แก้ว

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 114.12 นาที

บริษัทสร้าง ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น

ผู้อำนวยการสร้าง เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร

ผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์

ผู้เขียนบท วิศณุศิษย์

ผู้กำกับภาพ สมบูรณ์สุข

ผู้กำกับศิลป์ นิยมศิลป์

ผู้ลำดับภาพ ประลอง แก้วประเสริฐ

ผู้แสดง ทูน หิรัญทรัพย์, ลินดา ค้าธัญเจริญ, ศรีไศล สุชาตวุฒิ, ครรชิต ทิมกุล, 

มรกต จรรยาดี, มาตา ภูรพันธ์, บุญส่ง คงล้อมญาติ, ด.ญ.เชอรี่ จันทรพฤกษา, ด.ญ.อุ๋ย จินดานุช, จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา

ผู้บริจาค 1. ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น โครงการหนังไทยกลับบ้าน 2. สมบูรณ์สุข นิยมศิริ


ผลงานของ เปี๊ยก โปสเตอร์ เรื่องนี้ เล่าเรื่องรักสี่เส้าโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ แก้ว หญิงสาวสวย น่ารัก แต่ฐานะยากจน และไร้ที่พึ่งจึงต้องยอมเป็นเมียน้อยของ ทวีศักดิ์ เศรษฐีใหญ่ที่ได้ครอบครองแก้วทว่าเงินมิอาจซื้อความรักจากเธอได้สำเร็จ กระทั่งวันหนึ่งเธอเก็บข้าวของออกจากบ้านจนมาพบกับ นที นักแต่งเพลงหนุ่มที่มองโลกสดใส ทั้งคู่ไปเที่ยวและเต้นรำบนฟลอร์ดิสโก้ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม แก้วจำต้องกลับไปสู่อ้อมกอดของทวีศักดิ์เพื่อให้แม่ได้อยู่สุขสบาย แต่แล้วนทีกับแก้วประสบอุบัติเหตุจากความประมาทของ นิด ภรรยาของทวีศักดิ์ นิดจึงอาสาดูแลนทีต่อ เกิดเป็นการร่วมมือกันสร้างสรรค์บทเพลงประกอบภาพยนตร์ที่นิดเป็นผู้อำนวยการสร้างนั่นเอง


เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้ชื่อว่าเป็นนักทำหนังหัวก้าวหน้าคนหนึ่งในยุค 70 และเมื่อเข้าสู่ยุค 80 เขาหันมาทำหนังรักเนื้อหาเข้มข้น ซึ่ง แก้ว คือหนึ่งในผลงานเหล่านั้นทว่ายังดำรงสถานะหนังเรื่องสำคัญแห่งยุคสมัย ด้วยการถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะตัวละคร แก้ว สาวสมัยใหม่ รักอิสระ ส่วนลึกแล้วต้องการยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ส่วน นที เป็นนักดนตรีกลางคืน พักอาศัยในแฟลต ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างแบบใหม่ในยุคนั้น มีฉากที่นางเอกสระผมให้พระเอกสองต่อสองในห้องน้ำแฟลต ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับขนบของนางเอกไทยในยุคสมัยเดียวกัน จนคนดูบางส่วนรับไม่ได้ แต่สุดท้ายก็เป็นผลงานแจ้งเกิดกับพระนางอย่าง ทูน หิรัญทรัพย์ และ ลินดา ค้าธัญเจริญ


จุดเด่นของหนังคือการใช้ดนตรีดิสโก้ช่วยเล่าเรื่องอย่างจริงจัง อันถือเป็นแนวเพลงที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก นอกจากนี้ เพลง “ความรักเพรียกหา” ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์และเป็นเพลงที่นทีแต่งนั้น ยังเป็นตัวแทนความนิยมที่นักฟังเพลงไทยเริ่มให้ความสนใจนักร้องนักดนตรีไทยที่แต่งเพลง ร้องเพลง และเล่นดนตรีเองด้วย ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนทางค่านิยมจากทศวรรษที่ 50 และ 60 ที่คนในวงการเพลงมักจะทำหน้าที่แยกกัน แก้ว จึงเป็นบทบันทึกของหนุ่มสาวสมัยใหม่ในศักราชที่ออกฉาย อันสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและวัฒนธรรมที่ชัดเจน