ปักธงไชย

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 94 นาที

วันออกฉาย 28 ธันวาคม 2500

บริษัทสร้าง ละโว้ภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา

ผู้กำกับการแสดง หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา

ผู้ให้เรื่อง สร้างบท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ

ผู้ถ่ายภาพ ป. แสงโสภณ, โสภณ จงเสถียร

ผู้ตัดต่อลำดับภาพ รวมเสียง เล็ก อัสวดารา

ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ ณญณฏ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ผู้กำกับฉาก วิเชียร วันสนธิ์

ผู้สร้างฉาก อุไร ศิริสมบัติ

ดนตรีประกอบ ละโว้ภาพยนตร์

การแต่งกาย เกษมศรี ชมพูนุท ณ อยุธยา

ผู้แสดง รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง, สมยศ อินทรกำแหง, จำนงค์ คุณะดิลก, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, แป๊ะอ้วน, ทัศนีย์ ชุวัสวัต, นิตย์ มหากนก, เล็ก อ่ำเที่ยงตรง, ประกอบ โพธิโสภณ, สวัสดิ์ นวลสวัสดิ์


ภาพยนตร์ไทยเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ส่วนมากมักกล่าวถึงสงครามโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือสงครามยุคใหม่ เช่น สงครามโลก ครั้งที่ 2 แต่ ปักธงไชย ผลงานภาพยนตร์ 35 มม. ของละโว้ภาพยนตร์ ที่ออกฉายเมื่อปลายปีกึ่งพุทธกาล 2500 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและหนึ่งในน้อยเรื่องที่กล่าวถึงสงครามปราบฮ่อ ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการรบแบบโบราณกับการรบแบบใหม่ของกองทัพไทยที่ได้รับการฝึกจากครูฝึกชาวยุโรป


กลุ่มฮ่อ เป็นกองกำลังชาวจีน ที่ต่อต้านราชวงศ์แมนจู และหลบหนีมาซ่องสุมกำลังยังอาณาเขตของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนจะมีการปราบปรามในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 การปราบปรามดำเนินการมาหลายครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2428 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งทัพเพื่อทำการฝึกตามวิธีการทหารแบบใหม่ และให้พันเอกพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมยกไปทัพหนึ่ง ให้พันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนาทยกไปอีกทัพหนึ่ง โดยทัพของเจ้าหมื่นไวยวรนาทเดินทางไปปักหลักเพื่อปราบจีนฮ่อ ณ เมืองซ่อน


ปักธงไชย กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาพยนตร์จับจุดเริ่มเรื่องเมื่อทัพหนึ่งของหลวงดัสกร ณ ค่ายเมืองได กำลังถูกข้าศึกล้อมอยู่ เจ้าหมื่นไวยวรนาทจึงได้มีคำสั่งให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการลับจัดส่งยาและกระสุนปืนใหญ่ไปให้แก่ทัพนั้นโดยเร็วที่สุด โดยมอบหน้าที่นำกระสุนปืนใหญ่แก่ ร้อยตรีเต็ม (สมยศ อินทรกำแหง) นายทหารหนุ่มมากฝีมือ และมอบหน้าที่ในการจัดส่งยาแก่ จ่าเทียน (จำนงค์ คุณะดิลก) นายทหารอาวุโสของกองทัพ โดยนำกำลังไปยี่สิบสี่คน เพื่อไปให้ถึงเมืองเชียงวาน ก่อนจะทำการลอบส่งของที่ค่ายหลวงดัสกร แต่ระหว่างที่คณะทหารเดินทางรอนแรมฝ่าความทุรกันดารจนมาหยุดพัก พวกเขาได้จับลูกหาบคนหนึ่งที่ปลอมตัวเป็นผู้ชาย และพบว่าเป็น แสงเทียน (รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง) ลูกสาวของจ่าเทียน ที่แอบเดินทางมาด้วย แต่เมื่อถูกส่งตัวกลับบ้าน แสงเทียนกลับถูกพวกฮ่อลอบทำร้าย และได้รับการช่วยเหลือจากร้อยตรีเต็ม เขาจึงตัดสินใจพาเธอร่วมขบวนไปด้วยเพราะเกรงว่าถ้าปล่อยให้เดินทางกลับไปเองจะเกิดอันตราย ความรักของทั้งคู่จึงเกิดขึ้นระหว่างภารกิจสำคัญเพื่ออธิปไตยของชาติ


แม้ในเครดิตภาพยนตร์จะระบุว่า ผู้สร้างและผู้กำกับคือ หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา พระชายาของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” แห่งวงการหนังไทย ผู้มีผลงานสร้างภาพยนตร์มาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 แต่หม่อมอุบลเคยบันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของเสด็จพระองค์ชายเล็กว่า ภาพยนตร์ของละโว้ภาพยนตร์ในยุคแรกนั้น เนื่องด้วยเสด็จพระองค์ชายเล็กทรงรับราชการทหารบกควบคู่ไปด้วย จึงใช้ชื่อหม่อมอุบลเป็นผู้สร้างแทน แต่ในความเป็นจริงเสด็จพระองค์ชายเล็ก ทรงถ่าย-อัดเสียง-กำกับ-ตัดต่อเองทั้งหมด


ตามพระประวัติ เสด็จพระองค์ชายเล็กทรงศึกษาวิชาการพาหนะและขนส่งทหารมาจากต่างประเทศ จึงทรงมีความรู้ในเรื่องการเดินทัพ ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการรบ พระองค์จึงพยายามบรรจุรายละเอียดการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ของการรบแบบสมัยใหม่ของสยามไว้ในภาพยนตร์ เช่น เครื่องแบบ การขนส่ง การออกค่าย การรบ ฯลฯ รวมไปถึงสภาพภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนแนวคิดเรื่องชาตินิยมและทหารนิยมในยุคสมัยนั้น


ในแง่ศิลปะภาพยนตร์ ปักธงไชย ถือเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยน้อยเรื่องในยุคดังกล่าว ที่ถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 มม. มาตรฐานสากล และเห็นได้ว่าผู้สร้างพยายามเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพยนตร์ที่ต่างไปจากขนบภาพยนตร์ไทย เช่น การลำดับภาพที่ไม่ยืดยาด แต่มีจังหวะที่รวดเร็ว เดินเรื่องมุ่งไปสู่จุดสุดท้ายที่จะปลุกเร้าให้ความคิดและความรู้สึกด้านความรักชาติ การเสียสละเพื่อชาติแก่ผู้ชม ภาพยนตร์ใช้ธงชาติซึ่งเวลานั้นคือธงช้างเผือกเป็นเครื่องหมายแทนชาติ สร้างบทบาทให้นายทหารแต่ละนายรับมอบภารกิจในการนำธงชาติต่อจากเพื่อนที่เสียชีวิตทีละคน ไปชักสู่ยอดเสาเพื่อแสดงอธิปไตยของชาติเหนือผืนแผ่นดิน ขณะเดียวกันได้นำเสนอเรื่องความรักในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งรักระหว่างหนุ่มสาว รักระหว่างพ่อลูก และรักระหว่างเพื่อนร่วมรบ ที่สอดประสานไปกับเนื้อเรื่อง แต่ที่สุดไม่มีรักใดเหนือไปกว่ารักชาติ


ในขณะที่การถ่ายทำฉากต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทัพ โดยเฉพาะฉากสงคราม ซึ่งแม้จะไปปรากฏสำคัญในตอนท้ายเรื่อง แต่ก็นำเสนอออกมาได้อย่างน่าตื่นตา ให้เห็นถึงความสามารถในการออกแบบงานสร้าง เครื่องแต่งกาย และฉากสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นฝีมือของ อุไร ศิริสมบัติ ผู้กำกับศิลป์คนสำคัญของวงการหนังไทยในยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2


ปักธงไชย จึงมีคุณค่าอย่างยิ่งในฐานะภาพยนตร์ไทยแนวสงครามรักชาติที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่ง รวมถึงเป็นผลงานที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของเจ้าชายนักทำหนังที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทยมากที่สุดคนหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นผลงานเรื่องแรกที่มีเครดิตชื่อของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล พระโอรสของพระองค์ ปรากฏในฐานะผู้บันทึกเสียง ก่อนที่ต่อมาพระองค์จะทรงดำเนินรอยตามเป็นคนทำหนังคนสำคัญของไทยเช่นเดียวกับพระบิดา