเรื่องจะพูดมากกว่าใครทั้งหมด.... ด้วยความรู้สึกที่ว่าพูดไปก็ไร้ประโยชน์
คุณรัตน์ไม่ได้พูดนานเหลือเกิน......
กระทั่งถึงคืนวันที่ 17 สิงหาคม 2513 ประชุมสมาชิกสมาคมผู้อำนวยการสร้างที่ห้อง “เมธี” โรงแรมมณเทียร
คุณบุญชนะ อัตถากร ผู้แทนรัฐบาลพูดแล้ว
ผู้อำนวยการสร้างหนังก็พูดแล้ว
คุณรัตน์ ขอพูดเป็นคนสุดท้าย....พูดน้อย สั้น ๆ แล้วก็ล้มลง........สิ้นใจตายในไม่กี่นาทีต่อมามีผู้ถาม
“คุณรัตน์พูดอะไรบ้าง”
ไม่มีผู้ตอบ
ภาพ : รัตน์ เปสตันยี (ขวาสุด) ในงานประชุมสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย วันที่ 17 สิงหาคม 2513
“พูดไม่มากหรอก 2-3 ประโยคเท่านั้น........”
เขาตอบว่าคุณรัตน์พูดไม่มาก
ถ้าวิญญาณคุณรัตน์พูดได้ก็คงจะบอกว่า
“ครับ....ผมพูดไม่มากหรอก เพราะผมไม่มีเวลาจะพูดได้อีกแล้ว แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าผมต้องการพูดอะไรบ้าง ทำไมไม่คิดบ้างล่ะครับว่า..สิ่งที่ผมต้องการจะพูดอีกก็คือสิ่งที่ผมเคยพูดมาแล้ว........พูดเรื่อยมาตลอดเวลาเกิดและชังกะตายอยู่กับหนังไทย........”
และกับคุณบุญชนะ
“ผมตายเพราะความแค้น....แค้นรัฐบาล ที่ไม่เคยเหลียวแลหนังไทย........ผมเป็นผู้สร้างหนังไทย ที่จับกล้องหนังเป็นคนแรก ผมจึงตายก่อน ถ้าความตายของผม รัฐบาลยังไม่เหลียวแลอีก........คุณบุญชนะมาอีกนะครับ มาดูความตายของผู้สร้างคนอื่น ๆ ซึ่งจะมีให้เห็นเป็นลำดับ”
เชิด ทรงศรี
30 สิงหาคม 2513