จีราภา ปัญจศิลป์

ดาวดวงที่ 17

ชื่อในการแสดง จีราภา ปัญจศิลป์

ชื่อ-นามสกุลจริง จีราภา ปัญจศิลป์

วันเกิด 10 มิถุนายน พ.ศ. 2486

พิมพ์มือลานดารา 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551


จีราภา มีชื่อเล่นว่า แอ๊ด เกิดที่กรุงเทพมหานคร ในครอบครัวศิลปิน คุณพ่อคือ คารม สังวริบุตร เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ คุณแม่คือ พรพรรณ วรรณมาศ เคยเป็นนางเอกภาพยนตร์ไทยเรื่อง รอยไถ (2493 คำรณ) จีราภาเรียนจบพาณิชย์จากโรงเรียนพาณิชยการพระนคร ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ กองวิทยาการ กรมประชาสัมพันธ์ แต่ขณะเรียนพาณิชย์ปี 2 จีราภาก็เริ่มแสดงละครวิทยุคณะแก้วฟ้ากับคุณพ่อคุณแม่แล้ว 


การทำละครวิทยุในสมัยนั้น จะนำเรื่องมาจากภาพยนตร์ไทยที่กำลังถ่ายทำ มาสร้างบทละครวิทยุ หากละครวิทยุได้รับความนิยม ก็จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีผู้คนเข้าไปชมกันมากขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาครูแก้ว อัจฉริยกุล ให้จีราภาเป็นนางเอกละครวิทยุคณะแก้วฟ้าคู่กับ วิเชียร นีลิกานนท์ ซึ่งต่อมากลายเป็นคู่พระคู่นางทางเสียงละครวิทยุที่โด่งดังในยุคนั้น


ละครวิทยุเรื่องแรกที่จีราภาให้เสียงการแสดงก็คือ ภาพยนตร์ไทยเรื่อง อ้อมอกสวรรค์ (2505 มิตร-เพชรา) แต่เรื่องที่สร้างชื่อเสียงก็คือ สุริยาที่รัก (มิตร-ภาวนา) ต่อมาคุณพ่อคุณแม่จึงออกมาตั้งคณะละครวิทยุเป็นของตนเอง ใช้ชื่อว่า คณะอัชชาวดี แปลว่า เสียงซึมใจ จีราภาก็ยังคงให้เสียงแสดงนางเอกของละครวิทยุคณะอัชชาวดีเช่นเดิม 


จีราภา เป็นผู้มีความสามารถหลายอย่าง เช่น เคยเป็นโฆษกสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี เป็นนักพากย์หนัง เคยร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ เช่นเรื่อง ขวัญชีวิต เงารัก แผ่นดินสวรรค์ ชื่นชีวิต หัวใจเถื่อน ละครบทเศร้า ฯลฯ และยังได้รับรางวัลดาราทองพระราชทาน สาขานางเอกละครวิทยุในปี 2510 คู่กับ วิเชียร นีลกานนท์


แม้ว่า จีราภาจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์มาตลอดเวลา แต่สำหรับการแสดงภาพยนตร์นั้น จีราภา ได้เริ่มแสดงภาพยนตร์ 35 มม. เป็นครั้งแรกจากเรื่อง แม่ศรีไพร (2514 นาท-เพชรา) ซึ่งสร้างและกำกับโดย วิจิตร คุณาวุฒิ ซึ่งในเรื่องนี้ จีราภาได้รับบทเป็น มะสะยอง สาวชาวกะเหรี่ยงแห่งหมู่บ้านพะโส ซึ่งนอกจากแสดงแล้ว ยังมีฉากที่จีราภาได้ร้องเพลงตามความถนัดของตนเองอีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่ทำให้แฟนละครวิทยุ ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยได้ยินแต่เสียงของจีราภา มีโอกาสได้เห็นหน้าตาของนางเอกละครวิทยุเสียงหวานคนนี้แล้ว


ต่อมาจีราภาได้แสดงภาพยนตร์โดยมีบทบาทมากขึ้นเริ่มจากเรื่อง อ้อมอกเจ้าพระยา (2515 ยอดชาย-อรัญญา-จินฟง) ดรุณีผีสิง (2516 ไพโรจน์-สุทิศา) ชายผ้าเหลือง (2517 ยอดชาย-วันดี) พระลักษณวงศ์ (พัลลภ-เยาวเรศ) จากนั้นจึงเริ่มสร้างภาพยนตร์เองใช้ชื่อว่า อัชชาวดีภาพยนตร์ โดยร่วมมือกับ อุดม ฤทธิ์ดิเรก ซึ่งเคยสร้างภาพยนตร์มานานแล้วเริ่มจากเรื่อง 5 แผ่นดินเพลิง (2519 กรุง-มิสเคียวจิน) ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวบู๊ข้ามชาติ ต่อด้วยเรื่อง สาวแก่ (2519 ไพโรจน์-ทัศน์วรรณ) ซึ่งได้ ไพโรจน์ สังวริบุตร น้องชายแท้ ๆ ของจีราภาที่กำลังโด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน (2519) มาเป็นพระเอก แต่ชีวิตการสร้างภาพยนตร์ของจีราภาไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก จึงกลับมาดำเนินกิจการละครวิทยุคณะอัชชาวดีจนถึงปัจจุบัน