วันถ่ายรูปโลก (World Photography Day)

19 สิงหาคม เมื่อ 182 ปีมาแล้ว เป็นวันที่มนุษย์ได้รับของขวัญวิเศษนี้จากรัฐบาลฝรั่งเศสซื้อสิทธิบัตรการถ่ายรูป และยกให้เป็นสาธารณสมบัติเพื่อเป็นของขวัญแก่ประชากรโลก การถ่ายรูปจึงแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และภาพยนตร์เองก็เป็นหนึ่งในประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นจากคุณูปการของการถ่ายรูป 

---------------



โดย อิศรินทร์ อินทะจันทร์

ภาพปก: ภาพที่เชื่อว่าเป็นการถ่ายเซลฟี่กลุ่มภาพแรกของโลกเมื่อธันวาคม ค.ศ. 1920

เครดิตภาพ: The Byron Company via The Museum of the City of New York


การถ่ายรูป มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ในสมัยมนุษย์ถ้ำ ที่เราพอจะพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายๆชิ้นว่ามีภาพวาดผนังถ้ำปรากฎอยู่ในหลายๆอารยธรรมโบราณที่มีอายุเกินกว่าหมื่นปี นั่นถือว่าเป็น ภาพวาดที่มนุษย์สร้างขึ้น คาดว่าเป้าหมายคือการบันทึกภาพที่เห็น หรือบันทึกภาพในจินตนาการไว้ในสื่อบันทึกอย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องการให้มันคงสภาพนั้นไว้ได้นาน ภาพไม่เลือนลางหายไป จึงเกิดการขีดเขียนลงไปในผนังถ้ำ ในขณะเดียวกันมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำก็ค้นพบการฉายภาพโดยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเมื่อผนังถ้ำปริแตกเกิดรูถ้ำขึ้นมา แสงจากด้านนอกที่ส่องเข้ามาด้านในถ้ำจะฉายเงาตกกระทบเป็นภาพกลับหัวปรากฏที่ผนังถ้ำ สันนิษฐานได้ว่าการวาดภาพนั้น น่าจะมีเงาที่เกิดจากรูถ้ำตามธรรมชาติเป็นต้นแบบ รวมถึงมนุษย์ยุคหินต้องการบันทึกภาพที่ประสบพบเจอจากการใช้ชีวิตประจำต่างๆเหล่านั้นไว้ จึงเกิดการพัฒนาในด้านการบันทึกภาพและการวาดภาพไปพร้อมๆกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์



ภาพ: ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ


ต่อมาเมื่อมนุษย์มีพัฒนาการมากขึ้น เริ่มคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องมือนอกกายต่าง ๆ ได้ เกิดการสร้างห้องมืด ที่ทำหน้าที่เหมือนถ้ำจำลองขนาดเล็ก เจาะรูเล็ก ๆ เท่ารูเข็มให้แสงลอดเข้ามาฉายเป็นภาพของทิวทัศน์ข้างนอกห้องปรากฏที่ผนังอีกด้านหนึ่งของห้อง เป็นความเพลิดเพลินที่ได้ชมภาพปรากฏบนผนังเหมือนภาพภายนอกที่มีชีวิตชีวา และต่อมามนุษย์ก็ใช้ห้องมืดแบบนี้เป็นเครื่องมือในการวาดรูปจำลองจากธรรมชาติ โดยใช้ผ้าหรือกระดาษเป็นฉากรับแสงแทนผนัง แล้วร่างรูป วาดเส้นและระบายสีลงไปตามภาพที่ปรากฏบนผ้าหรือกระดาษนั้น  โดยเรียกห้องนี้ว่า ห้องมืด (Camera Obscura) หรือบ้างก็เรียกว่า ห้องรูเข็ม (Pinhole Camera) แรกเริ่มนั้นมีลักษณะเป็นห้อง หรือเต็นท์ ต่อมาก็ค่อยๆพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงจนพกพาไปตามสถานที่ต่างๆได้ (เมื่อพัฒนาจนมีขนาดเล็กลงแล้ว จึงเรียกกันว่า กล่องรูเข็ม หรือ กล้องรูเข็ม) ต่อมาเมื่อถึงยุควิทยาศาสตร์ มนุษย์เองก็เริ่มสังเกตปฏิกิริยาตามธรรมชาติว่าวัตถุ(หรือสาร)บางชนิด เมื่อถูกแสงแดดแผดเผานานๆเข้า จะเกิดปฏิกิริยาบางอย่าง เช่น ผิวหนังมนุษย์จะเข้มหรือคล้ำลง สีของเครื่องปั้นดินเผาเมื่อโดนแดดไปนานๆจะซีดจางลง จึงเริ่มคิดหาวิธีบันทึกภาพโดยการอาศัยแสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นที่มาของการเกิดศาสตร์องค์ความรู้เกี่ยวกับแสงในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ด้านฟิสิกส์ในเรื่องของอนุภาคหรือทวิภาคของแสง ความรู้ด้านเคมีที่ความร้อนจากแสงแดด (รวมถึงรังสี UV) ที่ทำปฏิกิริยากับสิ่งต่างๆ



ภาพ: ภาพวาด Camera Obscura


ในขณะที่การใช้ Camera Obscura เป็นที่แพร่หลายเรื่อยมาเกือบร้อยปี แต่ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะสามารถบันทึกภาพโดยไม่ต้องใช้มือวาดได้เลย จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 19 นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส โจเซฟ นิซฟอร์ เนี้ยป (Joseph Nicéphore Niépce) เริ่มทดลองสร้างกระบวนการถ่ายรูปที่เรียกว่า Heliograph (เป็นภาษากรีก คำว่า Helios = ดวงอาทิตย์ นำมารวมกับคำว่า graph = เขียน) ในปีค.ศ. 1826 ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์แรกที่ทำหน้าที่เหมือนกล้องถ่ายรูปมากที่สุด คือการบันทึกภาพโดยไม่ใช้มือวาดเขียนลงไปในสื่อบันทึก เริ่มจากดัดแปลงกล้องรูเข็มขนาดพกพา (Portable Camera Obscura) ตรงรูรับแสงด้านหน้าจะติดเลนส์เข้าไปด้วยเพื่อรวมแสงให้เข้าไปด้านในกล่องมืด นำแผ่นโลหะดีบุกเคลือบน้ำมันดิน (วัตถุไวแสง) มาวางเป็นฉากรับแสงที่ด้านตรงข้ามกับรูรับแสงในกล้อง ด้วยปฏิกิริยาของสารไวแสงจะทำให้พื้นที่ที่โดนแสงจะค่อยๆเปลี่ยนสีจนเข้มขึ้น ในขณะที่พื้นที่ที่โดนแสงน้อยหรือไม่โดนเลย จะยังคงสภาพสีเดิมของวัตถุอยู่ เมื่อนำไปล้างน้ำมันดินออกด้วย White Spirit (สารทำละลายที่กลั่นจากน้ำมัน) และ น้ำมันลาเวนเดอร์ ผลลัพธ์คือจะเกิดลวดลายหรือภาพบนแผ่นดีบุกนั้นตามความเข้มของแสง เกิดเป็นลักษณะคล้ายกับภาพวาดที่เสมือนจริงขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องใช้มือในการวาดเลยแม้แต่น้อย ถือว่าการทดลอง “ถ่ายภาพ” ครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก และหนึ่งในภาพถ่ายที่เกิดจากการทดลองที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน คือภาพ View from the Window at Le Gras แต่การที่จะถ่ายภาพนี้จำเป็นต้องเปิดกล้องรูเข็มเพื่อรับแสงเป็นเวลายาวนานหลายชั่วโมง ผลลัพธ์นี้ยังคงไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี



ภาพ: View from the Window at Le Gras


ในช่วงระหว่างการทดลองการถ่ายรูปด้วย Heliograph ในปี 1829 โจเซฟ เนี้ยฟ ได้ร่วมงานกับศิลปินชาวฝรั่งเศส หลุยส์ ดาร์แกร์ (Louis Daguerre) เพื่อร่วมกันพัฒนาให้เกิดเป็นการถ่ายรูปที่สมบูรณ์มากขึ้น แต่ร่วมงานกันได้ไม่นาน โจเซฟ เนี้ยป เสียชีวิตกะทันหันจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) โดยที่การทดลองดังกล่าวยังไม่ทันประสบผลสำเร็จดี ทำให้ หลุยส์ ดาร์แกร์ จำเป็นต้องเดินหน้าทดลองเพื่อพัฒนาการถ่ายรูปต่อ พร้อมกับความช่วยเหลือจากลูกชายของ โจเซฟ เนี้ยป นั่นคือ อิซิดอร์ เนี้ยป (Isidore Niépce) เขาค้นพบในขณะทำการทดลองว่า ในขณะที่สารไวแสงโดนแสงในระยะเวลาไม่กี่วินาที ได้เกิดภาพแฝง Latent Image อยู่ภายในแผ่นรับภาพ แต่ยังไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จนเมื่อนำแผ่นรับภาพที่มีภาพแฝงนั้นไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีอีกตัว จะสามารถมองเห็นภาพจริงได้ 



ภาพ: หลุยส์ ดาร์แกร์


ดาร์แกร์ จึงเริ่มทำการทดลองถ่ายรูปด้วยวิธีการใหม่ที่ค้นเจอ เริ่มจากใช้แผ่นทองแดงเคลือบด้วยเงินเป็นแผ่นรับภาพ ขัดให้เรียบเนียนมันวาวจนเป็นเหมือนกับกระจกเงา จากนั้นนำไปเคลือบสารไวแสง โดยการรมควันด้วยไอโอไดด์ เมื่อซิลเวอร์(เงิน) เจอควันของไอโอไดด์ จะเกิดพันธะทางเคมี รวมตัวกันกลายเป็น ซิลเวอร์ไอโอไดด์ (ผลึกสีเหลืองอ่อน ที่จะค่อยๆเปลี่ยนสีให้ดำเข้มขึ้นเมื่อโดนแสง) วางไว้เพื่อรับแสงที่ผ่านเข้ามาจากเลนส์ เปิดหน้าเลนส์ ให้รับแสงราว 20 – 60 วินาที (หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพแสง) เมื่อนำแผ่นทองแดงออกมา ทุกอย่างจะดูเป็นปกติเหมือนเดิม แต่เมื่อนำไปรมควันด้วยไอปรอท (ต้มปรอทเหลวด้วยตะเกียง และเอาแผ่นทองแดงด้านที่มีซิลเวอร์ไอโอไดด์คว่ำลงเพื่อรับควันระเหยของปรอท) ปรอทจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ซิลเวอร์ที่โดนแสงกลายเป็นสีดำให้ไวขึ้น จนเกิดเป็นภาพปรากฏขึ้นมาได้ จากนั้นต้องทำการคงสภาพของรูปถ่ายนั้น ด้วยการนำแผ่นทองแดงที่มีรูปไปซักล้างด้วยน้ำยาไฮโป (โซเดียมไทโอซัลเฟต) ปิดท้ายด้วยการนำแผ่นรับภาพไปอังกับไฟเพื่อให้สารเคมีที่ใช้ล้างที่ตกค้างอยู่ ระเหยหลุดลอกออกไปให้หมด ก็จะได้รูปถ่ายที่มีลักษณะเป็นทั้งภาพ Negative และ Positive ในภาพเดียวกัน ซึ่งจะแตกต่างจากการถ่ายรูปด้วยฟิล์ม (ที่เป็นได้แค่ Negative หรือ Positive เท่านั้น) แต่กระบวนการในการสร้างรูปนั้น ใกล้เคียงกับกระบวนการล้างฟิล์มในปัจจุบันอย่างมาก คือการถ่ายรูปในกล้อง(Exposed) นำไปล้าง (Develop), และทำให้คงสภาพ (Fix)



ภาพ: ภาพในแผ่นทองแดงที่ถ่ายโดย Daguerreotype


เมื่อการทดลองอยู่ตัว หลุยส์ ดาร์แกร์ จึงสร้างอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพด้วยกระบวนการดังกล่าวโดยเฉพาะ และตั้งชื่อเครื่องมือนี้ว่า Daguerreotype แต่แทนที่ หลุยส์ ดาร์แกร์ จะจดสิทธิบัตรให้กับกล้องของตน เขากลับเลือกที่จะเสนอขายให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเงินบำนาญตลอดชีพของตัวเอง และ ลูกชายของโจเซฟ เนี้ยป ที่ช่วยกันคิดค้นการถ่ายรูปจนสำเร็จ รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงซื้อสิทธิบัตรของการถ่ายรูป เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1839 แต่ที่สำคัญคือ เมื่อซื้อแล้วรัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศมอบนวัตกรรมหรือวิธีการถ่ายรูปแบบใหม่ล่าสุดของโลกให้เป็นของสาธารณะและเป็นของขวัญแก่ประชากรโลก ทำให้นักประดิษฐ์ทั่วโลกสามารถสร้างอุปกรณ์และเลียนแบบการถ่ายรูปของดาแกร์ได้อย่างเสรี การถ่ายรูปจึงแพร่หลายและแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว การถ่ายรูปกลายเป็นงานอดิเรกยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกตลอดมา แม้จนปัจจุบัน การถ่ายรูปได้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ทั่วโลก น่าจะกล่าวได้ว่ามีการถ่ายรูปอยู่ทุกวินาทีบนโลกนี้ เชื่อว่าการถ่ายรูปและสะสมรูปถ่ายยังคงเป็นงานอดิเรกอันดับหนึ่งตลอดกาลของมนุษย์  



ภาพ: แสตมป์ที่ระลึกครบรอบ 100 ปี การถ่ายรูป ค.ศ. 1839 - 1939 บุคคลด้านซ้ายคือ โจเซฟ เนี้ยป ด้านขวาคือ หลุยส์ ดาร์แกร์ ภาพตรงกลางเป็นภาพบรรยากาศตอนนำเสนอสิทธิบัตร


เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการยิ่งใหญ่ของการประดิษฐ์การถ่ายรูป และการมอบการถ่ายรูปให้เป็นของสาธารณะ ช่างถ่ายรูปหลายรุ่นหลายยุคซึ่งมีส่วนช่วยกันพัฒนาให้การถ่ายรูปซึ่งเมื่อแรกเกิดถูกมองว่าเป็นงานวิทยาศาสตร์ ให้กลายเป็นงานศิลปะ ... เพิ่มเป็น งานศิลปะแขนงที่ 8 ที่มีความวิจิตรงดงามและสามารถถ่ายทอดความคิดและอารมณ์ของมนุษย์ได้เช่นเดียวกับวิจิตรศิลปอื่น ๆ ได้มีส่วนให้เกิดความคิดในการกำหนดให้วันที่ 19 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันถ่ายรูปโลก



วันนี้จึงเป็นวันที่ เราทุกคนเมื่อจะกดปุ่มมือถือถ่ายรูปรัว ๆ  ควรจะระลึกสักแวบหนึ่งว่า วันนี้เมื่อ 182 ปีมาแล้ว เป็นวันที่มนุษย์ได้รับของขวัญวิเศษนี้จากรัฐบาลฝรั่งเศส




หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด