ห้วงรักเหวลึก

ฟิล์ม 16 มม. / สี / พากย์ / 80 นาที

บริษัทสร้าง บริพัตร์ภาพยนตร์

ผู้อำนวยการสร้าง ชอุ่ม วิสุทธิผล

ผู้กำกับ สมควร กระจ่างศาสตร์

ผู้ประพันธ์ หลวงวิจิตรวาทการ 

ผู้เขียนบท เพ็ญศรี ไพฑูรย์

ผู้ถ่ายภาพ วัน. โท. เอง., ทวีวงศ์

ผู้แสดง สมควร กระจ่างศาสตร์, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร, เติม โมรากุล, จันตรี สาริกบุตร, สำราญ เหมือนประสิทธิเวช, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, สาหัส บุญหลง, ล้อต๊อก, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ชูศรี มีสมมนต์


ห้วงรักเหวลึก เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง “ห้วงรัก-เหวลึก” ของหลวงวิจิตรวาทการ บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ระหว่างปี 2481 – 2487 ที่เขามีสถานะเป็นเสมือน “ขุนพลทางความคิด” ข้างกายของจอมพล ป. และเป็นผู้นำความคิดของท่านผู้นำไปถ่ายทอดเป็นงานวรรณกรรมและบทละคร


เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 หลวงวิจิตรวาทการ และ จอมพล ป. ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในฐานะอาชญากรสงคราม จากการมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อถูกยกฟ้อง ใน พ.ศ. 2488  หลวงวิจิตรวาทการได้ใช้เวลาในช่วงที่ต้องว่างเว้นจากราชการ หันไปเขียนนวนิยายนับสิบเรื่องและเรื่องสั้นอีกจำนวนมาก ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง ในปี 2493 เมื่อจอมพล ป. กลับมามีอำนาจ “ห้วงรัก-เหวลึก” ถือเป็นนวนิยายที่สำคัญที่สุดที่หลวงวิจิตรวาทการประพันธ์ขึ้นในช่วงดังกล่าว ทั้งเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และมีขนาดยาวที่สุด รวมทั้งได้รับการวิเคราะห์วิจารณ์ถึงมากที่สุด 


“ห้วงรัก-เหวลึก” พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2492 โดยมีความยาวถึง 5 เล่ม เล่าเรื่องราวของหญิงแกร่งที่ชื่อว่า ประพิมพรรณ ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ซึ่งต้องผจญกับผู้คนมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพบชะตากรรมอันเลวร้ายทั้งชีวิตและความรักจนบีบให้เธอต้องลุกขึ้นสู้อย่างไม่ปราณี แม้จะถูกวิสามัญฆาตกรรม แต่วีรกรรมของเธอก็ยังได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วไป การได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้อ่าน ทำให้ ประพิมพรรณ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของผู้หญิงนักสู้ ในช่วงที่กระแสความคิดเรื่องสิทธิสตรีกำลังได้รับการพูดถึงในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 โดยมีแกนนำคือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของจอมพล ป. ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ก่อตั้งสภาสตรีแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2499


ปี พ.ศ. 2498 บริษัท บริพัตร์ภาพยนตร์ ได้นำบทประพันธ์ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของสังคมเรื่องนี้มาสร้างภาพยนตร์ 16 มม. พากย์ เรื่อง ห้วงรักเหวลึก โดยตัดตอนชีวิตของประพิมพรรณมาจากช่วงต้นของนวนิยาย ราว 10 ตอนแรก จากความยาวทั้งหมด 50 ตอน เป็นช่วงที่เธอได้กระทำการฆาตกรรมถึงสองครั้งทั้งกับ มาโนช คนรักคนแรก และ พรเพิ่ม อดีตสามี รวมทั้งเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมเพื่อนรักของเธอเอง ก่อนจะจบลงด้วยการเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ต่างจังหวัด 


นักแสดงเกือบทั้งหมดของ ห้วงรักเหวลึก เช่น สุพรรณ บูรณะพิมพ์, ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร, จันตรี สาริกบุตร, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ฯลฯ รวมถึง สมควร กระจ่างศาสตร์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้กำกับด้วย ล้วนแล้วแต่เป็นนักแสดงมีชื่อในยุคเฟื่องฟูของละครเวทีในช่วงปลายสงครามโลก ครั้งที่ 2 ก่อนที่กลุ่มคนละครเวทีจะกลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหลังจบสงคราม และนอกจาก ห้วงรักเหวลึก ในช่วงทศวรรษ 2490 นี้ วรรณกรรมยุคหลังสงครามของหลวงวิจิตรวาทการยังได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เหล็กล้างแค้น (2494) คลุมถุงชน (2499) หนีเมีย (2499)  รวมถึง พระเจ้ากรุงธนบุรี (2495) ที่สร้างจากบทประพันธ์ในช่วง 2480


ห้วงรักเหวลึก จึงมีคุณค่าในฐานะภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนวนิยายที่โด่งดังที่สุดของบุคคลที่เคยมีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมไทยมากที่สุดคนหนึ่ง และเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมเรื่องสิทธิสตรีในสังคมไทยยุคแรกเริ่ม ทั้งการตอบโต้การกดขี่ทางเพศ และการเดินเรื่องโดยผู้หญิงซึ่งไม่ได้เป็นกุลสตรีตามขนบ ในขณะเดียวกันยังเป็นบทบันทึกซึ่งเหลืออยู่น้อยนิดของวงการภาพยนตร์ไทย ช่วงก่อน พ.ศ. 2500 ที่นักแสดงที่มีชื่อเสียงจากละครเวทีกำลังมีบทบาทสำคัญ รวมถึงเป็นประจักษ์พยานในฝีมือการแสดงภาพยนตร์ยุคแรกของ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ นักแสดงหญิงผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะ “ราชินีแห่งการละคร” 


ปี 2526 ช่วงที่ โดม สุขวงศ์ กำลังทำหอภาพยนตร์ทดลอง ที่วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ ประยุกต์ บุนนาค หนึ่งในอาสาสมัครของโครงการได้ซื้อฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากตลาดของเก่าคลองถม แต่พบว่ามีเพียงม้วน 1 และม้วน 3 ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติแล้ว ปี 2529 โดม สุขวงศ์ ได้ซื้อฟิล์มภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งมาจากตลาดคลองถม และพบโดยบังเอิญว่ามีฟิล์ม ห้วงรักเหวลึก ม้วน 2 ติดมาในกระเป๋า จึงนับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการอนุรักษ์มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกเริ่มต้นประวัติศาสตร์หอภาพยนตร์