[งานอภิเษกพระสังฆราช มีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต]

ฟิล์ม 16 มม. / สี / เงียบ / 11 นาที

ปีสร้าง 2496


ภาพยนตร์กำพร้าที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง หอภาพยนตร์พบฟิล์มนี้จากการประกาศขายออนไลน์ ก่อนที่ภายหลังจะได้รับการเอื้อเฟื้อข้อมูลต่าง ๆ จากคุณพุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี แห่งหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และคุณวัฒภูมิ ทวีกุล แห่ง Assumption Museum จึงทราบว่าเป็นภาพยนตร์บันทึกพิธีอภิเษกพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต แห่งมิสซังท่าแร่-หนองแสง เมื่อ พ.ศ. 2496 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นประวัติการณ์ของวงการศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย

  

พระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2448 ที่บ้านหลังวัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เป็นบุตรนายบัว-นางเนื่อง ประคองจิต มีพี่น้อง 16 คน เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2455 โดยเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับ ควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเรียนถึงชั้นปีที่ 3 แผนกฝรั่งเศส จึงได้หยุดพักการเรียน เนื่องจากได้รับพระกระแสเรียกให้เข้าสามเณราลัย ในปี 2459


ตลอด 8 ปีที่อยู่สามเณราลัย เณรมงคลมีนิสัยเคร่งขรึมเอาการเอางาน ชอบค้นคว้า และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค จนเป็นที่โปรดปรานของบาทหลวงอธิการ เมื่อถึงเวลาออกทดลองใจ (Probatio) เป็นเวลา 2 ปี จึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นครูที่บ้านเณร ในขณะที่บรรดาเณรรุ่นเดียวกันถูกจ่ายไปช่วยตามวัดต่าง ๆ 


ปี 2470 เกิดกระแสการตื่นตัวในการจัดส่งเณรไปศึกษายังต่างประเทศ ครูมงคลจึงได้รับโอกาสในการไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโปรปากันดา ฟีเด กรุงโรม ประเทศอิตาลี และได้เข้าเรียนในชั้น “กูร์ซูส์มายอร์” (เตรียมอุดม) ควบไปกับวิชาปรัชญา มีกำหนด 3 ปี ต่อจากนั้นจึงเรียนเทววิทยาอีก 4 ปี รวมเวลาศึกษาทั้งสิ้น 7 ปี ได้รับปริญญาโททางเทววิทยา และปริญญาเอกทางปรัชญา พร้อมทั้งได้เหรียญพิเศษทางดนตรีและอักษรศาสตร์ โดยในช่วงที่อยู่ในประเทศอิตาลี ครูมงคลได้รับศีลอนุกรมเป็นพระสงฆ์จากพระคาร์ดินัลมาร์แคตตี ณ พระวิหาร ยวง ลาดราน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2476 เป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรก ที่รับศีลบรรพชาในใจกลางแห่งพระศาสนจักร


บาทหลวงมงคลกลับมาถึงประเทศไทยในกลางปี 2477 พร้อมได้รับตำแหน่ง ปลัดวัดเชียงใหม่ ก่อนจะย้ายไปเป็นอาจารย์สามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา เมื่อปี 2480 เมื่อสามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชาถูกปิดเนื่องจากกระแสชาตินิยม และกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับอินโดจีนฝรั่งเศส ในปี 2484 บาทหลวงมงคลจึงกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเชียงใหม่ และย้ายลงมาอยู่วัดพิษณุโลกในช่วง ปี 2487-2488 จากนั้นจึงกลับไปเป็นอธิการสามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา ซึ่งได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 


บาทหลวงมงคลได้บำเพ็ญตนพัฒนาและทำนุบำรุงสามเณราลัยแห่งนี้ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2496 จึงได้รับโทรเลขด่วนฉบับหนึ่งจากพระอัครสังฆราชยอห์น ดูลี่ เนื้อหากล่าวถึงการที่ พระสันตะปาปาทรงจัดตั้งเทียบสังฆมณฑลหรือมิสซังท่าแร่ใหม่ มอบให้คณะสงฆ์ไทย และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบาทหลวงมงคลเป็นพระสังฆราชในมิสซังใหม่นี้ แทนพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ซึ่งจะย้ายไปปกครองมิสซังอุบลราชธานี โดยถือเป็นพระสังฆราชชาวไทยคนแรกที่ได้ทำหน้าที่ปกครองเขตมิสซังท่าแร่-หนองแสง อันเป็นอัครมุขมณฑลแห่งภาคอีสานของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย


งานอภิเษกพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต จัดขึ้น ในวันพุธที่ 19 สิงหาคม 2496 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ โดยมีทั้งพระสงฆ์ ภราดา ภคินี ทุกคณะในประเทศไทย ตลอดจนทูตานุทูต พ่อค้าคหบดี ท่านผู้มีเกียรติ และประชาชน เดินทางมาจากทั้งในและนอกพระนคร โดยภาพยนตร์ได้บันทึกภาพตั้งแต่ขบวนการอภิเษกเริ่มเข้าวัด ประกอบด้วยพระสงฆ์เดินนำหน้าต่อมาเป็นพระสงฆ์ที่ช่วยในจารีต คือ บาทหลวงสมุห์, บาทหลวงเสน่ห์, บาทหลวงเลอ็อง, บาทหลวงกูรุเน, บาทหลวงศรีนวล, บาทหลวงแท่ง, บาทหลวงวินทร์, บาทหลวงสมชาย และบาทหลวงบริสซอง แล้วจึงเป็นพระสมณทูตผู้อภิเษก, พระสังฆราชโชแรง และพระสังฆราชบาเยต์ผู้ช่วยอภิเษก ส่วนพระสังฆราชสงวนและอารุโนด์ รั้งท้ายขบวน พระอัครสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต ประนมมือสงบเสงี่ยมน่าเกรงขาม เมื่อเข้าประจำที่ในวัดเรียบร้อยแล้ว พิธีอภิเษกก็เริ่มต้น สลับกับการถวายมหาบูชามิสซามโหฬาร โดยมีคณะสามเณรและยุวนิสภายใต้ความอำนวยการของบาทหลวงเลอดึก ขับร้องประสานเสียงต่าง ๆ


ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ได้ปรากฏภาพพิธีแห่ศีลมหาสนิทในวันสมโภชพระคริสตวรกาย ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ ถ่ายราวปี 2497 ปรากฏฉากหลังเป็นตึกกอลมเบต์ มุมฝั่งทางถนนเจริญกรุง พื้นที่ลานโรงเรียน และอาคารสุวรรณสมโภชที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2494


ภาพยนตร์นี้มีความสำคัญในฐานะจดหมายเหตุบันทึกพิธีการสำคัญและมีอิทธิพลอย่างยิ่งของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคการปกครองของพระสังฆราชชาวต่างชาติในภาคอีสานมาเป็นชาวไทย แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีเสียงและไม่มีอักษรข้อความบรรยายใด ๆ แต่ก็สามารถแสดงให้เห็นภาพเคลื่อนไหวของพิธีการอภิเษกพระสังฆราช บุคคลสำคัญของวงการ บรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์ และความศรัทธาของคริสตศาสนิกชนโรมันคาทอลิกในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งบางทีข้อความหรือคำพูดก็ไม่อาจแสดงให้เห็นได้เทียบเท่า