เสด็จทอดพระเนตรมอญรำผี ปากลัด 1 มีนาคม พ.ศ. 2473

ความยาว 12 นาที ฟิล์ม 16 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ

ถ่ายภาพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่โปรดภาพยนตร์ นอกจากโปรดทอดพระเนตรภาพยนตร์แบบแฟนภาพยนตร์แล้ว ยังทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นที่สำคัญ เพราะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนักถ่ายภาพยนตร์ที่มีไม่มากนัก การถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นเป็นพระราชนิยมที่มีเจ้านายและขุนนางตลอดจนราษฎรพากันนิยมมากขึ้น จนโปรดให้จัดตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามขึ้นในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมการเล่นถ่ายภาพยนตร์ของสยามให้ก้าวหน้า


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงถ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ตั้งแต่เสด็จขึ้นเสวยราชย์ จนถึงวันเสด็จสวรรคต มีหลักฐานว่า ได้ทรงถ่ายภาพยนตร์ขนาด 16 มม. ซึ่งมีการตัดต่อรวมเป็นม้วนขนาดประมาณม้วนละ 400 ฟุต เป็นจำนวนประมาณ 500 ม้วน และหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงประมาณร้อยม้วนเศษ ซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้อนุรักษ์และเก็บรักษาไว้


ในบรรดาฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กว่าร้อยม้วนที่เหลืออยู่ “มอญรำผี” เป็นผลงานฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายที่โดดเด่นที่สุดม้วนหนึ่ง ในฐานะภาพยนตร์บันทึกพิธีกรรมและวิถีความเชื่อของชนชาติมอญ   


เหตุการณ์ในภาพยนตร์เกิดขึ้นที่ปากลัด  สมุทรปราการ ในปี พ.ศ. 2473 สันนิษฐานว่า คงจะทรงทราบว่าจะมีพิธีกรรมนี้ จึงมีหมายกำหนดที่จะเสด็จไปทรงถ่ายภาพยนตร์ มีการเตรียมการโดยเจ้าพนักงานในราชสำนัก ที่จะทรงถ่ายภาพยนตร์อย่างพร้อมมูล ช่วงแรกของภาพยนตร์เป็นบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินจากปากน้ำไปยังปากลัด ช่วงนี้จะเห็นพระเจ้าอยู่หัว พระราชินีและเจ้านาย ขุนนางที่ตามเสด็จ แสดงว่าโปรดให้ข้าราชสำนักเป็นผู้ถ่าย  แต่เมื่อถึงพิธีกรรม พระเจ้าอยู่หัวจะทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์เองตลอด 


เหตุการณ์นี้ น่าจะเป็นงานใหญ่ของพิธีกรรมรำผีที่ชาวมอญปากลัด จัดถวายให้ทอดพระเนตรและบันทึกเป็นภาพยนตร์ไว้ และปรากฏว่าทรงบันทึกไว้อย่างละเอียด เหมือนจะให้เก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานสำหรับการศึกษาเรียนรู้ภาพยนตร์ม้วนนี้ จึงมิได้สำคัญเพียงเพราะถ่ายโดยพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังเพราะมันเป็นหลักฐานทางชาติพันธุ์ ทางมานุษยวิทยา ทางขนบประเพณี และนอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะกาลเวลาผ่านไปถึงแปดสิบปีเศษแล้ว