โฆษณาเพียว

ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เสียง / 2 นาที

ผู้สร้าง สำนักโฆษณาสรรพสิริ


ภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่มยี่ห้อ เพียว สำหรับเผยแพร่ทางโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์ ราวปี พ.ศ. 2506-2508 ผลงานสร้างสรรค์ของ ปยุต เงากระจ่าง ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย มาตั้งแต่ พ.ศ. 2498  ผลิตโดย “สำนักโฆษณาสรรพสิริ” ของ สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้บุกเบิกการผลิตภาพยนตร์โฆษณาการ์ตูนรายแรกของไทย


ภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ ถ่ายทำด้วยเทคนิคแอนิเมชันวาดมือ มีทั้งสิ้น 18 คัท ในความยาวประมาณ 1 นาที โดยใช้ตัวละครเป็นตัวการ์ตูนชุด “ตุ๊กตา” ของ พิมน กาฬสีห์  (ชื่อเดิมคือ พิมล) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการ์ตูนสำหรับเด็กในเมืองไทย พิมนเริ่มต้นจากการวาดการ์ตูนประกอบลงนิตยสารต่าง ๆ ในนามปากกว่า “ตุ๊กตา” ก่อนจะเริ่มทำนิตยสาร “ตุ๊กตา” เป็นของตนเอง ราว พ.ศ. 2495 นับเป็นนิตยสารการ์ตูนตลกสำหรับเด็กเล่มแรกของไทย และได้รับความนิยมเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่าน จนเป็นต้นแบบให้มีนิตยสารแนวนี้ออกมาอีกหลายเล่ม 


ตัวละครของการ์ตูนชุด “ตุ๊กตา” ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก ๆ คือ “หนูนิด” พี่ชายคนโต ผู้พกหนังสติ๊กติดตัวเสมอ “หนูไก่” เด็กหญิงที่มีโบขนาดใหญ่ที่ผมเป็นเอกลักษณ์ “หนูหน่อย” เด็กหญิงที่นุ่งกางเกงยีนส์และไว้ผมทรงน้ำพุ “หนูแจ๋ว” น้องสาวคนสุดท้อง สวมชุดกระโปรงลายจุด และมักเริ่มต้นประโยคคำพูดว่า “ฮึ” ทุกครั้ง  โดยในโฆษณาเครื่องดื่มยี่ห้อ เพียว นี้ ปยุตได้นำตัวละครทั้งหกจากครอบครัวตุ๊กตาของพิมน มาร้องเพลงและเต้นระบำกับขวดน้ำส้มและนมสดเพียวอย่างสนุกสนานและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน


จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของโฆษณา คือเพลงประกอบที่ขึ้นต้นว่า “เพียว เพียว เพียว ...” และมีเนื้อหาเชิญชวนให้ดื่ม รวมทั้งบรรยายสรรพคุณของน้ำส้มและนมสด เพียว ตามลำดับ เพลงดังกล่าวใช้ทำนองของเพลง In a Persian Market เพลงคลาสสิกปี ค.ศ. 1920 ของ อัลเบิร์ต เคเทลบีย์ (Albert Ketèlbey) คีตกวีชาวอังกฤษ ซึ่งส่งผลให้เพลงโฆษณา เพียว ถือเป็นเพลงโฆษณาสินค้าชิ้นแรก ๆ ที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาแสนนานแม้กระทั่งปัจจุบัน ผู้คนร่วมรุ่นดังกล่าวหลายคนยังคงร้องเพลงนี้ได้อยู่เสมอ โดยกลเม็ดการนำเนื้อเพลงโฆษณามาใส่ทำนองเพลงสากลที่คุ้นหูเช่นนี้ ถือเป็นกระแสที่คนทำโฆษณาในเมืองไทยช่วงนั้นกำลังนิยม เริ่มจากเพลงโฆษณาภาพยนตร์เรื่อง เห่าดง ปี พ.ศ. 2501 ของ แท้ ประกาศวุฒิสาร 


ภาพยนตร์โฆษณาแม้เพียงสั้น ๆ นี้ จึงมีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ในฐานะการเป็นอนุสรณ์ถึงผลงานของนักวาดการ์ตูนไทยคนสำคัญถึงสองคน ในขณะเดียวกันยังเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แอนิเมชันโฆษณาสินค้าโดยคนไทยรุ่นแรก รวมทั้งเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์โฆษณาที่มีอิทธิพลต่อผู้คนมายาวนาน จนกลายเป็นมรดกความทรงจำที่ยังคงติดหู ติดตา และติดใจ แม้เวลาจะผ่านมานานกว่าครึ่งศตวรรษ