จากหนังสั้นไทยสู่หนังยาวในเวทีโลก

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมสนทนาออนไลน์กับผู้กำกับที่เคยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้น ถึงเส้นทางสู่การทำหนังยาว และที่มาที่ไปของผลงานล่าสุดซึ่งเดินทางไปสร้างชื่อบนเวทีภาพยนตร์ระดับนานาชาติในปีนี้

----------------



เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ


ปี พ.ศ. 2564 ถือเป็นหนึ่งในปีที่หนักหนาของวงการหนังไทย ภายหลังต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบให้กับบุคลากรในทุก ๆ ภาคส่วน แต่ภายใต้ความซบเซานี้ กลับมีข่าวให้ร่วมแสดงความยินดีกับผลงานของคนทำหนังไทยที่ได้ออกเดินทางไปสร้างชื่อเสียงในเวทีภาพยนตร์ระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จนกล่าวอย่างได้เต็มปากว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่สดใสของหนังไทยในต่างประเทศ


วันอังคารที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมสนทนาออนไลน์ “Live Talk 25 ปี เทศกาลภาพยนตร์สั้น” วงสนทนาเนื่องในวาระครบรอบปีที่ 25 ของเทศกาลภาพยนตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้แก่คนทำและผู้ชมมากมายในประเทศไทย ในวันดังกล่าวยังตรงกับวันครบรอบวันเสียชีวิตของ รัตน์ เปสตันยี ผู้บุกเบิกการส่งหนังไทยออกไปสู่สากล และเพื่อเป็นการร่วมรำลึกถึงคุณูปการด้านนี้ของคุณรัตน์ หอภาพยนตร์ฯ จึงเชิญผู้กำกับคนสำคัญที่มีวิธีการทำงานแตกต่างกัน ซึ่งเคยส่งหนังสั้นมาประกวดในสาขา “รัตน์  เปสตันยี” และต่างมีผลงานที่ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติประจำปีนี้ มาร่วมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นและความประทับใจเมื่อครั้งที่ส่งผลงานมาเวทีที่เปรียบดั่งพื้นที่ทดลองและเรียนรู้ให้กับคนทำหนังหลากหลายแนวทาง เส้นทางสู่การทำหนังยาว ตลอดจนที่มาที่ไปของผลงานเรื่องล่าสุดที่ได้ไปฉายต่างประเทศในปีนี้ ในชื่อตอนว่า “จากหนังสั้นไทยสู่หนังยาวในเวทีโลก” ประกอบด้วย ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ นักทำหนังทดลองที่โดดเด่นด้านภาพและเสียงที่มี พญาโศก พิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak) ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่ฉายในสายประกวดหลักเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดาม (International Film Festival Rotterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับชื่อดังที่เติบโตมากับการทำงานในระบบสตูดิโอ เจ้าของผลงานเรื่อง ร่างทรง (The Medium) ซึ่งสร้างปรากฏการณ์จากการออกฉายที่เกาหลีใต้ตั้งแต่สัปดาห์แรก และ จักรวาล นิลธำรงค์  ศิลปินภาพเคลื่อนไหวที่มีผลงานครอบคลุมตั้งแต่หนังทดลองจนถึงศิลปะจัดวางที่เพิ่งพา เวลา (Anatomy of Time) เข้าร่วมประกวดในสายการประกวดรอง Orizzonti ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (Venice Film Festival) ประเทศอิตาลี 


จุดเริ่มต้นจากเทศกาลภาพยนตร์สั้น


ไทกิ ผู้เป็นหนึ่งในคนทำหนังที่แฟน ๆ เทศกาลภาพยนตร์สั้นคุ้นเคยอย่างดี จากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนมากในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมาและหลาย ๆ เรื่องได้รับรางวัล กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการส่งหนังสั้นของตนเองว่า “เรื่องแรกที่ผมส่ง คือ ถ้อยคำที่ถูกสาป (Whispering Ghosts) ที่ได้รับรางวัลวิจิตรมาตรา ตอนนั้นเทศกาลจัดที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ก่อนจะย้ายมาที่หอศิลป์ BACC หลังจากนั้นก็พยายามส่งตลอด โดยมีจุดประสงค์ในการส่ง คือด้วยการที่เป็นคนทำหนังทดลอง รู้สึกตื่นเต้นที่คนดูที่นี่จะได้ดูหนังที่มีวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกประหลาดกว่าหนังทั่วไป ซึ่งความหลากหลายนี้ เป็นสิ่งที่ผมอยากจะนำไปเผยแพร่ สิ่งที่ประทับใจมากในเทศกาลฯ คือพิธีกรรมจุดเทียนในวันประกาศรางวัล ซึ่งคุณโดม สุขวงศ์ เคยเล่าว่า เป็นเทียนที่ใช้มาตั้งแต่เทศกาลฯ จัดเป็นครั้งแรก รวมทั้งชื่อรางวัลในสาขาต่าง ๆ ที่ได้รับการตั้งชื่อตามผู้บุกเบิกในวงการภาพยนตร์ไทย และจะเชิญทายาทของเจ้าของชื่อสาขารางวัลนั้น ๆ มาเป็นผู้มอบรางวัล เมื่อหนังฉายเสร็จ ส่วนใหญ่จะเช็คฟีดแบ็คจากเพื่อนหรือลูกศิษย์ มีครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจมาก คือตอน The Age of Anxiety ฉายที่ BACC ตอนทำผมยังรู้สึกเลยว่า เป็นหนังที่คนดูจะต้องเกลียดเรามาก เพราะเป้าหมายของเราคือ อยากทำงานที่มีผลกระทบต่อโสตประสาท ทั้งสายตาและเสียง เป็นงานที่ท้าทายมาก ถ้าฉายไปคนดูคงจะต้องโกรธ เพราะมันทั้งหนวกหู ตัดต่อรวดเร็ว และมีแสงกระทบเข้าตาเป็นเวลานาน รวมทั้งหนังมันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ที่มีทั้งช้าและเร็ว ซึ่งเพื่อนบอกว่า ตอนหนังจบคนดูปรบมือ อาจจะเพราะดีใจที่มันจบแล้ว มันทรมานมากหรืออะไรก็ตาม เหตุผลแบบนี้เป็นสิ่งที่อยากให้ผมมีส่วนร่วมกับเทศกาลฯ นี้อยู่เสมอ เพราะผลตอบรับจากผู้ชมในไทยเป็นสิ่งที่ผมอยากได้มากที่สุด”


 

The Age of Anxiety โดย ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ภาพยนตร์สั้นรางวัลวิจิตรมาตรา เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2556

ที่มา: https://taikisakpisit.com/The-Age-of-Anxiety


ด้าน บรรจง ได้ย้อนอดีตเมื่อครั้งเป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า “ตอนปี 1 ที่เรียนฟิล์มได้มีโอกาสดูงานประกวดการฉายหนังสั้นอยู่แล้ว และรู้สึกว่าเวทีของเทศกาลหนังสั้น เป็นเวทีที่สำคัญมาก เพราะเห็นรุ่นพี่เราส่งไปประกวดตลอด ตอนผมอยู่ปี 1 พี่ ๆ ผู้กำกับ แฟนฉัน อยู่ปี 4 กัน ซึ่งยุคนั้นพื้นที่การฉายผลงานหลัก ๆ ของเราแทบจะไม่มีเลย จะมีที่นี่ที่เดียว แต่ตอนแรกจะมีงานฉายหนังของคณะที่ชื่อว่ากางจอ พอฉายเสร็จจากนั้นทุกคนจึงส่งมาที่งานของมูลนิธิหนังไทย ตอนเรียนผมจะทำหนังสั้นชื่อเรื่องว่า แผลเก่า ซึ่งเป็นยุคที่ผมคลั่งไคล้หนังที่เล่นกับลีลาของไดอะล็อก เช่น When Harry Met Sally… หรือ Annie Hall เลยคิดซีนสนุก ๆ แล้วทำส่งเทศกาลฯ ตอนนั้นการเช็คผลตอบรับ จะเช็คผ่านเว็บไซต์พันทิป ที่มีคนพูดถึงหนังของเรา หรือของคนอื่น ๆ ซึ่งน่าตื่นเต้นมาก เทศกาลหนังสั้นเป็นเวทีที่สำคัญมาก และเห็นว่าผลิตคนทำหนังไทยออกมาจริง ๆ”


จักรวาล ซึ่งจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมและประติมากรรม สาขาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะพลิกผันมาเป็นคนทำหนัง ภายหลังศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งส่งผลงานเข้าประกวดว่า “ตอนเรียนจิตรกรรม ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลยเกี่ยวกับเทศกาลหนังสั้นหรือกระทั่งวงการหนังไทย ได้มารู้จักตอนเรียนต่อที่อเมริกาอยู่ 2 ปี คณะที่ผมเรียนชื่อ Art and Technology Studies อยู่ที่ชิคาโก ซึ่งไม่ใช่ภาพยนตร์ด้วยซ้ำ แต่แผนกที่เรียนอยู่ในพื้นเพเดียวกันกับแผนก Film, Video, New Media ที่พี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์เคยเรียน ซึ่งจะมีการแชร์อาจารย์และเครื่องมือกัน เรียนไปเรียนมา ก็เลยค่อย ๆ ถูกกลืนกลายมาเป็นเด็กฟิล์ม แล้วก็ทำธีสิสเป็นหนังจบอยู่ 2-3 เรื่อง คือ Dripping และ Patterns of Transcendence ที่เป็นหนังถ่ายฟิล์ม 16 มม. ยาวเกือบ 50 นาที พอเรียนจบเลยลองส่ง 2 เรื่องนี้มาประกวดที่เทศกาลฯ ตอนนั้นไม่ได้เดินทางมาที่ไทยด้วย เพราะพอเรียนจบเลยอยู่ที่อเมริกาต่อสักพัก แล้วเราก็ค่อย ๆ รู้จักพี่ชลิดา รู้จักเทศกาลฯ ที่น่าจะมีที่เดียวในไทยที่ฉายหนังประเภทนี้ ตอนนั้นจำได้ว่า Patterns of Transcendence ฉายในสายดิจิทัล ฟอรัม ที่ไม่ได้มีรางวัลอะไรให้ แต่ก็ดีใจมากที่หนังความยาวแบบนี้ได้ฉายในโรง แต่ก็ไม่ทราบรีแอ็คชั่นของผู้ชมตอนนั้นว่า รู้สึกอย่างไร หลังจากนั้นพอกลับไทย ก็ได้ดูหนังในเทศกาลนี้เรื่อย ๆ ตอนที่ได้เป็นกรรมการ”


 

Patterns of Transcendence โดย จักรวาล นิลธำรงค์

ที่มา: https://iffr.com/en/2007/films/patterns-of-transcendence



พัฒนาตัวตนจากหนังสั้นสู่หนังยาว


ประเด็นต่อไปเป็นการพูดคุยถึงเส้นทางสู่การทำหนังยาว เมื่อได้รับคำถามว่า หนังสั้นช่วยเป็นฐานปูทางในการพัฒนาตัวตนไปสู่การทำหนังยาวอย่างไร ไทกิ อธิบายว่า “หนังสั้นหรือหนังทดลองที่ผมทำส่วนใหญ่เกิดจากการรีเสิร์ชหาสถานที่ที่ต้องการหรือเรื่องที่อยากเล่าด้วยตัวเอง ซึ่งต้องค่อย ๆ ใช้เวลาในการซึมซับทำความเข้าใจ ถ่ายเสร็จก็กลับเอามาตัดต่อ หาเพลงของนักดนตรีที่ชอบ ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่ผมชื่นชอบมาก แต่พอได้มาทำหนังยาวซึ่งเราไม่เคยทำและต้องร่วมงานกับคนเยอะ ๆ ก็แอบคิดว่า มันจะเป็นยังไง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับดีมาก เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับคนเก่ง ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์ในการพัฒนาบทร่วมกัน รวมทั้งเรียนรู้กับทีมงานกว่า 50-60 คน ถือเป็นจุดเชื่อมในการทำงานทั้ง 2 โลกที่มีความสุขที่ได้ทำแบบนี้”


บรรจง เสริมว่า “สำหรับผมเรียนรู้จากหนังสั้นเยอะมาก ตั้งแต่การเขียนบทว่า เราจะจัดการกับสคริปต์อย่างไรให้ลงตัวกับเวลาที่มี ซึ่งซีเควนซ์ในหนังยาวเป็นอะไรที่ซับซ้อนกว่ามาก ๆ การเริ่มต้นจากหนังสั้นก่อน มันช่วยฝึกปรือเราได้เยอะมาก ตั้งแต่ตอนทำ แผลเก่า จนมา Colorblind ที่พัฒนาตัวตนเราได้ชัดเจนมาก หนังยาวที่ทำอย่าง กวน มึน โฮ หรือ พี่มากพระโขนง ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับตัวตนที่เราเคยทำในหนังสั้นเลย ที่มีวิธีการเขียนไดอะล็อกหรือลีลาบางอย่างคล้าย ๆ กับหนังสั้นเหล่านั้น”   


จักรวาล กล่าวปิดท้ายว่า “หนังสั้นหรือวิดีโอทดลองช่วยในการจำแนกประเด็นหรือหัวข้อว่า งานประเภทหนึ่งเหมาะกับพื้นที่แบบไหน อาจเป็นศิลปะจัดวางหรือวิดีโอที่ฉายในห้อง ๆ หนึ่ง หรือบางงานที่คิดจากคาแรคเตอร์ ก็อาจพัฒนาไปสู่อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ซึ่งเป็นหนังยาวได้”


ว่าด้วยหนังยาวเรื่องล่าสุด

 

เมื่อได้รับคำถามถึงที่มาที่ไปของผลงานเรื่องล่าสุดที่ได้ไปต่างประเทศในปีนี้ บรรจง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ร่างทรง ผลงานที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูชอน (Bucheon International  Fantastic Film Festival - BIFAN) ว่า “โปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากการที่เจอคุณนาฮงจินในงาน Cinema Diverse ที่จัดโดยหอศิลป์ BACC ซึ่งจะให้ผู้กำกับไทยเลือกหนังมา 1 เรื่อง โดยผมเลือก The Chaser ของเขามา และไม่คาดคิดว่า เขาจะตอบรับคำเชิญจากผู้จัดงาน พอเจอกัน ผมก็เอาผลงานทุกเรื่องให้เขาดู ผ่านไป 3-4 ปี ทางบริษัท SHOWBOX ติดต่อกลับมาผ่านทางคุณภาณุ อารี ตอนนั้นผมไปเลคเชอร์ที่กรุงโซลพอดีเลยได้เจอเขา เขาส่งเรื่องมาว่าจะทำหนังที่เกี่ยวกับร่างทรง ซึ่งมันมีจะพาร์ตที่มีบางอย่างที่ไม่แตกต่างมากจาก The Wailing หนังเรื่องล่าสุดของเขา เขาเลยคิดว่า จะเปลี่ยนบริบทจากเกาหลีเลยนึกถึงผมขึ้นมา ผมเลยลองขออ่านโครงร่างบทจากเขา ซึ่งตอนนั้นไม่เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับร่างทรงเลย จึงขอเขารีเสิร์ชและถกกันว่า จะทำงานยังไง โดยหลัก ๆ คือ เอาเรื่องของเขามาตีความในบริบทแบบไทยยังไงก็ได้ แล้วเสนอให้เขาดู ซึ่งบทในเรื่องนี้จะมีโครงเรื่องขยายจากเขาที่ค่อนข้างละเอียด และการแสดงส่วนใหญ่เกิดการอิมโพรไวส์ บทพูดจะมีเฉพาะคีย์สำคัญของเรื่อง เป็นเพียงแค่ไกด์”


 

ร่างทรง (The Medium) โดย บรรจง ปิสัญธนะกูล

ที่มา: http://www.finecut.co.kr/html/fulltitle-view.php?no=260


บรรจง อธิบายเสริมต่อถึงขั้นตอนการทำงานรีเสิร์ช และรายละเอียดการทำงานกับทางเกาหลีใต้ว่า “ตอนนั้นคือทำเป็นปี เดินทางหาร่างทรงทั้งที่ภาคเหนือและอีสาน โดยเริ่มจากการไม่รู้อะไรเลย จากดูรายการของหมอปลาทั้งหลาย พอเจอโปรดิวเซอร์คนหนึ่งรู้สึกไปถูกทางมาก ซึ่งเราสามารถปรึกษาได้เลยว่า รายละเอียดของพิธีกรรมและบทสวดจะเป็นยังไง แล้วเขาก็จะลิสต์รายชื่อมาให้เลยว่า ร่างทรงคนไหนที่ควรไปพบ ซึ่งมีทุกรูปแบบจริง ๆ ถือเป็นหนึ่งปีที่เปิดโลกทัศน์ของผมมาก”


“สำหรับการทำงานกับต่างประเทศ เป็นอะไรที่พิเศษมาก เพราะไม่ใช่แค่ทำงานกับชาวต่างชาติ แต่มันดันมาเกิดในช่วงโควิด คือทางทีมงานจากเกาหลีใต้เดินทางมาไม่ได้เลย ทั้ง ๆ ที่วางแผนไว้แล้ว ซึ่งถ้าเขาเดินทางมาได้ จะง่ายต่อการทำงานในส่วนของการออกกองหรือตัดต่อมาก ๆ พอเขาเข้ามาไม่ได้ มันเลยต้องติดต่อกันด้วยอีเมล ไม่ก็ซูม รวมทั้งใช้ล่ามสื่อสารเสมอ แต่เขาเปิดกว้างมาก ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท จะมีการคอมเมนต์กลับมาแบบละเอียดและแปลกมาก เช่น ส่งอีเมลมา 3 ฉบับ ให้แก้ตรงจุดนี้ ๆ ซึ่งเราจะส่งรายงานการทำงานแบบวันต่อวันไปให้เขาดูเรื่อย ๆ เป็นการทำงานที่ถือว่าเรียนรู้และเหนื่อยยากสำหรับผมมาก ส่วนแผนการฉาย ตอนแรกจะเป็นไทยที่ฉายต่อจากเกาหลีใต้แบบติด ๆ กันเลย แต่พอสถานการณ์มันควบคุมไม่ได้ เลยเชียร์ประเทศที่มีแนวโน้มโรงหนังที่ดี เพราะถ้านานเกินไปจะยิ่งแย่”


จักรวาล เล่าถึงผลงานหนังยาวเรื่องที่ 2 ของตัวเอง เวลา ซึ่งเตรียมฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังเวนิส ในเดือนกันยายนนี้ว่า “หนังเรื่องนี้เป็นหนังร่วมทุนสร้างกับต่างประเทศเรื่องแรกของผมที่มีโปรดิวเซอร์เป็นชาวต่างชาติ เรื่อง Vanishing Point ที่ทำก่อนหน้านี้จะเป็นหนังที่ได้แค่ทุนสร้างจากต่างประเทศเฉย ๆ แต่ เวลา จะมีการโปรดิวซ์จากทั้งฝั่งไทย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ซึ่งจะวุ่นวายเหมือนการทำงานกลุ่ม เวลาจะตัดสินทำอะไรต้องรอทั้ง 4 กลุ่ม ตัวหนังจะมีอยู่ 2 พาร์ต พาร์ตแรกถ่ายเสร็จไปตั้งแต่ก่อนโควิดช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 พอโควิดมาโปรดักชั่นต้องหยุดไป 6-7 เดือน ทำให้ลำบากในการถ่ายอีกพาร์ตที่เหลือ ส่วนการทำงานกับต่างประเทศจะคล้าย ๆ เรื่อง ร่างทรง คือมีการทำรายงานรายวันส่งไปให้โปรดิวเซอร์ต่างประเทศ ซึ่งเขาก็ไม่ได้มาลงรายละเอียดอะไรมาก แต่จะมาวุ่นวายจริง ๆ ในส่วนของขั้นตอนทำโพสต์โปรดักชั่นมากกว่า ด้วยความที่มันมีเงินมาจาก 4 ประเทศ แต่ละประเทศก็จะจองการทำงานแต่ละส่วน เช่น ที่นี่จะเกรดสี ที่นู่นจะผสมเสียง ที่นั่นจะทำ VFX ซึ่งจริง ๆ เราสามารถทำที่ไทยได้หมดเลย แต่กลับต้องกระจายไปทำในแต่ละที่ ซึ่งมันค่อนข้างวุ่นวายพอสมควร ปัญหาหลักของเรื่องนี้จริง ๆ คือการที่หนังมีฟุตเทจเยอะมากและต้องตัดให้ไม่ยาวเกินไป ซึ่งมีคนตัดต่ออยู่ 2 คน คนแรกเป็นผู้หญิงชาวดัตช์ที่อยู่ฝรั่งเศส ด้วยความที่เกิดจากข้อแม้ทุนเลยเลือกคนนี้มาตัด ซึ่งเธอก็ทำงานออกมาได้ดีระดับหนึ่ง พอตัดออกมาดราฟต์หนึ่งแล้วรู้สึกว่า มันไม่ใช่แก่นแท้ของหนัง ซึ่งโปรดิวเซอร์เห็นพ้องตรงกันหมดว่า มันไม่ใช่ตามบทที่เขาอ่าน เราก็เลยเอามาให้คนตัดต่อคนไทยทำ ซึ่งคือ พี่ลี ชาตะเมธีกุล โดยตัดต่ออิงจากคอมเมนต์ต่าง ๆ ของโปรดิวเซอร์ และด้วยความที่หนังมันว่าด้วยชีวิตของผู้หญิงแก่คนหนึ่งที่ดูแลสามีช่วงบั้นปลายชีวิต แล้วย้อนกลับมามองชีวิตวัยสาวของตัวเอง ซึ่งหนังมันตัดได้หลายแบบมาก จะตัดแบบเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงก็ได้ หรือตัดแบบเล่นกับความทรงจำก็ได้ คือมันทดลองได้เยอะมาก ซึ่งพี่ลีตัดจากการอ่านแถลงการณ์ของผู้กำกับ (Director’s Statement) ว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร แล้วเขาจะดึงแก่นที่ชัดของหนังออกมาให้ได้มากที่สุด ถามว่าใกล้เคียงกับบทมากไหม คิดว่าใกล้อยู่แล้ว แต่การตัดต่อใหม่นี้ ถือว่าทำให้แก่นของหนังมันชัดเจนยิ่งขึ้น”


 

เวลา (Anatomy of Time) โดย จักรวาล นิลธำรงค์

ที่มา: https://diversion-th.com/anatomyoftime/


ปิดท้ายด้วย ไทกิ เล่าถึงการทำหนังยาวเรื่องแรกของตัวเองที่ได้รับรางวัลขวัญใจนักวิจารณ์ (FIPRESCI Award) จากสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเตอร์ดามว่า “จุดเริ่มต้นของ พญาโศก พิโยคค่ำ เริ่มจากการคุยกับโปรดิวเซอร์ คือพี่โสฬส สุขุม และพี่คัทลียา เผ่าศรีเจริญ แล้วพัฒนาบทกันมาสักระยะ จากนั้นพอถ่ายทำเสร็จได้ฉายเปิดตัวที่รอตเตอร์ดาม และมีทัวร์ตามเทศกาลต่าง ๆ อีกสิบประเทศ แก่นหลักของหนังเรื่องนี้ คือความเป็นอัมพาต ทั้งกายภาพและจิตใจที่มันถูกครอบงำ เช่น ร่างที่โดนสะกดจากอำนาจที่เรามองไม่เห็น ซึ่งมันควบคุมชีวิตและจิตใจของตัวละครในเรื่อง และอีกส่วนที่ผมสนใจคือ สภาวะก่อนและหลังของการเกิดเหตุการณ์ใหญ่บางอย่าง เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมันเป็นผลกระทบกับครอบครัวของตัวละคร ทั้งหมดเลยเป็นที่มาของบทหนังเรื่องนี้ และเป็นครั้งแรกที่ได้กำกับคนที่จับต้องได้จริง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่เราก็เลือกกำกับนักแสดงในแบบที่ชอบและสนใจ เช่น การที่ผมได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีการกำกับของแวร์เนอร์ แฮร์ซอกในเรื่อง Heart of Glass ซึ่งแฮร์ซอกกำกับโดยจ้างนักสะกดจิตมาสะกดจิตนักแสดง การแสดงส่วนใหญ่ในเรื่องจึงเกิดจากพลังของอำนาจดังกล่าว วิธีการนี้เลยสร้างแรงบันดาลใจในการกำหนดทิศทางองค์ประกอบการกำกับของผมในเรื่องมาก และเห็นด้วยว่า การมีโปรดิวเซอร์ที่ดีที่คอยคอมเมนต์จะช่วยให้เห็นอะไรต่าง ๆ ได้เยอะ บางทีการที่เรานั่งเขียนบทนาน ๆ และมีสิ่งที่อยู่ในหัวเยอะมาก อาจทำให้เราสูญเสียบางมุมมองไป การมีฟีดแบ็กที่แชร์จากประสบการณ์ของโปรดิวเซอร์ จึงทำให้หนังดูน่าสนใจมากขึ้น”


 

พญาโศก พิโยคค่ำ (The Edge of Daybreak) โดย ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์

ที่มา: https://taikisakpisit.com/The-Edge-of-Daybreak



Director’s Statement: เครื่องมือช่วยเหลือสำคัญของคนทำหนังที่มองข้ามไม่ได้


นอกจากการสื่อสารกับทีมงานในกองถ่ายแล้ว ทักษะอีกอย่างหนึ่งที่ผู้กำกับรุ่นใหม่มองข้ามไม่ได้หรือจำเป็นต้องใช้ คือการเขียนคำแถลงการณ์จากผู้กำกับ หรือ Director’s Statement โดยเฉพาะที่ในช่วงเวลาหลายปีให้หลังมีกิจกรรม Workshop หรือการอบรมพัฒนาการเขียนบทภาพยนตร์ (Script Lab) มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการร่วมทุนสร้างกับต่างประเทศได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ ๆ ในเวทีภาพยนตร์ระดับนานาชาติ จักรวาลเล่าถึงความสำคัญของการทำงานในส่วนนี้ว่า “การเขียน Director’s Statement คิดว่ามันต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือเราต้องหาคำถามที่คาใจของเราให้เจอ อีกส่วนเป็นเรื่องศิลปะของการเขียน บางคนมีไอเดียที่น่าสนใจแต่ไม่สามารถเขียนออกมาได้ ซึ่งเขาอาจจะไปจ้างคนเขียนก็ได้ ผมจะชอบยกตัวอย่างแถลงการณ์ของบองจุนโฮจากเรื่อง Parasite ที่หลาย ๆ คนอาจเคยเห็น ซึ่งมันนำเสนอหนังออกมาได้ชัดเจนมากว่า เป็นหนังประเภทไหนและอะไรคือแรงบันดาลใจของผู้สร้าง ซึ่งผมไม่ทราบจริง ๆ ว่า เขาเขียนด้วยตัวเองหรือเปล่า หรือเกิดจากกลั่นกรองโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสตูดิโอผู้สร้าง รู้แต่ว่าเปเปอร์แผ่นนี้มันสามารถนำเสนอหนังได้แน่ ๆ”


 

คำแถลงการณ์ของบองจุนโฮจากเรื่อง Parasite 

ที่มา: Facebook: Parasite / 기생충


ไทกิ เสริมว่า “คำแถลงการณ์จากผู้กำกับสำคัญมาก ๆ เพราะมันสามารถช่วยสะท้อนว่า ชีวิตและตัวตนของผู้กำกับคนนี้พิเศษยังไง เนื่องจากมันออกมาจากตัวเราเอง และเป็นการเขียนออกจากใจและแพสชั่นของผู้กำกับจริง ๆ ว่าทำไมต้องเป็นเราในการกำกับหนังเรื่องนั้น ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องยากสำหรับผมเหมือนกัน ในการบังคับให้นั่งเขียนโดยตกผลึกอยู่คนเดียว เพราะโดยส่วนตัวจะถนัดการออกไปถ่ายเลยมากกว่า แต่การเขียนมันช่วยให้เราค้นพบคำตอบบางอย่าง จะคล้าย ๆ กับการรีเสิร์ชว่า เราหมกมุ่นอยู่กับอะไร ต้องการถ่ายทอดอะไร ซึ่งผลของการรีเสิร์ชเหล่านั้น ก็จะถูกนำมาใส่ใน Director’s Statement”


บรรจง ปิดท้ายว่า “Director’s Statement สำคัญกับผมต่อโปรเจกต์ที่ทำงานกับต่างประเทศมาก ๆ เพราะมันต้องเริ่มมีการเขียนถึงไอเดียหลักของหนัง และต้องซีเรียสขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะตอนที่ทำงานที่ GDH จะทำโดยการพูดผ่านโปรดิวเซอร์มากกว่า แต่สิ่ง ๆ นี้เป็นสิ่งที่ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ทำร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางของหนังเพื่อใช้ในการหาทุน อย่างที่อีกทั้ง 2 คนเล่าไปแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่เกิดจากกลั่นกรองหมดแล้วว่า หนังเรื่องนี้จะเล่ายังไงและอะไรคือหัวใจของมัน ซึ่งจะเห็นวิธีการและทิศทางในไม่กี่บรรทัดเลยว่า หนังจะมีความรู้สึกออกมาแบบนี้” 


ผลกระทบจากโควิด-19


เมื่อได้รับคำถามถึงผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรจงเริ่มต้นเล่าว่า “สำหรับผมกระทบหนักมาก แต่ยังโชคดีที่ช่วงถ่ายทำเป็นช่วงที่โควิดซาลงไป ทำเสร็จได้ก็ถือเป็นบุญมากแล้ว เพราะถ่ายกินเวลาไปนานกว่า 6 เดือน เนื่องจากจะมีช่วงที่เบรกให้นักแสดงลดน้ำหนัก พอถ่ายเสร็จแล้ว ในช่วงตัดต่อ ตัวเลขผู้ติดเชื้อมันถึงจะพุ่งกลับมาเยอะอีกครั้ง ความซวยของผมอีกอย่างหนึ่ง คือตอนหนังฉายที่เกาหลีใต้ แม้ว่าเกาหลีจะไม่เคยปิดโรงหนังเลย แต่อยู่ ๆ ช่วงที่ ร่างทรง จะเข้า เป็นช่วงที่ตัวเลขพุ่งขึ้นมากที่สุดในประเทศ ทำให้โดนมาตรการแรงที่สุด คือโรงหนังทั่วประเทศต้องปิดในเวลา 22.00 น. ซึ่ง ร่างทรง ฉายรอบดึกที่สุด คือ 19.30 น. สำหรับหนังผีแล้วถือว่า การฉายเวลานี้กระทบมหาศาลมาก ๆ รวมทั้งการที่มันฉายที่ไทยไม่ได้ด้วย ตอนนี้ยังนึกภาพการโปรโมตไม่ออกเลยว่า หนังไทยที่ฉายที่อื่นไปหลายเดือนมาก ๆ จะโปรโมตยังไง พยายามแก้โจทย์นี้กันอยู่ เพราะคนได้ดูตัวอย่างหนังกันไปหมดแล้ว จะทำยังไงให้หนังมันยังดูสดใหม่อยู่ ส่วนสภาพจิตใจ ด้วยความที่มันออกไปไหนไม่ได้ และเจอแต่ข่าวแย่ ๆ ก็รู้สึกป่วยและเครียดได้ง่ายมาก ๆ”  


จักรวาล เล่าต่อว่า “ของผมถ้าในส่วนการทำงานจะคล้าย ๆ ของโต้งที่ถ่ายเสร็จก่อนที่ตัวเลขในประเทศจะพุ่งสูง ถ้ากระทบโดยรวม คงจะกระทบช่วงการวางวันฉายมากกว่า แต่ที่น่าเป็นห่วงจริง ๆ คือสภาพจิตใจที่มีคนป่วยกันมากขึ้น เพราะมันหาทางออกไม่ได้ ในฐานะที่สอนหนังสือด้วย จะเริ่มห็นนักศึกษามีอาการป่วย ก็ต้องให้กำลังใจกัน และผ่านไปให้ได้ แล้วหาทางเยียวยาว่า เราจะนำช่วงชีวิต 2 ปีที่หายไปคืนกลับมายังไงให้มันดีขึ้นบ้าง”


ไทกิ ปิดท้ายว่า “สำหรับตัวหนังแทบไม่ได้ผลกระทบอะไรเลย เพราะถ่ายเสร็จตั้งแต่เดือนมกราคมปีก่อน ซึ่งหนังก็ได้ไปฉายต่างประเทศ แต่ตัวเราเองกลับไม่ได้เดินทางไปด้วย และจะคิดคล้าย ๆ กับจักรวาลคือ คิดถึงอนาคตของประเทศ และอนาคตของนักศึกษา ด้วยความที่ผมสอนหนังสือเหมือนกัน ซึ่งเป็นเทอมแรกที่ต้องสอนออนไลน์ 100% ถ้ามีโอกาสก็จะคุยกับลูกศิษย์ว่า เรียนออนไลน์มา 1-2 ปีแล้วรู้สึกยังไงบ้าง ซึ่งหลาย ๆ คนตอบตรงกันว่า สภาพจิตใจแย่ เพราะการเรียนแบบนี้ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าการเรียนแบบปกติ รวมถึงช่วงชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่หายไปนาน 2 ปี เป็นสิ่งที่ผมกังวลเสมอ” 


“สำหรับอนาคตของหนังไทย เมื่อหลายปีก่อนผมได้มีโอกาสไปหอภาพยนตร์เกาหลีที่กรุงโซล ซึ่งที่นั่นจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เกาหลีตั้งแต่ยุคบุกเบิก และจะมีนักศึกษาเป็นไกด์พาทัวร์ อย่างที่รู้ว่า อุตสาหกรรมหนังเกาหลีมันเฟื่องฟูมาก ๆ ผมเลยถามคำถามง่าย ๆ ไปว่า ทำไมอุตสาหกรรมหนังเกาหลีถึงได้บูมขนาดนี้ เด็กคนนั้นตอบกลับมาคำเดียวว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งทำให้ผมคิดว่าสิ่งนี้ เป็นรากเหง้าที่จะทำให้เกิดการพัฒนากับทุก ๆ วงการ เป็นการฉุกคิดถึงในช่วงเวลาที่ประเทศมันมืดมนแบบนี้”

******************************


ติดตามชมบันทึกการสนทนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/7CRhvxSYyY/


ผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 25 หมดเขตรับสมัคร วันที่ 10 กันยายนนี้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ThaiShortFilmVideoFestival/photos/a.471352726328726/2221077341356247


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด