กตัญญูปกาสิต

ฟิล์ม 35 มม. / สี  / เสียง / 77 นาที (ความยาวจากสำเนาภาพยนตร์ที่คงเหลือในหอภาพยนตร์)

วันออกฉาย    28 มีนาคม 2501

บริษัทสร้าง    เนรมิตภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง    จรี อมาตยกุล

ผู้กำกับการแสดง    เนรมิต 

ผู้เขียนบท    ส. อาสนจินดา

ผู้ถ่ายภาพ    วิจารณ์ ภักดีวิจิตร, ไพรัช สังวริบุตร

ผู้สร้างฉาก    อุไร ศิริสมบัติ

ผู้แสดง      สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, จางจ้งหวั่น, จินฟง, ทัต เอกทัต, ทักษิณ แจ่มผล, พันคำ, เชาว์ แคล่วคล่อง, ประมินทร์ จารุจารีต, วารุณี, จำรูญ หนวดจิ๋ม, สมพล กงสุวรรณ, วิชิต ไวงาน, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, ทานทัต วิภาตะโยธิน


Flame in Ashes

(aka Underground Sparks)

2501 / สี / เสียง / ความยาว 104 นาที

ผู้อำนวยการสร้าง     China United (Hong Kong), Neramitr Film (Thailand)

ผู้กำกับการแสดง    Wong Tin-lam

ผู้แสดง    Diana Chang Chung-wen, Chin Feng, Wilaiwan Watthanaphanit, Surasit Sattayawong, Pan Yue-wu



กตัญญูปกาสิต เป็นภาพยนตร์ร่วมสร้างระหว่างบริษัทภาพยนตร์ในไทยกับฮ่องกง ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยผู้สร้างฝั่งไทยคือ เนรมิตภาพยนตร์ ของ จรี อมาตยกุล ผู้เริ่มมีผลงานสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 2494 เรื่อง สุภาพบุรุษจากอเวจี ซึ่งกำกับโดย เนรมิต หรือ อำนวย กลัสนิมิ ผู้เคยมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์ 35 มม. ปี 2485 เรื่อง บ้านไร่นาเรา ให้แก่กองภาพยนตร์ทหารอากาศ ก่อนที่สงครามโลก ครั้งที่ 2 จะส่งผลให้วงการภาพยนตร์ไทยต้องหยุดชะงักลง เนรมิตจึงได้หยุดพักงานภาพยนตร์ไปกำกับละครเวทีจนมีชื่อเสียงได้รับการยกย่องเป็นครู และหลังสงคราม เมื่อวงการหนังไทยฟื้นฟู จึงกลับมากำกับภาพยนตร์อีกครั้งใน สุภาพบุรุษจากอเวจี ซึ่งเป็นภาพยนตร์ฟิล์ม 16 มม.

ก่อนจะมาร่วมสร้าง กตัญญูปกาสิต เนรมิตและบริษัทเนรมิตภาพยนตร์ได้มีผลงานที่เกี่ยวพันกับจีนหรือฮ่องกงหลายเรื่อง เช่น โบตั๋น (2498) ที่เล่าเรื่องราวความรักระหว่างหญิงจีนกับหนุ่มไทย และประสบความสำเร็จจนกลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้ถึง 1 ล้านบาท ไปจนถึงภาพยนตร์ที่เดินทางไปถ่ายทำที่ฮ่องกง และใช้ดาราฮ่องกงร่วมแสดงเรื่อง หงษ์หยก (2499) กับ มังกรทอง (2500) อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของเนรมิต ได้ระบุว่า เนรมิตไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านธุรกิจกับบริษัทเนรมิตภาพยนตร์แต่อย่างใด เพียงแต่อนุญาตให้ใช้ชื่อเป็นชื่อบริษัทและรับจ้างทำงาน 

หนังสือที่ระลึกฯ ดังกล่าว ยังให้ข้อมูลผู้สร้างฝ่ายฮ่องกงของ กตัญญูปกาสิต ว่าคือ วิลเลียม ฮู นักธุรกิจในวงการภาพยนตร์จากฮ่องกง โดยสร้างเป็นภาพยนตร์สี ระบบฟิล์ม 35 มม. ถ่ายทำในเมืองไทยที่เยาวราชและโรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ มีดารานำจากฮ่องกงและมอบหมายให้เนรมิตกำกับ รวมทั้งยังระบุว่า ผลงานร่วมสร้างของ วิลเลียม ฮู เรื่องถัดมา ที่เนรมิตกำกับคือ ร้ายก็รัก (2503) สร้างกับ สุริยะภาพยนตร์ ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 16 มม. สำหรับฉายในเมืองไทย และฟิล์มขาวดำ 35 มม. สำหรับฉายต่างประเทศ นอกจากนี้ใน เรือนแพ ภาพยนตร์ปี 2504 ของอัศวินภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยดาราฮ่องกงและเนรมิตร่วมกำกับ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีเครดิต วิลเลียม ฮู เป็นที่ปรึกษาจากบริษัท ไชน่ายูไนเต็ดฟิล์ม

กตัญญูปกาสิต เขียนบทภาพยนตร์โดย ส. อาสนจินดา ลูกศิษย์คนสำคัญของเนรมิต ซึ่งได้เค้าโครงเรื่องมาจากบันทึกการสอบสวนของ พล.ต.อ. เยื้อน ประภาวัตร ในคดีฆาตกรรม เหียกวงเอี่ยม นักธุรกิจชาวจีนผู้มีบทบาทสำคัญในเมืองไทย เมื่อปี 2482 ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของ เซียะลิ้ม (จินฟง) ลูกชายเจ้าของธนาคารจีนในไทยที่ถูกฆาตกรรม ซึ่งได้เดินทางกลับมาจากสิงคโปร์เพื่อติดตามความคืบหน้าในการจับคนร้ายร่วมกับ สารวัตรเยื้อน (พร้อมสิน สีบุญเรือง) เมื่อสืบทราบว่าฆาตกรคือ แก๊งเล็บเขียว พวกเขาจึงวางแผนบุกไปที่นั่น โดยร่วมมือกับ ปิง (สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์) นักเลงหัวไม้ ที่ แหวน (วิไลวรรณ วัฒนพานิช) แฟนสาวของเขาได้ถูกแก๊งเล็บเขียวลักพาตัวไป ในขณะที่มีสาวจีนลึกลับ (จางจ้งหวั่น) คอยแอบมาช่วยเหลือสารวัตรเยื้อน 

เมื่อออกฉาย กตัญญูปกาสิต ประสบความสำเร็จกลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก และได้รับรางวัลถึง 3 สาขา ในการประกวดรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2501 ได้แก่ ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์), บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ส. อาสนจินดา) และ ออกแบบสร้างฉากยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) นอกจากนี้ ตัวบทประพันธ์ยังเป็นที่จดจำของผู้คนในยุคต่อมา เมื่อถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ในปี 2526 และ 2532 ตามลำดับ 

ปี 2545 หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ กตัญญูปกาสิต ซึ่งภาพกับเสียงมีอาการเสื่อมสภาพและไม่ครบสมบูรณ์ มีความยาวเพียง 5 ม้วน หรือประมาณ 77 นาที แต่นับเป็นฟิล์มฉบับฉายไทยของภาพยนตร์เรื่องนี้เพียงฉบับเดียวที่ค้นพบ ก่อนที่จะได้ทราบข่าวว่า หอภาพยนตร์ฮ่องกงได้บูรณะ กตัญญูปกาสิต ฉบับพากย์เสียงจีนจากฟิล์มต้นฉบับที่อนุรักษ์ไว้ และนำออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2565 ความยาว 104 นาที 

ข้อมูลจากหอภาพยนตร์ฮ่องกงระบุว่า ชื่อภาษาอังกฤษของ กตัญญูปกาสิต คือ Flame in Ashe และมีอีกชื่อหนึ่งว่า Underground Sparks กำกับโดย Wong Tin-lam สร้างโดยบริษัท China United ที่บริหารโดย Hu Jinkang ซึ่งได้มาร่วมสร้างภาพยนตร์กับประเทศไทย 3 เรื่อง ระหว่างปี 2500-2505 โดยให้ข้อมูลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยม จนทำลายสถิติรายได้สูงสุดของหนังภาษาจีนกลางที่เคยฉายในฮ่องกงขณะนั้น อย่างไรก็ตาม แม้ Flame in Ashes จะมีความยาวกว่า กตัญญูปกาสิต ฉบับพากย์ไทยที่เหลือรอดอยู่ที่หอภาพยนตร์เกือบ 30 นาที แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่าฉบับพากย์ไทยมีฉากที่ไม่มีในฉบับพากย์จีนกลางถึง 4 ฉากสำคัญ

นอกจากจะเป็นผลงานอันเป็นหมุดหมายและอยู่ในความทรงจำของสังคมไทย รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้เห็นความสามารถของยอดฝีมือแห่งวงการหนังไทยยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทั้งครูเนรมิต ส. อาสนจินดา และบรรดานักแสดงชั้นครู กตัญญูปกาสิต ฉบับที่อนุรักษ์ไว้โดยหอภาพยนตร์ไทย และ Flame in Ashes จากคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ฮ่องกง ยังมีคุณค่าในฐานะประจักษ์พยานชิ้นสำคัญของความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างไทยกับฮ่องกงในยุคเริ่มต้น และเมื่อต่างเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังสามารถนำมาเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างสมบูรณ์