กรุงเทพเมืองหลวงของเรา

ความยาว 20.30 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เสียง

อำนวยการสร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน

ผู้สร้าง พิฆเนศภาพยนตร์


หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยตกอยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงบทบาทเป็นผู้นลกฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ในขณะที่สหภาพโซเวียตเป็นผู้นำโลกคอมมิวนิสต์  และโลกก็ตกอยู่ในภาวะสงครามเย็น คือ การสู้กันด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ โจมตีกันด้วยข้อมูลข่าวสาร


หลังสงครามโลก แม้ว่าโทรทัศน์เป็นสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่แพร่หลายทั่วไป ภาพยนตร์ยังคงเป็นสื่อที่ครองโลก สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาจัดตั้งสำนักงานข่าวสารอเมริกัน ทำหน้าที่เสมือนกรมประชาสัมพันธ์อีกกรมหนึ่งในประเทศไทย ทำหน้าที่ผลิตสื่อและกิจกรรมเพื่อโฆษณาให้คนไทยนิยมนับถือรักใคร่และไว้


เนื้อเชื่อใจสหรัฐอเมริกา และเพื่อให้เกลียดกลัวประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งปวง


“กรุงเทพเมืองหลวงของเรา” เป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อชิ้นหนึ่ง ซึ่งสนับสนุนการสร้างโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน ออกเผยแพร่ในราวปี พ.ศ. 2500 เป็นภาพยนตร์ที่พยายามแสดงให้คนไทยรู้สึกว่า เรามีเมืองหลวงที่กำลังพัฒนาก้าวหน้า เพราะเราอยู่ในโลกหรือค่ายเสรี ภาพยนตร์แสดงให้เห็นความเป็นไปอันน่ารื่นรมย์ของเมืองหลวงแห่งนี้ในรอบ 24 ชั่วโมง จากเช้าตรู่วันหนึ่ง แนะนำให้เห็นวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพ นักเรียนนักศึกษาไปโรงเรียน ผู้คนไปทำงาน ตามถนนหนทางที่กำลังขยับขยาย กรุงเทพมีมหาวิทยาลัยชั้นดี มีโรงแรม ร้านรวง ขายสินค้าทันสมัย มีสนามบินที่มีผู้คนจากทั่วโลกมาเยือน เป็นศูนย์กลางการค้า การประชุมนานาชาติ ยามบ่ายผู้คนชั้นสูงไปจิบกาแฟตามร้านกาแฟในโรงแรมใหญ่ๆ มีสวนลุมพินีที่หนุ่มสาวไปพลอดรักกัน ยามค่ำมีโรงหนังโรงละคร มีสนามมวย มีโทรทัศน์ให้ดูตามบ้าน มีไนท์คลับสำหรับนักเที่ยวราตรี  แล้วผ่านราตรีกาลอันเต็มไปด้วยแสงสีสู่เช้าตรู่วันใหม่ 


“กรุงเทพเมืองหลวงของเรา” มิติหนึ่ง นี่เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกสภาพปรากฏของกรุงเทพเมื่อปี 2500 ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างที่หาได้ไม่ง่ายนัก อีกมิติหนึ่งเป็นการบอกเล่าสภาพของกรุงเทพผ่านอุดมการณ์และยุทธวิธีต่อต้านค่ายคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา จึงมีความหมายระหว่างภาพให้ตีความทางประวัติศาสตร์มากกว่ากรุงเทพในตัวมันเอง