สายเลือดเดียวกัน THE SPREAD OF KINSHIP

ความยาว 103 นาที

ฟิล์ม 16 มม. / สี / เสียง จำนวน 1 ม้วน

อำนวยการสร้าง สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ

สร้าง เทพพนมภาพยนตร์


สายเลือดเดียวกัน เป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อประเภทดำเนินเรื่องหรือเรื่องแสดง มีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ซึ่งสนับสนุนเงินทุนสร้างโดยสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ แต่ให้เอกชน คือ บริษัทเทพพนมภาพยนตร์ เป็นผู้ดำเนินการผลิต (เทพพนมภาพยนตร์ เป็นบริษัทที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับงานจากสำนักข่าวสารอเมริกันโดยตรง นอกจากนี้ยังมีอีกบริษัทหนึ่ง คือ เอราวัณภาพยนตร์ ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้ล้วนมีความโยงใยมาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ) 


ปี พ.ศ. 2511 นั้นเป็นช่วงเวลาที่สงครามเย็นในประเทศปะทุเป็นสงครามไฟแล้ว เพราะมีการรบกันด้วยอาวุธปืนระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ที่เรียกว่ากองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ในภาคอีสาน และขยายไปทั่วประเทศ สายเลือดเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความชั่วช้าของพวกคอมมิวนิสต์ ที่มีการใช้อาวุธมาเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันและขัดขวางการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะหมู่บ้านในชนบทห่างไกล ซึ่งรัฐบาลพยายามเข้าไปสร้างถนนหนทางให้ ก็จะถูกพวกคอมมิวนิสต์ขัดขวาง เพราะพวกนี้ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเจริญ 


ภาพยนตร์จำลองเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านดงบัง บ้านเกิดของ คำสิงห์ ชายหนุ่มซึ่งเพิ่งปลดประจำการจากเป็นทหารรับใช้ชาติ คำสิงห์เดินทางกลับมายังหมู่บ้านของตนด้วยความเอื้อเฟื้อจากชาวบ้านซึ่งเป็นญาติพี่น้องที่พบเจอระหว่างการเดินทาง เมื่อมาถึงหมู่บ้าน เขาพบว่าบัดนี้สามารถเดินทางมาได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะทางราชการได้จัดสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้าน แต่กระนั้นถนนก็ยังมาไม่ถึงหมู่บ้านดงบังซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ    


อีกฟากหนึ่ง ปลัดทรงพล ซึ่งเป็นปลัดพัฒนาคนใหม่กำลังครุ่นคิดหาวิธีที่จะทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ยอมเสียสละที่นาเพื่อนำมาสร้างถนนเป็นเส้นทางออกสู่โลกภายนอกของหมู่บ้าน และยังจะต้องขอความร่วมแรงจากชาวบ้านช่วยกันลงมือสร้างถนนด้วย ปลัดทรงพลเรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านมาประชุมชี้แจง แต่หลายคนยังลังเลใจ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ปลัดทรงพลย่อท้อแต่อย่างใด


เลิกการประชุมแล้ว กำนันและผู้ใหญ่บ้านกลับมาหารือกันเอง ได้ข้อสรุปว่า หากถนนตัดผ่านหมู่บ้าน ก็จะนำความเจริญมาสู่หมู่บ้านดงบังโดยรวม  คนหนุ่มสาวอย่างคำสิงห์ก็แสดงความเห็นว่าจะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านของเรา ในระหว่างที่พูดคุยกันนั้นเอง มีชายคนหนึ่งเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ ชายคนนั้นคือ เทียม คนเร่ขายยาตามหมู่บ้าน 


เมื่อได้ข้อสรุปแล้วกำนันจึงชักชวนคำสิงห์ไปบอกปลัดทรงพลด้วยกันที่อำเภอ ซึ่งที่นั่นกำนันและคำสิงห์ได้เห็นฝรั่งชาติอเมริกันที่มาให้คำปรึกษาเรื่องการทำนาแก่ชาวนาไทย  ไม่เพียงเท่านั้นพวกฝรั่งอเมริกันยังสนับสนุนทุนรอนและเครื่องไม้เครื่องมือให้กับทางราชการอีกด้วยนี้ ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นแก่กำนันว่าหมู่บ้านจะเจริญแน่ จึงตกลงร่วมมือกับทางราชการในการสร้างถนนและสะพานที่หมู่บ้านดงบัง ปลัดทรงพลรีบสั่งให้รถบรรทุกนำสิ่งก่อสร้างและเครื่องมือมาส่งที่หมู่บ้าน


ข่าวการสร้างถนนยังความร้อนใจให้แก่เทียมผู้ซึ่งไม่ต้องการเห็นหมู่บ้านดงบังพัฒนา เทียมรีบนำความมาบอกแก่หัวหน้าขบวนการคอมมิวนิสต์และพรรคพวก ทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันที่จะต้องขัดขวางการสร้างถนน โดยอาศัยช่องโหว่ที่ชาวบ้านบางคนยังลังเลใจที่จะเสียผืนดินทำกิน พวกมันวางแผนจะยับยั้งรถบรรทุกที่จะนำสิ่งของสำหรับการก่อสร้างถนนไม่ให้เข้าถึงหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่าปลัดทรงพลโกหก เทียมกระพือข่าวเป่าหูชาวบ้านว่าราชการไม่ได้ส่งความช่วยเหลือมาให้จริงหรอก เคราะห์ดีที่คำสิงห์ขี่ม้าผ่านมาพบคนขับรถบรรทุกที่โดนพวกคอมมิวนิสต์ยิง คำสิงห์จึงรีบนำความไปบอกกำนัน แต่การกระทำของคำสิงห์ก็ไม่อาจรอดพ้นสายตาของพวกคอมมิวนิสต์ พวกมันจึงบุกเข้ามาข่มขู่ไม่ให้แพร่งพรายความไปมากกว่านี้ แล้วจับตัว จำปา คนรักของคำสิงห์ไว้เป็นตัวประกัน คำสิงห์ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย เขาสะกดรอยตามพวกคอมมิวนิสต์ไปจนรู้ที่ซ่องสุม  แล้วรีบกลับมาเตือนชาวบ้านให้รู้ถึงภัยร้ายที่กำลังซ่อนตัวอยู่ ชาวบ้านจึงได้รู้ว่าข่าวลือร้าย ๆ เกี่ยวกับทางราชการที่แท้มาจากเทียมกุขึ้น  และท้ายที่สุดพวกคอมมิวนิสต์ก็ถูกปราบปราม 


ภาพยนตร์แสดงภาพลักษณ์อันโหดร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยใส่บทพูดให้ตัวละครกล่าวถึงการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ว่าไม่ให้นับถือศาสนา ชาวบ้านจะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ หากใครขัดขึ้นจะต้องถูกกำจัดทิ้ง และภัยร้ายนั้นจะคลี่คลายไปได้ก็ด้วยชาวบ้านต้องให้ความร่วมมือและคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่ทางการ 


สายเลือดเดียวกัน เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดง ผู้สร้างได้จ้างนักแสดงอาชีพมาเป็นตัวละครสำคัญ เช่น ทานทัต วิภาตโยธิน  ประมินทร์ จารุจารีต และตัวเอกหรือพระเอกคือ คำสิงห์ ได้นักแสดงหนุ่มหน้าใหม่คือ พิศาล อัครเศรณี ซึ่งมีผลงานจากวงการละครวิทยุ จึงถือเป็นผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา ก่อนจะมีผลงานตามมามากมายและเป็นนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์สำคัญคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์ไทย ผู้แต่งเรื่องและเขียนบท รวมทั้งกำกับการแสดง คือ ป. พิมล แต่พิศาลเคยให้สัมภาษณ์ว่าได้ร่วมงานแสดงภาพยนตร์เรื่อง สายเลือดเดียวกัน เป็นเรื่องแรก โดยการกำกับของ “ครูมารุต” หรือ ทวี ณ บางช้าง บรมครูท่านหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่าครูมารุตเป็นผู้ร่วมงานที่ไม่ได้ปรากฏชื่อในโตเติ้ล ฉากที่น่าสนใจเป็นอย่างมากอีกฉากหนึ่งในภาพยนตร์ คือหลังจากพวกคอมมิวนิสต์ถูกปราบปรามจนสิ้นแล้ว เป็นฉากที่ชาวบ้านได้มาร่วมมือร่วมใจลงแรงกันสร้างถนน โดยมีหมอลำร้องกลอนลำซึ่งมีเนื้อหาโน้มน้าวให้ชาวบ้านเห็นความช่วยเหลือจากรัฐบาล อันเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่รัฐนำการแสดงพื้นบ้านมาปรับใช้ในการสื่อสารกับชาวบ้านให้เข้าถึงได้ดียิ่งขึ้น เช่น ในภาคอีสานใช้การแสดงหมอลำ ในภาคใต้ใช้การแสดงหนังตะลุง โดยมีการจัดอบรมให้ศิลปินพื้นบ้านได้ซึมทราบถึงนโยบายของภาครัฐ เพื่อนำไปสอดแทรกในการแสดงให้ชาวบ้านชมสายเลือดเดียวกัน เป็นตัวอย่างการใช้ภาพยนตร์ในยุคสงครามเย็นของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ในสถานการณ์ที่มีการสู้รบด้วยอาวุธ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพปลดแอกประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และนับเป็นตัวอย่างที่หายาก เพราะแม้ว่าในยุคที่ภาพยนตร์ออกฉาย สำนักข่าวสารอเมริกันได้ทำสำเนาภาพยนตร์ออกเผยแพร่หลายก๊อปปี้ และให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนยืมไปจัดฉายทั่วประเทศ โดยบางทีก็ไม่ต้องส่งฟิล์มคืน แต่หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น และสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพถูกยุบเลิกไปแล้ว ภาพยนตร์เหล่านี้ถูกทำลายไปมาก ดังนั้นภาพยนตร์ที่เหลืออยู่นี้จึงมีค่าสำหรับการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมือง การปกครอง และประวัติศาสตร์สังคมไทยในยุคสมัยหนึ่งได้เป็นอย่างดี