เสียงจากคนทำหนังไทยรุ่นใหม่ที่แจ้งเกิดจากเทศกาลภาพยนตร์สั้น

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมสนทนาออนไลน์กับ 4 ผู้กำกับรุ่นใหม่ อดีตนักศึกษาภาพยนตร์ที่ได้มาแบ่งปันประสบการณ์เมื่อตอนเป็นนักเรียนหนัง การส่งผลงานเข้าร่วมประกวดที่เทศกาล และแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดและภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในตอนนี้

----------


เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ


เมื่อวันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมสนทนาออนไลน์ “Live Talk 25 ปี เทศกาลภาพยนตร์สั้น” เนื่องในวาระครบรอบปีที่ 25 ของ เทศกาลภาพยนตร์สั้น (Thai Short Film and Video Festival) งานประกวดภาพยนตร์สั้นที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งริเริ่มจัดโดยมูลนิธิหนังไทย เมื่อปี พ.ศ. 2540 และเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางให้แก่คนทำและผู้ชมภาพยนตร์มากมายในประเทศ


กิจกรรมในวันนั้น ถือเป็นตอนแรกของชุดกิจกรรมสนทนา โดยเป็นการพูดคุยร่วมกับ 4 ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง อดีตนักศึกษาภาพยนตร์ต่างสถาบัน ผู้เคยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและได้รับรางวัลจากเทศกาลฯ ที่มาถ่ายทอดแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ตลอดจนประสบการณ์จากการประกวด รวมถึงความเป็นไปภายหลังจากนั้นบนเส้นทางชีวิตของนักทำหนังที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในแวดวง ในชื่อตอนว่า ‘อัปเดตชีวิต (อดีต) นักเรียนหนัง’ ประกอบด้วย สรยศ ประภาพันธ์ นักบันทึกเสียงและผู้กำกับภาพยนตร์อิสระที่มีผลงานภาพยนตร์สั้นออกฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ อาจารย์พิเศษและนักทำหนังผู้สนใจงานกำกับด้านสารคดี จิรัศยา วงษ์สุทิน นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์ และ ศุภามาศ บุญนิล ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์สั้นอิสระ


จุดเริ่มต้นของความรักในภาพยนตร์และชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

 

ศุภามาศ บุญนิล อดีตนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ เอกภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มี พญาวัน เป็นผลงานภาพยนตร์สั้นจุลนิพนธ์จบการศึกษา ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศสาขาช้างเผือก เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 23 ประจำปี พ.ศ. 2563 เล่าถึงจุดเริ่มต้นและสิ่งที่ค้นพบในการเรียนภาพยนตร์ว่า “เริ่มตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมปลาย แต่ตอนนั้นยังไม่มีความคิดชัดเจนตั้งแต่เด็กว่า ชอบและอยากเรียนภาพยนตร์ เนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนภาพยนตร์ให้ศึกษาที่ค่อนข้างจำกัด บวกกับอยู่ต่างจังหวัด จึงใช้วิธีการค้นหาตัวเองตอนมัธยมปลายว่า เราอยากเรียนอะไร เริ่มจากดูหนังเหมือนเด็กทั่วไปและอยากทราบว่ากระบวนการในการเริ่มต้นถ่ายทำและเขียนบทภาพยนตร์ ต้องเริ่มจากจุดไหน”


“พอได้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยจริง ๆ ช่วง 2 ปีแรก จะต้องไปเรียนอยู่เพชรบุรี ซึ่งปลีกไปจากรุ่นพี่ที่อยู่กรุงเทพฯ เลยจะไม่ได้มีโอกาสออกกองช่วยรุ่นพี่หรือเข้ามาดูหนังในเทศกาลฯ เท่าไร ทำให้มีความรู้สึกว่า จะต้องออกแรงในการเข้าถึงสิ่งนี้หน่อย แล้วการเรียนในช่วงแรก จะมีการเรียนทฤษฎีด้านภาพยนตร์ที่เราต้องปรับตัวกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่าชอบกำกับ กระทั่งตอนปี 2 ได้เรียนและลองกำกับ จึงได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ ที่อยากทำและค้นพบว่า การกำกับเป็นสิ่งที่สนุกและการทำงานออกกองกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้ทางการมาก มันสามารถประยุกต์ได้หมด ซึ่งการเรียนภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัย ช่วยให้เราค้นหาวิธีการเล่าเรื่องว่า จะทำอย่างไรให้ภาพตรงกับสิ่งที่เราอยากสื่อสารมากที่สุด” 


จิรัศยา วงษ์สุุทิน อดีตนิสิตจากคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งสร้างปรากฏการณ์เป็นผู้ส่งเข้าประกวดผลงานคนแรกที่คว้ารางวัลชนะเลิศ สาขาช้างเผือก 3 ปีซ้อน จากผลงานเรื่อง กลับบ้าน (ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2555) เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน (ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2556) และ วันนั้นของเดือน (ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2557) กล่าวถึงความสนใจด้านภาพยนตร์และสิ่งแวดล้อมในรั้วมหาวิทยาลัยว่า “เริ่มต้นจากตั้งแต่เด็กที่ชอบดูละครโทรทัศน์ช่อง 3 และบ้าดารา แต่ไม่คิดว่าจะได้เข้ามาอยู่ในวงการนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่ก็เก็บสิ่งนี้ไว้เป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบ พอโตขึ้นมีโอกาสชมภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศ ก็รู้ตัวมากขึ้นว่าชอบ แต่ยังไม่คิดว่าจะได้ทำงานในนั้น พอตอนเลือกมหาวิทยาลัย ยังลังเลว่า จะเลือกเรียนภาษาดีไหม เพราะเราจบสายศิลป์-ฝรั่งเศส แต่พอลองสอบ เห็นว่าคะแนนเราใช้ได้ เลยลองยื่นคณะนิเทศศาสตร์ดู ซึ่งยังไม่ได้คิดว่าจะเรียนอะไร เพราะมีทั้งโทรทัศน์และโฆษณา แต่อย่างน้อยถือว่าได้ลองเข้าไปเรียนอะไรที่สนุก ๆ ที่ไม่ใช่การเรียนที่น่าเบื่อ พอเข้าไปได้เจอกิจกรรมและครูที่บอกกับเราว่า มีพื้นที่ให้เราได้ทำงานตรงนี้ได้ รวมถึงเจอคนที่คุยกันเรื่องภาพยนตร์ที่ชื่นชอบเหมือนกับเรา เลยลองดูสักตั้ง จึงเลือกเรียนภาพยนตร์” 


“การที่ได้อยู่กับกลุ่มคนที่ชอบสิ่งเดียวกัน เหมือนหนังเป็นสิ่งแวดล้อมของเราตลอดเวลาและช่วยไม่ทำให้ไฟของเราดับ ซึ่งถ้าเราเลือกไปเรียนคณะอื่น เราคงเปลี่ยนไปแล้ว พอมันรายล้อมไปด้วยคนที่ชอบอย่างเดียวกัน รวมถึงมีรุ่นพี่ที่ทำงานด้านหนังจริง ๆ มาชวนไปออกกอง มันช่วยให้เราเห็นหนทางที่พาเราไปทำงานตรงนี้ได้จริง ๆ ซึ่งถ้าเรียนคณะอื่น อาจไม่มีตรงนี้ช่วยผลักดันและทำให้เรามั่นใจว่าจะไปตรงจุดนี้ได้


ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ อดีตนักศึกษาจากคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของรางวัลชนะเลิศภาพยนตร์สารคดี สาขาดุ๊ก จาก ไกลบ้าน (ครั้งที่ 23 พ.ศ. 2562) พูดถึงเหตุผลและสิ่งที่ได้จากการเลือกเรียนภาพยนตร์ว่า “ผมชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เป็นหนังเชิงพาณิชย์ทั่ว ๆ ไป ชอบจากการเช่าแผ่นกับเพื่อนมาดูเกือบทุกวัน และคิดเล่น ๆ ว่า การทำหนังที่น่าจะสนุก เลยเลือกเรียนหนังดีกว่า เวลาที่ใครถามหนังที่ผมชอบและทำให้เลือกเรียนหนัง จะตอบว่าเป็น Bad Boys II ของไมเคิล เบย์ (หัวเราะ) แล้วตั้งใจว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน เลยเลือกที่นี่”


“พอเข้ามาเรียนช่วงปีท้าย ๆ เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า ถ้าเลือกได้อีก ยังจะเลือกเรียนหนังไหม ซึ่งเราอาจจะไม่เรียนแล้ว การศึกษาถือว่ามีประโยชน์อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่า ตัวเราคาดหวังและต้องการอะไร ประโยชน์ของการเรียนหนัง คือการได้นำรากฐานความรู้ไปต่อยอดในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะเป็นได้เยอะ แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ช่วยให้เราค้นหาตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งเราอยากจะเป็นอย่างอื่นมากกว่าที่ตัวการศึกษามอบให้ เลยตอบยากประมาณหนึ่ง ในแง่หนึ่งช่วยให้เราได้มีเครื่องมือมากพอในการนำไปต่อยอดนอกเหนือจากการศึกษา ส่วนอีกแง่ก็ตีกรอบเราเยอะเหมือนกัน”


 

ไกลบ้าน (Away) โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์

©Teeraphan Ngowjeenanan


สรยศ ประภาพันธ์ คนทำหนังสั้นที่มีผลงานออกฉายในระดับนานาชาติ ผู้จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลรัตน์ เปสตันยี จาก เพื่อนเล่น เล่นเพื่อน (ครั้งที่ 23 พ.ศ. 2562) กล่าวปิดท้ายถึงประสบการณ์เลือกเรียนต่อด้านภาพยนตร์และชีวิตภายหลังจากนั้นว่า “ของผมจะประหลาดตรงที่ว่า เป็นคนที่ไม่ได้ชอบดูหนังเลยตั้งแต่เด็ก ยกเว้นถ้ามีเพื่อนชวนถึงจะไป พอเรียนแผนวิทย์ก็ไม่รอด คิดว่าน่าจะเอาคะแนนไปยื่นที่ไหนไม่ได้ บวกกับตัวเองชอบดูชิงร้อยชิงล้านและตลกคาเฟ่ เลยมุ่งไปทางวารสารแล้วสอบเอนทรานซ์ติด พอเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เจอเพื่อนรุ่นพี่ที่ทำหนัง แล้วเขาชวนเราไปออกกอง เลยคิดว่าหรือเราก็ทำได้” 


“ทุกวันนี้เพื่อนร่วมรุ่น น่าจะเหลือแค่ผมคนเดียวที่ยังทำหนัง แต่คนที่ทำงานอาชีพอื่น ๆ ก็เอาความรู้ด้านภาพยนตร์ไปใช้เลี้ยงชีพก็เยอะ เช่น โฆษณา นิตยสาร หรือแอร์โฮสเตจ ซึ่งถ้าถามความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในตอนนั้น คิดว่ามันก็มีจุดเชื่อมต่อและเป็นพื้นที่ปลอดภัยประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเรียนจบไปแล้ว เพื่อนเราไม่ทำต่อ ยังไงก็ต้องหาเพื่อนใหม่อยู่ดี ก็คงไม่เกี่ยวอะไรกับมหาวิทยาลัยแล้ว”    


สะท้อนตัวตนผ่านผลงาน


ภายหลังจบการศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ผู้กำกับทั้ง 4 คน ต่างได้โลดแล่นบนเส้นทางการทำงานของตัวเอง บางคนสามารถค้นพบลายเซ็นและวิธีการทำงานที่ตนเองถนัดได้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา ส่วนบางคนมาค้นพบในช่วงเวลาภายหลัง เมื่อถามถึงเอกลักษณ์ของแต่ละคนที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านผลงานที่สร้างชื่อ ธีรพันธ์จึงเริ่มเล่าถึงความสนใจในการทำงานสารคดีที่ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบันว่า “พอเรียนจบแล้ว รู้สึกอยากทำหนังมาก ซึ่งมันต้องมีทุน ทีมงาน และอีกสารพัดอย่าง ถือเป็นข้อจำกัดของตัวเองมาก พอมานึกดูว่า การทำงานแบบไหน ที่จะใช้คนไม่เยอะ และอาจจะมีแค่เรากับกล้อง เลยลองค้นพบว่า ถ้าเราทำสารคดี พื้นที่การเล่าเรื่องของเรา มันจะเล่าแบบไหนได้บ้าง ในฐานะที่ตัวเองไม่รู้เลยว่า สารคดีมันต้องเป็นแบบไหน เช่นเรื่อง ในหนึ่งปีมีหนึ่งวัน (ภาพยนตร์สารคดีซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สาขาดุ๊ก เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2557 – ผู้เรียบเรียง) เลยลองถ่ายไปก่อน แล้วมาค้นหาวิธีการว่า จะประกอบมันแบบไหน พอได้ลองทำ เหมือนได้เจอตัวเองมากขึ้น วิธีการเล่าของเรา จะแปลกประหลาดกว่าคนอื่นได้ไหมนะ เพราะช่วงนั้นสารคดีที่ทำกันมันจะเป็นเชิงข่าว เลยลองหากลวิธีที่เล่าแบบส่วนตัวในอีกแบบที่เริ่มจากมั่ว ๆ ไปเลย แล้วเราชอบ ซึ่งมันช่วยให้เราได้เจอความสนุกจากที่ไม่เคยรู้จักจากสารคดีมาก่อน บวกกับสภาพสังคมในตอนนั้น มันควรมีการได้รับการบันทึกเก็บไว้ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งสารคดีมันช่วยให้เราเข้าถึงสิ่งนี้ได้”


 

บุญเริ่ม (Boonrerm) โดย สรยศ ประภาพันธ์

©Sorayos Prapapan


ส่วนสรยศ ผู้เป็นหนึ่งในคนทำหนังสั้นที่มีผลงานหลายเรื่องโดดเด่นเป็นที่จดจำ กล่าวถึงการพลิกวิธีการทำงานของตัวเองจากภาพยนตร์สั้นเนื้อหาตลกน่ารัก ๆ อย่าง มนต์รักนักกล ที่เข้ารอบสาขาช้างเผือก ในครั้งที่ 12 พ.ศ. 2551 สู่ผลงานยุคหลังที่มีเนื้อหาประชดประชัน ตลกร้าย และเสียดสีสังคมมากขึ้นว่า “คิดว่าเราทำเป็น เหมือนวันหนึ่งเราโต แล้วได้เจอหนังจากที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฮอลลีวูด เช่น หนังอิหร่าน แล้วเราเห็นว่าหนังแบบนี้ เราทำเป็น บวกกับการที่เราอาจไม่ตลกเท่าเดิมด้วย ถามว่าเราชอบ Harry Potter ไหม เราชอบ แต่เราทำไม่เป็น อย่างหนังที่เป็นการเสียดสีประเด็นสังคมอย่าง บุญเริ่ม (ภาพยนตร์สั้นที่เข้ารอบสาขารัตน์ เปสตันยี ในครั้งที่ 17 พ.ศ. 2556 - ผู้เรียบเรียง) เริ่มจากเราอยากทำหนังในประเด็นที่ตัวเองเข้าใจ เพราะเราเห็นบุญเริ่มในชีวิตจริงที่บ้าน ซึ่งเขาก็คงได้วัคซีนหลังสุดของบ้าน ประเด็นอะไรแบบนี้ ตอนนี้มันก็ยังอยู่”


ด้าน จิรัศยา ผู้กำกับที่ทำภาพยนตร์สั้นซึ่งถ่ายทอดเนื้อหาและสำรวจความสัมพันธ์ของเพื่อนผู้หญิงได้อย่างลุ่มลึกและโดดเด่น โดยเฉพาะกับเรื่อง วันนั้นของเดือน ผลงานจบการศึกษาของเธอ ได้อธิบายเสริมถึงการค้นพบแนวทางการทำงานของตัวเองว่า “คล้าย ๆ กับพี่ยศ เหมือนเราได้เจอหนังในรูปแบบใหม่ ๆ พอได้มีโอกาสดูหนังยุโรปมากขึ้น ที่มันเล่าเรื่องง่าย ๆ เช่นหนังของพี่น้องดาร์แดน (Jean-Pierre และ Luc Dardenne ผู้กำกับคู่พี่น้องชาวเบลเยียม เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ – ผู้เรียบเรียง) แบบถ่ายตัวละครเดินพูดคุยกันง่าย ๆ ซึ่งมันกระทบใจเรา เลยคิดว่าเราก็คงทำหนังได้ จากนนั้นเริ่มทำให้หันมามองชีวิตตัวเองมากขึ้น หนังของเราเกือบทุกเรื่อง มาจากเรื่องราวและความรู้สึกจากชีวิตเราทั้งนั้น เพราะเราโตมาในโรงเรียนหญิงล้วน รายล้อมไปด้วยเพื่อนผู้หญิงที่ชอบพูดคุยกันตลอดเวลา หนังของเราเลยอุดมไปด้วยบทสนทนาและการกระทำที่ดูเหมือนไร้สาระ แต่มันก็สะท้อนอะไรบางอย่างต่อชีวิตเรา สังคม หรือคนรอบข้าง เลยเลือกทำหนังที่เป็นเรามาก ๆ เพราะเข้าใจและอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบนี้ รวมทั้งตอนนั้นคิดว่า ทำไมไม่ค่อยมีหนังไทยแบบนี้ แบบที่เล่าง่าย ๆ สไตล์หนังยุโรป เลยตัดสินใจทำในแบบทางของเราที่คิดว่าทำได้ดีและชอบ”


 

วันนั้นของเดือน (That Day of the Month) โดย จิรัศยา วงษ์สุทิน

 ©Vertical Films


ศุภามาศ กล่าวปิดท้ายหัวข้อนี้ โดยอธิบายถึงความยากลำบากของการค้นพบตัวเอง ผ่านผลงานหนังสั้นว่า “ตอนทำหนังจบใช้เวลาหาตัวเองอยู่ประมาณหนึ่งเหมือนกัน พอต้องนำเสนอว่า เราจะทำหนังจบเกี่ยวกับอะไร ค้นหาอยู่นานว่า อะไรคือสิ่งที่เราอยากเล่า ส่วนใหญ่หนังจบมักจะมาเรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว แล้วสิ่งที่อยู่ใน พญาวัน เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจเรามาก ๆ มันคือสิ่งที่เราอยากจะขยายมันออกมา เรื่องความสัมพันธ์ต่างรุ่นในครอบครัว ที่พอมาอยู่รวมกันแล้วจะมีความไม่พอดี ซึ่งทำให้เราอยากค้นหาว่า มันเกิดจากอะไร เหมือนเป็นการส่งต่อกันมา ที่แม่เป็นแบบนี้ เพราะยายเลี้ยงมาแบบนี้ หรือเราเติบโตแบบนี้ เพราะแม่เลี้ยงเราแบบนี้ มันสอดคล้องกันไปหมด เลยคิดว่าอยากเล่าเรื่องที่เราสนใจพร้อมกับหาคำตอบไปด้วยว่า มันคืออะไร ซึ่งมันก็ค่อย ๆ ออกมาเป็นตัวเราเอง พอหนังเสร็จออกมาแล้วเห็นว่า เราสนใจการเล่าเรื่องประเด็นแบบนี้ ด้วยความที่เป็นผลงานเรื่องแรก เลยเหมือนเรามาทราบและค้นพบตัวเองได้ทีหลัง”


การส่งผลงานเข้าร่วมประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้น


สำหรับคำถามที่ว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ส่งหนังเข้าร่วมประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้น รวมทั้งก่อนหน้านี้เคยรู้จักเทศกาลฯ หรือเปล่า ศุภามาศ กล่าวว่า “รู้จักเทศกาลฯ จากการมาดูที่หอศิลป์ฯ BACC ได้เห็นทั้งหนังสั้นของนักศึกษา ของคนทำงาน และต่างประเทศที่มันมีความหลากหลาย ทั้งหนังที่ดูถ่ายไม่ดีมาก แต่มีเนื้อหาน่าสนใจ ตอนนั้นเลยรู้สึกว่า หนังที่มาฉายมันไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ 100% อย่างผลงานของเราเอง ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะได้รับการเลือกด้วยเหตุผลอะไร แต่ที่ทำให้ส่งหนังเข้าประกวด เพราะคิดว่า การทำหนังจะสมบูรณ์แบบได้ ถ้ามันมีคนได้ดู จะชอบหรือไม่ชอบเป็นอีกเรื่อง ซึ่งพอเข้าใจได้ที่ว่า บางคนอาจไม่มั่นใจเลยไม่กล้าส่ง ถ้าเป็นไปได้ ใครที่ทำหนังก็อยากให้ลองส่งกันดู”


 

พญาวัน (Payawan) โดย ศุภามาศ บุญนิล

©Supamart Boonnil


ส่วน จิรัศยา ซึ่งส่งผลงานเข้าร่วมประกวดตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 กล่าวว่า “ตอนนั้นเห็นพี่โรส พวงสร้อย (พวงสร้อย อักษรสว่าง – ผู้เรียบเรียง) ส่งหนังไปเทศกาลฯ และได้รับรางวัลวิจิตรมาตราจากเรื่อง Swimming Pool แล้วดูเท่และมีแต่คนพูดถึง เลยคิดว่าเราต้องเป็นแบบนั้นแหละ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ คิดว่าทำหนังมาแล้วก็ต้องมีคนดู และเทศกาลหนังสั้นนี้เป็นพื้นที่เดียวที่มีหนังสั้นหลายร้อยเรื่องส่งมา และได้รับการพูดถึงจากพี่ ๆ นักวิจารณ์ แก๊งนักดูหนังสั้นมาราธอน แล้วเห็นเขาพูดถึงหนังสั้นเล็ก ๆ จากผลงานของใครก็ไม่รู้ในเฟซบุ๊ก แล้วอ่านคำวิจารณ์ของพวกเขา เราก็อยากดู จึงทำให้เห็นว่า มันมีกลุ่มคนที่ยกย่องงานหนังสั้นจริง ๆ และเห็นว่าเวทีนี้มันเป็นการรวบรวมคนที่สนใจงานแบบนี้มาอยู่ด้วยกัน มันน่าสนใจที่จะได้ส่งไปและทำให้งานเราได้รับการพูดถึง เป็นเวทีที่หนังได้พบกับคนดูจริง ๆ”  


“ส่วนผมรู้จักเทศกาลหนังสั้นตั้งแต่เรียนมัธยม เพราะว่ามีพี่ห้องโสตฯ ที่โรงเรียนถ่ายหนังและส่งมาเรื่อย ๆ พอเรียนมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่ได้สนใจ แต่ก็รู้ว่ามีเทศกาลนี้ และอัปเดตเรื่อย ๆ จะมีโอกาสได้ดูงานฉายหนังสั้นกางจอที่จุฬาฯ มากกว่า ที่ตอนเรียนไม่ค่อยได้ส่งหนังเข้ามา เนื่องด้วยรูปแบบการเรียนเป็นแบบแบ่งกลุ่มทำหน้าที่กันกับเพื่อน ๆ เลยรู้สึกว่า มันไม่ใช่งานที่ดีที่สุดของเรา พอช่วงเรียนจบเลยเริ่มลองส่งมาดู เพราะพื้นที่ของเทศกาลหนังสั้นมันเปิดกว้างมาก ไม่ได้จำกัดโจทย์ และได้รับประเมินคุณค่าโดยตัวเอง และคิดคล้าย ๆ กันว่า หนังเสร็จแล้วก็ต้องมีคนได้ดู และคนดูจะช่วยบอกเราได้ว่า ผลตอบรับเป็นยังไง ซึ่งช่วยทำให้เราเห็นตัวเองเยอะขึ้นจนสามารถนำไปต่อยอดได้” ธีรพันธ์ เล่าเสริมถึงประเด็นนี้


ส่วน สรยศ ซึ่งส่งผลงานเข้าประกวดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน กล่าวปิดว่า “ถ้าเมื่อก่อนจะรู้สึกว่า มันไม่มีอะไรพิสูจน์สิ่งที่เราทำว่าตรงไหนโอเคหรือไม่โอเค เราเลยทำส่ง แต่โดยส่วนตัวเองเป็นคนที่ชอบประกวดและอยากชนะอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิม ทำหนังส่งเพื่อพิสูจน์ว่า เราจะสามารถชนะรางวัลนี้ได้หรือยัง ซึ่งบางเรื่องอาจได้ชมเชย บางเรื่องอาจมีคนพูดถึง บางเรื่องเข้ารอบ ซึ่งถ้าให้พูดตรง ๆ คือ ตอนนี้อยากไปฉายเทศกาลภาพยนตร์ที่มันใหญ่ขึ้น เพราะต้องหากินในเส้นทางนี้อยู่ ถ้าไม่ทำแบบนี้ เราอาจจะไปขอทุนจากต่างประเทศไม่ได้ อย่างที่รู้กันว่าในประเทศมันแทบจะหาทุนไม่ได้ เลยต้องอาศัยสิ่งพวกนี้ในการแข่งขันหาทุนกับคนอื่นที่ต่างประเทศ จึงยังต้องทำหนังส่งเรื่อย ๆ อยู่” 


ผลกระทบจากโควิด-19 และภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย


จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้สร้างผลกระทบให้กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในเกือบทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่อาชีพคนทำสื่อในแวดวงภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งยังคงไร้การได้รับการเยียวยา รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐอย่างเคร่งครัด โดยสรยศ ซึ่งกำลังเตรียมถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง ได้กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวว่า “ผมเลื่อนถ่ายหนังยาวไปแล้ว ด้วยความที่เป็นหนังร่วมทุนสร้างระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ซึ่งถ้าผู้กำกับภาพที่นู่นบินมาต้องกักตัวเลยต้องเสียเงินเพิ่ม และหนังมันเกี่ยวกับโรงเรียน พอโรงเรียนถูกสั่งปิด ยังไงก็ถ่ายไม่ได้ เวลาทีมงานถามว่าจะถ่ายได้เมื่อไร ก็ตอบไม่ได้ เพราะประเทศไม่มีคำตอบให้เรา เราก็ตอบไม่ได้”


ส่วน ศุภามาศ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากผลกระทบในช่วงออกกองถ่ายภาพยนตร์สั้นเรื่อง Squish! ผลงานเรื่องล่าสุดของ ตุลพบ แสนเจริญ ที่เธอทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างว่า “ด้วยความที่มีทีมงานในกองถ่าย 7 คน มันเลยลำบากมากในการคาดคะเนการถ่ายในแต่ละวัน ด้วยสถานการณ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ วันต่อวัน ซึ่งทำให้การวางแผนรับมือเป็นไปได้ยาก เห็นใจคนที่ออกกองในช่วงโควิดเป็นอย่างมาก เพราะมันเหนื่อยเหมือนกันที่ต้องดูแลทั้งตัวเองและคนในกอง เพื่อให้สภาพร่างกายยังแข็งแรง”


“ส่วนเรื่องของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย พูดในฐานะนักศึกษาที่เพิ่งจบมา 2 ปี แต่ละปีมีนักศึกษาภาพยนตร์จบมาเยอะ แม้จะก่อนหรือหลังโควิด แต่โอกาสก็ไม่ได้มีพอสำหรับทุกคน เหมือนภาวะคอขวดที่เด็กจบเยอะ แต่โอกาสในอุตสาหกรรมมันมีน้อย อย่างตอนเรียนจะเห็นว่า มีเพื่อนที่ดูมีศักยภาพและความสามารถที่น่าจะเติบโตต่อได้ แต่พอเผชิญโลกจริง ๆ มันไม่สามารถไปต่อได้ คิดว่าคงต้องแก้ในเชิงโครงสร้างที่ใหญ่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ว่ามองภาพยนตร์มันมีคุณค่ายังไง สร้างผลประโยชน์ทางวัฒนธรรมแบบไหน ซึ่งอยากให้มองว่าการมีคณะนิเทศศาสตร์แบบนี้ มีอะไรรองรับให้คนที่เรียนมาไหม เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ เพราะการจบสายศิลปะแบบนี้ มันเหมือนเป็นการดิ้นรนด้วยตัวเองมาก ๆ เพื่อให้อยู่รอด”  

 

ทางด้าน จิรัศยา ซึ่งได้นำช่วงเวลาของการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก มาถ่ายทอดผ่านซีรีส์ที่เธอเขียนบทและกำกับเรื่อง กักตัว Stories ตอน Lovers on the Street และ What Happened Last Night? ได้กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในตอนนี้ว่า “ตอนนี้คำว่าหนังยาวมันดูเป็นเรื่องไกลตัวมาก สำหรับคนทำงานเอง เหมือนคนทำหนังเลยต้องไปทำละคร ซีรีส์ หรือมิวสิควิดีโอ อาจเพราะการทำหนังยาวมันต้องเอารายได้จากการฉายโรง เหมือนมันเสี่ยงมาก ๆ การจะทำหนังยาวทีนึงเลยดูเป็นเรื่องใหญ่ และต้องทำอะไรที่มั่นใจว่าคนดูจะได้รับกำไรที่คุ้ม ส่วนหนึ่งเลยหันไปทำสื่ออื่นแทน ซึ่งมองเป็นข้อดีว่า ซีรีส์มันกำลังมา ด้วยความที่มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมาเปิดเยอะ และหลาย ๆ ที่อยากได้เนื้อหาจากท้องที่ประเทศนั้น ๆ หลาย ๆ คนในวงการเลยเริ่มหันไปทำงานพวกนี้กันเยอะ ซึ่งส่วนตัวว่า มันมีงานที่ออกมามากขึ้น คือก่อนหน้านี้ พอไม่ได้ทำหนัง ก็เลยมันไม่รู้จะไปทำอะไร พอมีซีรีส์ขึ้นมา ก็ดูเป็นอีกพื้นที่ให้คนที่อยากทำงานตรงนี้ได้ทำ”


ธีรพันธ์ ซึ่งกำลังเตรียมทำโปรเจกต์ส่วนตัว กล่าวถึงช่วงเวลาของความยากลำบากและสรุปหัวข้อภาพรวมของอุตสาหกรรมในตอนนี้ว่า “ตอนนี้มีโปรเจกต์ส่วนตัว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่คิดว่า พอโควิดหมดแล้ว เราจะทำอะไรได้บ้าง สำหรับเรื่องผลกระทบจากการทำงาน สำหรับผมยังพอรับมือได้ แต่ที่ยากน่าจะเป็นจิตใจมากกว่า ด้วยความที่อยู่บ้าน มันหดหู่และทำงานไม่ได้ ตอนเวลาปกติมันก็ยากของมันอยู่แล้ว พอมีโควิดอีกเลยทำให้ยากไปอีก”


“ส่วนมุมมองของผมเรื่องอุตสาหกรรม คิดว่าทั้งผู้ผลิตและบริโภค มันดูไม่ค่อยมีความหลากหลาย อย่างการทำสารคดีของผม ต่อให้พื้นที่มันกว้างขึ้นจริง มันก็ยังจำกัดวงแคบอยู่ดี คือมันไม่ใช่พื้นที่ที่เอื้อให้คนทำทุกคน ซึ่งผมคงไม่ได้มุ่งหวังทำสิ่งนี้เพื่อเป็นอาชีพ เพราะมันไม่ไหวจริง ๆ แต่คงทำด้วยความชอบอยู่ ซึ่งผมคิดว่ามันจะเป็นปัญหาในระยะยาว ที่คนที่มีงานหลากหลาย อาจเติบโตได้ยาก หรืออย่างปัญหาที่ผมเจอ ผมอยากทำโปรเจกต์อันหนึ่งให้ใหญ่ขึ้นที่หาคนได้ค่อนข้างยาก เพราะอุตสาหกรรมมันไม่สามารถฝึกให้คนยืนอยู่จนเป็นกำลังหลักที่แข็งแรงในงานนั้น ๆ ได้ ซึ่งถ้ารัฐจะช่วย อยากให้มองหนังเป็นศิลปะก่อน และมองว่ามันมีอำนาจในแบบของมันที่เป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุน คงจะดีขึ้น แต่ถ้าตราบใดที่รัฐไม่เชื่อมั่นในเสรีภาพของคนทำงาน ก็คงไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้กันต่อไป เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้ มันกว้างและดีมากขึ้น และเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้มีโอกาสเติบโต”   


อัปเดตชีวิต (อดีต) นักเรียนหนัง


ในช่วงท้ายของการสนทนา เป็นช่วงของการฝากผลงานของผู้กำกับแต่ละคน โดยเริ่มจากศุภามาศ ที่ตอนนี้กำลังเตรียมโปรเจกต์เขียนบทซีรีส์เรื่องใหม่ ซึ่งเธอได้กล่าวว่า “กว่าจะถ่ายคงเป็นปีหน้า และได้ออนแอร์จริง ๆ คงเป็นปีถัดไป แต่ระหว่างนี้ ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น คงหาโอกาสทำหนังสั้นเรื่องใหม่”


จิรัศยา ที่กำลังเตรียมโปรเจกต์ Flat Girl ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของตัวเอง กล่าวถึงผลงานในอนาคตของตัวเองว่า “ตอนนี้หนังยาวที่กำลังจะทำ อยู่ในช่วงเขียนบทและหาทุน คิดว่าอาจจะเป็นปีหน้าที่ได้ทำ และอาจจะได้ดูในปีถัดไป ส่วนงานอื่น ๆ จะเป็นงานเขียนบทซีรีส์ที่ไม่ได้กำกับเอง รวมถึงเขียนบทให้หนังสั้นสำหรับแพลตฟอร์มหนึ่ง”


ส่วนธีรพันธ์ ที่กำลังมีโปรเจกต์เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ กล่าวว่า “ระหว่างที่ถ่ายงานค้างไว้อยู่ สามารถอุดหนุนผลงานเรื่อง ไกลบ้าน ของผมได้ที่ Doc Club on Demand จะได้มีเงินไปทำงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นได้ง่ายขึ้น” (ลิงก์สำหรับรับชม https://documentaryclubthailand.com/away/ - ผู้เรียบเรียง)


สรยศ กล่าวฝากผลงานปิดท้ายกิจกรรมสนทนาว่า “มีหนังยาวที่ไม่รู้จะได้ถ่ายเมื่อไร และมีหนังสั้นใหม่ที่เพิ่งเสร็จ กำลังมิกซ์เสียงและกำลังจะมีข่าวดี (ภาพยนตร์สั้นเรื่อง ผิดปกติใหม่ (New Abnormal) ได้รับการคัดเลือกเข้าประกวดในสาย Orizzonti Short Film Competition ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 78 – ผู้เรียบเรียง) คิดว่าจะได้ดูทางออนไลน์แน่ ๆ และผมเพิ่งอัปโหลดผลงานเก่า ๆ ลงยูทูบในช่องผมเอง (ลิงก์สำหรับรับชม https://www.youtube.com/user/pandayossy - ผู้เรียบเรียง)”


ในวันอังคารที่ 17 สิงหาคมนี้ พบกับตอนต่อไปของกิจกรรมสนทนาออนไลน์ “Live Talk 25 ปี เทศกาลภาพยนตร์สั้น” ใน EP.2: จากหนังสั้นไทยสู่หนังยาวในเวทีโลก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://fapot.or.th/main/news/791


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด