การชกมวยชิงแชมเปี้ยนโลกระหว่าง โผน กิ่งเพชร-ปาสคาล เปเรส พ.ศ. 2503 เวทีมวยลุมพินี กรุงเทพฯ

อำนวยการสร้าง : 

ถ่ายทำโดย สำนักงานสรรพสิริ (สรรพสิริ วิรยศิริ)



มวยกับคนไทยเป็นของคู่กัน เป็นกิฬาที่ขึ้นหน้าขึ้นตาหรือเป็นที่เชิดหน้าชูตาที่สุด แต่สำหรับมวยฝรั่งหรือมวยสากล ซึ่งชกด้วยกำปั้นอย่างเดียวไม่มีเตะเข่าศอกนั้น  คนไทยก็มานิยมดูและหัดและเป็นอาชีพสำหรับเด็กหนุ่มนักสู้ แม้ไม่มากเท่ามวยไทยที่เป็นของพื้นเมือง  และมวยสากลมีเวทีชกทั่วโลก มีสถาบันรับรองและจัดแข่งขันให้ตำแหน่งเป็นแชมป์เปี้ยนโลก มีมงกุฎซึ่งที่จริงคือเข็มขัดคาดเอวให้ มีเกียรติยศชื่อเสียงและค่าตัวสูงลิ่ว  จึงมีเด็กหนุ่มนักมวยไทยที่เข็นตัวเองด้วยความใฝ่ฝันและที่ได้รับการเข็นหรือสนับสนุนจากเจ้าของค่ายมวย ผู้อุปถัมภ์ ไปจนกระทั่งนักการเมือง ผู้นำประเทศ และประชาชน กลายเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของชาติในการมีนักมวยแชมป์เปี้ยนโลกให้ได้สักคน  นักมวยไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชาติและกล่าวได้ว่าชาวไทยฝากความหวังไว้กับเขาว่าจะชิงตำแหน่งหรือบัลลังแชมเปี้ยนโลกมวยสากลคนแรก คือ จำเริญ ทรงกิตติรัตน์  ซึ่งมีโอกาสขึ้นชกชิงตำแหน่งแชมเปี้ยนโลก ถึงสามครั้ง ในช่วงเวลาสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ชาวไทยต้องผิดหวังทั้งสามครั้ง จากนั้นจึงมาถึง โผน กิ่งเพชร นักมวยเจ้าสำอาง ซึ่งพลิกคำสบประมาท เพราะไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกคาดหวัง แต่เขาทำสำเร็จเมื่อได้ขึ้นชกชิงตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกมวยสากลรุ่นฟลายเวธ ซึ่งเป็นรุ่นเล็กที่สุดของโลกในเวลานั้น โดยเอาชนะคะแนนในการชก 15 ยก กับ ปาสกาล เปเรซ เจ้าของแชมเปี้ยนชาวอาเจนตินา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2503 ที่เวทีลุมพินี กรุงเทพฯ 



การชกวันนั้น ไม่มีการถ่ายทอดสดทางวิทยุหรือโทรทัศน์ แต่มีการถ่ายภาพยนตร์บันทึกการชกไว้โดยตลอด ด้วยฟิล์ม 16 มิลิลิเมตร ขาว-ดำ โดยสำนักงานสรรพสิริ ซึ่งเป็นของสรรพสิริ วิรยศิริ ผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวของสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 การชกยืดเยื้อจนครบ 15 ยก และตัดสินด้วยคะแนน ซึ่งโผนได้รับการชูมือ ท่ามกลางความดีใจสุด ๆ ของชาวไทย หลังจากนั้นภาพยนตร์นี้ได้รับการนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพ ฯ และเดินสายไปทั่วประเทศ 



หอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์นี้จาก มณฑา สีดอกบวบ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของโผน ซึ่งมิใช่แต่ฟิล์มภาพยนตร์การชกครั้งประวัติศาสตร์นี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงฟิล์มการชกป้องกันตำแหน่งและการชิงตำแหน่งกลับคืนอีกทุกครั้ง จนครั้งที่แพ้เสียตำแหน่งครั้งสุดท้าย ภรรยาของโผนเล่าว่า โผนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาฟิล์มการชกของเขาไว้อย่างดี ด้วยความหวงแหนที่สุด เพราะเขาเห็นว่า ฟิล์มภาพยนตร์เหล่านี้คือประจักษ์พยานแห่งฝีไม้ลายมืออันเป็นเลิศของเขา อย่างที่ชอบเรียกกันว่าทางเทวดาหรือขั้นเทพ หากไม่มีภาพยนตร์เหล่านี้ ก็จะไม่มีใครประจักษ์ในความสามารถของเขาและวันหนึ่งโลกจะลืม



ภาพยนตร์นี้ โดยเฉพาะม้วนที่บันทึกการชกครั้งประวัติศาสตร์ของชาติ จึงเป็นการบันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งของชาติ ในชั่วขณะหรือวาระแห่งความปีติ ความฮึกฮิม และกระแสความสุขร่วมกันของคนไทย ซึ่งไม่อาจถ่ายทอดได้ด้วยคำพูดใด ๆ