ความฝันที่จะเก็บรักษาฝันของชาติ

บทบันทึกการต่อสู้ ความรู้สึก และความทรงจำของ โดม สุขวงศ์ เมื่อครั้งเดินหน้ารณรงค์เรียกร้องให้เกิดหน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย ไปจนถึงช่วง 5 ปีแรกที่เขาสามารถก่อตั้งหอภาพยนตร์ได้สำเร็จ ด้วยความมุมานะและจิตวิญญาณอันแรงกล้า

----------------------------------



โดย โดม สุขวงศ์

ภาพปก: โดม สุขวงศ์ ขณะตรวจฟิล์มในห้องที่ทำเป็นหอภาพยนตร์ทดลอง ที่วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2526 

*ต้นฉบับบทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น สำหรับตีพิมพ์ลงใน หนังสือ Introducing Southeast Asian Cinema to Japan, Series No.1 ของ Japan Foundation ASEAN Cultural Center เมื่อ พ.ศ. 2533



ผมชอบดูภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก ๆ เสมือนเป็นโรคชนิดหนึ่งซึ่งรักษาไม่หาย เมื่อเป็นเด็กเคยคิดฝันว่า ถ้าโตขึ้นเราได้เป็นคนฉายหนังก็คงจะโก้ดีทีเดียว หรือถ้าได้เป็นคนเดินตั๋วก็คงจะได้ดูหนังฟรีทุกวัน ผมสอบเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ด้วยความฝันว่าจะได้เรียนวิชาการสร้างภาพยนตร์ เพื่อต่อไปจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่สักคนหนึ่ง แต่เมื่อเรียนจบในปี 2517 ผมพบว่าตัวเองได้กลายเป็นผู้ที่พอจะถูกเรียกได้ว่านักวิชาการภาพยนตร์ และผมเลือกวิถีชีวิตของตัวเองด้วยการเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์และบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ส่งไปตามหนังสือพิมพ์และวารสาร



ภาพ: โดม สุขวงศ์  ขณะเรียนปี 4  คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2516 




กิจกรรมสำคัญในชีวิตของผม นอกจากการเขียนหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งก็คือการออกไปดูหนังแทบทุกวัน และนอกจากดูหนังตามโรงแล้ว ผมยังชอบไปดูหนังซึ่งจัดฉายตามสถาบันวัฒนธรรมของต่างชาติ ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น สถาบันเกอเธ่ บริติชเคาน์ซิล สำนักข่าวสารอเมริกัน สมาคมฝรั่งเศส สำนักข่าวสารญี่ปุ่น



การได้ดูภาพยนตร์ตามสถาบันวัฒนธรรมเหล่านี้เอง ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า ประเทศอื่น ๆ เขาคงมีการเก็บรักษาผลงานภาพยนตร์ของเขาไว้เป็นอย่างดี จึงสามารถนำหนังเก่า ๆ ที่มีคุณค่าและอยู่ในสภาพที่ดีมากมาจัดฉายให้เราดูได้ เปรียบเทียบกับประเทศไทย เราไม่เคยมีหน่วยงานที่ทําหน้าที่เก็บสะสมและอนุรักษ์ภาพยนตร์ เราไม่เคยมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ไทยที่คนรุ่นพ่อแม่เราได้เคยดูมา หรือแม้แต่ภาพยนตร์ไทยที่เราเองเคยดูมาอย่างสนุกสนานเมื่อยังเป็นเด็ก ๆ หากบังเอิญมีกลับมาให้ดูบ้าง ก็ล้วนเป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในสภาพเก่าชํารุดทรุดโทรมเหลือดี ผมยังได้อ่านพบจากหนังสือบางเล่มว่า ในหลายประเทศเขามีสถาบันที่เรียกว่า หอภาพยนตร์ (film archive) บ้าง ภาพยนตร์สถาน (cinematheque) บ้าง พิพิธภัณฑสถานภาพยนตร์ (film museum) บ้าง ศูนย์ภาพยนตร์ (film center) บ้าง หรือเรียกอย่างอื่น ๆ บ้าง เพื่อทําหน้าที่เก็บสะสมและอนุรักษ์บรรดาภาพยนตร์ต่าง ๆ ในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาติ ข้อความในหนังสือเหล่านั้นมักระบุว่า หอภาพยนตร์ของประเทศนั้นประเทศนี้ สะสมภาพยนตร์ต่าง ๆ ไว้กี่พันกี่หมื่นเรื่อง สะสมหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ไว้กี่หมื่นกี่แสนเล่ม สะสมรูปนิ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์ไว้กี่แสนกี่ล้านรูป สะสมโปสเตอร์ภาพยนตร์ไว้กี่พันกี่หมื่นชิ้น ผมอ่านแล้วก็ได้แต่นึกอิจฉาประเทศเหล่านั้น และรู้สึกน้อยใจนักที่ประเทศไทยไม่มีสถาบันเช่นนั้นบ้าง แต่ผมนึกปลอบใจตัวเองว่า เมื่อก่อนนี้ประเทศเราก็ไม่เคยมีหอสมุด ต่อมาถึงเวลาก็มีขึ้น เมื่อก่อนนี้ประเทศเราไม่เคยมีพิพิธภัณฑสถาน ต่อมาถึงเวลาก็มีขึ้นมา ดังนั้น เอาเถิด เมื่อถึงเวลาทางราชการบ้านเมืองเขาก็คงจัดตั้งหอภาพยนตร์ขึ้นมาเองนั่นแหละ ผมเลยฝันคืบต่อไปว่า เมื่อถึงเวลาที่ประเทศของเรามีหอภาพยนตร์ขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ผมก็คงได้ดูภาพยนตร์ดี ๆ ที่เราอยากดูได้ทุกเมื่อ และได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์อย่างกว้างขวางและสะดวกสบาย


แต่ผมไม่เคยนึกฝันว่า ผมเองต้องกลายมาเป็นผู้ต่อสู้เรียกร้องเรื่องการอนุรักษ์ภาพยนตร์ และที่สุดต้องเป็นคนลงมือก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติด้วยตัวเอง


ก่อนจะเป็นหอภาพยนตร์แห่งชาติ

 

ภาพ: โดม สุขวงศ์ (หลังสุด) ขณะตรวจชำระฟิล์มเก่าหลายร้อยม้วน ร่วมกับ สุรพงษ์ พินิจค้า ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2524


เรื่องเริ่มต้นเมื่อปี 2523 เมื่อผมเริ่มเกิดความสนใจที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เพราะเห็นว่ายังไม่เคยมีใครทำอย่างจริงจังมาก่อน ผมได้แรงดลใจอย่างเงียบ ๆ จากการได้อ่านหนังสือพ็อกเกตบุ๊คเล่มหนึ่ง ชื่อ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต  เขียนโดย ขุนวิจิตรมาตรา นักเขียน นักแต่งเพลงและผู้กํากับภาพยนตร์ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่าถึงความทรงจําเกี่ยวกับวงการบันเทิง โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ในสมัยของท่าน ซึ่งนับได้ว่าเป็นยุคทองของภาพยนตร์ไทย เรื่องราวต่าง ๆ ที่ท่านเล่าล้วนน่าสนใจยิ่ง ผมรู้สึกว่าท่านยังเล่าน้อยไป ไม่จุใจ จึงตั้งใจว่าจะต้องหาโอกาสไปพบตัวท่าน และขอสัมภาษณ์เพื่อบันทึกเสียงจากปากคําของท่านลงเทปแคสเซ็ทไว้ และคงจะต้องรีบไปเพราะท่านมีอายุมากกว่าแปดสิบปีแล้ว แต่ผมยังมัวรออยู่ว่าสักวันค่อยไป กระทั่งวันหนึ่ง พบข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันรายงานว่าท่านถึงแก่กรรมเสียแล้ว นั่นทําให้ผมรู้สึกเจ็บใจตัวเอง ที่ได้แต่คิดแล้วมัวรีรอ ไม่รีบลงมือกระทํา จึงสูญเสียโอกาสไปอย่างไม่อาจให้อภัยตัวเองได้


วันต่อมานั่นเอง ผมจึงเริ่มลงมือทํางานค้นคว้าเก็บสะสมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เพื่อเตรียมตัวเขียนหนังสือ ผมเริ่มด้วยการไปค้นคว้าที่หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และออกไปสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เคยมีบทบาทสําคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย


เวลาผ่านไป ข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยที่ผมค้นคว้าสะสมก็มีมากขึ้น ๆ มีข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อนมากมาย ซึ่งล้วนน่าตื่นเต้น ผมรู้สึกสงสัยว่าภาพยนตร์ต่าง ๆ ในอดีตเหล่านั้น ยังมีตัวตนอยู่หรือไม่หนอ ถ้ายังมีอยู่มันจะมีค่ามหาศาลเพียงใดหนอ นี่เป็นเพราะประเทศเรายังไม่มีหอภาพยนตร์ เราจึงไม่เคยรู้จักภาพยนตร์อันลึกลับเหล่านี้ เมื่อผมเริ่มลงมือเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ผมก็พบว่า ไม่สามารถเขียนให้ดีได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องกล่าวถึง ภาพยนตร์ต่าง ๆ ในอดีตซึ่งผมไม่เคยรู้จักมาก่อน และผู้อ่านก็คงไม่รู้จักเช่นกัน ผมเริ่มคิดถึงการออกติดตามค้นหาภาพยนตร์ในอดีต และคิดได้ว่า ถ้ามัวรอว่า เอาเถอะ แล้วสักวันหนึ่งทางราชการเขาก็สร้างหอภาพยนตร์ขึ้นมาสักหอหนึ่งเองนั่นแหละ บางทีผมอาจจะตายเสียก่อนที่จะถึงวันนั้น หรือบางที มันอาจจะสายเกินไปก็ได้ คือไม่มีภาพยนตร์อะไรเหลือให้เก็บรักษา ดังนั้นแทนที่จะมัวรออยู่เฉย ๆ ทําไมผมไม่ลองไปเสนอให้หน่วยราชการเริ่มลงมือทํา


ผมไปติดต่อที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นกองหนึ่ง ในสังกัด กรมศิลปากร  กระทรวงศึกษาธิการ เพราะเห็นว่า หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีหน้าที่เก็บรวบรวมและอนุรักษ์บรรดาเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติ และภาพยนตร์ก็เป็นเอกสารได้อย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ยังไม่ได้ลงมือเก็บภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่บางคนในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สนใจข้อเสนอของผม ซึ่งผมเสนอตัวว่าจะเป็นอาสาสมัครออกค้นหาภาพยนตร์เก่ามาให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ผมไม่เคยล่วงรู้มาก่อนเลยว่า ในปี 2523 นั้นเอง ที่ประชุมใหญ่ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเบลเกรด ยูโกสลาเวีย ได้มีมติผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเสนอแนะว่าด้วยการพิทักษ์และอนุรักษ์ภาพเคลื่อนไหว (Unesco 1980 Recommendation for the Safeguarding and Preservation of Moving Images) สาระสําคัญของข้อเสนอแนะนี้คือ การเรียกร้องให้บรรดารัฐสมาชิกของยูเนสโก ให้ความเอาใจใส่ต่อการอนุรักษ์สื่อภาพเคลื่อนไหว ซึ่งได้แก่ ภาพยนตร์ ภาพโทรทัศน์ แถบภาพวิดีโอ แถบบันทึกเสียง แผ่นบันทึกภาพ แผ่นเสียง ฯลฯ ในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ซึ่งไม่ได้รับการพิทักษ์และอนุรักษ์เท่าที่ควร โลกกําลังสูญเสียมรดกเหล่านี้ไปตลอดเวลา ข้อเสนอแนะนี้ยังเรียกร้องให้รัฐสมาชิกใดที่ยังไม่มีหอภาพยนตร์ ได้ริเริ่มจัดตั้งกันขึ้น


ปี 2524 ผมค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เก่าอายุกว่าห้าสิบปีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นภาพยนตร์ข่าวและสารคดี ผลิตโดย กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ในอดีต กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวนี้ มีฐานะเสมือนศูนย์ผลิตภาพยนตร์แห่งชาติของรัฐบาลสมัยราชาธิปไตย ผมรีบติดต่อให้เจ้าหน้าที่จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติไปรับฟิล์มภาพยนตร์เหล่านั้นซึ่งมีจํานวนราวหนึ่งแสนฟุตไปเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ด้วยความรู้สึกดีใจว่า บัดนี้จะได้เริ่มมีการเก็บสะสมและอนุรักษ์ภาพยนตร์ขึ้นในประเทศไทยแล้ว


แต่แล้วไม่กี่เดือนต่อมา ผมก็พบกับความจริงที่ทําให้รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง นั่นคือได้พบว่าเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มิได้เข้าใจและเห็นความสําคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์เท่าที่ควรจะเป็น ตรงกันข้าม วิธีการที่พวกเขาพยายามปฏิบัติต่อฟิล์ม เช่น การพิมพ์สําเนาโดยย่อขนาดของภาพยนตร์ จาก 35 มิลลิเมตร เป็น 16 มิลลิเมตร และใช้ฟิล์มสีมาทําสําเนาจากฟิล์มต้นฉบับซึ่งเป็นขาว-ดํา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า หลังจากนั้นฟิล์มต้นฉบับจะต้องถูกทําลายทิ้งไป เพราะเป็นฟิล์มไนเตรต ซึ่งไม่อาจจะอนุรักษ์ไว้ได้ต่อไป ผมเห็นว่าการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นการทําลายคุณค่าของภาพยนตร์ แทนที่จะเป็นการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง แต่ผมไม่สามารถปกป้องภาพยนตร์เหล่านั้นได้ เพราะผมมิได้มีอํานาจหน้าที่อะไร


นี้เป็นบทเรียนให้ผมได้ตระหนักว่า การทำงานอนุรักษ์ภาพยนตร์นั้น มิใช่ว่าเราจะไปเสนอให้ใคร ๆ ทำก็ได้ สักแต่ว่าทําเพราะเป็นหน้าที่ต้องทำเท่านั้นยังไม่พอ แต่เขาจะต้องทําเพราะความรักและด้วยหัวใจ จากความผิดหวังและสะเทือนใจอย่างรุนแรงในครั้งแรกนี้เอง ทำให้ผมบอกแก่ตัวเองว่า นับแต่นี้ไป แม้จะต้องตายก็ยอม ผมจะต้องทําทุกวิถีทางให้พวกเขายอมรับความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ ผมจะต้องทําทุกวิถีทางให้เกิดมีหอภาพยนตร์ขึ้นมาในประเทศไทยให้จงได้


สองปีของการต่อสู้


 

ภาพ: โครงการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย ที่โดมจัดตั้งขึ้นร่วมกับ แผนกวิชาช่างภาพ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ เดินทางไปรับฟิล์มส่วนพระองค์ รัชกาลที่ 7 จากสยามสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2526



ตลอดปี 2525 และ 2526 ผมแทบจะหายใจเข้าออกทุกนาทีอยู่กับการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ภาพยนตร์ และการจัดตั้งหอภาพยนตร์ ผมหอบแฟ้มโครงการหอภาพยนตร์และม้วนฟิล์มภาพยนตร์ที่กำลังเสื่อมสภาพ ไปเสนอต่อบุคคลตามสถาบันต่าง ๆ หลายต่อหลายแห่ง ตั้งแต่ ผู้จัดการบริษัทใหญ่ ๆ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จนถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ทุกคนที่ผมไปพบจะพูดคล้าย ๆ กันว่า “โครงการของคุณดีจริง ๆ น่าจะทํากันนานแล้ว แต่..นี่แน่ะ ทําไมคุณไม่ลองไปติดต่อที่โน่นล่ะ ที่...” ซึ่งผมก็จะต้องตอบเขาว่า “ท่านครับ ผมไปที่นั่นมาแล้ว และเขาก็แนะนําให้ผมมาหาท่านที่นี่แหละ"


วันหนึ่ง ผมคิดว่า น่าจะลองไปพบเจ้าอาวาสวัดที่ร่ำรวยสักวัดหนึ่งซึ่งมีอยู่มากมายในกรุงเทพ ไปเสนอให้ท่านสร้างหอภาพยนตร์ขึ้นในวัด แทนที่จะสร้างพระพุทธรูปหรือเจดีย์ขนาดใหญ่โตมโหฬาร แต่ยังมิทันได้ไป ผมได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายพิเศษ วิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ที่แผนกวิชาช่างภาพและภาพยนตร์ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ ผู้บริหารของวิทยาเขตคนหนึ่งทราบดีว่าผมกําลังหมกมุ่นอยู่กับการต่อสู้ให้มีการจัดตั้งหอภาพยนตร์ เขาจึงออกปากให้ผมใช้ห้องใต้ถุนบันไดเล็ก ๆ ห้องหนึ่งที่วิทยาลัยนั้น เป็นที่ทําหอภาพยนตร์ในฝันของผม


นับจากกลางปี 2525 ผมใช้ชีวิตทั้งหมดทำห้องใต้บันไดเล็ก ๆ นั้น ให้กลายเป็นหอภาพยนตร์ภาคทดลอง มีพวกนักศึกษามาเป็นอาสาสมัครช่วยทํางาน พวกเราออกไปตระเวนขอรับบริจาคภาพยนตร์เก่า ๆ และสิ่งของอะไรก็ตามที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ เช่น โปสเตอร์ บทภาพยนตร์ รูปนิ่ง เราเริ่มจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดฉายภาพยนตร์ รายการอภิปราย และนิทรรศการ เพื่อรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ภาพยนตร์ งานของเราเริ่มเป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากขึ้น


แต่ผมรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ทางราชการบ้านเมืองยังคงไม่เห็นความจําเป็นของการอนุรักษ์ภาพยนตร์และการจัดตั้งหอภาพยนตร์สักเท่าไรเลย ผมเห็นว่านั่นเป็นเพราะเรายังไม่สามารถหาอะไรสักอย่างหนึ่งให้เขาปฏิเสธไม่ได้ ผมเกิดความคิดว่า ถ้าผมสามารถค้นหาภาพยนตร์ที่เก่าที่สุด และมีค่าเสมือนมรดกหรือเอกสารสําคัญล้ำค่าของชาติ คงจะเรียกร้องความสนใจจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของราชการหรือรัฐบาลได้แน่นอน ภาพยนตร์ที่เก่าที่สุดและล้ำค่าหายากในความคิดของผม คือ ภาพยนตร์ที่บันทึกเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน มีเรื่องราวและภาพถ่ายเกี่ยวกับพระองค์อยู่เป็นอันมาก แต่ไม่มีใครคิดและเชื่อว่าได้มีการบันทึกภาพยนตร์เกี่ยวกับพระองค์ไว้


อาวุธมหัศจรรย์

 

ภาพ: โดม สุขวงศ์ (ขวาสุด) กับผู้แทนจากประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับเชิญไปร่วมงานประชุมใหญ่ของ สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ เมื่อ พ.ศ. 2526 



ผมไม่คาดฝันมาก่อนว่า เรื่องราวการต่อสู้ของผมจะได้รับการบอกเล่าจากปากสู่ปาก จนล่วงรู้ไปถึง สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ (International Federation of Film Archives) และ องค์การยูเนสโก จู่ ๆ ต้นปี 2526 ผมก็ได้รับเชิญให้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมใหญ่ประจําปี ครั้งที่ 35 ของสหพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ ซึ่งจะมีขึ้น ณ กรุงสตอคโฮล์ม สวีเดน ผมตื่นเต้นที่สุด มิใช่เพียงเพราะเป็นครั้งแรกที่จะได้เดินทางไปต่างประเทศ แต่นั่นจะเป็นครั้งแรกที่ จะได้ไปเห็นหอภาพยนตร์จริง ๆ มิใช่หอภาพยนตร์ทดลองของเล่นที่ผมทําอยู่


เหมือนสิ่งมหัศจรรย์ ก่อนจะออกเดินทางไปสตอคโฮล์ม ผมได้อ่านหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์บรรดาจดหมายส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ทรงส่งมาถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถในกรุงเทพ ระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินอยู่ในทวีปยุโรป เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ปี 2440 ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งทรงส่งจากกรุงสตอคโฮล์ม ในวันแรกที่เสด็จไปถึง พระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงพิธีรับเสด็จที่พระเจ้าแผ่นดินสวีเดนจัดถวายที่ท่าเรือหน้าพระราชวังหลวง ผมพบประโยคหนึ่งในจดหมายนั้น ทรงเขียนว่า “มีฝรั่งมันถ่ายหนังไว้ ดีมาก…” ผมรู้สึกตื่นเต้นกับข้อความเพียงประโยคเดียวนี้มาก ถ้าหากมีการถ่ายภาพยนตร์ไว้จริง นั่นต้องเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่เก่าที่สุดเกี่ยวกับชาติไทย เพราะปี 2440 นั้น ภาพยนตร์เพิ่งเกิดมีขึ้นในโลกได้เพียงสองหรือสามปีเท่านั้น


ผมกลับจากสวีเดนด้วยความกระหายที่จะจัดตั้งหอภาพยนตร์มากยิ่งขึ้นสุดขีด บัดนี้ผมได้ไปเห็น หอภาพยนตร์จริง ๆ มาแล้ว ผมฝันเห็นหอภาพยนตร์ของประเทศไทย คล้าย ๆ กับหอภาพยนตร์ที่ผมเห็นในสวีเดน คือเป็นอาคารทันสมัยใหญ่โต ตึกที่เก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ เป็นอาคารใหญ่โต ลึกลงไปใต้ดินถึงสี่ชั้น ติดตั้งเครื่องควบคุมอุณหภูมิและความชื้น มีคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ทํางาน มีภาพยนตร์เก็บไว้นับหมื่นนับแสนม้วน


แต่เหนืออื่นใด ผมได้ค้นพบภาพยนตร์ล้ำค่าดังที่ปรากฏเป็นลายแทงในจดหมายของพระเจ้ากรุงสยามซึ่งเสด็จไปเยือนกรุงสตอคโฮล์มเมื่อเกือบเก้าสิบปีก่อนหน้านั้น ภาพยนตร์นั้นมีความยาวเพียงหนึ่งนาทีเศษ แต่ผมแน่ใจว่านี่คืออาวุธลับมหาประลัยที่จะช่วยให้ผมเผด็จศึกในสงครามที่กําลังดิ้นรนต่อสู้อยู่ ในเวลานั้น


ข่าวการค้นพบภาพยนตร์ล้ำค่ากระจายออกไปทางหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่กี่วันต่อมาผมได้รับการติดต่อจาก นายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ รองอธิบดีกรมศิลปากร ให้ไปพบเขา เขาคือข้าราชการระดับสูงของกรม ในสังกัดกระทรวงศึกษา ซึ่งควบคุมบังคับบัญชากองต่าง ๆ เช่น กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กองหอสมุดแห่งชาติ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ เขาบอกผมว่า ถึงเวลาแล้วที่กรมศิลปากรจะต้องทําหอภาพยนตร์แห่งชาติ เขาขอให้ผมมาช่วยทํางานนี้ เขาอาจจะไม่รู้ว่านั่นคือคำขอที่ผมต่อสู้เรียกร้องและรอคอยมาตลอดสองปีเต็ม


ความฝันที่เป็นจริง

 

ภาพ: โดม สุขวงศ์ ที่หน้ากระท่อมเก็บฟิล์ม ของหอภาพยนตร์แห่งชาติอินเดีย เมืองปูนา


ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง เมื่อต้นปี 2527 ผมได้รับเชิญไปร่วมการสัมมนาระดับภูมิภาคเรื่อง หอภาพยนตร์ที่กําลังพัฒนาในเอเชีย ณ เมืองปูนา อินเดีย คราวนี้ผมได้ไปเห็นหอภาพยนตร์แห่งชาติของอินเดีย ซึ่งขณะนั้นก่อตั้งมาได้ถึงยี่สิบปีแล้ว ผมพบว่าอาคารเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์แห่งชาติของอินเดีย ก็คือกระท่อมที่ตั้งอยู่บนพื้นดินกลางทุ่ง ติดตั้งเครื่องปรับอากาศชนิดติดหน้าต่างที่ใช้กันตามบ้าน ภายในเต็มล้นไปด้วยกล่องใส่ฟิล์มภาพยนตร์วางอยู่ในชั้นซึ่งต่อขึ้นอย่างหยาบ ๆ แต่เขาก็สามารถอนุรักษ์มรดกภาพยนตร์ของเขามาได้ถึงยี่สิบปีแล้ว


ผมกลับมาเมืองไทยด้วยการตื่นจากความฝันที่ค้างมาจากสวีเดน ผมไปพบ นายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ และบอกเขาว่า หากเขาจะให้ผมทําหอภาพยนตร์แห่งชาติ ผมขอตึกเก่า ๆ สักหลังหนึ่ง ตึกร้างที่ไม่มีใครต้องการก็ได้ เขาส่งผมไปดูอาคารเก่าในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป  ซึ่งมีอาคารเก่าทิ้งร้างอยู่อีกหลายหลัง อาคารเหล่านี้ ในอดีตเคยเป็นโรงกษาปณ์ของรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ผมได้สํารวจดูอาคารหลังหนึ่งซึ่งมีอายุประมาณสามสิบปี อาคารนี้มีห้องเซฟใหญ่ซึ่งเคยใช้เป็นที่เก็บเหรียญกษาปณ์และของมีค่าของโรงกษาปณ์ เป็นห้องมั่นคง กําแพงหนาหนึ่งฟุต มีประตูเหล็กบานใหญ่ ผมเล็งเห็นได้ทันทีว่านี้จะเป็นห้องเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ได้อย่างดี ดีกว่ากระท่อมที่อินเดียมากนัก แต่ขณะนั้นทั้งอาคารเต็มไปด้วยเศษสิ่งของหักพัง ขยะ ฝูงนกพิราบ ค้างคาว หนู และงู


โครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2527 เราเริ่มด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวสี่คน คือผมเองกับเด็กหนุ่มอีกสามคนซึ่งเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ผมชักชวนให้พวกเขามาร่วมงานบุกเบิก กรมศิลปากรส่งข้าราชการประจําคนหนึ่ง คือ นางเพ็ญพรรณ เจริญพร มาเป็นหัวหน้าโครงการ เราจึงเริ่มทํางานด้วยคนห้าคน ตึกร้างและสกปรกรกรุงรังหนึ่งหลัง งบประมาณศูนย์บาท

 


ภาพ: เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ชุดแรก (จากซ้ายไปขวา) โดม สุขวงศ์, สมชาติ บางแจ้ง, ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา, วัลภา ขวัญยืน (หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป), เพ็ญพรรณ เจริญพร และ ประสิทธิ์ ดีศิลปกิจ



เราใช้เวลาเป็นแรมเดือนไปกับการขับไล่นก ค้างคาว และหนู ออกไป เก็บกวาดขยะที่สั่งสมอยู่ นานนับสิบปี จนสะอาด อุดรูรั่วบนหลังคาด้วยยางมะตอย แล้วที่สุดก็พังบานประตูไม้คู่หนึ่งมาทําเป็นโต๊ะทํางานตัวแรก จุดเทียนไขปักลงไปเพื่อให้แสงสว่าง จุดยากันยุงคอยขับไล่ยุงที่ชอบแห่กันมากัดเรา ผมเขียนข้อความว่า “หอภาพยนตร์แห่งชาติ” ลงบนเศษไม้กระดานแผ่นหนึ่ง ตอกติดไว้บนกําแพงด้านทางเข้า ด้วยความรู้สึกว่า นั่นคือธงแห่งชัยชนะที่เรานําขึ้นไปปักบนยอดเขาสูงสุดได้สําเร็จแล้ว


หลังจากนั้น เราก็ตระเวนออกไปทุกหนแห่งที่คิดว่าจะมีฟิล์มภาพยนตร์ และสิ่งของทั้งหลายที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ เพื่อขอบริจาคมาเป็นสมบัติของหอภาพยนตร์แห่งชาติ อันที่จริงเราขอทุกอย่างแม้จะไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ แม้จะหักพังแล้ว และแน่นอนรวมทั้งเงินด้วย เราตั้งกล่องรับเงินบริจาคเล็ก ๆ ไว้ที่หน้าประตู แขกที่ไปมาหาสู่เรา เมื่อเห็นสภาพอันอัตคัตขัดสนอย่างไม่น่าเชื่อของหอภาพยนตร์แห่งชาติซึ่งซ่อนอยู่ในใจกลางกรุงเทพ เขาก็มักจะหยอดเศษสตางค์ให้ด้วยความสมเพช


อาคารซึ่งเป็นห้องโถงโล่ง ๆ เริ่มรกรุงรังอีกครั้งด้วยกล่องใส่ฟิล์มภาพยนตร์ และสิ่งของต่าง ๆ ที่เราออกไปเสาะหาเข้ามาเก็บสะสมเพิ่มขึ้น ๆ ทุกวัน


จากไม่มีเป็นมี จากไม่รู้เป็นรู้

 


ภาพ: โดม สุขวงศ์ กับ ฮาโรลด์ บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์ภาพยนตร์ระดับโลกจากอังกฤษ ที่มาฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ไทย เมื่อ พ.ศ. 2529 



เพื่อที่จะปรับปรุงอาคารหอภาพยนตร์แห่งชาติ เราจึงรณรงค์หาเงินบริจาค และได้รับเงินบริจาคจากธนาคารพานิชย์ บริษัทน้ำมัน และเอกชนอีกหลายราย รวมแล้วเป็นเงินถึงสี่แสนบาท นํามาใช้ในการปรับปรุงอาคารได้ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะเราใช้ไปในการสร้างห้องปฏิบัติการซ่อมแซมฟิล์มภาพยนตร์และห้องเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์


จากนั้นก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเรียนรู้ถึงวิธีการอนุรักษ์พิล์มภาพยนตร์ที่เราแสวงหามาได้แล้วมากพอสมควร เราเสนอขอความช่วยเหลือผ่านไปทางยูเนสโก และขอไปยังสหพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ ต่อมาก็ได้รับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ในการอนุรักษ์ที่ฟิล์มภาพยนตร์จากสถาบันภาพยนตร์สวีเดน จากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน จากสํานักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์จากสวีเดน เยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เดินทางเข้ามาช่วยฝึกสอนเจ้าหน้าที่ของเราเป็นลําดับมา


หอภาพยนตร์แห่งชาติค่อย ๆ เติบโตขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ในปี 2530 เราได้รับงบประมาณพิเศษ ราวห้าแสนบาทจากกรมศิลปากร เพื่อปรับปรุงอาคารส่วนที่เหลือจนสําเร็จทั้งหลัง ทําให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งแต่เดิมเมื่อเป็นอาคารเก่าของโรงกษาปณ์ มีพื้นที่ใช้สอยเพียงประมาณห้าร้อยตารางเมตร เมื่อปรับปรุงแล้วมีพื้นที่ใช้สอยถึงประมาณหนึ่งพันตารางเมตร แม้ว่าเราจะเป็นหอภาพยนตร์ขนาดเล็ก เสมือนหนังสือฉบับกระเป๋า แต่ก็มีการจัดสรรพื้นที่ทํากิจกรรมและแบ่งส่วนงานอย่างหอภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แล้ว นั่นคือภายใต้อาคารเล็ก ๆ นี้ เรามีห้องเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ 2 ห้อง ซึ่งติดตั้งเครื่องควบคุม อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 40% สามารถเก็บฟิล์มภาพยนตร์ได้ประมาณหกพันม้วน หรือประมาณสิบล้านฟุต มีห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ภาพยนตร์ เราสามารถพิมพ์สําเนาและล้างฟิล์มภาพยนตร์ขาว-ดําได้เอง มีห้องบริการค้นคว้าภาพยนตร์ มีส่วนที่เป็นงานเอกสารสนเทศ (documentation section) คือ มีห้องสมุด มีโรงภาพยนตร์เล็ก ๆ ขนาด 85 ที่นั่ง


ในปี 2530 นี้เอง หอภาพยนตร์แห่งชาติของเราได้รับเกียรติยศอย่างยิ่งเป็นครั้งแรก คือ ได้รับรางวัลเหรียญเงินยูเนสโก (Unesco Silver Medal) ซึ่งเป็นเหรียญที่ยูเนสโกทําขึ้นเพื่อ มอบเป็นรางวัลแก่บุคคลที่มีบทบาทดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม นับว่าเราเป็นสถาบันแห่งแรกที่มิใช่เอกชนซึ่งได้รับรางวัลนี้ นายอมาดู เอมโบ (Amadou M’Bow) ผู้อํานวยการใหญ่ของยูเนสโกในขณะนั้น ได้เดินทางมาทําพิธีวางเหรียญประดับให้อาคารหอภาพยนตร์แห่งชาติด้วยตนเอง


ผมคิดว่าความสําเร็จของหอภาพยนตร์แห่งชาติของไทยนั้น นอกจากเกิดจากการทํางานอย่างอุทิศตัวของเจ้าหน้าที่เด็กหนุ่มสาวรุ่นบุกเบิกแล้ว ยังเกิดจากการร่วมมือสนับสนุนจากบุคคลและสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ และนั่นดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างที่เป็นจริงแห่งความสําเร็จของสิ่งที่เรียกว่า ข้อเสนอแนะปี 1980 ของยูเนสโก ว่าด้วยการพิทักษ์และอนุรักษ์ภาพเคลื่อนไหว นั่นเอง


ปี 2531 หอภาพยนตร์แห่งชาติ สมัครเข้าเป็นสมาชิกสังเกตุการณ์ของสหพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ ซึ่งหมายถึงว่าบัดนี้ประเทศไทยได้ปรากฏอยู่ในแผนที่โลกของหอภาพยนตร์กับเขาแล้ว ผมภูมิใจที่จะบอกท่านว่า ต่อไปนี้ถ้าหากท่านมีโอกาสเปิดอ่านหนังสือบางประเภท เช่น International Film Guide ในบทที่ว่าด้วย หอภาพยนตร์ โปรดเหลือบตาดูคำแนะนําหอภาพยนตร์แห่งชาติ ประเทศไทย ท่านจะได้พบข้อความเหล่านี้ :


หอภาพยนตร์แห่งชาติ 4 ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพ 10200  ผู้อํานวยการ : เพ็ญพรรณ เจริญพร  ของสะสม : ภาพยนตร์เรื่อง 180 ภาพยนตร์สั้น 1,500 ภาพยนตร์ข่าว 150,000 หนังสือ 500 ภาพนิ่ง 15,000 โปสเตอร์ 1,500 บทภาพยนตร์ 80 เปิดบริการ ให้สาธารณชนเข้าค้นคว้าทุกวัน เว้น เสาร์-อาทิตย์ จัดฉายภาพยนตร์ประจําทุกวันศุกร์


ปี 2532 หลังจากที่เราเคยเป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือจากภายนอกมาตลอดเวลา ปีนี้เป็นครั้งแรกที่หอภาพยนตร์แห่งชาติของเรามีโอกาสเป็นฝ่ายให้บ้าง เมื่อเราเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การอนุรักษ์ภาพยนตร์ ในระดับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากยูเนสโก มี ผู้แทนสิบคนจากหกประเทศเข้าร่วมสัมมนา คือ ลาว เวียดนาม มาเลย์เซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์


ปัจจุบันกับปัญหาที่ต้องเผชิญเพื่ออนาคต


 

ภาพ: โดม สุขวงศ์ กับเด็ก ๆ ในงานวันกำเนิดภาพยนตร์ในสยาม ปี 2532 ที่โรงหนังอลังการ หอภาพยนตร์แห่งชาติ  



ถึงวันนี้ หอภาพยนตร์แห่งชาติ มีอายุได้ห้าปีเต็มแล้ว บนหนทางเดินของปีที่หกเรายังคงเป็นหอภาพยนตร์เล็ก ๆ ที่กําลังพัฒนา จากเจ้าหน้าที่ห้าคนกับอาคารร้างหนึ่งหลังและสองมือเปล่าเมื่อแรกเกิด บัดนี้เรามีเจ้าหน้าที่สิบห้าคน อาคารที่ปรับปรุงสมบูรณ์แล้ว และได้รับเงินงบประมาณปีละแปดแสนบาท มีโครงการใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าสองโครงการ คือ โครงการหนังไทยกลับบ้าน ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์เพื่อหาทางนําเนกาติฟของภาพยนตร์ไทย ซึ่งตกค้างอยู่ตามห้องแล็บในต่างประเทศกลับคืนมาเก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ และขณะนี้เรากําลังดําเนินการเพื่อนำเนกาติฟภาพยนตร์ไทยจํานวน 262 เรื่องจาก แมนดาริน ฟิล์มแล็บ ฮ่องกงกลับประเทศไทย


อีกโครงการหนึ่ง ยังเป็นความคิดและฝัน คือการสร้างศูนย์เก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์และห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ภาพยนตร์ขึ้นในย่านชานเมือง อย่างไรก็ดี โครงการนี้มีความจําเป็นที่จะต้องทําให้เป็นจริง เนื่องจากห้องเก็บฟิล์มเล็ก ๆ ในหอภาพยนตร์ของเรากําลังจะเต็มและไม่มีที่ทางจะขยับขยายได้อีกแล้ว


ในขณะที่สิ่งน่าภูมิใจของหอภาพยนตร์แห่งชาติของเรา คือการค่อย ๆ พัฒนาจากเล็กสู่ใหญ่ จากไม่มีสู่มี แต่นั้นเป็นปัญหาอยู่ในตัวมันเองด้วย เพราะเราเริ่มต้นด้วยฐานะของหน่วยงานที่ต่ำต้อยที่สุดในสายงานบริหารของราชการไทย คือเริ่มจากเป็นงานหนึ่งในสังกัดกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เพียงแต่ในปัจจุบันถูกย้ายมาเป็นงานหนึ่งในสังกัดกองจดหมายเหตุแห่งชาติ หอภาพยนตร์แห่งชาติ ควรจะมีฐานะเป็นกองเช่นเดียวกับกองอื่น ๆ ในกรมศิลปากร แต่ผมรู้สึกว่าการพัฒนาจากงานขึ้นไปเป็นกอง ดูจะลําบากยากเข็ญเสียยิ่งกว่าการจัดตั้งกองใหม่เอี่ยมขึ้นมาสักกองหนึ่งเสียแต่ต้น ดังเช่น การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีฐานะเป็นกองใหม่อีกกองหนึ่งของกรมศิลปากร เมื่อแรกตั้ง ซึ่งเริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาตินั่นเอง เพียงแต่ขณะที่เราเริ่มต้นด้วยสองมือเปล่าและเงินศูนย์บาท แต่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยตั้งขึ้นด้วยมือวิเศษและเงินหลายร้อยล้านบาทจากรัฐบาลญี่ปุ่น


อีกปัญหาหนึ่งของการพัฒนาหอภาพยนตร์แห่งชาติของเราก็คือ คน เมื่อแปดเก้าปีก่อน ผมเคยรู้สึกสะเทือนใจ เมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติมิได้เอาใจใส่ที่จะอนุรักษ์ภาพยนตร์อย่างแท้จริง อันมีผลทําให้ผมเกิดมุมานะอุทิศตัวต่อสู้เรียกร้องให้เกิดหอภาพยนตร์แห่งชาติขึ้นมาสําเร็จ แต่อนิจจา บัดนี้หอภาพยนตร์แห่งชาติเอง กําลังเผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกันนั้น


เราเริ่มต้นด้วยเจ้าหน้าที่ 5 คน และห้าปีผ่านไปเรามีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 15 คน แต่ความจริงที่เราลืมนึกถึงก็คือ ในบรรดาเจ้าหน้าที่ทั้ง 15 คนนี้ นอกจากหัวหน้าหอภาพยนตร์แห่งชาติ เพียงคนเดียวซึ่งเป็นข้าราชการอยู่แต่เดิมแล้ว เจ้าหน้าที่อื่นทุกคนล้วนเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งนั่นหมายความว่า เรามัวก้มหน้าก้มตาทํางานพัฒนาหอภาพยนตร์แห่งชาติแต่เพียงวัตถุ เราปรับปรุงตัวอาคาร เราแสวงหาฟิล์มภาพยนตร์และสิ่งของต่าง ๆ เราได้รับอุปกรณ์ต่าง ๆ เราให้ความรู้ ความจัดเจนแก่เจ้าหน้าที่ของเรา แต่ห้าปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่คนแล้วคนเล่าของเรา ต้องจําใจลาออกไป เพราะเขาไม่อาจดํารงชีพอยู่ได้ด้วยเงินเดือนค่าจ้างระบบลูกจ้างชั่วคราวซึ่งไม่มีหลักประกัน อะไรเลยในชีวิต


เราอาจสร้างคนทํางานที่อุทิศตัวขึ้นมาได้ แต่หอภาพยนตร์แห่งชาติยังไม่สามารถรักษาพวกเขาไว้ได้ เพิ่งปี 2533 นี้เอง เราจะเริ่มได้รับตําแหน่งข้าราชการประจําสามคนแรกของหอภาพยนตร์


เราอาจกําลังฝันหวานว่า หอภาพยนตร์แห่งชาติกําลังจะสร้างศูนย์เก็บรักษา ฟิล์มภาพยนตร์และห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ภาพยนตร์ขึ้นในย่านชานเมือง ซึ่งต่อไปในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมการอนุรักษ์ภาพยนตร์ระดับภูมิภาค แต่ผมเกรงกลัวเหลือเกินว่า หากถึงวันนั้น บางทีสิ่งที่เราเคยมีอยู่และสามารถหยิบยื่นให้อย่างง่ายดาย แก่ใครก็ตามที่มีโอกาสเพียงแวะเวียนมาเยือนหอภาพยนตร์แห่งชาติของเรา นั่นคือ การได้สัมผัสถึงวิญญาณของการดิ้นรนต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ภาพยนตร์ในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ อันเป็นเสมือนหัวใจของหอภาพยนตร์แห่งชาติของเรา แต่คุณสมบัติอันวิเศษนั้นกำลังถูกลบเลือนหายไปทุกที


หมายเหตุ: ปี 2541 หอภาพยนตร์แห่งชาติได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ศาลายา และได้ปฏิรูปองค์กรเป็นองค์การมหาชน เมื่อปี 2552 โดย โดม สุขวงศ์ ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการระหว่างปี 2553-2561 ปัจจุบัน เขามีตำแหน่งเป็นนักอนุรักษ์ภาพยนตร์เกียรติคุณ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญให้แก่ทุกส่วนงานของหอภาพยนตร์ 





ชมเรื่องราวการต่อสู้ของ โดม สุขวงศ์ และประวัติศาสตร์หอภาพยนตร์เพิ่มเติมได้ในสารคดี “ฝันจะเก็บฝันของชาติ The Dream Keepers” โดย ภาณุ อารี ได้ที่ <<คลิก>>

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด