เวลาในขวดแก้ว

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 117 นาที

บริษัทสร้าง วี.เอ็น. โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง ประยูร วงษ์ชื่น

ผู้กำกับ ประยูร วงษ์ชื่น, อมรศรี เย็นสำราญ, อนุกูล จาโรทก

ผู้เขียนบท อมรศรี เย็นสำราญ

ผู้กำกับภาพ วิเชียร เรืองวิชาญกุล

ผู้ลำดับภาพ ประลอง แก้วประเสริฐ

ผู้กำกับศิลป์ กวี เจริญภาศรี, ชินวิทย์ รุจิโกไศย, วีระนิติ์ ศรีสุข

ผู้ทำดนตรีประกอบ บัตเตอร์ฟลาย

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย รัชตะ สุพาสนาภิวัฒน์, จีราภรณ์ หลงเจริญลาภ

ผู้แสดง นฤเบศร์ จินปิ่นเพชร, วาสนา พูนผล, ปวีณา ชารีฟสกุล, จิตโสภิณ ลิมปิสวัสดิ์, วรสิทธิ์ ชีพสาธิต, อภิชาต ติ๋วตระกูล, มยุรา ธนะบุตร, จรัล มโนเพ็ชร, สืบ บุณยรัตพันธุ์, สาลินี ภักดีผล


ภาพยนตร์หมุดหมายสำคัญของยุคสมัย สร้างจากนวนิยายเรื่องสำคัญในชื่อเดียวกันของ ประภัสสร เสวิกุล แสดงภาพวัยรุ่นไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ที่ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคทั้งจากแรงผลักดันภายในของตน จากครอบครัวที่ล่มสลาย และจากภาวะสังคมการเมืองระดับชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง บังคับให้พวกเขาต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ไปพร้อม ๆ กับบาดแผลทางร่างกายและจิตวิญญาณ ขณะที่ยังคงเฝ้าฝันถึงอนาคตอันสวยงาม 


ในขณะที่หนังวัยรุ่นไทยในยุคนั้นมักเน้นขายความสนุกสนานบันเทิง เวลาในขวดแก้ว (ซึ่งได้ชื่อมาจากเพลงดังของจิม โครเช่ Time in the Bottle) กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม ด้วยการเป็นหนังวัยรุ่นที่ย้อนไปเล่าเหตุการณ์ในช่วงปีก่อนปี 2520 ตามบทประพันธ์ และเสนอภาพอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความลึกซึ้งในอารมณ์ เลือกประเด็นปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม โยงไปถึงการตื่นตัวทางอุดมการณ์ นำเสนออย่างละเมียดละไม โดยไม่เร่งรีบหรือฉาบฉวย และให้เวลากับการพัฒนาตัวละครหลายตัวในเรื่อง เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและร่วมรับรู้ประสบการณ์ของพวกเขา อีกทั้งยังเป็นหนังที่พิถีพิถันในงานสร้าง การสร้างบรรยากาศ และการกำกับศิลป์ 


เวลาในขวดแก้ว เป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของ นฤเบศร์ จินปิ่นเพชร ซึ่งรับบทนำเป็น นัต วัยรุ่นชายที่พ่อแม่ (แสดงโดยจรัล มโนเพ็ชร และมยุรา ธนะบุตร) แยกทางกัน และ วาสนา พูนผล ในบท จ๋อม เพื่อนผู้หญิงที่นัตแอบมีใจให้ นอกจากนี้ยังมี จิตโสภิณ ลิมปิสวัสดิ์ แสดงเป็น หนิง น้องสาวนัต และ ปวีณา ชารีฟสกุล ในบทสำคัญคือ ป้อมเพื่อนสนิทของนัต เด็กวัยรุ่นเหล่านี้ รวมทั้งเพื่อนคนอื่น ๆ ต่างประสบมรสุมในชีวิตแบบต่าง ๆ ความไม่ลงรอยกันของพ่อและแม่ ทำให้นัตและหนิงรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ส่วน จ๋อมแม้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้รับความอบอุ่น ในขณะที่ ป้อม เกิดความตื่นตัวทางการเมืองและกลายเป็นแกนนำการประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมให้แรงงาน อันเป็นกระแสความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญในช่วงยุคประชาธิปไตยเบ่งบานระหว่างปี 2516-2519 แต่สุดท้าย เหตุการณ์นองเลือดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นหลุมดำอันโหดร้ายที่บดบังความฝันเรืองรองของวัยรุ่นเหล่านี้ และอาจจะหมายถึงวัยรุ่นไทยโดยรวมไปพร้อม ๆ กัน


การแสดงภาพการนองเลือดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในหนังเรื่องนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ เพราะถึงแม้หนังจะไม่ได้พาเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ แต่ใช้ภาพข่าวจากโทรทัศน์ในการเล่า และแสดงภาพเพื่อนของนัตที่ถูกทำร้ายจนเลือดเปรอะเต็มเสื้อ ถึงกระนั้นหนังทำให้เห็นว่า นี่คือเหตุการณ์สำคัญ เมื่อการเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ของชาติ ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตคน โดยเฉพาะคนที่กำลังเติบโตและแสวงหาความหมายในชีวิต


เวลาในขวดแก้ว จึงมีนัยยะแห่งประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยในช่วงเวลาที่สังคมไทยเกิดความตื่นตัวทางการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะการที่วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ต่างเปล่งเสียงแสดงออกถึงความต้องการเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเขียนประวัติศาสตร์ของตนเอง ไม่ต่างจากในยุคที่เกิดเหตุการณ์ในหนัง อีกทั้งกรณี 6 ตุลา ก็ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างของความโหดร้ายและบาดแผลของความทรงจำที่ยังคงไม่ลบเลือน


นอกเหนือจากบทประพันธ์ของ ประภัสสร เสวิกุล  ผู้กำกับสามคนของหนังสมควรได้รับคำชมในทุกด้าน ทั้ง อมรศรี เย็นสำราญ อนุกูล จาโรทก และที่สำคัญที่สุดคือ ประยูร วงษ์ชื่น ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วย ก่อนหน้านี้ ผู้ชมคุ้นเคยเขาในฐานะผู้กำกับหนังตลกและหนังผี (เช่น กองพันทหารเกณฑ์ และ ตะเคียนคะนอง) แต่การพลิกอารมณ์มาทำหนังชีวิตหนัก ๆ กลับประสบความสำเร็จเกินคาด ถึงขนาดที่คนที่เคยปรามาสตัวเขาและหนัง ต้องยอมรับในฝีมือและคุณภาพ  เวลาในขวดแก้ว ได้รับรางวัลสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดารานำหญิงยอดเยี่ยม (ปวีณา ชารีฟสกุล) บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (อมรศรี เย็นสำราญ) และเพลงประกอบยอดเยี่ยม (วงบัตเตอร์ฟลาย) 


เวลาในขวดแก้ว จึงไม่เพียงแต่จะมีสถานะเป็นเครื่องเก็บวันเวลาของกลุ่มวัยรุ่นไทยในช่วงก่อนและหลังเดือนตุลาคม 2519 ตามคำประกาศของหนังที่ปรากฏในตอนต้น หากแต่ยังเป็นตัวอย่างความกล้าหาญของคนทำหนังไทย ที่ลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์ที่ในแนวทางที่แตกต่างจากความคุ้นเคยหรือกระแสนิยม และประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ จนสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างลึกซึ้งและละเมียดละไม