หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและความหวังที่มีต่อวงการหนังสั้นไทย

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่างกันในวงการภาพยนตร์ไทย

--------  



เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมสนทนาออนไลน์ “Live Talk 25 ปี เทศกาลภาพยนตร์สั้น” เนื่องในวาระครบรอบปีที่ 25 ของเทศกาลหนังสั้นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และได้เดินทางมาถึงตอนที่ 3 ในชื่อตอนว่า “หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น” 


วิทยากรในครั้งนี้ เป็นผู้มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการเป็นอดีตผู้ส่งผลงานเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์สั้นมาตั้งแต่ช่วงที่เทศกาลเพิ่งตั้งไข่ และปัจจุบันมีเส้นทางอาชีพที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับที่มีบทบาทและหน้าที่หลากหลายในวงการ ไปจนถึงเคยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อภาพยนตร์และเจ้าของห้องแล็บโพสต์โปรดักชั่นที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และ ศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้กำกับร่วมสมัยมือรางวัลคนสำคัญที่ปัจจุบันกำลังมีผลงานการกำกับซีรีส์ นอกจากนี้ กิจกรรมยังดำเนินรายการโดย ภาณุ อารี อาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์และผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัทสหมงคลฟิล์ม ผู้เคยเป็นหนึ่งในทีมงานจัดเทศกาลยุคบุกเบิก ซึ่งมาร่วมย้อนรำลึกถึงช่วงเวลาในอดีตของเทศกาลไปพร้อมกับผู้ชม 


เปิดประตูสู่การทำหนังสั้น


ธัญญ์วาริน ผู้ที่ชะตาชีวิตพลิกผันจากอดีตคุณครูสอนภาษาอังกฤษสู่การทำงานในแวดวงภาพเคลื่อนไหว เล่าถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางการทำงานที่ใช้เลี้ยงชีพในปัจจุบันโดยมีหนังสั้นเป็นบันไดก้าวแรกว่า “กอล์ฟส่งหนังสั้นเข้าประกวดครั้งแรก เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ตอนปี พ.ศ. 2544 ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินชื่อเทศกาลนี้เลย เพราะตอนนั้นเป็นครูอยู่ที่โคราช มาได้ยินชื่อเทศกาลนี้ครั้งแรกจากนิตยสาร Movie Time เห็นเขาลงข่าวประกวดหนังสั้นกัน แต่ตอนนั้นส่วนใหญ่เราจะดูแต่หนังแมส ไม่รู้หรอกว่าหนังสั้น หนังทดลองคืออะไร รู้แต่ว่าอยากทำหนัง ก็เลยทำเรื่อง แหวน ส่งมาเพราะมันเป็นสิ่งที่เราอยากเล่า จึงทำทุกอย่าง ตั้งแต่เขียนบท กำกับ ตัดต่อ และแสดง เพราะอยากเป็นนักแสดงมาก จากนั้นได้มีโอกาสเล่นละครเรื่อง ชายไม่จริงหญิงแท้ แต่ต่อมากลับมีคำสั่งห้ามกะเทยออกทีวี จึงเริ่มคิดว่าจะเอายังไงต่อดี เพราะมีบทต่าง ๆ ที่เราอยากเล่น ทั้งกะเทยเป็นใบ้ กะเทยบ้านนอกไม่มีปากมีเสียงที่เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของผู้คนที่เราเห็นจากโคราช เลยเริ่มเขียนบทขึ้นมาให้ตัวเองแสดง แล้วไปยืมกล้อง Hi8 ของลุงมา แกก็สอนวิธีการใช้งานอย่างเดียวเลย คือให้กดปุ่มสีแดง แล้วเดี๋ยวภาพมันก็จะติด พอกดเป็น หลังจากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนเลย ถ้าฉากไหนที่เราไม่ได้เล่น ก็จะบันทึกเอง แต่ถ้าฉากไหนเราเล่น จะวานเพื่อนที่เป็นครูด้วยกันมาช่วยถ่าย ถือเป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก ตอนที่หนังฉาย เราก็ไปดู เป็นความรู้สึกที่เปิดโลกมาก ได้เจอคนทำหนังที่ส่งผลงานเข้ามา จำได้ว่าปีนั้นมีปราโมทย์ แสงศรด้วย พอหนังฉายเสร็จ มีการพูดคุยกับคนดู พอเราได้ดูผลงานของคนอื่น ๆ ยิ่งทำให้เราสนใจหนังสั้นมากขึ้น เพราะมันสามารถนำเสนอเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ ได้ จากที่ตอนแรกเราทำ เพราะอยากจะเป็นนักแสดงแค่นั้น”


“หลังจากปี พ.ศ. 2544 กอล์ฟยังคงส่งหนังเข้ามาเรื่อย ๆ ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้รางวัลบ้าง เพราะคิดว่าการทำหนังก็เหมือนกับการที่เราพูดกับโลกหรือสังคม เราใช้หนังเป็นเครื่องมือสื่อสารว่า เราคิดอะไรอยู่ ตอนทำเรื่อง I’m Fine สบายดีค่ะ ช่วงนั้นเริ่มมีการประท้วงทางการเมือง แล้วมีโปรเจกต์ทำหนังสั้นเกี่ยวกับเสรีภาพ เราจึงเริ่มคิดว่า อยากเล่าอะไรในเวลา 3 นาที ทุกอย่างในเรื่องเลยมีแต่สัญลักษณ์ ทั้งการนั่งใส่ชุดไทยในกรงหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มันคือสิ่งที่เราอยากพูด ซึ่งปัจจุบันหนังเรื่องนี้ ก็ยังมีการนำมาฉายอยู่เรื่อย ๆ เป็นประเด็นที่ยังร่วมสมัยอยู่จนทุกวันนี้ ตอนฉายเสร็จคนดูก็ฮือฮากันมาก ไม่ได้คิดเรื่องรางวัลอะไรเลย แต่ก็ได้รางวัลใหญ่กลับมา”




ภาพ: I’m Fine สบายดีค่ะ ภาพยนตร์สั้นเจ้าของรางวัลชนะเลิศ สาขารัตน์ เปสตันยี และรางวัลพิราบขาว เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2551 โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 

ที่มา: www.facebook.com/TanwarinOfficial และรับชมได้ที่ https://fb.watch/8bL1UxcCbO



ลี อดีตนักศึกษาภาพยนตร์ เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งรู้จักกับเทศกาลซึ่งเป็นใบเบิกทางการทำงานในปัจจุบันให้กับเขาว่า “ผมรู้จักเทศกาลนี้จากการกลับมาเมืองไทยช่วงซัมเมอร์ตอนกลางปี พ.ศ. 2540 เคยอ่านเจอน่าจะจากในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ว่าที่นี่มีหอภาพยนตร์ เลยลองนั่งรถไปดู ก็ได้พบคุณโดม สุขวงศ์ ซึ่งตอนนั้นกำลังจัดนิทรรศการ 100 ปีหนังไทย จึงเข้าไปอาสาช่วยทำงานในส่วนนั้น แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงเปิดรับสมัครหนังสั้นครั้งแรกพอดี เลยได้พบกับผู้กำกับที่นำผลงานมาส่งหลาย ๆ คน เช่น พี่สืบ-บุญส่ง นาคภู่ ก็ทำความรู้จักกัน ซึ่งต่อมาผมได้ช่วยพี่สืบทำเรื่อง ตากับหลาน ตอนนั้นผมติดกล้อง 16 มม. กลับมาด้วย แกก็เอาฟิล์มของแกที่แช่ตู้เย็นไว้มาถ่าย” 


“จากนั้นพอผมกลับมาถ่าย เมืองมายา กรุงธิดา หนังจบปริญญาตรีของผม ก็ได้พี่สืบนี่แหละมาช่วยหาทีมงานถ่ายทำที่นี่ ถือเป็นการทำงานแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเรื่องนี้จะมีปัญหาตรงที่ต้องเอากล้องฟิล์มจากที่มหาวิทยาลัยมาถ่าย และมันต้องมีการขนส่งฟิล์มจากไทยไปล้างที่อเมริกา ก็ได้พี่ ๆ จากที่หอภาพยนตร์แนะนำคนทำหนังคนหนึ่งที่ทำคล้าย ๆ กับเรา คือ พี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ให้ลองอีเมลไปหาเขาสิว่า มันต้องทำยังไง จากนั้นจึงได้เริ่มเข้าไปทำความรู้จักกับกลุ่มคนทำหนังในแวดวง ตอนที่ เมืองมายา กรุงธิดา ฉายในเทศกาลที่สถาบันฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ตรงที่เก่าตรงสาทร ก็ได้มีโอกาสเข้าไปดู จำได้ว่าตอนนั้นฉายเป็นฟิล์ม 16 มม. และเราไม่รู้จักใครเลย พอฉายเสร็จก็เริ่มมีคนเข้าทักทายบ้าง”


 

ภาพ: ลี ชาตะเมธีกุล และอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ที่มา: http://www.2-mag.com/site/story/Revelations+With+Apichatpong+Weerasethakul+and+Lee+Chatametikool



ศิวโรจณ์ อดีตนักศึกษาศิลปกรรม ผู้ไม่เคยรู้จักเทศกาลหนังสั้นมาก่อน ถ่ายทอดความรู้สึกถึงเทศกาลที่ทำให้เขาค้นพบตัวตนว่า “ผมจะคล้าย ๆ กับพี่กอล์ฟ คือไม่ได้รู้จักเทศกาลนี้ในฐานะคนดู แต่มาเริ่มสนใจตอนเรียนศิลปกรรม เพราะคิดว่าหนังสั้นเป็นศาสตร์อีกแขนงที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเรียนมา เช่น การวาดรูป ภาพพิมพ์ หรือการปั้น โดยจุดเริ่มต้นของผมจริง ๆ จัง ๆ คือ เว็บไซต์ Thaishortfilm ของพี่ศิโรตม์ ตุลสุข ซึ่งแนะนำคนในแวดวงนี้ได้กว้างมาก และเขาจะคอยส่งผมไปฝึกงานตามกองถ่ายของคนที่อยู่ในแวดวง เช่น บริษัท Firecracker Film ของพี่เต่านา-ม.ล. มิ่งมงคล โสณกุล หนังอิสระเลยเริ่มไหลเข้ามาให้เรารู้จักในฐานะทีมงานที่คอยช่วยคนอื่น ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่อยากมีหนังเป็นของตัวเอง แค่อยากรู้จักสิ่งนี้ก่อนว่าพี่ ๆ ในแวดวงเขาทำอะไรกันบ้าง”


“หนังเรื่องแรกที่ผมส่งเข้ามาประกวดที่เทศกาล คือเรื่อง มื้อค่ำ เป็นผลงานที่ทำหลังจากรู้จักกับพี่ทองดี-โสฬส สุขุม ช่วงที่เขาฝึกเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ที่บริษัท Firecraker Film ซึ่งผมเล่าให้เขาฟังว่าอยากทำหนังสั้น หลังจากเป็นทีมงานมานาน โดยหลังจากสังเกตเห็นผลงานของพี่ ๆ คนอื่น ๆ พบว่า หนังสั้นมันมีอิสรภาพในการเล่าเรื่องมาก ซึ่งเราอยากเล่าเรื่องของคนใกล้ตัว โดยเขียนบทให้แม่กับน้องสาวเล่น พี่ทองดีก็ช่วยหาโลเคชั่น ทีมงานหลาย ๆ คนที่เป็นเพื่อนกัน ก็เริ่มฝึกงานจากเรื่องนั้น บทพูดอะไรต่าง ๆ ก็สะท้อนมาจากชีวิตตัวเองตอนออกกองถ่ายตอนนั้น แล้วเรื่องนี้มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นจากความไม่ตั้งใจซึ่งเป็นจุดเชื่อมในผลงานของผมเรื่องต่อ ๆ มา คือฉากบนโต๊ะอาหาร แล้วพอตอนที่หนังได้ฉาย รู้สึกตื่นเต้นมากที่คนดูจะได้ดูผลงานส่วนตัวของเราเรื่องนี้”


เส้นทางชีวิตหลังจากทำหนังสั้น


หลังจากคว้ารางวัลรองชนะเลิศ สาขารัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2543 จากเรื่อง เมืองมายา กรุงธิดา ลีก็ห่างหายไปจากวงการหนังสั้นนานหลายปี โดยเขาเล่าถึงช่วงชีวิตหลังจากนั้นว่า “หลังจากทำ เมืองมายา กรุงธิดา เสร็จ ผมก็ไม่ได้ทำหนังสั้นอีกเลย เพราะเทศกาลปีนั้น พี่เจ้ยเป็นหนึ่งในกรรมการ เลยได้โอกาสติดต่อกับพี่เจ้ยอีกครั้ง และช่วงนั้นพี่เจ้ยกำลังเตรียมทำหนังเรื่องใหม่คือเรื่อง สุดเสน่หา ผมเลยตัดสินใจลาออกจากงานที่อเมริกา ย้ายกลับมาเมืองไทยเพื่อออกกอง สุดเสน่หา กับพี่เจ้ย หลังจากนั้นเส้นทางชีวิตก็เปลี่ยนไป จากเดิมตั้งใจว่าจะเป็นผู้กำกับ เริ่มค้นพบว่า อยากทำงานตัดต่อ เพราะได้โอกาสจากพี่เจ้ย และหลังจากนั้นก็มุ่งทำงานด้านโพสต์โปรดักชั่นอย่างเดียว”


“จริง ๆ หลังจากทำ เมืองมายา กรุงธิดา มีคิดโครงเรื่องหนังยาวที่อยากจะทำต่อเหมือนกัน ซึ่งต่อมามันก็คือ ภวังค์รัก ตอนย้ายกลับมาเมืองไทยใหม่ ๆ มีการนำบทเข้าไปคุยกับค่าย FILM Bangkok อยู่เหมือนกันว่า เขาสนใจทำไหม แต่ทางนู้นคิดว่า มันยังไม่ถึงเวลาของมัน เลยพักเอาไว้ก่อน จนผ่านไปสัก 10 ปี จึงได้โอกาสนำโครงเรื่องของ ภวังค์รัก กลับมาปัดฝุ่นและเริ่มใหม่อีกรอบ”


 

ภาพ: ลี ชาตะเมธีกุล และอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม จากภาพยนตร์เรื่อง ภวังค์รัก (Concrete Clouds)

ที่มา: https://www.facebook.com/ConcreteClouds



ส่วน ศิวโรจณ์ หลังจากสั่งสมประสบการณ์เป็นผู้ช่วยในกองถ่ายของเพื่อน ๆ  ตลอดจนฝึกปรือฝีมือการทำหนังสั้นมานานหลายปี ต่อมาเขาจึงเริ่มพัฒนาไปสู่การทำหนังขนาดยาว โดยเล่าถึงชีวิตช่วงนั้นว่า “การทำหนังสั้นถือเป็นใบเบิกทางอย่างดี ยิ่งการที่เราเดินทางได้เจอผู้คนตามเทศกาลต่างประเทศ เช่นที่ เทศกาลแคลมองต์ ยิ่งทำให้เรามีกำลังใจในการพัฒนาอะไรบางอย่างต่อ และด้วยความที่เรื่อง เหมือนเคย กับ เสียงเงียบ ประสบความสำเร็จไปได้รางวัลที่ต่างประเทศ และพี่ ๆ ที่จะโปรดิวซ์หนังเราเห็นว่า น่าจะให้โอกาสเราในการทำหนังยาว ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่มีความรู้ในการหาทุน เป็นพี่ ๆ ที่หยิบยื่นโอกาสนี้ให้เราทั้งหมด จึงนำมาสู่การทำหนังยาวเรื่องแรก คือ ที่รัก ที่บางอย่างของเรื่องนี้ก็เชื่อมโยงกับหนังสั้นเก่า ๆ ที่ผมเคยทำที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ แต่จริง ๆ นี่ก็เป็นหมุดหมายอย่างหนึ่งของผมเหมือนกัน ถ้าอยากทำหนังยาวเรื่องแรกจะพูดเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่มีความคิดจะเล่าเรื่องอื่นเลย ขอเล่าเรื่องของพ่อแม่ตัวเองก่อน” 


ด้านชีวิตของธัญญ์วารินซึ่งล้มลุกคลุกคลานอยู่ในวงการภาพยนตร์มาโดยตลอด เล่าถึงช่วงเวลาก่อนจะมาเป็นผู้กำกับหนังยาวในปัจจุบันว่า “หลังจากทำหนังสั้นมานาน กอล์ฟพยายามทำหนังยาวมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องแรกของเราจริง ๆ ไม่ใช่ Insects in the Backyard แต่เป็นหนังแผ่นวีซีดีเรตอาร์ ชื่อเรื่องว่า ครั้งแรก มีนิกกี้-สุระ แสดงนำ แต่หนังก็ไม่ได้รับการนำมาเผยแพร่ ซึ่งยังเสียใจจนถึงทุกวันนี้ และด้วยความสัมพันธ์ของคนทำหนังที่รู้จักกันจากเทศกาลหนังสั้น เลยชวน กานต์-ศิวโรจณ์ มาเป็นผู้ช่วย และ จิม-โสภณ ผู้กำกับที่ทำเรื่อง ลัดดาแลนด์ มาเป็นตากล้อง ตอนนั้นเราเขียนบทเป็นเมโลดราม่าเลย แต่นายทุนบอกว่า ดูแล้วออกไปเข้าห้องน้ำ พอกลับมาอีกทีก็ยังดูไม่รู้เรื่อง ทำไมดูแล้วไม่แข็ง (หัวเราะ) เขาก็โกรธเรามาก พอเราจะเอาหนังออกมา เขาก็ไม่ยอม จะเอาไปโยนทิ้งน้ำ (หัวเราะ)”


“ต่อมาเราลาออกจากครูที่โคราช แล้วมาอยู่กับเว็บไซต์ Thaishortfilm พี่ศิโรตม์เลยแนะนำให้รู้จักกับพี่เปิ้ล-ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ และพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ซึ่งเราไปเสนอบทกับค่ายสหมงคลฟิล์ม แต่พี่ ๆ เขาเห็นว่า เราเล่นหนังได้ เพราะเคยดูหนังสั้นเรา เขาเลยให้เราไปเล่นหนังเรื่อง อสุจ๊าก แทน หลังจากนั้นก็ไปเป็นครูสอนการแสดง เรื่อง เขาชนไก่ ที่ตั้ม-พัฒนะ จิรวงศ์ ซึ่งรู้จักกันจากเทศกาลหนังสั้นชวนไปทำ ทำเรื่องนี้เสร็จก็ไปทำกับพี่จุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์ ต่อเนื่องมาถึงพี่พจน์ อานนท์ เป็นการทำงานด้านนี้ทั้งกับฝ่ายอินดี้ อย่าง Wonderful Town และฝ่ายแมสอย่าง หอแต๋วแตก ไปพร้อม ๆ กัน ถือเป็นการสั่งสมประสบการณ์เรื่อยมา จนทำให้เห็นว่าการทำหนังสมัยนั้นค่อนข้างยากลำบาก เพราะถ่ายฟิล์มเป็นส่วนใหญ่ แล้วต่อมาเราถึงไปทำ Insects in the Backyard” 


คนทำหนังยาว จำเป็นต้องทำหนังสั้นมาก่อนหรือไม่? 


เมื่อได้รับคำถามจากภาณุว่า หนังสั้นช่วยพัฒนาอะไรเราได้บ้าง และปัจจุบันจำเป็นต้องทำหนังสั้นก่อนมีหนังยาวเป็นของตัวเองหรือไม่ ลี แสดงความคิดเห็นว่า “คิดว่าการทำหนังสั้นช่วยได้เยอะ ด้วยความที่การทำหนังยาวมันมีงบประมาณที่ค่อนข้างสูง เราจึงจำเป็นต้องมีพอร์ตฟอลิโอให้กับคนที่ให้เงินเราดู ซึ่งข้อดีของการดูหนังสั้น คือเราจะดูออกทันทีว่าใครเล่าเรื่องเป็น หรือมีอะไรสักอย่างที่อยากจะเล่า แล้วพอฟังไอเดียของเขาในการทำหนังยาว เราก็จะนึกภาพออกว่า จะออกมาประมาณไหน เหมือนเป็นการแนะนำตัวเองให้กับคนที่ไม่รู้จัก แล้วเขาจะได้เห็นผลงานหรือสไตล์เราที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”


ศิวโรจณ์ อธิบายเสริมว่า “เห็นด้วยกับพี่ลี คิดว่าการทำหนังสั้น นอกจากจะช่วยให้คนอื่นมองเห็นเราแล้ว ยังสะท้อนและสอนให้เราเห็นอะไรบางอย่าง ซึ่งพอทำบ่อย ๆ ช่วยทำให้เราเจอว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราชอบหรือรู้สึกกับมัน และมันช่วยให้เราฝึกควบคุมบางอย่างที่มีความยาวขึ้นได้ดี เช่นใน ที่รัก ที่หลาย ๆ คนคิดว่า มันเล่าเรื่องขนาดยาวโดยแบ่งเป็น 3 องก์ก็จริง แต่ว่ามันเหมือนเป็นหนังสั้น 3 เรื่องของผมประกอบกัน ช่วงนี้เป็นวิญญาณของพ่อ ช่วงนี้เป็นความรักของพ่อแม่ที่สุกงอม ช่วงนี้เป็นช่วงเหลือแต่แม่กับลูก ซึ่งผมคิดแบบนี้ ทำให้รู้สึกว่ามันควบคุมได้ พอคิดแบบนี้ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพัฒนาไปข้างหน้าได้แบบยาว 120 นาที หรือเป็นซีรีส์หลาย ๆ ตอน คิดว่าการทำหนังสั้นมีผลมาก ๆ เหมือนเป็นการได้ซ้อมกับตัวเอง”


 


ภาพ: ที่รัก (Eternity) โดย ศิวโรจณ์ คงสกุล

ที่มา: www.facebook.com/Eternity-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81-119849561418590



ธัญญ์วาริน ปิดท้ายประเด็นนี้ว่า “ตัวกอล์ฟเองอยู่ดี ๆ ใช่ว่า จะมาเป็นผู้กำกับเลย อย่างการทำงานกับพี่พจน์ ก็เริ่มต้นจากการเป็นครูสอนการแสดง หลังจากนั้นถึงได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับใน หอแต๋วแตก แหกกระเจิง ต่อเนื่องมาถึงเรื่องที่ 3 อย่าง ตายโหง จำได้ว่าวันนั้นนั่งรถไปกับพี่พจน์ แล้วเขาบอกว่าจะทำหนังใหม่เรื่อง ตายโหง พร้อมกับบอกให้เรามากำกับด้วยกัน เราก็ตกใจ เลยถามว่าทำไมถึงไว้ใจเรา เขาบอกว่าทำงานด้วยกันมาแล้ว 2 เรื่อง แล้วก็รู้ว่าเราทำงานได้ และสิ่งที่สำคัญคือ ตอนเจอพี่พจน์ครั้งแรก เขาบอกเคยซื้อหนังสั้นเรา ที่เราทำแล้วรวบรวมเป็นแผ่นไปฝากขายที่จตุจักร ตรงนี้แหละจึงทำให้เห็นว่า หนังสั้นช่วยทำให้คนที่จะให้โอกาสเรา มองเห็นศักยภาพและวิธีการเล่าของเราว่า เราน่าจะควบคุมได้ ซึ่งพอตอนนี้เราเป็นคนทำงานด้านนี้เอง เวลาเราจะให้น้อง ๆ มากำกับงานให้เรา เราก็จะมองว่า คุณมีหนังสั้นไหม เพราะเรามั่นใจว่า ถ้าเขาจะเล่าเรื่องในสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งนี้จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ถ้าคุณจะรับงานที่ใหญ่ขึ้น คุณจะเล่าเรื่องได้จริง ๆ หรือเปล่า แล้วเราถึงจะกล้าให้เขามาทำงานให้กับเรา”  


คำแนะนำถึงคนทำหนังรุ่นใหม่


เมื่อได้รับคำถามจากผู้ชมทางบ้านถึงวิธีการหาไอเดียในการทำผลงานหนังสั้นของตัวเอง ธัญญ์วาริน ให้แนะนำว่า “คิดว่าหนังที่เล่าอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน พล็อตมันเกี่ยวกับมนุษย์ที่ผ่านการสำรวจมาทุกแง่มุมหมดแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่าง คืออยู่ที่ตัวคนเล่า มันต้องคิดจากตัวเราเองว่า เราเห็นสิ่งนี้แล้วเราคิดแบบไหน อย่างตัวกอล์ฟเองตอนทำหนัง ก็คิดว่า เราเล่าเรื่องที่คนอื่นเล่ามาแล้วแน่ ๆ แต่เราเล่าจากมุมมองของตัวเอง เพราะเชื่อว่า ปัจเจกของแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เราเล่าด้วยการตั้งคำถามและหาคำตอบในแบบของเรา”


“ผมคิดว่าเป็นเรื่องของเทคนิค อย่างผมไอเดียจะไหลมาตอนที่ไม่ตั้งใจ บางทีจะชอบมาตอนมีความสุขหน่อย โดยที่ไม่ต้องไปเค้นว่า เป็นประเด็นที่เราต้องวิ่งไปหา ลองเปิดแล้วมองสิ่งรอบ ๆ ตัว ของผมตอนนี้ ถ้าประเด็นไหนเห็นแล้วถูกใจมาก อาจต้องยอมรีบพิมพ์บันทึกเก็บไว้ เพราะบางอย่างเราลืมไปแล้ว แต่พอมาเลื่อน ๆ จะได้เห็นดู เราเคยรู้สึกดีกับมัน ถ้าแนะนำคือควรรีบโน้ตเก็บไว้ เผื่อมันสามารถนำมาขยายความรู้สึกต่อไปได้อีก” ศิวโรจณ์ให้คำแนะนำเสริมในประเด็นนี้


ด้าน ลี ปิดท้ายด้วยการเสริมถึงคำแนะนำของธัญญ์วารินว่า “ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับกอล์ฟ อาจจะไม่ต้องกดดันตัวเองว่าต้องไปคิดเรื่องใหม่ แต่ว่าลองหาทิศทางใหม่ ๆ ในการเล่าเรื่องเดิม ๆ อันนี้น่าจะสนุกกว่า แต่ถ้าจะเสริม เวลาเราคิดถึงการเล่าเรื่อง ส่วนใหญ่เราชอบคิดไปถึงเหตุการณ์หรือว่าพล็อต แต่ถ้าลองถอยกลับมาคิดเรื่องของคาแรคเตอร์แทนว่า หาตัวละครที่มันน่าสนใจหรือไม่เคยถูกเล่า แล้วเอาตัวละครแบบนี้มาอยู่ในเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นแบบเดิม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นตัวละครคนละแบบ ถ้าเราเล่าจากตัวละครใหม่ ๆ คิดว่าน่าจะหาความท้าทายได้มากกว่าเยอะ”




ภาพ: ตลอดไป (Endlessly) ภาพยนตร์สั้นรางวัลรองชนะเลิศ สาขารัตน์ เปสตันยี, รางวัลวิจิตรมาตรา และรางวัลขวัญใจมหาชน เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 18 ประจำปี พ.ศ. 2557 โดย ศิวโรจณ์ คงสกุล

ที่มาและรับชมภาพยนตร์ได้ที่: https://youtu.be/SeCHKC8C1rU



ผลกระทบจากโควิด-19


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งยังคงอยู่ในภาวะกระท่อนกระแท่น และสร้างผลกระทบให้กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในเกือบทุกภาคส่วน โดยคนทำหนังทั้ง 3 คน ต่างต้องเผชิญกับผลกระทบในรูปแบบแตกต่างกันไป โดย ลี เล่าถึงผลกระทบต่องานด้านการตัดต่อของตัวเองว่า “ข้อดีของฝั่งโพสต์โปรดักชั่น คือเรามีวิธีการที่สามารถทำงานแบบทางไกล หรือ Work from Home ได้ ต่างจากการออกกองที่มีการรวมตัวกันหลาย ๆ คน ซึ่งเราปรับตัวมาแล้วในปีที่ผ่านมา และผมก็ตัดหนังมาแล้ว 2-3 เรื่อง เป็นการตัดที่ไม่ได้เจอผู้กำกับด้วยตัวเองเลย เป็นการทำงานผ่านออนไลน์กับคนทำหนังที่อยู่จีนหรืออินโดนีเซียบ้าง หรือแม้แต่ในไทยเช่นกัน คือตอนนี้มันยังพอทำงานได้ เพียงแต่ต้องปรับสภาพให้เข้ากับการทำงานกับยุคนี้ มันอาจมีข้อเสียนิดหน่อยตรงที่เวลาเราเจอกับผู้กำกับจริง ๆ มันจะมีช่วงพักทานข้าว แล้วเราได้คุยกัน อาจเกิดไอเดียใหม่ ๆ บางอย่าง เป็นช่วงจังหวะที่แตกต่างจากการคุยออนไลน์ ที่มันเป็นการคุยแบบจริงจัง เป็นการนัดหมายมาเพื่อคุยเรื่องงานโดยเฉพาะ”


ส่วน ศิวโรจณ์ มองว่าโควิดกระทบต่อการทำงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการออกกอง โดยอธิบายว่า “ผมคิดว่า การทำหนังมันเป็นการทำงานเชิงปฏิสัมพันธ์ บางครั้งการสื่อสารแบบออนไลน์ อาจไม่ได้ผลจริงเท่ากับการเจอหน้าหรือสัมผัสกัน ช่วงโควิดที่ผ่านมามีโฆษณาต่างประเทศติดต่อมาให้ทำงานแบบทางไกล แต่ยังไม่ได้ตกลงอะไรไป เพราะคิดว่าทำไม่เป็น ไม่แน่ใจว่า ระบบนี้จะกำกับแบบไหน คือการทำงานหน้ากอง มันเป็นการทำงานแบบที่มนุษย์คุยกันอยู่ บางครั้งแยกออกมาคุยต่างหาก ถ้าอันไหนสงสัยหรือไม่เข้าใจ แค่มองตาก็เห็นอารมณ์และความรู้สึก รวมถึงเรื่่องของแรงบันดาลใจด้วย บางครั้งการนั่งที่บ้านอย่างเดียว และไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตหรือเที่ยวเล่นบ้าง ค่อนข้างมีผลต่อการเขียนบทประมาณหนึ่ง เราก็ต้องปรับตัวไปกับมันให้ได้ ซึ่งสถานการณ์นี้ น่าจะกระทบกับฝั่งคนหาทุนด้วย ที่อาจมีส่วนต่างเรื่องงบเกินไปมากกว่านั้นด้วย”


ธัญญ์วาริน ซึ่งวุ่นอยู่กับการทำซีรีส์เรื่องใหม่ เล่าถึงผลกระทบที่ตัวเองได้รับว่า “ของเราเจอปัญหาเยอะมาก ด้วยการที่ถ่ายซีรีส์ไปพร้อม ๆ กัน 2 เรื่อง มันก็ยากอยู่แล้ว พอโควิดมา เดี๋ยวก็เจอข่าวทีมงานติดบ้าง ต้องหยุดถ่ายบ้าง ต้องกักตัวบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลาย ๆ กองถ่ายต้องเจออยู่แล้ว แต่สิ่งที่กระทบกับงานโปรดักชั่นมาก ๆ คือสถานที่ที่ใช้ถ่าย เช่น บ้านนางเอก ที่เจ้าของบ้านให้ถ่ายอยู่แล้ว แต่คนทั้งซอยในหมู่บ้าน ไม่ให้คนในกองเข้าไปถ่ายอีก ทำให้ต้องเปลี่ยนบ้านนางเอกตรงกลางเรื่อง เป็นปัญหาที่เราไม่เคยเจอมาก่อน จะถ่ายใหม่ตั้งแต่แรกก็ไม่ได้ เพราะมันจะออกอากาศอยู่แล้ว และต้องใช้เงินมากกว่าเดิม รวมทั้งปัญหาเรื่องเวลาที่ต้องเลิกกองให้ทันเคอร์ฟิว ตลอดจนการที่ทุกคนเป็นฟรีแลนซ์ ทำให้ช่วงล็อกดาวน์จะไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ อย่างตอนนี้ที่เราทำงานให้กับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ตอนเปิดให้จองกล่องยังชีพ ไปเปิดดูรายชื่อ ก็จะเห็นว่า คนนี้ทำงานให้กับกองถ่ายของเรา ซึ่งหลาย ๆ คน คือคนที่รับงานรายวัน และเป็นเรื่องยากมากในการดำรงชีพในช่วงเวลาที่พวกเขาออกกองไม่ได้”  


 


ภาพ: Insects in the Backyard โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

ที่มา: https://www.facebook.com/insectsinthebackyard



อนาคตหนังไทย หลังจากวิกฤติโควิด-19


ภาณุ ปิดท้ายการสนทนาด้วยคำถามถึงมุมมองของแต่ละคน คิดว่าอนาคตของหนังไทยหลังจากวิกฤติโควิด-19 จะเป็นอย่างไร โดย ลี แสดงความคิดเห็นว่า “คิดว่าเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในเรื่องของการจัดฉาย เพราะเราเห็นแล้วว่า ธุรกิจโรงหนัง มันไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ของโควิดได้ แต่สตรีมมิ่งมันสามารถที่จะทำได้ ถ้าพูดในแง่การสร้างคอนเทนต์ คิดว่าจะมีคอนเทนต์ให้คนทำหนังไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าตอนนี้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมีการขยายเข้ามาบ้านเราเรื่อย ๆ แล้วการที่บริษัทพวกนี้ไปเจาะประเทศไหน เขาก็ต้องมีคอนเทนต์จากท้องที่นั้น ๆ เช่น หนังไทยหรือซีรีส์ไทยให้กับคนไทยดูด้วย คิดว่าต่อไปน่าจะมีโอกาสให้คนทำหนังไทยเยอะขึ้น แต่สิ่งที่ขาดความแน่นอน คือหนังไทยแบบที่เราเคยทำหรือหาทุนกัน จะยังทำได้หรือเปล่า เช่นหนังแบบ ที่รัก ที่ต้องดูบนจอใหญ่ในโรงหนัง จะมีที่ฉายให้หนังแบบนี้หรือแหล่งทุนที่สามารถสนับสนุนหนังแบบนี้หรือเปล่า ซึ่งเป็นคำถามที่ใหญ่และท้าทายที่สุดแล้ว”


“เห็นด้วยกับพี่ลี เพราะตอนนี้งานคอนเทนต์ฝั่งสตรีมมิ่งที่ผมทำยังพอมีอยู่ เรียกได้ว่าเยอะเลยด้วยซ้ำ แต่ที่น่าห่วง คือฝั่งของภาพยนตร์ที่ต้องดูในโรง เช่น หนังของพี่เจ้ย ที่เราเฝ้ารอว่าเมื่อไรจะได้กลับไปอยู่ตรงจุดนั้นในโรงหนัง ซึ่งผมก็ยังคาดหวังให้มวลอารมณ์ที่เป็นมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์ยังคงมีต่อไป” ศิวโรจณ์ กล่าวเสริมความคิดเห็นของลี


ด้าน ธัญญ์วาริน กล่าวปิดประเด็นคำถามนี้ว่า “กอล์ฟคิดเหมือนกับกานต์ คือแน่นอนว่า อาชีพของเราพอมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เรามีงานเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่กังวล คือเหมือนกับทั้ง 2 คนว่าไว้ แล้วต่อไปหนังโรงจะเป็นยังไง ในเมื่อตอนนี้โควิดมา ผู้คนยิ่งคุ้นชินกับการดูหนังผ่านจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ แต่สำหรับกอล์ฟเอง หนังยังไงก็คือหนัง ยังไงโรงหนังก็ยังจำเป็นอยู่ รวมถึงเสน่ห์บางอย่างที่เทียบไม่ได้กับการดูที่บ้าน คิดว่าอนาคตคนทำหนังโรงเอง ก็คงคิดหาวิธีการบางอย่าง เพื่อทำให้เห็นว่า ผลงานของเขาแตกต่างจากการดูที่บ้านอย่างแน่นอน”


******************************


ติดตามชมบันทึกการสนทนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/8b6JcsbKJ3/


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด

ความฝันที่จะเก็บรักษาฝันของชาติ

10 ก.ย. 64  บทความ

บทบันทึกการต่อสู้ ความรู้สึก และความทรงจำของ โดม สุขวงศ์ เมื่อครั้งเดินหน้ารณรงค์เรียกร้องให้เกิดหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย ไปจนถึงช่วง 5 ปีแ...

อ่านรายละเอียด