โกนจุก

ฟิล์ม 16 มม. / สี / เสียง / ความยาว 18 นาที

ปีสร้าง [2510]

ผู้สร้าง ส่วนสารนิเทศ สำนักการประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด 


การโกนจุก เป็นหนึ่งในพิธีกรรมในวิถีชีวิตของสังคมไทยในอดีต เพราะปัจจุบันได้เลือนหายไปแล้ว หรือไม่อยู่ในวิถีชีวิตปกติของสังคมไทยแล้ว ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง โกนจุก นี้ สร้างโดย ส่วนสารนิเทศ สำนักการประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นตอนหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีชุด “แผ่นดินของเรา” ซึ่งนำออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์เป็นรายการประจำของธนาคาร พยงค์ คชาลัย พนักงานของสำนักการประชาสัมพันธ์ เล่าจากความจำว่า เรื่อง โกนจุก นี้ เป็นงานในครอบครัวของพนักงานคนหนึ่งของธนาคาร สำนักการประชาสัมพันธ์จึงถือโอกาสถ่ายทำเป็นรายการสำหรับเผยแพร่ พยงค์เป็นผู้ค้นคว้าเรียบเรียงบทบรรยาย

นับว่าภาพยนตร์ซึ่งกินเวลาฉายราว 18 นาที สามารถบันทึกและแสดงขั้นตอนพิธีกรรมของงานโกนจุกเด็กชายคนหนึ่งในครอบครัวชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินในกรุงเทพฯ ไว้ได้อย่างครบถ้วน งานโกนจุกนี้เจ้าภาพจัดครบถ้วนตามประเพณีทั้งคติพราหมณ์และพุทธ คือมีงานสองวัน เด็กที่รับโกนเป็นเด็กชาย ซึ่งปกติจะถึงเวลาโกนเมื่ออายุได้ราว 13 ปี ในขณะที่เด็กหญิง 11 ปี เพราะเด็กหญิงเจริญวัยเร็วกว่าเด็กชาย การโกนจุกเป็นการแสดงว่าเด็กได้เจริญวัยจากเด็กเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ต่อไป และเป็นผลมาจากคตินิยมการเลี้ยงดูเด็กของสังคมไทยมาแต่โบราณ คือการไว้ผมบนศีรษะเด็กเล็กหลังจากโกนผมไฟเมื่อแรกคลอดแล้ว ก็ไว้ผมให้ยาวไปเรื่อยโดยเกล้าเป็นจุกไว้กลางกระหม่อม เป็นเครื่องหมายให้สังคมรู้ว่ายังเป็นเด็กเป็นเล็ก เมื่อถึงวัยเวลาที่จะตัดหรือโกนจุก พ่อแม่จะจัดงานพิธีมงคลขึ้น ในวันที่ไปขอให้โหรดูฤกษ์ยามให้ ได้วันมาแล้วก็จัดพิธีขึ้นเป็นสองวัน เชิญญาติมิตรแขกเหรื่อมาร่วมงานมากน้อยตามกำลัง วันแรกนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เย็น เจ้าภาพจะจัดการโกนผมรอบ ๆ จุกของเด็ก อาบน้ำแต่งตัวให้เด็กอย่างสวยงามใส่เครื่องประดับและเกล้าจุกไว้อย่างสวยงาม ปักปิ่นสวมพวงมาลัยที่จุก เชิญพราหมณ์มาเป็นผู้ทำพิธีและนิมนต์พระสงฆ์มาสวด ให้เด็กนั่งหน้าพระเพื่อฟังสวดมนต์ ข้างหน้าเด็กนั้นจัดตั้งโต๊ะไว้ตัวหนึ่งสำหรับรองพานเครื่องตัดจุก เตรียมจับด้ายสายสิญจน์ทำเป็นวงกลมให้สวมลงพอดีที่ผมจุกเด็ก เมื่อพระเริ่มสวดมนต์ แล้วเอาสายสิญจน์ที่พระจับสวดมาคล้องลงบนหัวเด็ก พระสวดจบจึงปลดสายสิญจน์ออกจากหัวเด็ก พวกมโหรีพิณพาทย์บรรเลง ลั่นฆ้อง โห่ร้องเอาชัย เป็นอันจบงานตอนเย็น 

งานวันที่สอง ตอนเช้า ตั้งพิธีให้เด็กอาบน้ำแล้วแต่งตัวให้เรียบร้อยนุ่งผ้าขาว ห่มผ้าขาว แบ่งผมจุกเด็กเป็นสามปอยหรือสามแหยม เอาแหวนผูกปอยละวง แซมด้วยใบเงิน ใบทอง หญ้าแพรกทั้งสามปอย เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว อุ้มเด็กมานั่งในท่ามกลางมณฑล ครั้นได้ฤกษ์ โหรลั่นฆ้องขึ้นสามหน โห่ร้องเอาชัย พระสงฆ์สวดชยันโต วงดนตรีก็บรรเลงประโคม เมื่อพระสวดถึงบทว่า สีเส ปฐวิโปกังขเร ผู้เป็นประธานในพิธีก็เริ่มตัดจุกปอยแรกทันที ส่วนที่สองที่สามก็ให้ผู้ใหญ่อื่น ๆ ตัด ระหว่างนี้พราหมณ์เป่าสังข์ ดีดไม้บัณเฑาะว์ ดับมลทินโทษทั้งปวง แล้วช่างโกนผมก็เข้าไปโกนผมเด็กให้เกลี้ยงเกลา โกนผมเด็กเสร็จแล้ว พาเด็กไปนั่งในที่สมควรเพื่ออาบน้ำมนต์ แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งแขกเหรื่อและญาติมิตรของเจ้าภาพพากันเข้ารดน้ำเด็ก ให้ศีลให้พร เสร็จแล้วพาเด็กมานั่งเบื้องหน้าพระสงฆ์ เจ้าภาพถวายภัตตาหาร พระฉันแล้วเจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธีตอนเช้า แล้วมีการกินเลี้ยงกัน

งานโกนจุกนี้หากจะหยุดพิธีแต่ตอนเช้านี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าภาพมีฐานะดีหรือมีบารมีมากก็อาจจะจัดพิธีในตอนบ่ายต่อไปอีก เป็นงานทำขวัญ ต้องจัดเครื่องบายศรีสู่ขวัญ ให้เด็กนั่งต่อหน้าเครื่องบายศรี แวดล้อมด้วยผู้ใหญ่แขกเหรื่อญาติมิตร มีผู้ทำขวัญเป็นคนทำพิธี ว่าคำขวัญ จุดธูปเทียนเครื่องสักการะ ว่าคำเชิญขวัญเป็นทำนอง จบแล้วผูกด้ายสายสิญจน์ที่ข้อมือเด็ก ลั่นฆ้องไชย แล้วเวียนเทียน ดับโบกควัน เอากระแจะจันทน์เจิมเด็ก เอาน้ำมะพร้าวอ่อนแช่กับไข่ขวัญใส่ช้อนป้อนเด็ก แล้วเบิกบายศรี ตีฆ้อง โห่ร้อง พิณพาทย์มโหรีบรรเลง แขกเหรื่อญาติมิตรที่มางานอวยพรเด็ก ถ้ามีของขวัญก็ใส่ลงในขัน ให้เด็กนำไปเก็บไว้บนที่นอนสามวัน ส่วนผมจุกที่ตัดนั้น ให้ใส่กระทงบายศรี ลอยเสียในแม่น้ำลำคลองที่มีน้ำไหล งานฉลองบายศรีนี้เจ้าภาพมักจัดให้มีมหรสพต่าง ๆ และการกินเลี้ยงให้เอิกเกริกครึกครื้นสมฐานะเจ้าภาพด้วยเป็นอันจบพิธีมงคลโกนจุก

ภาพยนตร์ โกนจุก นี้สามารถแสดงให้เราเห็นภาพงานดังกล่าวที่เจ้าภาพจัดขึ้นตามแบบอย่างประเพณี ซึ่งแม้จะจัดในยุคสมัยปัจจุบัน (ราวปี 2510) คือเด็กถูกแต่งตัวทรงเครื่องและทำพิธีอย่างโบราณ แต่เจ้าภาพและแขกเหรื่อมาในชุดปัจจุบัน เป็นการผสมกลมกลืนระหว่างพิธีกรรมความเชื่อที่หยุดนิ่งมาจากอดีตกับชีวิตจริงในปัจจุบัน