การรับเรือตอร์ปิโด

ความยาว 79.47 นาที วีเอชเอส / ขาว-ดำ / เงียบ

อำนวยการสร้าง กองทัพเรือ

ถ่ายภาพ หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต)


ในบรรดาช่างถ่ายภาพยนตร์ของไทยในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อของ หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัติ) ต้องนับว่าเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงและผลงานมากที่สุด โดยเฉพาะที่ท่านทำงานในฐานะช่างถ่ายหนังของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง และของบริษัท ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง แต่น่าเสียดายว่าผลงานส่วนใหญ่ของท่านได้สูญเสียหรือสาบสูญเกือบทั้งหมด หลวงกลการเจนจิต ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2491 จากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ทำให้เราทราบว่า ท่านเป็นที่ชื่นชอบรักใคร่ของชาวทหารเรือเป็นพิเศษ นั่นก็เพราะ ในปี พ.ศ. 2478 ท่านได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือให้เป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์บันทึกการรับเรือตอร์ปิโด ที่กองทัพเรือจ้างต่อที่ประเทศอิตาลี เป็นประวัติการณ์อย่างหนึ่งของกองทัพเรือไทย โดยเฉพาะเป็นการเดินเรือข้ามมหาสมุทร ด้วยความรู้ความสามารถของลูกนาวีไทยล้วน ๆ เป็นครั้งแรก จากอ่าวไทยเข้ามหาสมุทรอินเดียไปสู่อิตาลี และกลับสู่มาตุภูมิ รวมระยะทางราว 15,000 ไมล์ กินเวลารอนแรมกว่าสี่เดือน


หลวงกลการเจนจิต ได้บันทึกเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่พิธีส่งทหารเรือและเรือรบหลวงเจ้าพระยา ออกเดินทางจากกรุงเทพ และบันทึกความเป็นไป แทบจะทุกกิจกรรมของภารกิจทหารเรือ ตลอดเส้นทาง ทุกเมืองท่าที่เรือแวะ จนกระทั่งถึงจุดหมาย พิธีการรับเรือตอร์ปิโดที่อิตาลี และการเดินทางกลับพร้อมกับเรือตอร์ปิโดสองลำที่รับมอบ จนมาถึงพิธีการต้อนรับที่กรุงเทพ 


และหนังสืองานศพนั้น ยังให้ข้อมูลว่า ระหว่างเดินทาง หลวงกลการเจนจิตได้คิดและเสนอทำเป็นภาพยนตร์เรื่องแสดงขึ้นอีกต่างหากเรื่องหนึ่ง ให้พวกลูกเรือเป็นดาราแสดง ผูกเรื่องให้ทหารเรือไทยไปพบรักต่างแดน แล้วกลับไปถ่ายทำต่อในโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้เป็นภาพยนตร์เรื่อง “แก่นกลาสี” สำหรับออกฉายตามโรงภาพยนตร์ ส่วนภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์รับเรือตอร์ปิโด ก็ได้นำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ให้ประชาชนชมด้วย


จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2551 น.ท.สุวิทย์ จันทร์เพ็ญศรี ได้ส่งฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. มาให้หอภาพยนตร์ตรวจ พบม้วนหนึ่งมีฉลากเขียนชื่อว่า “การรับเรือตอร์ปิโดที่อิตาลี” จึงรีบทำการตรวจ และถ่ายสำเนาใหม่เป็นดิจิทัล ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่หอภาพยนตร์ดัดแปลงประกอบขึ้นเอง และใช้เวลาทำงานอยู่นานหลายเดือน ได้เป็นภาพยนตร์ดิจิทัลประมาณ 50 นาที  ผลที่ได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร  


ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2556 หอภาพยนตร์ได้รับมอบภาพยนตร์และวีดิทัศน์เก่าจากหน่วยงานกรมยุทธศึกษา เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบวีเอชเอสม้วนหนึ่ง เป็นภาพยนตร์เรื่อง การรับเรือตอร์ปิโด ซึ่งทำเทเลซีนมาจากฟิล์มภาพยนตร์ที่เราได้รับมาสองสามปีก่อนหน้านั้นเอง แสดงว่าได้เทเลซีนไว้ก่อนที่ฟิล์มจะเสื่อมสภาพ วีดิโอนั้นยังมีสภาพพอใช้ และที่น่ายินดีคือ เราได้เห็นภาพและเสียงของภาพยนตร์เรื่องนี้ครบทั้งเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเป็นประจักษ์พยานถึงภารกิจหนึ่งอันเป็นประวัติการณ์ของราชนาวีไทย และเป็นประจักษ์พยานถึงความสามารถของช่างถ่ายภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของชาติ