ประชาชนนอก ON THE FRINGE OF SOCIETY

ความยาว 90 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / สี /เสียง จำนวน 3 ม้วน 

ผู้สร้าง สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา


หากจะไล่เรียงรายชื่อผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่สร้างผลงานสะท้อนสภาพสังคม ชื่อของ มานพ อุดมเดช จะปรากฏเป็นอันดับต้น ๆ คนหนึ่ง ด้วยผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา “ประชาชนนอก” ซึ่งแม้จะไม่ใช่ภาพยนตร์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยตรงแต่เป็นภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ และมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการศึกษาอบรมโดยตรง มิใช่เพื่อการค้าแต่อย่างใด  แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้อุตสาหกรรมไทยได้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อ มานพ อุดมเดช ก้าวเข้าไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์


ปี พ.ศ. 2524 เป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง คือ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมทั้งประเทศ เป็นการเปิดเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519 สังคมไทยก็เข้าสู่ยุคปิดกั้นเสรีภาพ ความขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นสงครามระหว่างอำนาจรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์ นักศึกษาและประชาชนที่ถูกปราบปรามกวาดล้างต้องหนีเข้าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายลงด้วยนโยบาย 66/23 ของรัฐบาล 


หลัง 14 ตุลาคม มีภาพยนตร์นอกระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ออกมาเรื่องหนึ่ง คือ ทองปาน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่แสดงพลังบริสุทธิ์อันอุดมคติของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้น คนหนุ่มสาวและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยที่สนใจวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมไทย พูดถึงปัญหาคอรัปชั่นของอำนาจรัฐไทย ปัญหาทุนนิยมที่สมคบกับต่างชาติกอบโกยทรัพยากรของชาติ ปัญหาการสร้างเขื่อนซึ่งไม่ให้ประโยชน์ต่อราษฎรในชนบท นักศึกษาได้ลงไปสัมผัสชาวไร่ชาวนาและกรรมกร แต่ภาพยนตร์ซึ่งถ่ายทำจบแล้ว กำลังยังอยู่ในขั้นตัดต่อ ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้ผู้สร้างซึ่งเป็นนักข่าว นักวิชาการและศิลปินต้องลี้ภัยกระจัดกระจายกันไป และเมื่อตัดต่อจนสำเร็จ ก็ไม่สามารถนำออกฉายเปิดเผยได้ในประเทศไทย ต้องแอบลักลอบฉายดูกันในวงแคบ แต่ปรากฏว่า ทองปาน ได้รับความสนใจให้จัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศหลายสิบแห่ง กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องหนึ่งในนานาชาติ 


ประชาชนนอก ซึ่งสร้างขึ้นหลัง ทองปาน ประมาณ 4 ปี แต่เนื้อหาปรากฏว่าเป็นตอนต่อหรือภาคสองของทองปาน คือ ได้แสดงสภาพของสังคมไทยหลัง 14 ตุลา ซึ่งเปิดเสรีภาพขึ้น เกิดการแสดงพลังเรียกร้องความยุติธรรมในทุกส่วนของสังคม อย่างที่พูดกันว่าเดินขบวนรายวัน ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามจากอำนาจรัฐ ในชนบทภาคเกษตร ชาวนาถูกฆ่าและถูกจับกุมคุมขังในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ในเมือง กรรมกรซึ่งก็คือชาวนาและลูกหลานชาวนาที่ล้มละลายจากการทำนา อพยพเข้ามาขายแรงงานเป็นกรรมกรในเมือง เมื่อต่อสู้เรียกร้องหาความเป็นธรรมก็ถูกฆ่าและถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกัน


มานพกลั่นกรองเรื่องราวจากประสบการณ์ของคนใกล้ตัว ทั้งจากชีวิตจริงของพ่อและแม่ของเขา เพื่อนรุ่นพี่ มาเป็นบทภาพยนตร์ซึ่งเล่าเรื่องผ่านหนุ่มอีสานสองคนที่เลือกเส้นทางชีวิตไปคนละทางแต่สุดท้ายก็พบชะตากรรมไม่ต่างกัน ชายคนหนึ่งชื่อ จำรัส จากลูกชาวนาในหมู่บ้านหนึ่งของอีสานไปเป็นนักศึกษาวิชาเกษตรที่กรุงเทพ เรียนจบพร้อมอุดมการณ์ที่ต้องการกลับไปช่วยพ่อแม่พี่น้องทำนาที่บ้านเกิด อีกชายหนึ่งคือ กองแพง หนุ่มชาวนาจากหมู่บ้านเดียวกัน แต่ล้มละลายจากการทำนา ต้องดิ้นรนทิ้งลูกเมียไปเป็นกรรมกรขายแรงงานในโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพ  ภาพยนตร์เล่าเรื่องตัดสลับแต่คู่ขนานกันไปมาระหว่างนาฏกรรมชีวิตของชายสองคน 


จำรัสร่วมกับผู้ใหญ่ไสวชักชวนชาวบ้านให้ร่วมกันเป็นสหกรณ์ทำนาปรังซึ่งเป็นการทำนานอกฤดูกาล ชาวนาจะได้มีรายได้ตลอดทั้งปี และทำโรงสีเล็ก ๆ เอง ขายเอง ทำให้เถ้าแก่เส็ง พ่อค้าคนกลางขายข้าวเห็นว่าจะเป็นการขัดผลประโยชน์ของตน  จึงไปหว่านล้อมแม่ของจำรัสให้จำนองที่นากับตน แล้วสมคบกับเกษตรอำเภอซึ่งคอรัปชั่น โกงปุ๋ยของชาวนา ใส่ความว่าจำรัสกับพวกมีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ 


ส่วนกองแพงเข้าไปอยู่ในเมืองกรุงอย่างอนาถา อาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมห้องอย่างแออัดยัดเยียด เป็นกรรมกรขุดดินใช้แรงงานแลกกับเงินอันน้อยนิด เมื่อมีโอกาสเปลี่ยนงานไปเป็นคนส่งน้ำแข็งก็ดันขับสามล้อส่งน้ำแข็งไปชนรถ ต้องลาออกจากงานกลางคันเพื่อเอาเงินที่ได้ไปชดใช้ค่าเสียหาย เพื่อนที่อาศัยบ้านพักเดียวกันพากองแพงมาสมัครงานที่โรงงานทอผ้า แม้การทำงานในโรงงานจะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ แต่ก็ต้องแลกกับการได้ทำงานเป็นหลักเป็นแหล่ง ที่โรงงานนี้ มีสหภาพแรงงานที่ช่วยแนะนำเรื่องสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ ที่แรงงานพึงจะได้รับ เช่น วันหยุด ค่าแรงขั้นต่ำ แต่เมื่อผู้นำสหภาพฯ นำคนงานต่อสู้ความอยุติธรรมด้วยการประท้วงโดยการหยุดงาน เขาก็ถูกนายจ้างไล่ออก โดนดักทำร้ายร่างกาย และถูกตำรวจบุกจับกุมที่บ้านพัก โดยตั้งข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ กองแพงซึ่งอาศัยอยู่ที่เดียวกันจึงพลอยติดร่างแหถูกจับเข้าคุกไปด้วย


ในขณะที่เหล่ากรรมกรชายหญิงชูกำปั้นแสดงความสามัคคีต่อสู้ ภาพตัดไปแสดงต้นข้าวในนาที่บ้านของกลุ่มสหกรณ์ชาวนากำลังชูรวง ตามด้วยภาพการชำแหละกบเพื่อทำอาหาร เป็นสัญญาณของการที่พี่น้องชาวนาและกรรมกรกำลังไปสู่ชะตากรรมเดียวกัน จำรัสถูกลอบสังหาร กรรมกรถูกลอบทำร้ายจะเอาชีวิต และสุดท้ายถูกจับกุมคุมขัง


ทนายที่ไปเยี่ยมผู้ต้องหาที่โรงพัก คือทนายทองใบ ทองเปาว์ (แสดงเป็นตัวเอง) ผู้ซึ่งเคยโดนคุมขังข้อหาคอมมิวนิสต์มาก่อน  ทนายถามกรรมกรที่อยู่ในห้องขังอย่างเรียบ ๆ ว่า เป็นอย่างไร โดนข้อหาอะไร ผู้ต้องขังตอบว่า ข้อหามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ครับ ทนายก็ยิ้มเสมือนผู้เห็นทะลุปรุโปร่งกับข้อหาครอบจักรวาลนี้


ฉากจบของหนัง กลับไปปิดฉากที่หมู่บ้าน นายทุนเงินกู้และพ่อค้าคนกลางหน้าเลือดก้าวขึ้นมาบนบ้านของผู้ใหญ่ไสว ซึ่งกำลังยกปืนยาวขึ้นเล็งใส่ผู้มาเยือน ภาพยนตร์หยุดภาพค้างเป็นจุดฟูลสต๊อปไว้ตรงนั้น ปล่อยให้ผู้ชมคิดต่อเอาเองว่ายิงหรือไม่ยิง หรือว่าเป็นการสรุปบทเรียนของการต่อสู้ของชนชั้นล่างว่าเลือดต้องล้างด้วยเลือด หรือปืนต้องสู้ด้วยปืนมานพ อุดมเดช เคยทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ของสื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย เมื่อองค์กรมีความคิดจะผลิตภาพยนตร์เองจึงส่งมานพไปเรียนรู้และฝึกหัดวิธีการสร้างภาพยนตร์จากบาทหลวงชาวอินเดียคนหนึ่งที่บ้านซาเวียร์  แต่จนแล้วจนรอดมานพก็ไม่ได้ทำงานให้องค์กรของตนเองเพราะลาออกเสียก่อน กว่าจะได้ใช้ความรู้ทางด้านภาพยนตร์ที่ทดลองฝึกหัดมา ก็เมื่อมาทำงานที่สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ซึ่งมีโครงการจะจัดสร้างภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคม


หลังจากเพียรเขียนบทจนสำเร็จภายในหนึ่งเดือน มานพก็เริ่มไปถ่ายทำที่หมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดยโสธร แต่ยังไม่ทันเดินกล้อง กองถ่ายก็ถูกหน่วยงานภาครัฐสั่งห้าม มานพถูกค้นบ้านและถูกตำรวจสะกดรอยตาม จนสุดท้ายเขาจึงต้องล้มโครงการถ่ายทำภาพยนตร์ไปพักหนึ่ง  ข้อที่ว่าในภาพยนตร์พูดถึงระบบการรวมตัวทำนาหรือนารวมแบบคอมมิวนิสต์  มานพถูกจับตามองว่าจะฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ต่างจาก จำรัส ตัวละครในเรื่อง เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่อนคลายลงในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนนโยบายในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มานพจึงได้กลับมาถ่ายทำภาพยนตร์ต่อจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2524 โดยได้นักศึกษา ชาวบ้าน และคนจากสหภาพแรงงานมาร่วมแสดงเพื่อให้เกิดความสมจริง อีกทั้งทีมงานก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มแสดงฝีมือในวงการภาพยนตร์ อาทิ พรนิติ วิรยศิริ ตากล้องฝีมือดีจากวงการโฆษณา นิวัติ เนียงเสนาะ ผู้บันทึกเสียงที่เพิ่งได้รับรางวัลจากเรื่อง อุกาฟ้าเหลือง ของท่านมุ้ย และ สุรพงษ์ พินิจค้า ผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีอิสระฝีมือดีเป็นผู้ตัดต่อ  ที่สุด ภาพยนตร์เรื่องแรกของมานพ ชื่อ “ประชาชนนอก” ซึ่งเป็นชื่อที่ล้อจากวรรณกรรมคลาสสิกของอัลแบร์ การ์มู ในชื่อไทย “คนนอก” ก็ออกฉายสู่ประชาชน แต่เนื่องจากเป็นภาพยนตร์นอกกระแสหรือนอกตลาด จึงได้รับการจัดฉายตามสถาบันการศึกษา สมาคมแรงงาน หรือองค์กรเอ็นจีโอต่าง ๆ ในฐานะเป็นสื่อการอบรมเพื่อพัฒนามนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับเชิญให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศหลายเทศกาลด้วยกัน เช่น ลอนดอนฟิล์มเฟสติวัล ฮ่องกงอินเตอร์เนชั่นแนลฟิล์มเฟสติวัล นอกจากนี้ยังได้ไปฉายที่ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และเกาหลี 


ประชาชนนอก จึงมีคุณค่าสำคัญในฐานะภาพยนตร์ที่เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมอันยิ่งใหญ่ เป็นบันทึกความเป็นไปของสังคมไทยในช่วงเวลาแห่งการรับผลกระทบนั้น เป็นความทรงจำทางอารมณ์และเจตนารมณ์ของผู้คนร่วมสมัย ซึ่งไม่อาจจัดแสดงจำลองขึ้นใหม่ได้อีก