จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่ง ในหลากหลายนามปากกา ทั้ง โรสลาเรน, กนกเรขา, ลักษณวดี และนามปากกาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ ทมยันตี 

หนึ่งในคนทำหนังไทยที่หยิบยกเอาบทประพันธ์ของเธอมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง คือ เชิด ทรงศรี  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ่อปลาไหล (2515) ความรัก (2517) พ่อไก่แจ้ (2519) และ ทวิภพ (2533)  เนื่องในวาระการเสียชีวิตของคุณหญิงวิมล หอภาพยนตร์จึงขอนำข้อเขียนที่ เชิด ทรงศรี เคยเขียนถึงเธอไว้ใน ปี พ.ศ. 2516 จากนิตยสารโลกดารา ปีที่ 4 ฉบับที่ 82 (15 กันยายน 2516)  ซึ่งจะทำให้ได้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ในช่วงแรกที่มีการนำนวนิยายของเธอมาสร้างเป็นภาพยนตร์ จากมุมมองของเชิดในฐานะคนทำหนัง  และขอร่วมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ มา ณ ที่นี้ 

----------


กนกเรขา ทมยันตี โรสลาเรน ลักษณวดี 

โดย เชิด ทรงศรี 

*ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสารโลกดารา ปีที่ 4 ฉบับที่ 82 (15 กันยายน 2516)  


    หลายปีมาแล้ว ผมถูกยัดเยียดให้อ่านนวนิยายเรื่อง “ในฝัน” ของ “โรสลาเรน” 

    แรกๆ ก็อ่านไปอย่างทนเซ้าซี้ไม่ได้ ต่อเมื่อได้อ่านผ่านบทที่ 2-3 จึงได้ “ติด” จนอ่านจบทั้ง 2 เล่ม ในคืนวันเดียวกันตอนนั้นผมไม่รู้จัก “โรสลาเรน” หรอก คิดๆ เอาเองว่าผู้เขียนเรื่องนี้ต้องมีพื้นภูมิรู้ขนาดหลวงวิจิตรวาทการ “ในฝัน” เป็นนวนิยายที่งดงาม เมื่อได้อ่านแล้วก็ถามหาเรื่องอื่นๆ ของ “โรสลาเรน” อีก

    ก็ได้อ่าน “ค่าของคน” อ่านจบในรวดเดียว

    สมัยนั้นไม่เคยมีเจ้าของหนังไทยคนไหนสนใจ “โรสลาเรน” และผมตอนนั้นก็ไม่มีชื่อเสียงให้ใครเชื่อถือ เสนอให้ใครสร้างหนังเรื่อง “ค่าของคน” เขาก็ว่า “ไม่เห็นมีอะไร” แต่ความรักเรื่องนี้ทำให้ปากอยู่ไม่สุข จนลงท้าย คุณรัตน์ เศรษฐภักดี “ลองเชื่อ”

    ผม-ความอยากรู้จักตัวจริง “โรสลาเรน” อยู่แล้วออกปากอาสาพาคุณรัตน์ ไปซื้อเรื่อง “ค่าของคน” ตอนนั้น “โรสลาเรน” ยังอยู่บ้านสวน ริมคลองบางซื่อ วันแรกที่ได้เห็นตัวจริง-พิโธ่เอ๋ย, เด็กหญิงรุ่นสาวคนนี้น่ะหรือที่มีอัจฉริยะถึงขนาดเขียน “ในฝัน”

    จำได้เธอเลี้ยงขนมปังกรอบ กลั้วคอกับกาแฟหวานเจี๊ยบ เธอไม่ได้สนใจหรือตื่นเต้นที่มีนักสร้างหนังมาขอซื้อเรื่องของเธอหรอก แถมพูดแย้งๆ เป็นเชิงไม่อยากขายเสียด้วย เหตุผล 

    “ไม่อยากให้เจ้าของหนังเจ๊งค่ะ”

    ผมเซ้าซี้เธอ หยิบยกบางจุดในหนังสือ “ค่าของคน” มาชี้ชัดให้เห็นว่า ถ้าเป็นหนังจะเน้นอย่างไร ตัดทอนอย่างไร

    “โรสลาเรน” ฟัง...ฟัง แล้วในที่สุด ตกลงขาย “ค่าของคน” แก่คุณรัตน์ เศรษฐภักดี เป็นเรื่องแรก

    คุณรัตน์ ซื้อแล้วเกิดมี “ผู้เชี่ยวชาญหนังไทย” แสดงความคิดเห็น... คุณรัตน์จึงไม่กล้าที่จะสร้าง “ค่าของคน” ในขณะนั้น ทิ้งเรื่องไว้ตั้งหลายปี เพิ่งจะมาสร้าง

    ต่อมา คุณชาลี อินทรวิจิตร ซื้อเรื่อง “สายใจ” ซึ่ง “โรสลาเรน” เขียนในนามปากกา “ลักษณวดี”  มาถึงยุคผม-ไม่ลังเลใจเลย เมื่ออ่าน “พ่อปลาไหล” เพียง 3 บทใน “สกุลไทย” ผมซื้อทันที 

 


ภาพ: โปสเตอร์ พ่อปลาไหล ฉบับปี 2515 ที่สร้างประวัติการณ์ทำรายได้สูงสุดของหนังไทย 16 มม. ในขณะนั้น 


    กระทั่งทุกวันนี้ พูดได้เลยว่าบทประพันธ์ของนักเขียนผู้นี้ ภายใต้นามปากกาโรสลาเรน, กนกเรขา, ทมยันตี, ลักษณวดี ถูกซื้อไปสร้างภาพยนตร์มากที่สุด-มากเป็นอันดับหนึ่งทีเดียว

    แต่...เธอสบายใจหรือ?

    จริง, เงินใครๆ ก็อยากได้ ทว่า, นักประพันธ์คนนี้ เงินอย่างเดียวซื้อเธอไม่ได้หรอก 

    เมื่อเรื่อง “พ่อปลาไหล” ทำเงิน ผมรู้สึกเอาว่า เธอมีส่วนเหนื่อยกับผมมาก ทั้งช่วยเขียนบท ช่วยดูหนังก่อนฉาย จึงเห็นควรอย่างยิ่งที่จะเพิ่มเงินให้เธออีก

    “อย่าเชียวนะ” เธอปฏิเสธแข็งขัน

    “ขืนให้โกรธกันตาย ดิฉันพอใจเท่าที่ดิฉันได้รับมาแล้ว คุณไม่ต้องให้หรือซื้ออะไรให้ดิฉันหรอก- ไม่เอา”

    ผมไม่เคยเจอคนประเภทนี้ เราจึงกลายเป็นเพื่อนกัน เจอหน้ากันก็งัดแต่เรื่องหัวเราะออกมาปราศรัย

    “คุณหญิงนอกทำเนียบขายใครหรือยัง?” ผมถาม ตอนเริ่มลงในหนังสือ “แสนสุข” เธอตอบว่า “ยัง”

    “ผมจองนะ”

    “ฮื่อม์...”

    พูดกันสั้นๆ แต่คำสั้นๆ เท่านี้เธอถือเป็นสัญญาเกียรติยศ นักสร้างหนังหลายรายมาขอซื้อ เธอปฏิเสธจนหมด จนกระทั่งผมรู้สึกว่า-

    “ขอบอกเลิกจองคุณหญิงนอกทำเนียบนะ”

    “ทำไม?”

    “ไม่ทำไมหรอก จะเอาเรื่องอื่นน่ะ”

    “เรื่องอะไร?”

    “อุบัติเหตุ”

    “ตามใจ” 

    และผมก็ซื้อเรื่อง “อุบัติเหตุ” (ความรัก) เราซื้อขายกันโดยไม่มีสัญญา เราเชื่อถือกันและไม่เคยระแวงต่อกันเลย

    ผมทราบดี เรื่องที่ผมจองไว้แล้วมีอีกหลายคนวิ่งเต้นสารพัดจะขอซื้อ โดยทุ่มเงินให้มากกว่า บางรายเอาเพื่อน, เอาญาติ, เอาผู้ใหญ่ที่เธอรักนับถือมา “บีบ” เธอทางอ้อม แต่เธอก็ยังร้องเพลง “ฉันยังเหมือนเดิม” อยู่นั่นแหละ

 


ภาพ: ทมยันตี (ซ้ายสุด) กับ เชิด ทรงศรี (ที่ 3 จากซ้าย) ในรอบปฐมทัศน์ เรื่อง ทวิภพ (2533)


    เธอเป็นคนจริงใจต่อเพื่อน และจริงจังกับงาน ก่อนลงมือเขียนหนังสือทุกเรื่อง เธอจะจุดธูป 1 ดอก รำลึกถึงพระคุณบิดามารดา, ครูบาอาจารย์ แล้วจะคอยจนธูปไหม้มอดไปทั้งดอก จึงจะลงมือเขียน

    ผลได้จากงานเขียนหนังสือทุกเรื่อง เธอจะแบ่งส่วนหนึ่งไว้เพื่อการกุศล เราไม่ค่อยรู้กัน เพราะเธอไม่เคยถ่ายรูปตอนไปทำบุญลงหนังสือพิมพ์

    ถ้าคุณเป็นนักสร้างหนัง เขียนเรื่องย่อไปให้เธอ 

    “คุณกนกเรขาครับ ช่วยเขียนนวนิยายจากเรื่องย่อของผมที เรื่องนี้เหมาะสำหรับหนังไทยมากครับ...ผมให้ค่าเรื่องคุณ 5 หมื่นบาท คุณสบายมาก ไม่ต้องคิดพล็อตเรื่อง”

    ถ้าคุณคิดจะเสนอเธอแบบนี้ ผมให้คำตอบได้ล่วงหน้า-อย่าไปเลยป่วยการเปล่า เธอไม่ใช่นักเขียนประเภทฉวยโอกาส 

    อย่าง “แผลหัวใจ” ที่ลงหนังสือ “จักรวาล” ขณะนี้ ใครต่อใครขอจอง-ขอวางเงินซื้อ แต่

    “ยังค่ะ ขอให้เรื่องจบก่อน ค่อยพูดกันอีกที” 

    ดูๆ เหมือนคนหยิ่ง... ก็เห็นจะใช่เหมือนกัน หยิ่งในศักดิ์ศรี, หยิ่งในความคิดเห็นที่ถูกต้อง

    ผลงานทุกเรื่องที่เธอเขียน เธอรักมัน เมื่อใครจะสร้างเป็นหนัง เธออยากเห็นมันงดงาม ใกล้เคียงกับจินตนาการของเธอ

    ดังนั้น ก่อนจะขายเรื่องใดให้ใคร เธอก็ชอบที่จะศึกษาเสียก่อนว่า ผู้สร้างคนนั้น หรือผู้กำกับฯ คนนั้น เหมาะสมกับที่จะสร้าง กำกับฯ เรื่องไหนของเธอ เรื่องหนึ่งอาจจะเหมาะสำหรับผู้สร้างหรือผู้กำกับฯ คนหนึ่ง แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้สร้าง หรือผู้กำกับฯ อีกคนหนึ่ง ผลแห่งความนิยมมาก-น้อย จากภาพยนตร์ย่อมเป็นผลสะท้อนต่องานเขียนนวนิยายของเธอด้วย เธอจึงจำเป็นที่จะติดตามเอาใจใส่โดยสืบเนื่องกัน



 



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

ความฝันที่จะเก็บรักษาฝันของชาติ

10 ก.ย. 64  บทความ

บทบันทึกการต่อสู้ ความรู้สึก และความทรงจำของ โดม สุขวงศ์ เมื่อครั้งเดินหน้ารณรงค์เรียกร้องให้เกิดหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย ไปจนถึงช่วง 5 ปีแ...

อ่านรายละเอียด