คนหลังบ้านในปีที่ 37 ของหอภาพยนตร์

ข้อเขียนจาก “คนหลังบ้าน” หรือทีมงานอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องในฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายที่ปฏิบัติงานอันเป็นหัวใจสำคัญของหอภาพยนตร์ ถึงการทำงานที่หอภาพยนตร์ ในแง่มุมต่าง ๆ ในวาระครบรอบ 37 ปี หอภาพยนตร์

----------


7 กันยายน 2564 หอภาพยนตร์จะมีอายุครบ 37 ปี จากจุดเริ่มต้นที่อาคารพัสดุตีตราอันทรุดโทรม บริเวณพื้นที่รกร้างหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) ซึ่งมีโต๊ะทำงานเพียง 1 ตัว และเจ้าหน้าที่รุ่นบุกเบิกไม่ถึง 10 คน ปัจจุบัน หน่วยงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของชาติแห่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งทางกายภาพ ทำเลที่ตั้ง ภาระงาน และจำนวนเจ้าหน้าที่ 


ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ “หน้าบ้าน” ของหอภาพยนตร์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ หรือโรงภาพยนตร์ ครบรอบวันเกิดหอภาพยนตร์ปีนี้จึงอยากจะพา “คนหลังบ้าน” หรือทีมงานอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ให้ได้มาปรากฏตัวเบื้องหน้ากันบ้าง เพราะแท้จริงแล้ว พวกเขาเหล่านี้คือคนทำงาน “ด่านหน้า” ก่อนที่ทุกอย่างในคลังอนุรักษ์จะได้เผยแพร่ออกไปให้สาธารณชนใช้บริการ 


และนี่คือข้อเขียนจากความรู้สึกและประสบการณ์ของบุคลากรบางส่วนในฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายที่ปฏิบัติงานอันเป็นหัวใจสำคัญของหอภาพยนตร์มาตั้งแต่เริ่มต้น



มานัสศักดิ์ ดอกไม้ 

นักอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง


ผมได้ยินคำว่า หอภาพยนตร์ เป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อตอนเรียนชั้นประถม เมื่อคราวพี่โดมมาพูดถึงหนังเรื่อง ช้าง ทางช่อง 7 สี และในปี 2540 ผมได้มาหอภาพยนตร์เป็นครั้งแรก สมัยที่ยังตั้งอยู่ในหอศิลปเจ้าฟ้า เพื่อมาหาข้อมูลในการทำนิทรรศการ  


ในเดือนพฤศจิกายน 2543 ผมเดินทางมาหอภาพยนตร์ที่ศาลายาเพื่อมาขอทำงาน สมัยก่อนเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ยังมีน้อย จึงได้ลองงานทุกอย่างตั้งแต่ ซ่อมฟิล์ม ล้างฟิล์ม เทเลซีน ฉายหนัง จัดโปรแกรม นำชมพิพิธภัณฑ์ จนรู้สึกว่างานที่ชอบมากที่สุดคืองานจัดหา เพราะมันได้สืบเสาะ แสวงหา ประเมินคุณค่า ใช้ศิลปะในการเจรจา ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ฟิล์มภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องเหล่านั้นมาอนุรักษ์ และมันสนุกมาก ลุย ๆ ดี มีครบทุกรสชาติ ดีใจปลาบปลื้มจนน้ำตาไหล เมื่อได้เจอฟิล์มภาพยนตร์ที่ตามหา หรือนั่งซึมจนจิตตก อยากเอามือเขกหัวตัวเอง เมื่อเรามาช้า ฟิล์มได้เสียไปแล้ว  


ตอนนี้ผมอายุ 47 ปี เหลือเวลาทำงานอีก 13 ปี อยากเห็นอนาคตหอภาพยนตร์ มีเจ้าหน้าที่อนุรักษ์เยอะ ๆ เพราะงานอนุรักษ์มันหยุดไม่ได้ ทำแล้วมันติด และถ้าหยุดเมื่อใด เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นความงามของภาพยนตร์เมื่อมันปรากฏบนจอในโรงภาพยนตร์ดั่งที่เคยเป็น 



ดนัยภัทร รื่นรมย์ 

นักอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง


ผมเริ่มต้นจากการมาฝึกงานเป็นระยะเวลา 3 เดือน พอฝึกงานจบรู้สึกว่างานที่ได้อยู่กับฟิล์มมันน่าสนใจ ไม่ค่อยมีใครทำกัน และงานอนุรักษ์กำลังต้องการหาคนเพิ่ม ผมจึงได้มาสมัครทำงานในระยะเวลาหลังจากฝึกงานจบ 1 เดือน


ช่วงแรกที่ได้ทำงานจะเป็นงานเคลียร์โกดังเก็บฟิล์มที่หอภาพยนตร์ได้รับการบริจาค จัดหา จัดซื้อมา ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ที่โกดังฟิล์มและโกดังของกลุ่มงานอื่น ระยะเวลาทำงานในโกดังเป็นเวลา 2 ปี ช่วงต่อมาหอ-ภาพยนตร์สร้างตึกหลังใหม่ขึ้นมา ได้มีการย้ายฟิล์ม ห้องเย็นเก็บฟิล์ม อุปกรณ์ในการทำงานขึ้นตึกหลังใหม่ มีการจัดการห้องทำงานให้เป็นระบบ เป็นสัดส่วน มีความปลอดภัยมากขึ้น และได้มีห้องแล็บพิมพ์-ล้างฟิล์มภาพยนตร์เพิ่มขึ้นมา ทำให้ผมต้องไปรับผิดชอบในงานแล็บพิมพ์-ล้างฟิล์มภาพยนตร์สีโดยตรง 


งานแล็บพิมพ์-ล้างภาพยนตร์สี เป็นกระบวนการที่สามารถพิมพ์-ล้างฟิล์มภาพยนตร์ได้ครบวงจร ผมต้องอบรมการวิเคราะห์เคมี การเกรดสีภาพยนตร์เบื้องต้น การควบคุมคุณภาพของงานที่พิมพ์-ล้างออกมา โดยหน้าที่ของผมคือ การวิเคราะห์น้ำยาล้างฟิล์ม การผสมน้ำยาล้างฟิล์ม การตรวจฟิล์ม การเกรดสี การพิมพ์ฟิล์ม ในแต่ละวันการทำงานมีปัญหามาให้แก้อยู่ตลอด ซึ่งเป็นความท้าทายจุดใหม่ที่ได้มารับผิดชอบในส่วนนี้ แต่เมื่อเราได้เห็นผลงานตั้งแต่เป็นฟิล์มเนกาทีฟอยู่บนโต๊ะตรวจฟิล์ม จนออกมาเป็นฟิล์มพรินต์ออกมาฉายที่เราสามารถควบคุมคุณภาพได้ ทำให้คนทำงานในส่วนเล็ก ๆ ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ฟิล์มของหอภาพยนตร์



วรรณภา พ่วงพร้อม 

นักอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง



ทำงานที่หอภาพยนตร์มาได้ 10 ปี เริ่มจากเป็นคนที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากว่าจะมาเป็นภาพยนตร์ออกฉายต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ตอนนั้นรู้จักแค่รูปถ่ายที่ออกมาจากกล้องฟิล์ม และนั่นก็อาจจะเป็นครั้งแรกที่ได้จับฟิล์ม แล้วตั้งข้อสงสัยว่า มันออกมาเป็นภาพเหมือนจริงได้อย่างไร 


ก่อนที่จะเริ่มทำงานที่นี่ พี่เขาบอกว่าให้มาลองทำ 1 วันก่อน ว่าเราสามารถทนกับกลิ่นที่เหม็นได้ไหม สัมผัสกับสารเคมีได้ไหม ทนกับการที่เราต้องนั่งจ้องฟิล์มเป็นวัน ๆ ได้ไหม จนเมื่อทำงานตรวจฟิล์มทั้ง 8, 16 และ 35 มม. มาได้สักพัก คำตอบก็คือทนได้ แต่งานอนุรักษ์ฟิล์มไม่ได้มีแค่นั้น ช่วงนั้นเกิดน้ำท่วม ทำให้พวกเราต้องช่วยกันขนย้ายฟิล์มไปที่ที่ปลอดภัย ตอนนั้นก็คิดว่าหนักแล้ว เพราะมีทั้งสนิม ฝุ่น และน้ำหนักของฟิล์ม แต่พวกเราก็ผ่านมันมาได้โดยที่ฟิล์มไม่ได้รับความเสียหาย หลังจากนั้นพวกเราก็ได้รับภารกิจเคลียร์ฟิล์มที่โกดังซึ่งมหาศาลมาก ให้ฟิล์มมาอยู่ในระบบที่สามารถค้นหาได้ ปัญหาอุปสรรคที่โกดังก็มีมากมาย ความสะดวกสบายไม่ได้เหมือนอยู่ออฟฟิศ ด้วยอากาศที่ร้อน ฝุ่น รา สนิมที่มาจากกล่องฟิล์ม การขนย้ายฟิล์มที่ต้องใช้แรงจากพวกเราเท่านั้น 


หลังจากนั้นก็กลับมาทำงานที่หอภาพยนตร์ และก็ได้เจอกับปัญหาที่ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านมา คือเหตุไฟไหม้ที่ห้องตรวจฟิล์ม นักอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ทุกคนต้องทำงานหนักกันอีกครั้ง ต้องรีบกู้ชีวิตฟิล์มจากการโดนน้ำ โดนไฟไหม้ สิ่งที่ต้องทำใจคือฟิล์มอาจจะกลับมาไม่เหมือนเดิม แต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุด วิธีการช่วยชีวิตฟิล์มครั้งนี้มีบางอย่างที่เราก็ยังไม่เคยรู้ แล้วก็ได้เรียนรู้วิธีต่าง ๆ กับผู้ที่ผ่านประสบการณ์มามากมาย 


ตอนนี้รู้แล้วว่ากว่าจะมาเป็นฟิล์ม 1 ม้วน ผ่านกระบวนการอะไรบ้าง อาจจะรู้รายละเอียดไม่มากนัก แต่ก็ทำให้รู้ว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และได้รู้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังทุกคนต้องทำงานกันหนักขนาดไหน ต้องอนุรักษ์กันอย่างไรกว่าจะออกมาเป็นภาพประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ดู ซึ่งสิ่งที่ตอบแทนคนที่อยู่เบื้องหลังทุกคนก็อาจจะเป็นรอยยิ้ม ความสุขของคนดู จนลืมปัญหาที่ผ่านมาไปเลย



ณัฐนี ง้วนเพียรภาค 

นักอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง


ฉันทำงานในตำแหน่งนักอนุรักษ์ภาพยนตร์ ทำหน้าที่สแกนฟิล์มและแก้ไขภาพ-สีของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับฟิล์ม และต้องใช้ประสบการณ์ความเข้าใจในเครื่องมือเพื่อช่วยแก้ไขภาพและสีที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของฟิล์ม ให้ภาพยนตร์กลับมาสมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด เช่น การแก้ภาพสั่น ปรับแก้สีเฟด ลบรอยขีดข่วน โดยจะไม่ทำการดัดแปลงเพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่เดิม


ทุกครั้งที่ได้สแกนฟิล์มหรือเกรดสี ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หนังข่าว หรือหนังบ้าน ฉันมักตื่นเต้นไปกับสิ่งที่ได้เห็นบนฟิล์ม บางเหตุการณ์ บางสถานที่ ในปัจจุบันไม่มีให้เห็นอีกแล้ว หรือแม้แต่การบันทึกเรื่องราวของคนในครอบครัวที่ไปเที่ยวและทำกิจกรรมร่วมกัน มันคือมนตร์เสน่ห์ในความเป็นธรรมชาติของหนังบ้าน ถ้าถามว่าแล้วมันจะต่างอะไรกับคลิปข่าวบางเหตุการณ์ที่สามารถเปิดดูได้ในโลกอินเทอร์เน็ต สำหรับฉันมันก็คงไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะการถ่ายคลิปในยุคนี้ก็ถือเป็นหนังบ้านได้เหมือนกัน แต่มันต่างในแง่ของความรู้สึกภูมิใจในงานที่ทำ ในฐานะนักอนุรักษ์ที่ทำหน้าที่แปลงความทรงจำเรื่องราวต่าง ๆ บนแผ่นฟิล์มเป็นดิจิทัล เก็บรักษาแล้วส่งต่อความทรงจำนี้กลับคืนสู่เจ้าของฟิล์ม ให้พวกเขาสามารถเปิดดูที่ใดก็ได้ รวมไปถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งในการเก็บรักษาทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับคนทั่วไปได้ศึกษา และนี่ก็คือเหตุผลที่คนมักให้ความสนใจและตื่นเต้นกับงานที่ฉันทำอยู่เสมอ



ชวนาท อินทวงศ์ 

นักจัดการสารสนเทศ


หัวใจสำคัญของงานเราคือ “ทำให้คนเจอหนังที่เขาต้องการและอาจจะต้องการได้ง่ายที่สุด” 


เมื่อได้รับภาพยนตร์ที่แปลงสัญญาณเป็นไฟล์ดิจิทัล เราจะเป็นคนแรกของกระบวนการที่เริ่มดูหนังในเชิงเนื้อหาอย่างจริงจัง และบันทึกลงสู่บัญชีฐานข้อมูลหรือที่เรียกว่าการทำเครื่องมือช่วยค้นนั้นว่า “ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่” รวมทั้งให้ทะเบียนเลขเรียกหนัง ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ง่าย เพราะไม่ใช่หนังทุกเรื่องจะระบุให้ทราบถึงทุกสิ่งที่กล่าวมา ทั้งยังต้องคิดว่ามีสิ่งอื่นใดที่ปรากฏในหนังและไม่ปรากฏแต่ก็เชื่อมโยงถึงหนัง ที่เป็นไปได้ว่าคนจะค้นหามันด้วยคำคำนี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องคิดให้รอบและระบุให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนสามารถค้นหนังเรื่องนั้น ๆ เจอ โดยการจะได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็เกิดจากความรู้และประสบการณ์ของเรา จากเอกสารที่ติดมากับตัวหนัง จากเจ้าของหนัง จากการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ในเชิงประวัติศาสตร์เพื่อใช้ในการอ้างอิง และจากการว่าจ้างผู้มีความรู้ทางประวัติศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือ


จากนั้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำเข้าสู่ระบบบริการ ระบบแรกคือระบบสืบค้นทั่วไปที่ประชาชนสามารถสืบค้นภาพยนตร์ออนไลน์ได้บนหน้าเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต กับระบบที่สองคือระบบ Video on Demand หรือระบบดูหนังในห้องสมุด ที่เราจะต้องดูแลทั้งสองระบบนี้ให้หน้าตาและการใช้งานเป็นมิตรกับผู้ใช้บริการมากที่สุด รวมถึงเป็นระบบที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์และแสดงข้อมูลได้หลากหลายมิติในอนาคต



เกียรติยศ มหาวงศ์ 

เจ้าหน้าที่เทคนิคดิจิทัลปฏิบัติงานแปลงสัญญาณสื่อโสตทัศน์


ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมได้เริ่มเข้าสู่หอภาพยนตร์ ช่วงแรกได้ทำทะเบียนสื่อโสตทัศน์ และดึงไฟล์จาก CD/DVD เพื่อนำมาเก็บรวบรวมและแยกหมวดหมู่ให้พร้อมเวลาต้องการใช้งาน ทำงานไปเรื่อย ๆ ก็ได้เริ่มรู้จักกับม้วนวิดีโอเทป เช่น VHS, U-Matic, BETA, Tape Cassette, Hi8/Video8, Open Reel ซึ่งบางอย่างผมเห็นตอนแรกก็ยังงงอยู่เลยว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร แต่ก็มีพี่ ๆ ภายในงานเป็นคนบอกและแนะนำอยู่เสมอ หลังจากนั้นก็ได้เรียนรู้วิธีการทำความสะอาดม้วนวิดีโอที่เป็นรา ตรวจเช็กสภาพเทปเบื้องต้น รวมไปถึงวิธีการต่อเทปในกรณีที่เทปขาด ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการซ่อมเครื่องเล่นวิดีโอที่ใช้ในการปฏิบัติงานกับช่างจนสามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ เวลาเครื่องมีปัญหาก็สามารถแก้ไขเองได้โดยที่ไม่ต้องรอส่งซ่อม ทำให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น 


จากนั้นได้นำม้วนวิดีโอมาแปลงสัญญาณให้เป็นไฟล์ดิจิทัล และมีการแปลงสัญญาณจากเทปเสียงเพิ่มเข้ามา ทำให้มีความตื่นเต้นมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยทำ และทำให้เห็นเรื่องราวมากขึ้น เพราะแต่ละม้วนก็มีเรื่องราว มีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป บางเรื่องผมยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ ไฟล์ที่แปลงสัญญาณออกมาเป็นไฟล์ดิจิทัลที่สมบูรณ์แล้วก็จะถูกนำมาเขียนลงม้วนเทป LTO ผ่านเครื่อง Quantum เพื่อเก็บรักษาไฟล์ต้นฉบับไว้

 

รู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง สิ่งที่อยากปรับปรุงก็คงเป็นตัวเองครับ คงต้องขยันศึกษาและพัฒนาตนเองอยู่เสมอเพื่อให้งานออกมาดีครับ



ชลฐิชา ผลประเสริฐ 

นักอนุรักษ์ภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง


หากกล่าวถึงการทำงานของกลุ่มงานสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ขั้นตอนการทำงานไม่แตกต่างจากการทำงานในส่วนหลังบ้านของพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ คือการรับวัตถุ ทำทะเบียน ให้หมายเลขวัตถุ ถ่ายภาพวัตถุ การอนุรักษ์ และการจัดเก็บวัตถุให้คงสภาพอยู่ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกับพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ นั้นคือ วัตถุที่กลุ่มงานสิ่งเกี่ยวเนื่องได้ดูแลรักษา 


วัตถุทั้งหมดแบ่งเป็น 23 ประเภท ได้แก่ กล้องถ่ายภาพยนตร์ อุปกรณ์ไฟ อุปกรณ์เสียง อุปกรณ์ในแล็บ เครื่องฉายและโรงภาพยนตร์ อุปกรณ์ประกอบฉาก เครื่องแต่งกาย งานออกแบบ รางวัล ของที่ระลึก วัตถุประกอบนิทรรศการยุคก่อนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ สูจิบัตรและแฮนด์บิลภาพยนตร์ ภาพนิ่ง บทภาพยนตร์ บทพากย์ภาพยนตร์ เอกสารจดหมายเหตุบุคคลและองค์กร ใบปิดภาพยนตร์ โชว์การ์ดภาพยนตร์ หนังสือ นิตยสาร วารสาร และสูจิบัตร แฟ้มข่าว จดหมายเหตุหอภาพยนตร์ และ Special Collection นอกจากนี้ยังมีงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการบุคคลเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของวัตถุที่ทางหอภาพยนตร์ได้จัดเก็บอีกด้วย


การเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานในกลุ่มงานสิ่งเกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนั้น ทำให้ได้มีส่วนร่วมในด้านการวางแผนงานในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตระหนักได้ว่าการทำงานดูแลวัตถุที่มีจำนวนมาก ต้องใช้ทักษะในหลาย ๆ ด้าน จึงต้องหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคลและวัตถุในหลาย ๆ รูปแบบ และระบบการจัดการที่ต้องมีการวางแผนงานค่อนข้างรัดกุม เพื่อทำให้เกิดผลจากการทำงานที่ออกมามีประสิทธิภาพที่สุด 


ปัจจุบันการทำงานของกลุ่มงานสิ่งเกี่ยวเนื่องยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังมีงานอีกหลายด้านที่ต้องมีการจัดการให้เหมาะสม งานนี้ถือเป็นงานที่มีคุณค่าในแง่ของวัฒนธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ไทยนั้นมีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยที่สามารถสะท้อนด้านต่าง ๆ ของประเทศ 



ณาฏผไท คงคาเขตร์ 

ผู้ช่วยปฏิบัติงานชำระกรุสิ่งเกี่ยวเนื่อง


ฉันรู้จักหอภาพยนตร์ครั้งแรกจากการมาเที่ยวกับครอบครัวตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากหอภาพยนตร์นั้นค่อนข้างใกล้บ้าน และฉันก็ชอบชมภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก ความประทับใจจากการมาเที่ยวที่หอภาพยนตร์ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของฉันเสมอมา จนฉันได้เข้าเรียนในคณะโบราณคดีและเลือกวิชาโทพิพิธภัณฑ์ เมื่อต้องเลือกสถานที่สำหรับการฝึกงาน ฉันจึงไม่ลังเลที่จะติดต่อมายังหอภาพยนตร์เพื่อขอฝึกงานในแผนกอนุรักษ์สิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ ซึ่งมีวัตถุเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่หลากหลาย และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพี่ ๆ ในแผนก


เมื่อฉันเรียนจบการศึกษา และได้เห็นประกาศรับสมัครงานของที่นี่ ฉันจึงเลือกที่จะมาสมัครงานที่หอภาพยนตร์ และได้ทำงานแผนกเดิม ในตำแหน่งผู้ช่วยปฏิบัติงานชำระกรุสิ่งเกี่ยวเนื่อง ฉันได้รับมอบหมายให้ทำทะเบียนวัตถุ รวมถึงถ่ายภาพวัตถุที่หลากหลายประเภทมากขึ้น จนถึงตอนนี้ฉันก็ทำงานมาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว ได้ความรู้ในการทำงานที่หลากหลาย ทั้งการทำความสะอาด และการถ่ายภาพก็แตกต่างกัน มีความรู้ความสามารถในการอธิบายลักษณะของวัตถุได้มากขึ้น และได้รับความช่วยเหลือจากพี่ ๆ ในแผนกเป็นอย่างดี 


ก่อนหน้านี้ฉันเคยทำงานจำพวกพนักงานขาย หรือพนักงานบริการมาหลายงาน และเพิ่งเคยมาทำงานที่ต้องพุ่งความสนใจให้กับสิ่งของเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามฉันค้นพบว่ามันค่อนข้างสงบมากที่ได้ทำงานกับสิ่งของที่เกี่ยวกับโลกภาพยนตร์ มีช่วงเวลาที่ฉันตื่นเต้นค่อนข้างบ่อยเวลาได้เห็นของที่ไม่เคยเห็น หรือของที่มาจากภาพยนตร์ที่ฉันชื่นชอบ ทำให้ฉันมีความสุขกับงานที่ฉันทำ



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด