บ้านทรายทอง

35 มม. / สี / เสียง / ความยาว 137 นาที

บริษัทสร้าง รณภพฟิล์ม

ผู้อำนวยการสร้าง  เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร, ประชา มาลีนนท์

ผู้กำกับ รุจน์ รณภพ

ผู้ช่วยผู้กำกับ วุฒิโก วรรธโนทัย

ผู้กำกับบท รุจน์ รณภพ

ผู้เขียนบท สุมลทิพย์

ผู้ประพันธ์ ก. สุรางคนางค์

ผู้ถ่ายภาพ อรัญ สวนสโมสร

ผู้กำกับแสง ดำเนิน ดาวนัง

ผู้ถ่ายภาพนิ่ง อัศนีย์ วิวัฒนานนท์

เครื่องแต่งกาย ร้าน K.L. เทเลอร์ บางซื่อ, น้ำอ้อย ดีไซน์

ผู้ทำอักษรประกอบ เกษียร สิทธิสาตร์, สมชาย สิทธิสาตร์

ผู้บันทึกเสียง ปง อัศวินิกุล

ผู้ลำดับภาพ “รินทร์”

ผู้ประพันธ์เพลง ปราจีณ ทรงเผ่า, มนตรี เอี่ยมอ่อง

ผู้แสดง จารุณี สุขสวัสดิ์, พอเจตน์ แก่นเพชร, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช, ทาริกา ธิดาทิตย์, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, ด.ช.สมคิด หงษ์สกุล, สุลาลีวัลย์ สุวรรณฑัต,  สุปราณี ยุวกนิษฐ์, มารศรี ณ บางช้าง, สุพรรณี จิตต์เที่ยง, นราธิป พงษ์พิทักษ์, เจริญ อากานนท์, อัมรินทร์ พรประทาน, ผจญ ดวงขจร, มาเรีย เกตุเลขา, สอาด เกษะปิน, วงศ์ ศรีสวัสดิ์, ประวิทย์ สุจริตจันทร์, น้อย เฉยสวัสดิ์

รางวัล สุพรรณหงส์ทองคำ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2523 เพลงยอดเยี่ยม ชาลี อินทรวิจิตร, ภาณุพันธุ์


นวนิยายเรื่อง บ้านทรายทอง ของ ก. สุรางคนางค์ เป็นนวนิยายที่ถูกนำมาดัดแปลงหลายครั้งเป็นทั้งละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ แต่ในทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า บ้านทรายทอง ฉบับภาพยนตร์ในปี  2523 คือบ้านทรายทองฉบับที่ได้รับการจดจำจากผู้ชมมากที่สุด ด้วยการที่ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ สามารถทำรายได้ถึง 6 ล้านบาท ในการออกฉายครั้งแรก และสร้างชื่อให้ จารุณี สุขสวัสดิ์ ดาราวัยรุ่นหน้าใหม่ กลายเป็นนางเอกอันดับหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย


ก่อนหน้าบ้านทรายทอง รุจน์ รณภพ ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่มีผลงานหนังทั้งชีวิตและบู๊ อาทิ ผลงานที่สร้างในนามของรณภพฟิล์ม อย่าง นรกตะรุเตา, พิษสวาท, อย่าลืมฉัน, แด่คุณครูด้วยคมแฝก จนเมื่อเขาย้ายเข้ามาเป็นผู้กำกับในสังกัดไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น กลับกลายเป็นว่าผลงานที่เขาสร้างให้ไฟว์สตาร์ อย่าง ชาติผยอง และ พรุ่งนี้ก็สายเกินไป ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้ 


รุจน์ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแนวทางการสร้างภาพยนตร์ โดยสุภาภรณ์ เจริญปุระ ผู้เป็นภรรยา เป็นผู้แนะนำให้รุจน์นำนวนิยายเรื่องบ้านทรายทองมาสร้างเป็นภาพยนตร์ รุจน์ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยที่เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ได้ร่วมลงทุนสร้างภาพยนตร์กับประชา มาลีนนท์ แห่งไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นครั้งแรก รุจน์รับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เองด้วยนามปากกา 'ภรณ์รวี' แม้บ้านทรายทอง อาจไม่ใช่ภาพยนตร์แนวที่รุจน์เคยสร้างมาก่อน แต่ภาพยนตร์ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ไฟว์สตาร์ อนุมัติให้รุจน์ สร้างภาพยนตร์เรื่อง พจมาน สว่างวงศ์ ซึ่งเป็นภาคต่อของบ้านทรายทอง โดยในระหว่างที่รุจน์ถ่ายทำบ้านทรายทอง รุจน์ก็ได้เก็บฟุตเทจบางส่วน สำหรับนำมาใช้ใน พจมาน สว่างวงศ์


บ้านทรายทอง ฉีกจากการเป็นหนังบู๊สำหรับผู้ชมที่เป็นผู้ชายอย่างที่รุจน์ถนัด มาเป็นหนังผู้หญิง ที่ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งคือพจมาน พินิตนันท์ ได้เดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เธอได้ขอมาพักอาศัยกับญาติที่บ้านทรายทอง แต่ที่บ้านทรายทอง เธอกลับต้องพบกับความเย็นชาที่คนในตระกูลสว่างวงศ์มีให้ ทั้งหม่อมพรรณรายผู้มีศักดิ์เป็นป้า และหญิงเล็ก บุตรสาวคนเล็กของหม่อมพรรณราย ที่จงเกลียดจงชังเธอตั้งแต่แรกพบ รวมไปถึงหญิงใหญ่ บุตรสาวคนโตของหม่อมพรรณราย ที่มีอาการทางประสาทและเป็นคนเก็บกด พจมานถูกกลั่นแกล้งสารพัดจากทั้งหม่อมพรรณราย หญิงเล็ก และคนรับใช้ในบ้านทรายทอง แต่เธอก็เลือกที่จะยืนหยัดสู้ ด้วยศักดิ์ศรี ตามที่คุณพ่อของเธอเคยได้อบรมสั่งสอน 


พจมานได้คอยดูแลชายน้อย บุตรชายคนเล็กของหม่อมพรรณรายเป็นอย่างดี จนทำให้ชายกลาง บุตรชายคนโตของหม่อมพรรณรายเกิดความประทับใจในตัวเธอ แต่ความดีของพจมาน ก็เป็นที่ประทับใจของท่านต้อม คู่หมั้นของหญิงเล็กเช่นกัน 


บ้านทรายทอง เป็นเรื่องราวที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จของหนังไทยแนวพาฝัน ที่ท้ายที่สุด นางเอกที่ถูกกลั่นแกล้งสารพัด จะได้พบกับความสุขในท้ายที่สุด ซึ่งแม้ตามบทประพันธ์ บ้านทรายทอง น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2490 ในช่วงเวลาที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่บ้านทรายทองในฉบับของรุจน์ เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้ระบุเวลาแน่ชัด โดยปรับสถานการณ์ และฉากหลัง ให้เกิดขึ้นในราวปี 2520 นั่นเอง ดังจะเห็นจากการใส่วัฒนธรรมสเก็ตซ์ ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นลงไปในภาพยนตร์ 


ภาพจำที่สำคัญที่สุดสองประการของหนัง คือ จารุณี สุขสวัสดิ์ นางเอกจากสังกัดสีบุญเรืองฟิล์ม ที่ฉีกไปจากนางเอกหนังไทยในเวลานั้น ด้วยใบหน้าที่มีความเป็นลูกครึ่ง ซึ่งพจมานในแบบฉบับของรุจน์ และจารุณี ก็อาจแตกต่างไปจากพจมานในนวนิยาย หรือในบ้านทรายทองฉบับก่อนหน้า ด้วยการที่พจมาน เป็นผู้หญิงที่ไม่ยอมคน และสามารถลุกขึ้นมาต่อปากต่อคำหรือตบตีกับหญิงเล็กได้ และพจมานในฉบับภาพยนตร์ของรุจน์ ก็สร้างภาพจำสำหรับผู้ชม ของการที่พจมานเดินหิ้วชะลอมเข้ามายังบ้านทรายทอง ซึ่งการหิ้วชะลอมของพจมานนี้ ไม่ได้ถูกระบุในหนังสือ แต่ภายหลังจากที่ภาพยนตร์บ้านทรายทองออกฉาย สังคมไทยจะมีภาพจำถึงพจมานว่าเป็นเด็กผู้หญิงถักเปีย ที่หิ้วชะลอมเดินทางเข้ามายังบ้านทรายทอง


ภาพจำอีกประการ คือการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้เข้าไปถ่ายทำในบ้านพิษณุโลก  ซึ่งในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลของ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ทำการบูรณะบ้านหลังนี้เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ภายหลังความสำเร็จของ บ้านทรายทอง ทำให้ผู้คนมีภาพจำของบ้านทรายทอง ว่ามีลักษณะอาคารเป็นอย่างบ้านพิษณุโลก ดังจะเห็นจากการ์ตูนล้อเลียนการเมืองในหน้าหนังสือพิมพ์ยุคหนึ่ง ที่มักวาดภาพล้อเลียนให้ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเหมือนพจมาน ที่ต้องเดินหิ้วชะลอมเข้ามายังบ้านทรายทอง


อาจกล่าวได้ว่า บ้านทรายทอง ฉบับภาพยนตร์ของรุจน์ คือ บ้านทรายทอง ฉบับที่ถูกจดจำมากที่สุด และเป็นเสมือนตัวแทนของภาพยนตร์ไทย ที่แม้อาจถูกมองว่าน้ำเน่าหรือพาฝัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงพลังของความเป็นผู้หญิงที่มีศักดิ์ศรี ที่ต่อสู้กับความชั่วร้ายด้วยความดีงาม และสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย บ้านทรายทองคือหนึ่งในก้าวสำคัญ ที่สร้างชื่อให้ทั้งไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และ จารุณี สุขสวัสดิ์ ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในวงการบันเทิงไทยจนทุกวันนี้