[ตัดหัวต่อหัว]

ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เงียบ / 10 นาที
ปีสร้าง     [2470 - 2473]
ผู้สร้าง     พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากร ประสูติเมื่อวันจันทร์ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 (นับตามปีปฎิทินแบบเก่า 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) และเสด็จฯ ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2437 อันเป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เริ่มกำเนิดขึ้น กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน คงเป็นเช่นเดียวกับพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น ๆ ที่โปรดเล่นกล้องถ่ายรูปนิ่งตามพระราชนิยมของพระราชบิดามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงมาอยู่ในดินแดนหนึ่งที่เป็นต้นกำเนิดภาพยนตร์ และเป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์กำลังแผ่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว พระองค์คงจะสนพระทัยและทรงเล่นกล้องถ่ายภาพยนตร์ตั้งแต่ครั้งที่ยังทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ จึงพบหลักฐานว่าทรงสนพระทัยทั้งการผลิตหรือการสร้าง และการใช้ภาพยนตร์มาตลอด นับตั้งแต่ที่เสด็จกลับมาสยามในปี 2447

ตัวอย่างเช่น ปี 2451 ในงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร ทรงออกร้านเป็นการเดินรถไฟเล็กรอบ ๆ งาน และในรถไฟเล็กทรงจัดฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กไว้อย่างน่าพิศวงต่อมาปี 2457 ทรงเล่าถึงพระราชนิยมด้านภาพยนตร์ ในการประทานสัมภาษณ์แก่นิตยสาร The Kinematograph and Lantern Weekly ของอังกฤษว่า ทรงมีห้องสำหรับฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่สยาม ทรงถ่ายภาพยนตร์เพื่อใช้สอนเหล่าทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ และทรงสนพระทัยการใช้ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา นอกจากนี้ยังทรงทดลองถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ปี 2465 ทรงก่อตั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวขึ้นในกรมรถไฟหลวงที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ เพื่อเป็นศูนย์ผลิตภาพยนตร์อย่างเป็นทางการแห่งแรกของไทย ในขณะเดียวกัน ยังทรงมีกิจการภาพยนตร์สมัครเล่นส่วนพระองค์ ซึ่งทรงตั้งชื่อว่า “บ้านดอกไม้ฟิล์ม” อันมาจากชื่อวังบ้านดอกไม้ ที่ประทับของพระองค์

หอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. “บ้านดอกไม้ฟิล์ม” จากทายาทของพระองค์ จำนวนกว่า 300 ม้วน  ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่ทรงถ่ายทำและโปรดให้ช่างถ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ถ่ายทำ เป็นภาพยนตร์ประเภทบันทึกพระราชกิจในตำแหน่งหน้าที่ เช่น การเดินทางไปตรวจราชการในจังหวัดต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศ การเดินทางไปดูกิจการต่างประเทศ ทั้งในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นประเภทบันทึกเหตุการณ์พระราชพิธีหรือประเพณีสำคัญของสังคม ส่วนหนึ่งเป็นประเภทบันทึกเหตุการณ์ส่วนพระองค์ในวังหรือในครอบครัว และส่วนสุดท้ายซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก เป็นประเภทการทดลองสร้างภาพยนตร์ ทั้งแนวทดลองทางศิลปะและแนวทดลองทางเทคนิค นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ที่ทรงซื้อมาจากต่างประเทศหรือมีผู้ถวายมา เช่น ภาพยนตร์เกี่ยวกับการก่อสร้างถนน ภาพยนตร์เกี่ยวกับกิจการรถไฟต่างประเทศ ภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคการถ่ายพลิกแพลง ในชื่อ Trick Cinematograph ซึ่งเข้าใจว่าทรงซื้อมาเพื่อเป็นแบบอย่างในการถ่ายทำภาพยนตร์พลิกแพลงส่วนพระองค์ซึ่งไม่ปรากฏชื่อจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ใช้ชื่อจัดตั้งว่า [ตัดหัวต่อหัว] อันเป็น ทริคการถ่ายทำที่นักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นนิยมทำกัน

ภาพยนตร์ [ตัดหัวต่อหัว] ถ่ายทำในราวต้นทศวรรษที่ 2470 มีด้วยกัน 3 เรื่อง ไม่ปรากฏชื่อเรื่องทั้งสามเรื่อง เป็นกลเม็ดการถ่ายซ้ำซ้อน (double exposure) เรื่องแรกยาว 5 นาที ถ่ายเด็กหญิงทำท่าว่ายแหวกอยู่ใต้น้ำ ในฉากหลังดำ ซ้อนทับกับการถ่ายผ่านกระจกตู้ปลา เพื่อให้เห็นเป็นเด็กหญิงดำน้ำ เรื่องที่สอง ยาว 3 นาที เป็นการพรางแสงด้วยฉากดำ เล่าเรื่องชายคนหนึ่งนั่งเล่นไพ่อยู่คนเดียว แล้วถอดหัวตัวเองไปวางที่เก้าอี้ตรงข้ามเพื่อเล่นไพ่กับตนเอง จุดบุหรี่ให้หัวตัวเองสูบ แล้วเอาหัวกลับมาต่อตามเดิม เรื่องสุดท้ายเป็นการทดลองถ่ายจัดแสงบังเงาและถ่ายซ้ำซ้อนภาพ เป็นเด็กหญิงซึ่งมีหัวเป็นคนอื่นกำลังร่ายรำ ยาว 41 วินาที

ในช่วงเวลานั้น ภาพยนตร์สมัครเล่นกำลังได้รับความนิยมในหมู่เจ้านายและชนชั้นสูงในสยาม โดยในปี พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม” ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการประชุมฉายภาพยนตร์ของสมาชิกเป็นประจำทุกเดือน และกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม จนสมาคมยุติลงภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับที่สิงคโปร์ กระนั้นก็มิได้ทรงทอดทิ้งการถ่ายภาพยนตร์ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์สิงคโปร์เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ที่นั่นในปี 2479 ว่าระหว่างที่ประทับอยู่ในสิงคโปร์ ทรงพยายามจัดตั้งสโมสรสำหรับนักภาพยนตร์สมัครเล่นในสิงคโปร์เช่นกัน

ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายเรื่อง [ตัดหัวต่อหัว] นี้ จึงนับเป็นประจักษ์พยานถึง ฉันทะ วิริยะ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายภาพยนตร์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์สมัครเล่นโลกในอดีต และเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งยังมีคุณค่าในฐานะเป็นภาพยนตร์ทดลองทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของไทยเท่าที่มีการค้นพบ