ทิ้งระเบิดกรุงเทพในสงครามโลกครั้งที่ 2

ถ่ายภาพ : ช่างภาพสนามของกองทัพสัมพันธมิตร


เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เมื่อ 25 มกราคม 2486 กองบินสัมพันธมิตรก็แห่มาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ ทันที  ทำให้คนไทยโดยเฉพาะชาวเมืองหลวงได้สัมผัสอิทธิฤทธิ์ของสงครามโลกเป็นครั้งแรก จากปูมข้อมูลการทิ้งระเบิดถล่มกรุงเทพฯ ในสงครามโลกครั้งนั้น ปรากฏว่ากรุงเทพฯ ถูกทิ้งระเบิด 250 ครั้ง มีผู้คนล้มตายประมาณ 1,900 คน บาดเจ็บ 3,000 คน


คนไทยเราที่เกิดไม่ทันสงครามโลกครั้งที่สอง ได้สัมผัส รับรู้เรื่องราวการทิ้งระเบิดทางอากาศในยามสงครามจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์มาโดยตรงบ้าง จากการค้นหนังสือพิมพ์สมัยนั้นบ้าง จากรูปถ่ายสภาพปรักหักพังของอาคารสถานที่บ้าง จากหนังสือเรื่องเล่าจากผู้ประสบเหตุโดยตรงบ้าง  แต่ส่วนใหญ่คนไทยน่าจะรับรู้หรือสัมผัสบรรยากาศการทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯ จากเรื่องแต่งประเภทนิยาย ตลอดจนจากภาพยนตร์และละคร โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ 


ในบรรดาปฏิบัติการทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯ ของฝ่ายสัมพันธมิตรหลายร้อยครั้งนั้น มีหลักฐานการบันทึกเป็นรูปถ่ายหรือภาพนิ่งทั้งจากฝ่ายสัมพันธมิตร และจากฝ่ายทางการไทยเองอยู่พอสมควร  แต่การบันทึกเป็นภาพยนตร์  ปัจจุบันพบว่ามีการบันทึกเป็นภาพยนตร์ขณะปฏิบัติการจริงเพียง 1 ครั้ง ซึ่งเป็นฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ มีสำเนาเก็บอยู่ทั้งที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และที่พิพิธภัณฑ์การสงครามจักรวรรดิ์ อังกฤษ ซึ่งหอภาพยนตร์แห่งชาติ ได้รับมอบสำเนาชุดหนึ่งจากพิพิธภัณฑ์สงครามจักรวรรดิ อังกฤษ


ภาพยนตร์ม้วนนี้ บันทึกจากเครื่องบิน บี 29 ลำหนึ่งในฝูงบินที่ได้รับมอบภารกิจ บินมาทิ้งระเบิดถล่มกรุงเทพ ในเวลากลางวัน ซึ่งคาดว่าคือปฏิบัติการของวันที่ 14 ธันวาคม 2487 ฝูงบินขึ้นบินจากสนามบิน ที่กัลกัตตา ท่ามกลางฝนพรำ มุ่งมาถล่มกรุงเทพ ประมาณเที่ยงวัน เห็นกรุงเทพ ฯ จากมุมสูง เต็มไปด้วยเลือกสวนไร่นา แม่น้ำเจ้าพระยาเส้นเลือดใหญ่ที่คดเคี้ยว ดูสงบเงียบ แต่ทันใดเราก็เห็นลูกระเบิดชุดแรกหล่นจากเครื่องลงไปสู่แผ่นดินข้างล่าง หายไปในความเงียบ สักอึดใจก็เห็นภาพการแตกระเบิดเป็นไฟและควันพวยพุ่งขึ้นจากพื้นดินเบื้องล่าง สำหรับผู้ชมคนไทยที่เห็นภาพนี้ครั้งแรกอาจรู้สึกตื้นตันในลำคอ และขนลุกวูบ ต่อมาจึงได้เห็นว่าเครื่องบินบินอยู่เหนือบริเวณท้องที่ย่านฝั่งธนบุรี เห็นวงเวียนใหญ่ วงเวียนเล็ก ผ่านไป และเห็นสะพานพุทธ ซึ่งดูเหมือนถูกระเบิดขาดอยู่แล้ว เครื่องบินทิ้งลูกระเบิดอีกเป็นชุด ๆ ลงไปแตกระเบิดในย่านหนึ่งของกรุงเทพ ฯ มีไฟไหม้และควันโขมงพวยพลุ่งขึ้นในอากาศ จากนั้นมีภาพของการบันทึกบนพื้นดิน ทั้งในเวลากลางคืน เห็นอาคารบ้านเรือนกำลังลุกไหม้ และภาพในเวลากลางวัน เห็นซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน ร้านรวง ซึ่งภาพที่ถ่ายให้เห็นซากปรักหักพังนี้ ดูเผิน ๆ ก็อาจนึกว่าเป็นที่ใดที่หนึ่งบนโลกนี้ก็ได้ เพราะชินตาเหมือนภาพปรักหักพังทั่วไป แต่เมื่อตัดเป็นภาพมุมกว้างและกล้องกวาดไป เห็นหลังคาโบสถ์วิหารช่อฟ้าใบระกาและยอดเจดีย์ เราจึงเห็นประจักษ์ว่าภาพที่เห็นนี้คือกรุงเทพ ฯ จริง ๆ 


ภาพยนตร์การทิ้งระเบิดกรุงเทพ ฯ นี้  มีความสำคัญในฐานะเป็นหลักฐานที่จะเตือนให้คนไทยในรุ่นต่อ ๆ ไป ประจักษ์ถึงความน่าสะพึงกลัว ความน่าสลดใจของการทำลายล้างอย่างมหันต์ของมนุษย์ด้วยกัน