[การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM] (ส่วนที่ไม่ได้ใช้)

ฟิล์ม 35 มม. / ขาวดำ / เงียบ / 49.45 นาที

ผู้สร้าง กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง


กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง เป็นศูนย์ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์อย่างเป็นทางการแห่งแรกของสยาม และเป็นหน่วยงานภาพยนตร์ของรัฐแห่งแรกแห่งหนึ่งในโลก จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2465 สมัยรัชกาลที่ 6 โดย พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในขณะนั้น ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ข่าวและสารคดีเผยแพร่กิจการของกรมรถไฟ พระราชกรณียกิจและพระราชพิธีต่าง ๆ รวมถึงภาพยนตร์โฆษณาประชาสัมพันธ์กิจการของหน่วยงานราชการอื่น ๆ ของสยาม โดยให้โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่าไปฉายในโปรแกรม และนำออกฉายด้วยหน่วยฉายภาพยนตร์เคลื่อนที่ของตนเอง รวมทั้งมีการทำสำเนาเผยแพร่และขายให้ต่างประเทศด้วย


หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ผลงานภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ชุดที่ถ่ายทำในสมัยรัชกาลที่ 7 ไว้จำนวนหนึ่ง หลังจากมีการค้นพบภาพยนตร์เหล่านี้ในตู้ที่อาคารเก่าย่านสถานีหัวลำโพงของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2524 แต่ภาพยนตร์เกือบทั้งหมดในชุดนี้ ล้วนเป็นเศษฟิล์มเนกาติฟ 35 มม. ขาวดำ ที่เหลือจากการตัดต่อหรือที่เรียกกันว่า Outtake หนึ่งในนั้นคือฟิล์มส่วนที่ไม่ได้ใช้ในภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ระหว่างวันที่ 6 มกราคม ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2469  ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์จักรีที่เสด็จฯ หัวเมืองฝ่ายเหนือไปถึงนครเชียงใหม่ 


จากข้อมูลแจ้งความของหนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉบับต่าง ๆ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2470 พบว่าภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์นี้ ออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ในชื่อ การเสด็จเลียบเมืองเหนือ Royal Tour in Northern Siam ตั้งแต่วันที่ 9-26 เมษายน 2470 โดยถ่ายทอดให้ประชาชนได้เห็นเหตุการณ์และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ตลอดระยะทางเสด็จพระราชดำเนิน แบ่งออกเป็น 3 ภาค ภาคละ 3 ม้วน รวม 9 ม้วน  ม้วนละราว 15 นาที ดังนั้น คาดว่าทั้งเรื่องยาวประมาณ 2 ชั่วโมง แต่เศษฟิล์มซึ่งถูกตัดแยกออกมาที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ได้นี้ มีอยู่ราว 20 ม้วน ม้วนละ 2-3 นาที รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 50 นาที  


แม้จะเป็นเพียงเศษที่เหลือใช้ แต่ภาพยนตร์ได้ทำให้เห็นถึงเค้าโครงและมุมมองของการนำเสนอข่าวเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นแก่ประชาชน จากฝีมือการถ่ายทำของหลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) หัวหน้าช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวในขณะนั้น โดยเฉพาะการถ่ายขบวนแห่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าประตูเมืองเชียงใหม่โดยประทับบนหลังช้าง ท่ามกลางขบวนช้างหลายสิบเชือก นอกจากนี้ยังปรากฏภาพพระองค์ในพระอิริยาบถต่าง ๆ ทั้งในการประกอบพระราชกรณียกิจและในวันที่เว้นว่างจากพระราชภารกิจ ซึ่งเป็นมุมที่ไม่อาจพบได้ในภาพยนตร์สมัครเล่นของเหตุการณ์เดียวกันนี้ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงถ่ายไว้ด้วยฟิล์ม 16 มม.   


ปัจจุบัน เศษภาพยนตร์ที่เคยถูกมองว่าไม่จำเป็นจนไม่ได้ปรากฏสู่สายตาประชาชนเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน จึงแปรสถานะกลายเป็นสิ่งจำเป็นของชาติ เมื่อส่วนที่ถูกตัดออกไปนี้กลับมีคุณค่าในการเติมเต็มบันทึกส่วนพระองค์ด้วยภาพยนตร์ของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่ออธิบายเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองให้ผู้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ เป็นการยืนยันบทบาทหน้าที่ของภาพยนตร์ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ยังคงคุณูปการแม้จะเหลือเพียงเศษเสี้ยวที่กระจัดกระจายซึ่งผู้บันทึกไม่ได้นำมาเรียบเรียง